xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) กล้วยแขกพระราม ๕ ร้านริมทางขายวันละไม่ถึง 200 บาท วันนี้ยอดขายปีละหลักล้าน การันตี “มิชลินไกด์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นางสุนทรี นันทวัฒกี (ป้าติ่ง)
"กล้วยแขกพระราม ๕" ร้านกล้วยทอดชื่อดังที่เปิดขายอยู่แยกบางสีทอง ใครผ่านไปแถวบางกรวยก็ต้องแวะซื้อกล้วยแขก “ป้าติ่ง” “นางสุนทรี นันทวัฒกี” ชื่อนี้การันตีได้จากคิวที่ลูกค้ามายืนต่อแถวเพื่อรอซื้อกันยาวตลอดทั้งวัน วันหนึ่ง "ป้าติ่ง" ต้องใช้กล้วยกว่า 100 หวี ยังไม่รวมมันทอดที่ต้องใช้มันสดอีกเป็น 100 กิโลกรัม ไม่ต้องบอกเรื่องรายได้ต่อวัน เพราะป้าติ่ง บอกว่า ขนาดไม่บอกรายได้ สรรพากรก็ยังเรียกป้าไปพบเพื่อตกลงเรื่องจ่ายภาษี


กล้วยทอดริมทางสร้างยอดขายหลักล้านบาทต่อปี

นางสุนทรี (ป้าติ่ง) เล่าว่า ร้านกล้วยแขกพระราม ๕ เปิดมาตั้งแต่ปี 2552 หลังจากที่ป้า ลาออกจากการทำงานประจำเพื่อมาดูแลลูก พอลูกเริ่มโตป้าก็อยากจะหารายได้เพิ่ม ก็เลยเอากล้วยน้ำว้า ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในบริเวณใกล้ๆ บ้าน ย่านบางกรวย ในสมัยก่อน ย่านนี้ ปลูกทุเรียน ปลูกกล้วยกันมาก หากินได้ง่ายและ ราคาไม่แพง ป้าเลยเอากล้วยหาได้แถวบ้าน เอามาทอดขาย โดยได้สูตรมาจากน้าสาว

การเป็นแม่ค้าขายกล้วยทอดครั้งแรก ป้าติ่ง เล่าว่า อายมากไม่กล้ามาทอดขายหน้าร้าน แอบไปทอดหลังบ้าน และใส่ถุงมาฝากวางขายหน้าร้านของน้าสาว ซึ่งเมื่อก่อนน้าสาวเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยว ความรู้สึกตอนนั้น คืออายกลัว เพื่อนที่เคยทำงานบริษัท ด้วยกันมาเจอ และเขาก็จะมองเราอย่างไร ทำไมต้องมาทอดกล้วยขาย ซึ่งขายแรกๆต้องยอมรับว่าขายไม่ดีเลย วันหนึ่งขายได้ 100-200 บาท แต่หลังจากมีคนรู้จักบอกต่อก็ค่อยเพิ่มขึ้นที่ละนิดละหน่อยไม่ได้เยอะอะไร ซึ่งถ้าเป็นคนอื่นก็คงถอดใจไปแล้ว แต่ด้วยความที่ใจเราสู้ ไม่ท้อ และครอบครัวไม่ได้ลำบากมาก เพราะสามีทำงานประจำ พอจะดูแลครอบครัวได้ รายได้ของเราเล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับเงินเดือนสามี หรือเงินเดือนที่ตัวเองได้รับก่อนออกจากงาน แต่เราก็ไม่ท้อ ทำมาจนมีวันนี้ได้ ผ่านมา 12 ปี


“หลังจากนั้น ป้าค่อยพัฒนาตัวเองไปมาเรื่อย จากการปรับสูตรให้ถูกใจลูกค้าในย่านนี้ และหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้กล้วยทอดของเรากลุ่มลูกค้าที่รักสุขภาพก็สามารถกินได้ ไม่ว่าจะเป็นการเติมงาขาวลงไป แต่จุดพลิกผันที่ทำให้มีคนรู้จักเป็นจำนวนมาก จนเป็นที่มาของชื่อ “กล้วยแขกพระราม ๕” เกิดขึ้นมาจาก วันหนึ่ง ป้าได้นำเครื่องสลัดน้ำมันมาใช้กับกล้วยทอดของเรา และลูกค้าเห็นก็นำไปบอกต่อๆ กัน จนมีสื่อต่างๆ มาสัมภาษณ์ ทำให้กล้วยทอดของเราเป็นที่รู้จัก ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จากที่ป้าแอบทอดเพราะอายกลัวคนรู้จักมาเห็น ป้าก็ออกมาทอดข้างหน้าร้าน คนมาต่อคิวรอกันยาวมาก จาก หนึ่งเตา เพิ่มเป็น สองเตา สามเตา และปัจจุบัน ต้องใช้กระทะทอดทั้งหมด 9 กระทะ ถึงจะทอดทันกับคิวที่มาต่อกันทั้งวัน โดยทางร้านของเราใช้คนทอดเฉพาะกล้วย อย่างเดียว 4 คน ยังไม่รวมไข่นกกะทา และมันทอด ที่ต้องใช้คนทอดไม่น้อยกว่า 3-4 คน


ลูกค้าต่อคิวแน่นทั้งวัน ขนาดสรรพากรต้องเชิญคุยเรื่องภาษี

ป้าติ่ง บอกว่า ร้านกล้วยแขกพระราม ๕ ของป้า จะเปิดและปิดตรงเวลา โดยพร้อมขายตั้งแต่ 8 โมงเช้า ก็มีคนมาซื้อตลอดทั้งวัน ตั้งแต่เปิดร้านไปจนเลิกทอด ปิดร้าน16.30 น. โดยจะมีของให้ลูกค้าตลอด เราจะไม่ทำให้ลูกค้าที่ตั้งใจมาซื้อและไม่ได้ของกลับไป ดังนั้น ถ้าลูกค้ามาไม่เกิน 4 โมงครึ่ง ก่อนร้านปิดทุกคนจะต้องได้กิน จุดเด่นของกล้วยแขกพระราม 5 ของป้าติ่ง นอกจากการสลัดน้ำมัน และเติมงาขาวเพื่อสุขภาพแล้ว แป้งซึ่งเป็นสูตรพิเศษ ที่ทำให้กล้วยทอดกรอบอร่อย และความพิเศษของแป้งที่เป็นสูตรเฉพาะนี่เอง ทำให้ป้าติ่ง สามารถต่อยอดสร้างอีกหนึ่งธุรกิจ คือ การทำแป้งสำเร็จรูปสำหรับใช้ทอดกล้วย ทอดมัน ออกมาจำหน่าย ซึ่งในช่วงสถานการณ์โควิดหลายคนตกงาน ก็มาได้แป้งสำเร็จรูปป้าติ่ง ไปต่อยอดสร้างอาชีพขายกล้วยทอด มันทอด จนสามารถสร้างงานสร้างอาชีพผ่านช่วงยากลำบากในช่วงโควิดนี้ไปได้

พอถามถึงรายได้ “ป้าติ่ง” บอกกับเราว่า ป้าพูดเรื่องรายได้ไม่ได้ ป้ากลัวว่าเดียวสรรพากรก็จะเรียกป้าไปคุยอีก ซึ่งทุกวันนี้ ป้าเสียภาษีเยอะถึงปีละ 30,000 บาท จากในช่วงแรกเสียภาษีปีละ 800-900 บาท ถ้าต้องบอกรายได้ไปเดียวสรรพากรคงต้องเรียกป้าไปคุยอีกรอบเป็นแน่ ซึ่งต้องบอกก่อนว่า เห็นป้าขายดีดีแบบนี้ จริงแล้วกำไรไม่ได้เยอะอะไร เพราะต้นทุนสูงมาก และขายไม่แพง ขายถุงละ 20 บาท แบบนี้มาตั้งแต่เปิดร้านใหม่ ตอนนั้น น้ำมันทอด ราคาปี๊บนึง 300-400 บาท ตอนนี้ ราคาน้ำมันปี๊บนึง 800 บาท แล้ว และกลัวก็เลือกกลัวที่ต้องมาจากสวนที่จังหวัดเพชรบุรี ราคาค่อนข้างสูง แต่เราก็ต้องใช้เพราะกล้วยต้องหวานอร่อยถึงจะเสริมให้กล้วยทอดของเราออกมารสชาติดีถูกใจลูกค้ามาจนถึงทุกวันนี้


หนึ่งใน 33 ร้าน มิชลินไกด์ เลือกรับรางวัล บิบกูร์มองด์

ด้วยเหตุนี้ เองเป็นเหตุผลที่ทำให้ กล้วยแขกพระราม ๕ ของป้าติ่ง ซึ่งเป็นหนึ่งใน 33 ร้าน ที่ได้รับเลือกจากมิชลินไกด์ ให้ได้รับรางวัล “บิบ กูร์มองด์” ประจำปี 2565 ซึ่งป้าติ่ง บอกกับเราว่า ป้าไม่รู้ว่า ทำไมเขาถึงเลือกร้านป้า เพราะป้าเอง ป้าก็ยังไม่รู้ว่า ป้าได้รับเลือก ซึ่งป้าไม่รู้จักมาก่อน รางวัลนี้มันคืออะไร รู้แค่ว่า เป็นรางวัลที่เขาไม่ได้ให้ใครง่าย พอป้าได้ป้าดีใจมาก ทำให้เราต้องกลับมาคิดว่า แล้วเราจะต้องปรับปรุงอะไรบ้าง ให้สมกับรางวัลที่เขาให้ หรือต้องปรับปรุงให้ร้านดูดีขึ้น สะอาดขึ้น หรือ ต้องปรับปรุงเรื่องบริการให้มันดูดีกว่านี้ เพื่อให้สมกับรางวัลที่ได้


นางสุนทรี (ป้าติ่ง) เล่าว่า จากวันนั้น วันที่ป้ารู้สึกอายเพื่อนที่ต้องมาเป็นแม่ค้าขายกล้วยทอดข้างทาง วันนี้ ป้าเดินมาไกลมาก จากอาชีพขายกล้วยทอดข้างทางใครจะคิดว่าจะสามารถ สร้างเงินล้าน และสร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับครอบครัวของเราได้ เพราะถ้าวันนั้น เราไม่คิดมาขายกล้วยทอดในวันนั้น และเรายังคงทำงานประจำอยู่ โอกาสที่เราจะได้จับเงินล้านแบบนี้ แทบจะเป็นไปไม่ได้ เลย ซึ่งครั้งนี้ไม่ได้แค่สร้างรายได้ให้กับตัวเองเท่านั้น แต่ยังส่งต่อการสร้างอาชีพให้กับลูกๆ โดยลูกๆ ของป้า ไม่ต้องไปเป็นลูกจ้าง เพราะวันนี้ ลูกป้า 2 คนๆ หนึ่งมาขายแทนป้า ส่วนลูกสาวดูแลเรื่องการทำแป้งสำเร็จรูป และที่สำคัญไม่ได้แค่สร้างอาชีพให้กับลูกๆ เท่านั้น วันนี้ หลานๆ ญาติ คนไหนไม่มีงานทำป้าก็จ้างให้มาช่วยทำงานที่ร้าน เวลาหางานได้ก็ไปทำงานกัน ซึ่งเป็นความสุขที่ป้าได้มากกว่ารายได้ คือได้ช่วยเหลือครอบครัวและญาติให้เขามีงาน มีรายได้ ปัจจุบันพนักงานในร้านของป้าทุกคนก็เป็นลูกๆ หลานทั้งหมด


“ป้าติ่ง” ฝากถึง คนที่กำลังตกงาน หรือ ไม่กล้าที่จะออกมาขายของ อย่ามองว่าอาชีพขายของข้างทางเป็นอาชีพเล็กๆ หรือ เป็นเรื่องที่น่าอาย เพราะอาชีพเล็กๆ วันหนึ่งมันอาจจะสามารถสร้างอาชีพเงินล้านที่มั่นคง และส่งต่อให้ลูกหลานได้เหมือนกับป้า ในเวลานี้ การเริ่มต้นเล็กและค่อยเติบโตดีกว่าการที่เราจะเริ่มใหญ่ๆ และสุดท้ายไปต่อไม่ได้ ในสถานการณ์แบบนี้ โอกาสที่จะล้มและลุกใหม่หลายครั้ง มันอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนในอดีตอีกแล้ว

ติดต่อ FB: กล้วยแขกพระราม 5




คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEsผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด
SMEs manager



กำลังโหลดความคิดเห็น