xs
xsm
sm
md
lg

บิ๊กค้าปลีก จับมือ พช. คัด 48 ผลิตภัณฑ์โอทอป ดันขึ้นแท่นสินค้าพรีเมี่ยม เจาะตลาดออฟไลน์ทั้งในและต่างประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





บิ๊กค้าปลีกอย่าง คิง เพาเวอร์ ไอคอนสยาม ไพร์ซซ่า และเทพช็อป จับมือกรมการพัฒนาชุมชน คัดเลือก 48 ผลิตภัณฑ์โอทอปประเภทของใช้ ของตกแต่งและของที่ระลึก พร้อมระดมไอเดียปิดจุดอ่อน สร้างจุดแข็งและติดอาวุธให้กับสินค้าเพื่อปั้นสู่ระดับพรีเมี่ยม รวมถึงเจาะตลาดสายช็อปออฟไลน์ยุคใหม่ทั้งในและต่างประเทศ


กรมการพัฒนาชุมชนมอบให้สำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชนโดยนายวรงค์แสงเมืองผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน เปิดเผยว่า กรมการพัฒนาชุมชนจัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ OTOPกลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา (Quadrant D)ให้มีคุณภาพมาตรฐานประเภทของใช้ของตกแต่งของที่ระลึกแก่ผู้ประกอบการโอทอปจำนวน 475รายการเพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ไปสู่สินค้าพรีเมี่ยมตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่มและขยายตลาดให้กว้างขึ้นทั้งในรูปแบบหน้าร้านและตลาดออนไลน์ภายใต้แนวคิดหลักการตลาดนำการผลิต “ดูดีมีสไตล์”เพื่อสร้างรายได้และเศรษฐกิจชุมชนฐานรากให้เกิดความเข็มแข็งมั่นคง


ล่าสุดได้ร่วมกับพันธมิตรค้าปลีกรายใหญ่ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ที่มีกลุ่มลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างชาติ ดังนี้ กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชันแนล “สุขสยาม” แหล่งรวมสินค้าอัตลักษณ์ท้องถิ่นในห้างสรรพสินค้า ไอคอน สยาม บริษัท ไพร์ซ ซ่า จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม price za เครื่องมือค้นหาสินค้าและเปรียบเทียบราคา และเทพช็อป ร้านค้าออนไลน์ LnwShop โดยผ่านกระบวนการคัดเลือกผลิตภัณฑ์เด่นได้แล้วจำนวน 48 ผลิตภัณฑ์จากจำนวน 475 ผลิตภัณฑ์ เพื่อเข้าสู่กระบวนการพัฒนาต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์พรีเมี่ยม เพิ่มมูลค่าสินค้าและยกระดับภาพลักษณ์ให้สามารถแข่งขันตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้หลากหลาย ติดปีกเติมเทคนิคพร้อมเข้าสู่การทดสอบตลาดทั้งช่องทางออนไลน์ ออฟไลน์ รวมถึงกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติด้วยสำหรับกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (BUSINESS MATCHING)


นางดอกอ้อ เรืองบุตร ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อสินค้าไทย กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชันแนล กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์โอทอปที่ได้รับการออกแบบพัฒนาของผู้ประกอบการที่เข้าโครงการฯ ส่วนใหญ่มีศักยภาพสามารถพัฒนานำไปสู่ตลาดได้ไม่ยาก เนื่องจากมีขั้นตอนกระบวนการในการผลิตที่มีความปราณีตสวยงาม มีเรื่องราวที่สามารถเล่าเรื่องส่งเสริมผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าได้ โดดเด่นด้วยเอกลักษณ์ท้องถิ่น มีกลิ่นอายความเป็นไทย โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์เด่นทั้ง 48 รายการอาจต้องมีการปรับขนาด รูปทรง สีสัน ให้ร่วมสมัย นำวัสดุท้องถิ่นมาปรับใช้ในการผลิตเพื่อสร้างเรื่องราว คงความเป็นอัตลักษณ์ต่อยอดให้ตรงตามเทรนด์ตลาด ที่สำคัญต้องเพิ่มประโยชน์การใช้สอยให้มีความกหลากหลายยิ่งขึ้น รวมถึงต้องคำนึงถึงบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม สามารถขนส่งได้สะดวก ปลอดภัยทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งเพิ่มการสื่อสารกับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้รู้จักผลิตภัณฑ์ เช่น การใช้สีธรรมชาติจากเปลือกไม้หรือดิน


ลวดลายอัตลักษณ์ท้องถิ่น เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน กระตุ้นความสนใจในการซื้อ และสร้างความจดจำให้กับสินค้าเพื่อการกลับมาซื้อซ้ำ “ซึ่งคิงเพาเวอร์เราทำตลาดทั้งตลาดออนไลน์ ตลาดคนไทย และตลาดต่างประเทศ เช่น จีน ยุโรป สินค้าที่จะวางขายที่คิงเพาเวอร์ต้องเป็นสินค้าที่ใช้ประโยชน์ได้จริง รวมทั้งเพิ่มการสื่อสารที่ร่วมสมัยหากเป็น 2 ภาษาทั้งไทยและอังกฤษ จะสามารถเพิ่มการแข่งขันได้มากยิ่งขึ้น” นางดอกอ้อ กล่าว


ด้าน นายดิสทัต จันทร์รุ่งเรือง ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายส่งเสริมและสื่อสารการตลาด “สุขสยาม” ห้างสรรพสินค้า ไอคอน สยาม กล่าวว่า กลุ่มผลิตภัณฑ์เมื่อเข้าสู่การพัฒนาตามหลักสูตรของโครงการฯ แล้ว สามารถใช้ช่องทางการวางจำหน่ายในโครงการ “สุขสยาม” ซึ่งปัจจุบันสุขสยามเป็นแหล่งรวมสินค้าประเภทโอทอปของห้างสรรพสินค้า ไอคอนสยาม ลูกค้าต่างชาติให้ความสนใจซื้อผลิตภัณฑ์กลุ่มโอทอปมากถึง 60-70% ดังนั้นเพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้นรวมทั้งสามารถแข่งขันกับรายอื่นๆได้ ต้องคำนึงถึงการออกแบบที่โดดเด่น สวยงามและเรื่องราวที่บอกจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ถือปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของผู้บริโภค


ขณะที่นางสาวฉฐมณฑม์ พลดุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไพร์ซ ซ่า จำกัด กล่าวถึงผลิตภัณฑ์เพื่อนำไปพัฒนาว่า พิจารณาจากความเป็นไปได้ในการวางจำหน่วยผ่านตลาดออนไลน์ เลือกผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าตลาดออนไลน์ ภาพสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต้องสวยงาม สะดุดตา การสร้างเรื่องราวประกอบให้ผลิตภัณฑ์โดดเด่น ไม่เป็นอุปสรรคต่อการขนส่งส่ง ถึงมือผู้บริโภคอย่างสมบูรณ์ เนื่องจากผู้บริโภคในตลาดออนไลน์ไม่สามารถเห็นสินค้าจริงได้ ปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการตัดสินใจซื้อ


ด้านนางสาวนิธิกานต์ รงรอง ผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดออนไลน์ เทพช็อป กล่าวว่า สินค้าที่มีความต้องการและมีการสืบค้นหาในออนไลน์ ส่วนใหญ่เป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน กระแสรักษ์โลก ของสวยงามและกลุ่มที่ช้อปออนไลน์ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยทำงานซึ่งมีกำลังซื้อสูง ผู้ประกอบการจึงต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มนี้การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์จึงจำเป็นโดยการเติมไอเดีย ลวดลาย สีสัน บางรายการแค่เพิ่มเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ บางรายการปรับขนาดให้เล็กลงเพื่อให้ตรงกลุ่มเป้าหมายลูกค้าออนไลน์ได้ และเพื่อการขนส่งที่สะดวก ช่องทางออนไลน์ก็จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการได้เพิ่มขึ้น

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น