xs
xsm
sm
md
lg

'สินิตย์’ กระชับ MOC Biz Club ผนึกกำลังระดับภูมิภาค เติมเต็มกลไกการค้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงพาณิชย์ เดินหน้ายุทธศาสตร์สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจท้องถิ่น ใช้เครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club ทั่วประเทศเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมาย ผนึกกำลังบูรณาการความร่วมมือภาครัฐ-เอกชนเติมเต็มกลไกการค้า สั่งการกรมพัฒน์ประสานหน่วยงานพันธมิตรเปิดพื้นที่ช่วยผู้ประกอบการนำสินค้าเข้าจำหน่าย ควบคู่สร้างองค์ความรู้ด้านการค้าออนไลน์ ดันธุรกิจภูมิภาคสู่นักการค้ายุคใหม่ มั่นใจ...ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เข้มแข็งระยะยาว


นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นเป็นอย่างมาก ซึ่งถือเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเน้นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อย หรือ Micro SME ที่มีจำนวนกว่า 2.7 ล้านราย จากการสำรวจพบว่า Micro SME ของไทยส่วนใหญ่ประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจ คือ ไม่มีพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษาแนะนำ ขาดเครือข่ายพันธมิตร/ช่องทางการจำหน่ายสินค้าที่ไม่หลากหลาย ขาดเงินทุน/แหล่งเงินทุนสนับสนุน รวมถึง ขาดโอกาสการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการบริหารจัดการธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องดำเนินธุรกิจไปตามความสามารถของแต่ละบุคคล ส่งผลให้ประสบภาวะขาดทุน และไม่สามารถยืนหยัดบนโลกธุรกิจได้ตลอดรอดฝั่ง”


“กระทรวงฯ ได้วางแนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการ Micro SME นำร่องกลุ่มเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club ที่อยู่ในการส่งเสริมและกระจายอยู่ทั่วประเทศ เป็นการผนึกกำลังบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-เอกชนเพื่อเติมเต็มกลไกการค้าทั้งส่วนกลางและภูมิภาค เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่น และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคธุรกิจระยะยาว เบื้องต้น กระทรวงฯ มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ดำเนินกิจกรรม ‘สร้างโอกาสทางการค้าและเพิ่มช่องทางการตลาดชุมชน’ โดยดำเนินการคัดสรรสินค้าที่มีคุณภาพจากผู้ประกอบการเครือข่ายธุรกิจฯ ทั่วประเทศมาเชื่อมโยงกับพันธมิตรทางธุรกิจระดับประเทศ เพื่อสร้างการรับรู้สินค้า เพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าในรูปแบบออนไลน์ กิจกรรมย่อยประกอบด้วย 1) จัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้า โดยคัดสรรสินค้าคุณภาพจากผู้ประกอบการเครือข่ายธุรกิจฯ จากทั่วประเทศ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ สร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้า สร้างโอกาสทางการค้าต่อยอดพัฒนาธุรกิจ และขยายโอกาสทางการตลาดออนไลน์ผ่านตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Marketplace

2) เจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) โดยเชิญผู้ประกอบการ ผู้ผลิต ผู้แทนจำหน่ายของไทยที่เป็นผู้ค้าออนไลน์หรือออฟไลน์ เข้าร่วมเจรจาจับคู่ทางธุรกิจเพื่อสร้างโอกาสต่อยอด ยกระดับ และขยายธุรกิจการค้าผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ 3) ให้คำปรึกษาทางธุรกิจ โดยเชิญหน่วยงานพันธมิตรให้คำปรึกษาในการดำเนินธุรกิจด้วยองค์ความรู้ทางธุรกิจสมัยใหม่ การตลาด หรือแหล่งเงินทุน โดยจะให้คำปรึกษาผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก 4) จัดอบรมให้ความรู้ด้านการค้าออนไลน์และองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการบริหารจัดการธุรกิจเพื่อผลักดันให้เป็นนักการค้ายุคใหม่ และสามารถนำไปต่อยอดธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ จะได้ลงพื้นที่เพื่อพบปะผู้ประกอบการเครือข่ายฯ ในแต่ละภูมิภาคเพื่อรับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะ และแนวทางการพัฒนาท้องถิ่น เพื่อนำข้อมูลที่ได้รับมาจัดทำโรดแมพการพัฒนาผู้ประกอบการแต่ละท้องถิ่นต่อไป”


“ทั้งนี้ การจะมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจในระดับประเทศที่เข้มแข็ง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเสริมสร้างศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยเป็นลำดับแรก ทั้งในแง่ขององค์ความรู้ด้านการตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การมีช่องทางตลาดใหม่ๆ ที่หลากหลาย รวมทั้ง มีพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อเชื่อมโยงและพัฒนาธุรกิจให้เติบโตไปพร้อมๆ กัน” รมช.พณ.กล่าวทิ้งท้าย

ผู้ประกอบการกลุ่มเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองธุรกิจภูมิภาคและชุมชน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โทร : 0 2547 4445 สายด่วน 1570 e-Mail : dcrprov@dbd.go.th และ www.dbd.go.th

ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564) มีผู้ประกอบการเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club ทั่วประเทศ จำนวน 12,877 ราย แบ่งออกเป็น 12 กลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วย กลุ่มอาหาร 3,951 ราย (ร้อยละ 30.68) กลุ่มผ้า/เครื่องแต่งกาย 2,254 ราย (ร้อยละ 17.50) กลุ่มบริการ 1,822 ราย (ร้อยละ 14.15) กลุ่มสุขภาพและความงาม 1,158 ราย (ร้อยละ 8.99) กลุ่มของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก 938 ราย (ร้อยละ 7.28) กลุ่มเครื่องดื่ม 721 ราย (ร้อยละ 5.60) กลุ่มสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร 628 ราย (ร้อยละ 4.88) กลุ่มการเกษตร 436 ราย (ร้อยละ 3.39) กลุ่มอุตสาหกรรม 392 ราย (ร้อยละ 3.04) กลุ่มท่องเที่ยว 342 ราย (ร้อยละ 2.66) กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 207 ราย (ร้อยละ 1.61) และอื่นๆ 28 ราย (ร้อยละ 0.22)

แบ่งผู้ประกอบการออกเป็นรายภูมิภาค ได้ดังนี้ ภาคกลาง (18 จังหวัด) 3,810 ราย (ร้อยละ 29.59) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (20 จังหวัด) 3,540 ราย (ร้อยละ 27.49) ภาคเหนือ (17 จังหวัด) 2,954 ราย (ร้อยละ 22.94) ภาคใต้ (14 จังหวัด) 1,393 ราย (ร้อยละ 10.82) และภาคตะวันออก (8 จังหวัด) 1,180 ราย (ร้อยละ 9.16)

แบ่งตามประเภทธุรกิจ ประกอบด้วย นิติบุคคล 2,051 ราย (ร้อยละ 15.93) ทะเบียนพาณิชย์ 1,695 ราย (ร้อยละ 13.16) และ บุคคลธรรมดา 9,131 ราย (ร้อยละ 70.91)


กำลังโหลดความคิดเห็น