xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจสัตว์เลี้ยง พุ่งแตะ 1 หมื่นล้านบาทต่อปี เหตุพฤติกรรมผู้รักสัตว์ทั่วโลกเปลี่ยนจาก Ownership เป็น Pet Parent

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธุรกิจขายปลีกสัตว์เลี้ยงและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง..ได้รับความนิยมสูง เผยภาพรวมผลประกอบการ 3 ปี (2561 - 2563) พุ่งทะยาน..แตะหนึ่งหมื่นล้านบาทต่อปี สอดรับตัวเลขส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยไปทั่วโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 - 2563 อีกทั้ง แนวโน้มการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงของผู้บริโภคเปลี่ยนไป..จากความเป็นเจ้าของ ..เป็นการเลี้ยงแบบผูกพันเสมือนคนในครอบครัว ส่งผลให้ธุรกิจมีโอกาสเติบโตอีกมาก ขณะที่คู่แข่งในตลาดยังมีน้อย


นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันแนวโน้มการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป จากที่เคยเลี้ยงแบบลักษณะความเป็นเจ้าของ หรือ Ownership กลายเป็นการเลี้ยงแบบความผูกพันเสมือนคนในครอบครัว/เลี้ยงเสมือนลูก หรือ Pet Parent และต้องการเลือกสิ่งที่ดีมีคุณภาพให้กับสัตว์เลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นอาหาร สิ่งของเครื่องใช้ และบริการต่างๆ ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจขายปลีกสัตว์เลี้ยงและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องมีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภาพรวมผลประกอบการธุรกิจฯ ตลอด 3 ปี (2561 - 2563)

ที่ผ่านมา พบว่า มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นแตะหนึ่งหมื่นล้านบาทต่อปี (ผลประกอบการ ปี 2561 จำนวน 8,454.29 ล้านบาท ปี 2562 จำนวน 9,021.78 ล้านบาท และ ปี 2563 จำนวน 9,269.94 ล้านบาท) สอดรับกับตัวเลขส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยไปทั่วโลก (สถิติจาก International Trade Center) ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ 2560 - 2563 ด้วยเช่นกัน (ปี 2560 ส่งออก 1.126 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2561 จำนวน 1.32 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2562 จำนวน 1.39 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ ปี 2563 จำนวน 1.65 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของการแข่งขันพัฒนาอาหารสัตว์ให้มีคุณภาพสูงขึ้น และทำการตลาดสินค้าราคาแพง (Premium) เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้า และเติมเต็มคุณค่าทางใจเมื่อเกิดการใช้จ่ายเพื่อสัตว์เลี้ยง


ทั้งนี้ ธุรกิจขายปลีกสัตว์เลี้ยงฯ ในประเทศไทยมีโอกาสเติบโตอีกมาก คู่แข่งในตลาดยังมีน้อย อีกทั้ง แนวโน้มความต้องการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงของผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ เนื่องจาก 1) จำนวนครอบครัวเดี่ยวและคนโสดเพิ่มมากขึ้น 2) คู่สมรสมีบุตรน้อยลงและคนไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่ใช้ชีวิตหลังเกษียณอยู่บ้านจึงมองหาสัตว์เลี้ยงมาเป็นเพื่อน 3) พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปมีการทำงานที่บ้าน (WFH) มากขึ้น ทำให้มีเวลาใส่ใจดูแลบ้านและสัตว์เลี้ยง 4) สามารถหาข้อมูลความรู้ หาผลิตภัณฑ์/บริการใหม่ๆ เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง และซื้อหาผ่านช่องทางออนไลน์ได้สะดวกมากขึ้น จากปัจจัยข้างต้นทำให้ธุรกิจขายปลีกสัตว์เลี้ยงฯ ได้รับความสนใจทั้งจากผู้ประกอบการรายเก่าและรายใหม่ที่พร้อมจะเข้ามาลงทุนในธุรกิจอย่างต่อเนื่อง”

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวเสริมว่า “ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2564) มีผู้ประกอบการในธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลและดำเนินกิจการอยู่ จำนวน 480 ราย ทุนจดทะเบียน 2,559.35 ล้านบาท แบ่งเป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) 443 ราย (ร้อยละ 92.29) ธุรกิจขนาดกลาง (M) 31 ราย (ร้อยละ 6.46) และ ขนาดใหญ่ (L) 6 ราย (ร้อยละ 1.25) ส่วนใหญ่ประกอบธุรกิจอยู่ในกรุงเทพมหานครมากที่สุด 195 ราย (ร้อยละ 40.62) รองลงมาคือ ภาคกลาง 149 ราย (ร้อยละ 31.04) ภาคเหนือ 44 ราย (ร้อยละ 9.17) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 32 ราย (ร้อยละ 6.67) ภาคตะวันออก 27 ราย (ร้อยละ 5.62) ภาคใต้ 19 ราย (ร้อยละ 3.96) และ ภาคตะวันตก 14 ราย (ร้อยละ 2.92)”


นขณะที่การลงทุนของชาวต่างชาติในธุรกิจนี้มีแนวโน้มลดลง ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของคนไทย มูลค่า 2,482.34 ล้านบาท (ร้อยละ 96.99) การลงทุนจากต่างชาติสูงสุด คือ จีน มูลค่า 29.92 ล้านบาท (ร้อยละ 1.17) อินเดีย มูลค่า 14.70 ล้านบาท (ร้อยละ 0.57) ญี่ปุ่น มูลค่า 10.76 ล้านบาท (ร้อยละ 0.42) และสัญชาติอื่นๆ มูลค่า 21.63 ล้านบาท (ร้อยละ 0.85)”
ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของ Modor Intelligence อัตราการเจริญเติบโตต่อปี (CAGR)1 ของตลาดอาหารสัตว์ในประเทศไทย ปี 2564-2569 จะเติบโตขึ้นร้อยละ 5.2 

จากสมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงไทย รายงานว่าตลาดอาหารสุนัขมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุดทั้งในด้านรายได้และขนาดการใช้จ่าย ซึ่งส่วนแบ่งการตลาดนี้มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากความต้องการอาหารสัตว์ราคาแพง (Premium treats) เพิ่มสูงขึ้น ผู้บริโภคเลี้ยงสัตว์ด้วยความรักและให้ความผูกพันเสมือนคนในครอบครัว ทำให้ต้องการอุปกรณ์เลี้ยงสัตว์มากขึ้น เช่น อาหารสัตว์ประเภทอื่นๆ ที่หลากหลายมากกว่าอาหารสัตว์จำพวกอาหารเม็ดหรืออาหารแบบเปียกอย่างเดิม


กำลังโหลดความคิดเห็น