บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CP ALL ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ ผนึกกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “นโยบายการส่งเสริมและสนับสนุนเอสเอ็มอีของภาครัฐ” ในงานมอบรางวัล “เซเว่น อีเลฟเว่น เอสเอ็มอียั่งยืน 2021” ผ่านระบบออนไลน์รูปแบบ HYBRID
กสอ.งัดมาตรการ พร้อมสู้ อยู่ได้ ไปรอด หนุนเอสเอ็มอี
ดร.อริยาพร อำนรรฆสรเดช ผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอี จำนวนกว่า 20,000 ราย ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจจนต้องปิดกิจการลง และบางส่วนยังประสบปัญหาหนี้สิน เนื่องจากขาดการสนับสนุนด้านต่างๆ อาทิ องค์ความรู้ด้านการตลาด การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การพัฒนาเทคโนโลยี ขาดแคลนวัตถุดิบ การบริหารจัดการต้นทุน และการออกแบบบรรจุภัณฑ์
กสอ. จึงออกนโยบาย “พร้อมสู้ อยู่ได้ ไปรอด” เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการแบบเร่งด่วน ดังนี้ 1.การจัดการโควิด-19 ในสถานประกอบการ ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ 2.การตลาด 2.0 ถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการขายสินค้าผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ 3.ช่วยเหลือด้านการขนส่ง ผ่านโครงการ “ดีพร้อมแพค” ให้คำปรึกษาแนะนำด้านการออกแบบและพัฒนาตราสินค้า ฉลาก และบรรจุภัณฑ์ให้แก่ผู้ประกอบการโดยไม่มีค่าใช้จ่าย 4.เปลี่ยนค่าใช้จ่ายเป็นเงินทุน เช่น ให้องค์ความรู้เพื่อลดต้นทุนจากการขนส่งและกระบวนการทำงาน 5.สร้างเครือข่ายพันธมิตร อาทิ พัฒนา I-AID แพลตฟอร์มเช่าเครื่องจักรทางการเกษตร ช่วยเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกร และ 6.ปรับโมเดลธุรกิจ คาดว่านโยบายดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการในทุกอุตสาหกรรมได้กว่า 3,356 กิจการ 982 ผลิตภัณฑ์ และสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจถึง 8,000 ล้านบาท ภายในปี 2564
สสว.ออกมาตรการ THAI SME-GP
รัฐจัดซื้อจัดจ้าง..เอสเอ็มอีที่ขึ้นบัญชี
ด้านนายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยจะมีผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีราว 3 ล้านราย หรือเป็นสัดส่วนกว่า 99% ของจำนวนธุรกิจภายในประเทศทั้งหมด และเป็นภาคธุรกิจที่มีการจ้างงานมากที่สุด แต่สามารถสร้างรายได้ได้เพียง 34.2% ของจีดีพีทั้งหมดเท่านั้น ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอยู่ที่ 40-50% ทั้งยังมีผู้ประกอบการรายย่อยนอกระบบอีกจำนวนมาก ทำให้ภาครัฐไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง ธุรกิจเอสเอ็มอีจึงเป็นภาคธุรกิจที่แบกรับภาระมากที่สุดภาคหนึ่งในช่วงโควิด-19
ที่ผ่านมา สสว. ได้ออกนโยบายสนับสนุนเอสเอ็มอีในด้านต่างๆ อาทิ มาตรการ “THAI SME-GP” ออกกฎกระทรวงกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างสินค้าหรือบริการของเอสเอ็มอีที่ขึ้นบัญชีไว้กับ สสว. ในวงเงินไม่น้อยกว่า 30% ของงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่อยู่ในบัญชีรายชื่อ เพื่อเพิ่มโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ เนื่องจากการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมีมูลค่าสูงถึง 1.3 ล้านล้านบาทต่อปีงบประมาณ และมาตรการ “จ่ายคนละครึ่ง” ช่วยเหลือผู้ประกอบการในการพัฒนาธุรกิจของตนเองให้ตรงตามความต้องการของตลาดมากขึ้น โดย สสว.จะให้การเงินสนับสนุนแบบร่วมจ่าย (co-payment) ในสัดส่วนตั้งแต่ 50-80% ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้ได้ภายใน ม.ค. 2565
นอกจากนี้ ทางคณะรัฐมนตรียังมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำร่าง “แผนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566 – 2570)” ขึ้น โดยตั้งเป้าขับเคลื่อนภาคธุรกิจเอสเอ็มอีให้สามารถสร้างรายได้ได้ถึง 40% ของจีดีพีภายในสิ้นปี 2570