ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และนางวันทนีย์ พันธชาติ ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) สวทช. เข้าร่วมพิธีประกาศรางวัลการประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุภายในประเทศ ประจำปี 2564 พร้อมทั้งเยี่ยมชมผลงานสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวและผลงานวิจัย สวทช. และพันธมิตร
ศาสตราจารย์ ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขานุการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า การประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุภายในประเทศ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อคัดเลือกผลงานสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุของนิสิตนักศึกษาในประเทศไทย เป็นตัวแทนเข้าร่วมการประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุระดับนานาชาติ หรือที่เรียกว่า Global Student Innovation Challenge (gSIC)
โดยจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ภายในงานประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่องวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก (International Convention on Rehabilitation Engineering and Assistive Technology) i-CREATe ซึ่งเป็นเวทีสำคัญในการนำเสนอผลงานวิชาการและนิทรรศการระดับนานาชาติด้านวิศวกรรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก รวมทั้งเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการและผู้สูงอายุระหว่างผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับผู้ทรงคุณวุฒิในระดับสากล ซึ่งเกิดจากภาคีความร่วมมือด้านวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกแห่งเอเชีย ภายใต้ชื่อว่า CREATe Asia โดยเป็นการรวมกลุ่มระหว่าง 13 องค์กร จาก 10 เขตเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกในภูมิภาคเอเชียและออสเตรเลีย
A-MED สวทช. จึงได้จัดการประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุภายในประเทศ ประจำปี 2564 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564 ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อคัดเลือกผลงานสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุของนิสิตนักศึกษาในประเทศไทย จำนวน 8 ทีม เพื่อเข้าร่วมการประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุระดับนานาชาติ (gSIC) ที่จะจัดขึ้นวันที่ 26-29 สิงหาคม 2565 ณ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งผลการประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุภายในประเทศ ประจำปี 2564 ได้แก่
• รางวัลเหรียญทอง ได้แก่ ผลงาน “JustSigns” โดยทีมนักศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
• รางวัลเหรียญเงิน ได้แก่ ผลงาน “SightBand” โดยนิสิตจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รางวัลเหรียญทองแดง ทั้งสิ้น 2 รางวัล ได้แก่
• ผลงาน “AOMI-based system for stroke patient’s upper extremity rehabilitation” โดยนักศึกษาจากภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
• ผลงาน “Design and development of physical therapy upper limb device with symmetrical reflections mechanism” โดยทีมนักศึกษาจากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พร้อมนี้ยังมีอีก 4 ผลงาน ที่จะเข้าร่วมการประกวดระดับนานาชาติ ณ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน
• ผลงาน “D Mind: Detection and Monitoring Intelligence Network for Depression” โดยทีมนิสิตจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
• ผลงาน “New design power wheelchair for easy transfer” โดยทีมนักศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
• ผลงาน “Non-implantable bone conduction hearing aids, The amazing hearing device (AHD)” โดยทีมนักศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
• ผลงาน “The sit-to-stand support device for the elderly” โดยทีมนักศึกษาจากวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต
ด้าน ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ในนามของกระทรวง อว. โดย สวทช. รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่มีต่อเหล่าคนพิการและผู้สูงอายุเป็นอย่างยิ่ง ที่พระองค์ท่านทรงเข้าร่วมงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2550 ภายใต้โครงการความร่วมมือไทย-สิงคโปร์ ตามพระราชดำริฯ โดยภารกิจหนึ่งของ สวทช. ได้เน้นการส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อคนพิการและผู้สูงอายุ ซึ่งจะช่วยให้คนพิการและผู้สูงอายุได้มีนวัตกรรมใช้ เพื่อการดำรงชีวิตอิสระในสังคมบูรณาการต่อไป
“ขอแสดงความยินดีกับนิสิตนักศึกษาทั้ง 8 ทีมที่ได้รับการคัดเลือกจากการประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุภายในประเทศ ประจำปี 2564 และจะเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุระดับนานาชาติ หรือ Global Student Innovation Challenge ในงานประชุมวิชาการนานาชาติ i-CREATe 2022 ณ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งภายหลังจากการเข้าร่วมประกวดในเวทีนานาชาติครั้งนี้แล้ว สวทช. จะมีกลไกพร้อมให้การสนับสนุนผลงานที่มีความพร้อมและต่อยอดไปสู่การเป็น startup เพื่อผลักดันผลงานไปสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป” ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว