xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป)“ตะวันหมูปิ้ง” ไม้ละ 1.50 บาท ขายวันละ 30,000 ไม้ ปลดหนี้กว่า 10 ล้านบาทจากวิกฤตโควิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วชิราภรณ์ พงษ์วรัฎฐกุล
สถานการณ์โควิด สร้างบทเรียนราคาแพงให้ นักธุรกิจสาว “วชิราภรณ์ พงษ์วรัฎฐกุล” (วาชิ) เจ้าของกิจการโฮสเทล และ บริษัทไมโครไฟแนนซ์ ชื่อว่า บริษัท วาชิ โกลบอล จำกัด เพราะช่วงสถานการณ์โควิดทุกอย่างที่เธอสร้างมาล้มเป็นโดมิโนเพียงแค่ข้ามคืน หลังจากที่ตื่นขึ้นตอนเช้าและมาพบว่าตนเองเป็นหนี้ถึง 40 ล้านบาท จนเธอเองตั้งตัวไม่ทันไม่รู้ว่าจะเดินต่อไปอย่างไร แต่ใครจะคิดว่า หมูปิ้งไม้ละ 1.50 บาท กิจการที่ใครมองว่าเป็นของกินข้างถนน แต่สำหรับ “คุณวาชิ” มันเป็นกิจการที่เข้ามาช่วยปลดหนี้ ชุบชีวิตให้เธอได้ลุกขึ้นมาเดินต่อไปได้อีกครั้งในสถานการณ์โควิด-19


จากเจ้าของธุรกิจหลายสิบล้าน สู่ เส้นทางขายหมูปิ้งไม้ละ 1.50 บาท

วชิราภรณ์ (วาชิ) เล่าว่า เดิมที่ตนเองทำธุรกิจโฮสเทล และ บริษัทไมโครไฟแนนซ์ พอเจอสถานการณ์โควิด ทั้งสองธุรกิจได้รับผลกระทบเหมือนกัน โดยในส่วนของกิจการโฮลเทล ปิดให้บริการเพราะกังวลเรื่องการแพร่กระจายของเชื้อโควิด เพราะเราใช้ตึกแถวมาดัดแปลงเป็นโฮสเทล และครอบครัวซึ่งมีผู้ใหญ่พักอยู่ด้วยกัน ก็เลยเลือกที่จะปิดให้บริการไปก่อน  ในส่วนของไมโครไฟแนนซ์ ซึ่งเปิดมาใกล้ๆกัน กับบริการโฮสเทล ประมาณ 3-5 ปี พอเจอโควิด ลูกค้าที่มากู้เงินส่วนใหญ่เป็นลูกค้าที่กู้ไปทำมาหากิน พอทำมาหากินไม่ได้ เขาก็ไม่มีเงินจะมาจ่ายเรา ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ก็เพิ่งเริ่มทำกิจการมาได้ไม่นาน แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น ที่ทำให้ต้องเป็นหนี้หลายสิบล้าน มาจากเพื่อนกันเองนี้แหละ มากู้เงินและก็หนีหายไปเลยไม่ยอมใช้หนี้ จนตนเองก็เลยต้องมารับหนี้สินทั้งหมดจนเป็นที่มาของหนี้ 40 ล้านบาท


“ตอนนั้นยอมรับว่าเครียดมาก เงินที่จะมาหมุนใช้ในแต่ละวันแทบจะไม่มีเลย จะทำอะไรต่อก็ไม่มีเงินทุน หมกตัวอยู่กับตัวเอง คิดทบทวนอยู่หลายรอบว่า จะทำอย่างไรต่อกับชีวิตข้างหน้า เครียดมากนอนอย่างเดียวเลย 4 วันเต็มๆ ไม่รับโทรศัพท์ใครเลย จนลูกชายที่ไปเรียนและไปพักอยู่ที่หอพัก โทรเข้ามาขอเงิน เพราะเราไม่ได้ส่งเงินให้ลูกเลย ตอนนั้นบอกลูกไปว่า ลูกเอาเงินในบัญชีมาใช้ไปก่อน ลูกก็บอกมาว่าจะเบิกได้อย่างไรตอนนี้เงินในบัญชีมีแค่ 1.50 บาท จะซื้ออะไรได้ละแม่ เราก็เลยพูดไปกับลูกว่า ถ้าอย่างนั้นเดียวแม่ทำหมูปิ้งไม้ละบาทห้าสิบให้กิน เพราะลูกเราก็ชอบกินหมูปิ้งอยู่แล้ว และตัดสินใจทำหมูปิ้งขายตั้งแต่นั้นเลย จนเป็นที่มาของชื่อ “ตะวันหมูปิ้ง ไม้ละ1.50 บาท” (ตะวันเป็นชื่อลูกชาย) ”


วาชิ บอกว่า ในขณะนั้นตนเองเงินติดลบเรียกว่าขยับอะไรไม่ได้เลย ก็เลยไปยืมเงินลูกน้องมา ลูกน้องก็รวมเงินกันประมาณ 4-5 คน รวมกันได้ 3,000 บาท และมาลงมือทำหมูปิ้ง ต้องบอกว่าไม่เคยทำมาก่อนทำไม่เป็นลูกน้องก็ทำไม่เป็น แต่จำได้ว่าเราเคยกินน้ำจิ้มลูกชิ้นที่หน้าโรงเรียนอร่อยมาก และเราก็ค่อยๆ ปรับสูตรเอาให้มันใกล้เคียงกับสูตรน้ำจิ้มลูกชิ้น หน้าโรงเรียนที่เคยกิน การคิดสูตรไม่ใช่เรื่องยากเราค่อยๆปรับไป แต่ความยากอยู่ที่การเสียบไม้


จากเงิน 3,000 บาท สร้างธุรกิจเงินล้านภายใน 2 เดือน

แต่สุดท้ายความยากที่สุด อยู่ตรงที่การเอาหมูมาเสียบไม้นี่แหละยาก เราลองทำอยู่ทั้งคืน กว่าจะทำได้ จำได้ว่า วันแรกเราเสียบหมูได้ 3,000 ไม้ ก็คิดว่าคงจะขายได้สักประมาณ 7 วัน เดียวช่วงนี้ค่อยหาวิธีเสียบไม้ว่าจะทำอย่างไรให้ง่ายขึ้น แต่วันแรกที่เราเปิดขายก็ขายหมด 3,000 ไม้ ตั้งแต่วันแรก มีเสีย มีไหม้บ้างแต่ก็ขายหมด วันนั้นก็รู้สึกดีใจว่าขายได้ แต่ปัญหาคือ วันนั้นเราต้องมานั่งเสียบหมูกันอีกทั้งคืน ไม่ได้หลับได้นอนช่วงแรกเพราะเริ่มเป็นที่รู้จัก ขายได้มากขึ้น

ผ่านมาไม่กี่วัน ก็มีสื่อมาสัมภาษณ์ พอข่าวเผยแพร่ออกไป คนก็เข้ามาสั่งซื้อกันเป็นจำนวนมาก และเราก็เริ่มขายออนไลน์บนช่องทางโซเชียลฯ มีคนสั่งซื้อเข้ามาจำนวนมาก วันหนึ่งมีออเดอร์เป็นแสนไม้ แต่ทำกันไม่ทัน เรารับออเดอร์ได้แค่วันละ 30,000 ไม้ ลูกค้าที่สั่งจะต้องสั่งล่วงหน้า 3-7 วัน ถึงจะได้ โดยลูกค้ามีทั้งที่ซื้อไปกินเอง ซื้อไปขายต่อ


สำหรับคนที่ซื้อไปขายต่อ เราไม่มีค่าแฟรนไชส์ ไม่มีการสั่งขั้นต่ำ ทุกคนสั่งเท่าไหร่ก็ได้ โดยขายเป็นถุงๆละ 100 ไม้ในราคา 130 บาท ลูกค้าจะไปขายเท่าไหร่ก็ได้ เราไม่ได้กำหนดว่าต้องขาย 1.50 บาท เหมือนกับเรา ซึ่งส่วนใหญ่จะซื้อไปขายไม้ละ 2 บาท  ขอให้ลูกค้าที่ซื้อหมูปิ้งของเราไป สามารถไปต่อยอดสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับเขาได้ เราก็ดีใจแล้ว ไม่ต้องมาเสียค่าแฟรนชง แฟรนไชส์อะไร เพราะเราก็ผ่านจุดที่ไม่มี และมีหนี้สินจำนวนมาก ซึ่งใครเจอสถานการณ์แบบนี้เช่นเดียวกับเราเขาก็คงจะเครียดเหมือนกัน ถ้าเขาสามารถสร้างอาชีพได้ด้วยเงินเพียงไม่กี่บาท และผ่านช่วงสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ไปให้ได้เราก็ดีใจแล้ว

ปัจจุบัน ลูกค้าของคุณวาชิ  มีทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด โดยแต่ละวันเค้าจะต้องจัดส่ง เฉพาะในต่างจังหวัดที่ซื้อประจำเพื่อเอาไปขายวันหนึ่ง 20-30 กล่อง หรือ 20-30 ราย คนหนึ่งเป็นพันไม้ และที่มารับประจำหน้าร้าน อีกประมาณ 10 กว่ากล่อง ส่วนที่ปิ้งขายเองหน้าร้าน วันหนึ่งประมาณ 3,000 ไม้ จุดขายอย่างหนึ่งของหมูปิ้งเราคือ การปิ้งด้วยเตาถ่าน สาเหตุเลือกเตาถ่านเพราะมันได้รสชาติที่อร่อย และหอมกว่าการปิ้งเตาไฟฟ้า โดยเตาถ่านหนึ่งเตาสามารถปิ้งหมูได้ครั้งละประมาณ 100 ไม้


กำไรต่อหน่วยไม่ถึงบาท ขายหลายหมื่นไม้ รายได้หลักหมื่นบาทต่อวัน

วาชิ เล่าถึงผลตอบแทนที่ได้ จากการขายหมูปิ้งไม้ละบาทห้าสิบ ว่า การขายถูกไม่ใช่ว่าจะไม่ได้กำไร หลายคนสงสัยว่า ขายไม้ละบาทห้าสิบจะได้กำไรเหรอ ก็ต้องบอกว่าได้กำไร แม้ว่าราคาต่อไม้อาจจะได้กำไรหลักสตางค์ไม่ถึงบาท แต่ขายเน้นปริมาณ วันหนึ่งขาย 30,000 ไม้ กำไร ได้หลักหมื่นบาท ซึ่งเราขายหมูปิ้งแค่ 2 เดือนก็ได้จับเงินล้าน แล้ว และตอนนี้ขายมา 10 เดือน ปลดหนี้ไปได้แล้วหลายล้านบาท

ทั้งนี้ การขายหมูปิ้งวันนี้ มันอาจจะไม่ได้ปลดหนี้ทั้งหมดของเราได้ แต่มันช่วยแบ่งเบาภาระเราไปได้เยอะมาก ทำให้ลูกน้องยังมีงานทำ เราก็ยังมีเงินมาหมุน และค่อยทยอยใช้หนี้ไปเรื่อย ตอนนี้เหลือหนี้อยู่ไม่กี่ล้านบาท ซึ่งเราเองไม่ได้มีธุรกิจแค่ขายหมูปิ้งเพียงอย่างเดียว แต่การขายหมูปิ้งครั้งนี้ นอกจากช่วยปลดหนี้ให้ได้แล้ว ยังช่วยต่อยอดธุรกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการขายครีม ขายเครื่องสำอาง หรือ อาหารเสริม ทำได้ง่ายขึ้นทางช่องทางออนไลน์ เพราะหมูปิ้งทำให้มีคนรู้จักเรามากขึ้น


"อย่างไรก็ดี ไม่ว่าสินค้าของเราจะดีขนาดไหน ถ้าการตลาดของเรามันไม่ดี สุดท้ายก็ขายไม่ได้ สิ่งสำคัญ คือ สินค้าดีและการตลาดต้องดีด้วย เช่น เมื่อก่อนมองว่าการขายหมูปิ้ง ต้องขายตอนเช้าเท่านั้น แต่ถ้ารู้จักดัดแปลง การขายหมูปิ้งขายได้ทุกเวลา มีลูกค้าที่ซื้อหมูปิ้งของเราไปขายตอนเย็นก็ขายได้ หรือ ขายทั้งวันก็สามารถขายได้ เพราะฉะนั้นขายหมูปิ้งไม่จำเป็นต้องกินตอนเช้าเท่านั้น ขายได้ตลอดถ้าเรารู้จักปรับเรื่องการตลาดประสบความสำเร็จได้เช่นกัน"

สุดท้ายไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์แบบไหน การต่อสู้ แบบไม่ยอมแพ้ ของ นักธุรกิจสาว คนนี้ “วชิราภรณ์” (วาชิ) ทำให้เธอก้าวข้ามความยากลำบาก และสร้างธุรกิจใหม่ด้วยเงินเพียงแค่ 3,000 บาท แต่สามารถต่อยอดสร้างธุรกิจเงินล้านได้

ติดต่อ Facebook : ตะวันหมูปิ้งไม้ละ 1.50 บาท









คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEsผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด
SMEs manager



กำลังโหลดความคิดเห็น