xs
xsm
sm
md
lg

สสว.เผยดัชนีความเชื่อมั่น SME พ.ย. 64 ปรับตัวเพิ่มต่อเนื่องเดือนที่ 4 ชี้ดัชนีฯ เกินฐาน (50) เป็นครั้งแรกตั้งแต่โควิดระลอกล่าสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SME Sentiment Index: SMESI) ประจำเดือนพฤศจิกายน 2564 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากเดือนตุลาคม 2564 ที่ระดับ 44.9 มาอยู่ที่ระดับ 50.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกินระดับค่าฐาน (50) เป็นครั้งแรกตั้งแต่เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปี 2564 (เมษายน 2564) การเพิ่มขึ้นมาจากเกือบทุกองค์ประกอบของดัชนี และปรับตัวดีขึ้นในทุกสาขาธุรกิจ โดยเฉพาะภาคบริการ เป็นผลจากการผ่อนคลายการควบคุมการแพร่ระบาดของภาครัฐในเรื่องข้อจำกัดการเดินทาง และผ่อนปรนอนุญาตการดำเนินธุรกิจได้มากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหาร รวมไปถึงมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ส่งเสริมธุรกิจรายย่อย 

ส่วนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวองค์ประกอบของดัชนีด้านคำสั่งซื้อ ปริมาณการผลิต/การค้า/บริการ การลงทุน กำไร และการจ้างงาน ปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 55.7 53.0 52.5 52.6 และ 50.5 ตามลำดับ แต่ยังคงมีประเด็นที่น่ากังวลในด้านองค์ประกอบด้านต้นทุนที่มีความเชื่อมั่นลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ระดับ 38.5 โดยเฉพาะต้นทุนค่าวัตถุดิบและสินค้า ค่าน้ำมัน และการขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น และดัชนี SMESI ภาคการผลิต ภาคการค้า ภาคการบริการ และธุรกิจการเกษตร ในเดือนนี้เพิ่มขึ้นทั้งหมดมาอยู่ที่ระดับ 49.4 49.5 51.1 และ 57.2 ตามลำดับ โดยเฉพาะภาคการบริการที่มีการปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ สาขาบริการการท่องเที่ยว การขนส่งมวลชน (ไม่ประจำทาง) บริการเสริมความงาม/สปา/นวดเพื่อสุขภาพ ร้านอาหาร บริการสันทนาการ/วัฒนธรรม/กีฬา และโรงแรม/ที่พัก

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของผู้ประกอบการ SME รายภูมิภาคปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกภูมิภาค ได้แก่ เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปัจจุบันอยู่ที่ 52.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 46.1 กิจกรรมทางเศรษฐกิจในสาขาต่างๆ มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากการดำเนินการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจควบคู่กับการกำหนดมาตรการควบคุมและป้องกันโรคในพื้นที่แบบบูรณาการของเขตพื้นที่ กทม. นอกจากนี้ จากมาตรการเปิดประเทศและเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวแบบไม่กักตัว ส่งผลทำให้ภาคการบริการมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุด เมื่อเทียบกับภาคธุรกิจอื่นๆ เช่น บริการท่องเที่ยว โรงแรม และร้านอาหาร

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคกลาง ปัจจุบันอยู่ที่ 48.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 42.2 จากภาพรวมธุรกิจที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะภาคการบริการ และภาคการค้า จากการที่ประชาชนคลายความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาด และมีการออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านของคนในพื้นที่เป็นอย่างมาก รวมถึงความต้องการเดินทางท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ส่งผลดีต่อคำสั่งซื้อในธุรกิจร้านอาหาร บริการรถรับเหมา และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคตะวันออก ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 48.3 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 42.0 ธุรกิจโดยรวมปรับตัวดีขึ้น จากการผ่อนปรนมาตรการควบคุมโรค โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหาร บริการ การท่องเที่ยว และสันทนาการ วัฒนธรรม กีฬา อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางแบบไปเช้าเย็นกลับ รวมไปถึงการแข่งขันด้านราคาและการทำโปรโมชันของธุรกิจโรงแรมรายใหญ่ ส่งผลให้ธุรกิจโรงแรม ที่พักขนาดเล็กโดยรวมปรับตัวลดลงเล็กน้อย

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคเหนือ ปัจจุบันอยู่ที่ 50.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 45.1 เป็นผลมาจากประชาชนในพื้นที่ออกมาทำกิจกรรมทางสังคมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับประเพณีการทอดกฐินและเทศกาลลอยกระทง ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยเพิ่มสูงขึ้นจากนักท่องเที่ยวในพื้นที่และต่างจังหวัดโดยเฉพาะหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค บริการรถรับเหมา ร้านขายของฝาก/ของที่ระลึก ร้านอาหาร โรงแรมและที่พัก แต่กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติยังอยู่ในระดับที่ต่ำ ส่งผลให้ยอดคำสั่งซื้อในกลุ่มการจัดทัวร์ หรือไกด์นำเที่ยว ปรับตัวเพิ่มขึ้นแต่อยู่ในระดับที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับบริการรถรับเหมา

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคใต้ ปัจจุบันอยู่ที่ 46.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 42.6 การขยายตัวมาจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ และการเปิดประเทศ เนื่องจากสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งในภูมิภาคเป็นจุดหมายปลายทางของเหล่านักท่องเที่ยวทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยเฉพาะบริการรถรับเหมา ร้านอาหาร และบริการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม หลายพื้นที่ในภาคใต้ประสบปัญหาฝนตกหนัก ลมมรสุม  และน้ำท่วม โดยเฉพาะจังหวัดสงขลาและนครศรีธรรมราช ส่งผลทางลบต่อบางธุรกิจ เช่น หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค บริการก่อสร้าง และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เป็นต้น

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 53.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 47.6 จากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐในโครงการคนละครึ่งเฟส 3 และการผ่อนปรนมาตรการควบคุมโรคระบาด ทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นในภูมิภาค โดยเฉพาะร้านอาหาร และการให้บริการเสริมความงาม/สปา/นวดเพื่อสุขภาพ รวมไปถึงความต้องการสินค้าอุปโภคและบริโภคปรับตัวดีขึ้นเช่นเดียวกัน ส่วนในภาคการเกษตรปรับตัวลดลงเล็กน้อยตามฤดูกาลของการเพาะปลูกสินค้าเกษตร

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 58.1 ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 55.0 จากแนวโน้มการขยายตัวของยอดขายสินค้าและการให้บริการที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจการท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศและในประเทศเพิ่มมากขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่ยังคงมีความกังวลต่อการระบาดระลอกใหม่อย่างมาก รวมไปถึงความกังวลต่อการปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุน โดยเฉพาะค่าวัตถุดิบและสินค้า ค่าน้ำมันและการขนส่ง  

ส่วน 5 ปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อกิจการ SME ประเทศในเดือนนี้ ปัจจัยที่ส่งผลดี ได้แก่ ด้านการได้รับความร่วมมือจากหน่วยงาน/ภาครัฐ ด้านเทคโนโลยี/ดิจิทัล/นวัตกรรม ด้านมาตรฐานการผลิต/ความปลอดภัย/สุขอนามัย ด้านข้อมูลสนับสนุนจากภาครัฐ และด้านผู้บริโภคและกำลังซื้อ ปัจจัยที่ส่งผลลบ ได้แก่ ด้านสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้านหนี้สินกิจการ ด้านต้นทุน ด้านคู่แข่งขัน และด้านผู้บริโภคและกำลังซื้อ
 


กำลังโหลดความคิดเห็น