xs
xsm
sm
md
lg

ถอดบทเรียนเมืองยะลา ต้นแบบสมาร์ทซิตี้ แบบSmart Governance หนุนTourism Economy

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จังหวัดยะลา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ต้องเผชิญกับปัญหาความไม่สงบ ก่อการร้ายมาเป็นเวลาช้านาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและความปลอดภัยของผู้คนในพื้นที่ และส่งผลกระทบภาพรวมของเศรษฐกิจ การจัดงาน LINE Hospitality Tech 2021 ได้เลือกเทศบาลเมืองยะลาเป็นต้นแบบ เพื่อส่งต่อข้อมูลเชิงลึกและรอบด้านให้กับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและบริการด้านสุขภาพโดยเฉพาะ ช่วยทำให้ธุรกิจนำสิ่งที่เป็นประโยชน์จากงานครั้งนี้ไปเตรียมความพร้อมของตนเองรองรับนโยบายเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ

งานครั้งนี้ยังสามารถสะท้อนมุมมองของการพัฒนาการท่องเที่ยวไทยในภาพรวมได้อีกด้วย นั่นคือความร่วมมือกันทั้งรัฐและเอกชน เพื่อทำให้การท่องเที่ยวในแต่ละท้องถิ่น ตำบล จังหวัด และภูมิภาคนั้นๆ มีความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างสมบูรณ์แบบ

โดยหัวข้อในงาน LINE Hospitality Tech 2021 อย่าง “DRIVE BETTER TOURISM WITH SMART CITY” ซึ่งมีความโดดเด่นและสามารถสื่อให้ทุกคนตระหนักได้ว่าความพร้อมทางด้านดิจิทัลจากภาครัฐ เพื่อพัฒนาสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะเต็มรูปแบบนั้น มีส่วนผลักดันให้การท่องเที่ยวไทยเดินหน้าได้อย่างแข็งแกร่ง รวมทั้งการนำ Smart Governance หลักการบริหารเชิงดิจิทัลของรัฐมาใช้นั้น สามารถพัฒนาและเอื้อประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี


บทบาท Smart City ยกระดับท่องเที่ยวท้องถิ่น

หนึ่งในจังหวัดที่สามารถพัฒนาสู่ Smart City ด้วยการบริหารจัดการแบบ Smart Governance มาบูรณาการได้อย่างเป็นระบบ ก็คือ เทศบาลนครยะลา จึงนับเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจที่หลายจังหวัดและพื้นที่ต่างๆ จะสามารถนำทุกองค์ประกอบในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ตั้งแต่แนวคิดที่เฉียบคม จนมาถึงการดำเนินงานที่ชัดเจน จนเป็นพื้นที่รองรับนักท่องเที่ยวได้ด้วยความพร้อมเต็มพิกัด

ปัจจัยที่ทำให้ยะลาถูกยกให้เป็นเมืองต้นแบบ มาจากต้นทางความคิดแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน ซึ่งเห็นได้จากการใช้แผนฟื้นฟูเมืองโดยใช้ต้นทุนของเมือง ประกอบด้วยทุนความสะอาด ทุนความเป็นระเบียบเรียบร้อย ทุนสิ่งแวดล้อม ทุนการศึกษา ทุนวัฒนธรรม พร้อมปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของเมืองด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ควบคู่ไปกับการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร

ผลลัพธ์จากการแก้ปัญหาอย่างตรงจุด ทำให้ยะลาสามารถพลิกฟื้นสถานการณ์ความไม่สงบชายแดนใต้ในอดีตที่ฉุดรั้งภาคการท่องเที่ยวของยะลา โดยเฉพาะผลกระทบภาพลักษณ์ของเมืองในช่วงที่ผ่านมาได้ และทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดยะลาค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง


Smart Governance ใช้ดิจิทัลเชื่อมรัฐใกล้ชิดประชาชน

การฟื้นฟูเมืองโดยใช้เทคโนโลยีมาสร้างจุดขายของเมืองให้สอดคล้องกับทิศทางของโลกหรือ Smart City ได้ถูกสานต่อในการพัฒนาเมืองยะลามาโดยตลอดช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรียะลา เผยถึงกระบวนการบริหารงานที่มีประชาชนหลากหลายเชื้อชาติและวัฒนธรรมเป็นศูนย์กลาง มาร่วมเรียนรู้และแสดงความเห็น ผ่านหลักการบริหารแบบ Smart Governance ใช้ดิจิทัลเชื่อมโยงระหว่างรัฐกับประชาชน

นอกจากการดำเนินการติดตั้งระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตไร้สาย จำนวน 83 จุด ในเขตเทศบาลนครยะลา (Yala Free Wifi) เพื่อให้บริการอินเตอร์เน็ตสาธารณะแก่ประชาชนและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานบริการดิจิทัลให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ตลอดจนการสร้างสรรค์เครื่องมือดิจิทัลอย่างเป็นทางการในชื่อ Yala Mobile Application แล้ว

Smart Governance ยังถูกนำมาใช้อย่างเป็นรูปธรรมผ่านการใช้งานแอพลิเคชันที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดอยู่แล้ว อย่าง LINE ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสื่อสารอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพในวงกว้างอย่างรวดเร็ว โดย LINE Official Account ได้กลายเป็นช่องทางที่มีอิทธิพลต่อการขับเคลื่อนเมืองยะลาสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้ได้อย่างชัดเจน


LINE OA เครื่องมือขับเคลื่อนทุกไลฟ์สไตล์เข้าหากัน

ที่ผ่านมา เทศบาลนครยะลา ได้มีการประยุกต์ใช้ฟีเจอร์ Rich Menu บน LINE OA เป็นศูนย์กลางการให้บริการ และการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารเทศบาลนครยะลาให้แก่ประชาชน ในหลากหลายรูปแบบ เปรียบเสมือนสถานที่ราชการเคลื่อนที่ เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามข่าวสารข่าวประชาสัมพันธ์ของเทศบาลได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ พร้อมระบบร้องเรียนเพื่อง่ายต่อการสื่อสาร เชื่อมต่อเมนูสำหรับการรับเรื่องร้องเรียนด้านต่างๆ รวมไปถึงการแจ้งเหตุฉุกเฉิน

อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหน่วยงานรัฐ ด้วยการให้ข้อมูลระบบภาษี บน LINE OA เพื่อให้บริการให้ประชาชนจ่ายภาษีออนไลน์ได้โดยไม่ต้องเดินทางมาชำระเองที่เทศบาลและสามารถสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับภาษีจากเจ้าหน้าที่ใด้โดยตรง ทำให้สามารถบริการประชาชนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และยังช่วยลดความจำเป็นในการเข้ามาติดต่อที่เทศบาล ช่วยลดเวลาและขั้นตอนการทำงานของทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่

หรือแม้กระทั่งภายใต้สถานการณ์ล่าสุด เมืองยะลาก็ได้ใช้ LINE OA เชื่อมต่อระบบการเก็บข้อมูลด้านสาธารณสุข ติดตามปัญหาวัคซีนโควิด-19 จัดทำระบบการลงทะเบียนจองคิว เพื่อลดการแออัดในการรอคิว รวมถึงการเชื่อมต่อเข้ากับแพลตฟอร์มของทางโรงพยาบาลยะลา เพื่อใช้ในการตรวจสอบรายชื่อ วัน เวลา การเข้ารับการรับวัคซีนตัวเลือกซีโนฟาร์มและสามารถติดตามข่าวสาร ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัคชีนได้ เป็นต้น

รวมไปถึงการใช้งาน LINE OA เพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนมีรายได้ลดลง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพิ่มรายได้ให้กับท้องถิ่นในรูปแบบตลาดออนไลน์ (E-Market) ภายใต้โครงการหลาดยะลา (Yala market) บน LINE OA เพื่อเป็นแหล่งการซื้อขายสินเค้าและบริการออนไลน์ภายในเมืองยะลา ซึ่งให้ผลตอบรับที่น่าพึงพอใจ มีเม็ดเงินผ่านระบบดิจิทัลเข้าสู่กระเป๋าประชาชนสะดวกรวดเร็วขึ้น และยังช่วยแก้ปัญหากลุ่มคนขาดรายได้ในช่วงโควิด อย่างวินมอเตอร์ไซค์ ให้ทำหน้าที่เป็นผู้รับส่งสินค้าถึงครัวเรือนอีกด้วย นับเป็นการสร้างระบบเดลิเวอรี เตรียมความพร้อมรองรับภาคการท่องเที่ยวและบริการได้เช่นเดียวกัน


ประโยชน์จาก LINE OA ตอบโจทย์บริหารเมือง

“ในวันที่เราเปิดเมือง มีนักท่องเที่ยวเข้ามา ทุกคนก็สามารถ Connect เข้ามาเชื่อมต่อกับระบบ Free Wifi ที่เราให้พี่น้องประชาชนใช้ฟรี และเข้าถึง Rich Menu บน LINE OA ที่จะช่วยให้นักท่องเที่ยวสืบเสาะหาเรื่องราวในเขตเทศบาลนครเมืองยะลาได้เช่นเดียวกัน และไม่เพียงแต่ประชาชนที่จะได้ประโยชน์จากการ Smart Governance เท่านั้น แต่ผู้บริหารเมืองเองก็จะได้ใช้ Big Data จากระบบร้องเรียนไปปรับปรุงพัฒนาบ้านเมืองต่อไป ช่วยประกอบการตัดสินใจและวางแผนที่แม่นยำได้”

นายกเทศมนตรียะลา อธิบายเพิ่มเติมว่า เมืองต้องขับเคลื่อนด้วยข้อมูลเมือง (City Data) ผ่าน Smart City Data Architecture ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลจากระบบต่างๆ ทั้งจาก LINE OA เว็บไซต์ แอปพลิเคชัน ตลอดจนเซ็นเซอร์ต่างๆ ทั่วเมือง ข้อมูลทั้งหมดนี้จะถูกดึงรวมเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อจำแนกจัดแบ่งผ่านระบบ Chatbot และการจัดการข้อมูล ก่อนนำไปเป็น Open Data เพื่อเปิดเผยให้ประชาชนรับรู้ได้ ถึงการบริหารจัดการเรื่องร้องเรียนและข้อมูลที่จำเป็นของเทศบาลแบบเรียลไทม์ผ่านมือถือ หรือที่เรียกว่า Citizen Data Dashboard เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเทศบาลกับประชาชนให้มีความผูกพันแน่นเฟ้น ในขณะเดียวกัน ผู้บริหารและทีมงานของเทศบาลเมืองยะลา ก็สามารถติดตามผลการบริหารจัดการเรื่องร้องเรียน และข้อมูลบ่งชี้ประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรผ่าน City Data Dashboard แบบเรียลไทม์ผ่านมือถือได้เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ระบบ Chatbot และการจัดการข้อมูล ยังทำหน้าที่ในส่วนของ Citizen Relation Management (CRM) โดยเชื่อมโยงระบบ Facebook และ LINE OA ของเทศบาลเมืองยะลาเข้าด้วยกัน เพื่อจัดการข้อมูล ตรวจจับคำสนทนา และคอยตอบคำถามประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์เพื่อต่อยอดบริหารบ้านเมืองได้ รวมไปถึงมีระบบการ Broadcast ข้อมูลประชาสัมพันธ์ และระบบจัดทำฐานข้อมูลผู้ติดต่ออัตโนมัติ เป็นต้น

“เครื่องมือดิจิทัลและ Dashboard เหล่านี้ทำให้เราสามารถดูแลพี่น้องประชาชนได้ตลอด 24 ชั่วโมง สามารถเห็นการเคลื่อนไหวของข้อมูลประชากร โดยเฉพาะ LINE OA ที่มีฐานข้อมูลต่างๆ เข้ามามากมาย ทำให้เราหยิบมารวบรวม วิเคราะห์ต่อได้ เช่น ยังมีประชากรกลุ่มใดที่อาจดูแลไม่ทั่วถึงหรือไม่ และยังมีข้อดีที่เราสามารถเลือกส่งข้อมูลไปยังกลุ่มที่เราต้องการสื่อสารแบบเฉพาะเจาะจงได้เลย ผ่านทาง LINE ซึ่งมีความใกล้ชิดกับคนไทยมากอยู่แล้วนั่นเอง”


เทศบาลนครยะลา กับก้าวต่อไปบนเส้นทางอัจฉริยะ

พงษ์ศักดิ์ กล่าวถึงการดำเนินงานในอนาคตว่า เทศบาลนครยะลา จะเดินหน้ารักษาและพัฒนาความเป็นสมาร์ทซิตี้อย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็น Smart Living ลงทุนเสาไฟอัจฉริยะที่จะเชื่อมโยงระบบสัญญาณและเซ็นเซอร์ต่างๆ หรือแม้กระทั่ง Smart Security ระบบความปลอดภัยอัจฉริยะด้วย AI อาทิ การตรวจจับบุคคลและยานพาหนะต้องสงสัย เพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชน พร้อมทั้งมุ่งขยายและกระจายพื้นที่ให้บริการเครือข่ายอินเตอร์เน็ตไร้สายฟรีให้ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ เพื่อเป็นโครงสร้างหลักให้ประชาชนหันมาใช้เครื่องมือดิจิทัลได้มากขึ้น ควบคู่กับการส่งเสริมเมืองแห่งการเรียนรู้ด้านดิจิทัลอย่างจริงจัง

นอกจากนั้นยังมุ่งเน้นไปที่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อรักษาสภาพแวดล้อม Smart Environment สร้างเมืองให้เป็นสีเขียว จัดทำ QR code ต้นไม้ และการใช้ AI ในการบริหารการใช้น้ำ นับเป็นการตอกย้ำและสานต่อความสำเร็จจากรางวัลอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมเมืองที่ยั่งยืนปี 2564 (ASEAN ESC AWARD 2021) ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีการใช้เทคโนโลยีในการกำจัดขยะและแปรขยะให้เป็นเชื้อเพลิง สะท้อนความเป็นเมือง Smart Energy อย่างแท้จริง

จากบทเรียนความสำเร็จของเทศบาลนครยะลา ถือเป็นการย้ำชัดให้ทุกคนเห็นว่า การจะพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะต้องอยู่บนพื้นฐานการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกัน ผลลัพธ์จากการใช้ดิจิทัลพัฒนาเมือง นอกจากจะดีต่อคนในท้องถิ่นทุกภาคส่วนแล้ว ยังสะท้อนถึงภาพรวมของธุรกิจการท่องเที่ยว และกลุ่มคนนอกพื้นที่ อย่างนักท่องเที่ยวที่จะสามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จากการพัฒนาเมืองให้เป็น Smart City อย่างเต็มรูปแบบด้วยเช่นกัน

ผู้สนใจสามารถติดตามชมวิดีโอย้อนหลังงานได้ที่ YouTube ช่อง LINE for Business: https://lin.ee/eYO0g97/wcvn

คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEsผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด
SMEs manager





กำลังโหลดความคิดเห็น