เมื่อญาติแนะนำให้เลี้ยงแพะเพื่อหารายได้ เพราะแพะจะเป็นสัตว์เศรษฐกิจในอนาคต จึงตัดสินใจและทดลองเลี้ยง เริ่มจากเล็กไปใหญ่ “แพะพันธุ์ลูกผสมบอร์” มีราคาตัวละ 6,000 บาท ใน 1 ปีสามารถขายได้กว่า 100 ตัว สร้างอาชีพและรายได้ให้ไม่น้อยทีเดียว
ที่มาและจุดเริ่มต้นการทำฟาร์มแพะ
นางสาววิราวรรณ ไท้โกสม เจ้าของฟาร์มแพะวิราวรรณฟาร์ม เล่าว่า จุดเริ่มต้นในการทำฟาร์มแพะนั้นเริ่มต้นจากการที่ญาติของตนเป็นผู้แนะนำให้เลี้ยง โดยให้เหตุผลว่าแพะจะเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดใหม่และสามารถทำเงินให้กับคนเลี้ยงได้ในราคาที่ค่อนข้างสูง เมื่อได้ยินดังนั้นตนก็ตัดสินใจและเริ่มศึกษาเรียนรู้พร้อมทั้งลงพื้นที่หาความรู้ในฟาร์มต่างๆ ที่มีการเลี้ยงแพะ ในช่วงแรกตนยังไม่มีความมั่นใจที่จะเลี้ยง เนื่องจากในพื้นที่อาศัยจังหวัดกาฬสินธุ์เมื่อ 7-8 ปีที่แล้วยังไม่มีใครเลี้ยงแพะ บวกกับในช่วงนั้นตนกำลังเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา โดยตนเรียนจบในสาขาสัตวศาสตร์และได้มาพัฒนาฟาร์มแพะอย่างเต็มตัวและยังทำอาชีพเสริมเพื่อหารายได้อีกหนึ่งช่องทาง วิราวรรณฟาร์มเป็นกลุ่มแรกๆ ในการริเริ่มเลี้ยงแพะในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเมื่อวันเวลาผ่านไปชาวบ้านก็เริ่มสนใจและเริ่มนำแพะมาเลี้ยง จนในปัจจุบันได้จัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขึ้นมา
จุดเด่นและความพิเศษของวิราวรรณฟาร์ม
ถ้าพูดถึงความพิเศษและจุดเด่นอาจจะไม่ได้โดดเด่นจากฟาร์มอื่นๆ แต่ทางฟาร์มจะเน้นไปที่การเลี้ยงที่เรียบง่าย รวมถึงมีราคาขายที่ไม่สูงมาก กลุ่มลูกค้าสามารถจับต้องและเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งแพะของที่ฟาร์มจะเป็นแพะสายพันธุ์ลูกผสมบอร์ (Boer) โดยเป็นสายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงไว้เพื่อขายกินเนื้อ ทั้งนี้กลุ่มลูกค้าของทางฟาร์มส่วนใหญ่จะเป็นพ่อค้าคนกลางมารับซื้อและนำไปจำหน่ายอีกที โดยจะเน้นส่งออกไปยังต่างประเทศ
ความยากง่ายในการเลี้ยงแพะ
สำหรับความยากง่ายในการเลี้ยงแพะนั้น ทางฟาร์มจะลงพื้นที่ไปดูวิธีการเลี้ยงในโรงเรือนที่เลี้ยงแพะอยู่เป็นประจำ เพื่อนำความรู้เหล่านั้นมาปรับและพัฒนากับแพะของที่ฟาร์ม โดยจะนำเอาวิธีเลี้ยงที่ง่ายและประหยัดเวลาในการเลี้ยง ซึ่งอาหารที่ทางฟาร์มให้แพะกิน คือ หญ้า กระถิน ฟาง รวมถึงมีอาหารเสริมเพื่อให้แพะได้สารอาหารที่ครบถ้วนและดีต่อสุขภาพ ทั้งนี้แพะที่โตเต็มวัยจะมีอายุอยู่ที่ประมาณ 5-6 ปี น้ำหนักประมาณเกือบ 50 กิโลกรัม ปัจจุบันทางฟาร์มมีแพะตั้งแต่อายุ 1 เดือน ถึง 10 ปี มีทั้งหมดประมาณ 50 ตัว ฟาร์มขนาด 1 งาน ทั้งนี้ระยะเวลาในการตั้งท้องประมาณ 5 เดือน
เทคนิคและกลยุทธ์ทางการตลาด
ส่วนใหญ่ทางฟาร์มจะโปรโมทในเพจเฟซบุ๊ก รวมถึงจะมีรายการต่างๆ มาสัมภาษณ์และนำข้อมูลไปเผยแพร่สู่สายตาสาธารณะ ซึ่งเมื่อข้อมูลถูกเผยแพร่ลูกค้าก็จะรู้จักมากขึ้น ทั้งในโลกออนไลน์และปากต่อปากจากกลุ่มลูกค้า นอกจากนี้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์แพะนั้นเมื่อมีอายุประมาณ 7-8 เดือน จะขายราคาตัวละ 6,000 บาท และมีแพะขุนอายุประมาณ 3-5 เดือน ที่ทางฟาร์มขายในตอนนี้ ซึ่งในแต่ครั้งจะขายในจำนวนไม่เท่ากัน ซึ่ง 1 ปีจะขายแพะได้ประมาณ 100 กว่าตัว
ฟาร์มแพะสร้างรายได้
ตั้งแต่ที่ทำฟาร์มแพะมานั้น เจ้าของฟาร์มให้ข้อมูลว่าสามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้ถึง 80% เมื่อก่อนเนื้อแพะมีราคากิโลกรัมละ 150 บาท แต่เมื่อสองเดือนที่ผ่านมาราคาเนื้อแพะตก จะเหลืออยู่ประมาณกิโลกรัมละ 80-90 บาท เนื่องจากโดนผลกระทบจากโควิด-19 ไม่สามารถส่งออกได้ แต่ก็ยังถือว่าสามารถสร้างรายได้ให้ฟาร์มค่อนข้างดี ซึ่งทางฟาร์มเคยขายแพะได้สูงสุด 60 ตัวต่อ 1 ครั้ง รายได้ต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท
นำความรู้ที่เรียนมาปรับปรุงฟาร์ม
จากที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าเจ้าของฟาร์มเรียนจบในสาขาสัตวศาสตร์ จึงได้นำความรู้ต่างๆ มาปรับใช้และดูแลแพะในฟาร์ม ซึ่งจะดูแลในส่วนของโรคที่เกิดในแพะ วิธีการรักษาเมื่อแพะป่วย การบำรุงเรื่องอาหารของแพะ ซึ่งตั้งแต่ที่ทำฟาร์มแพะมามีอุปสรรคในช่วงคาบเกี่ยวของฤดูกาล เนื่องจากพอฤดูกำลังจะเปลี่ยน โรคต่างๆ ก็จะเริ่มเกิด ทำให้ตั้งตัวไม่ทันและแพะจะป่วยง่าย ซึ่งถ้าหากดูแลรักษาไม่ทันแพะก็อาจจะตายได้
การวางแผนต่อยอดธุกิจในอนาคต
ในอนาคตทางฟาร์มได้มีการวางแผนต่อยอดธุรกิจให้ไปในทิศทางของการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีลักษณะที่เด่นชัดมากขึ้น ซึ่งเมื่อสายพันธุ์ชัดจะสามารถเพิ่มราคาขายได้จากเดิมตัวละ 6,000 ให้กลายเป็นตัวละ 10,000-15,000 บาท โดยการนำพ่อพันธุ์มาจากฟาร์มแพะที่เป็นสายประกวดหรือฟาร์มที่มีพ่อพันธุ์เอาไว้ รวมถึงในตอนนี้ทางฟาร์มตั้งเป้าเพิ่มจำนวนแพะให้ถึง 100 ตัว นอกจากนี้ความรู้สึกเมื่อได้มาทำฟาร์มแพะและสามารถขายได้ เจ้าของฟาร์มเผยว่า “ตอนนี้เราดีใจที่สามารถจับทิศทางได้ถูกต้อง โดยไม่เสียเวลาเปล่า เราดีใจที่เราสามารถเดินไปในสิ่งที่เราโอเคและมีรายได้ที่ดี”
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *