ปัจจุบันธุรกิจเอสเอ็มอีมีการแข่งขันกันสูง โดยเฉพาะสินค้าแฟชั่น เพราะผู้บริโภคสามารถที่จะเข้าถึงการซื้อสินค้าได้จากทั่วโลก และถ้าเอสเอ็มอีไทยจะอยู่รอดและสามารถแข่งขันได้ ต้องอาศัยหลายปัจจัย รวมถึงไอเดียการสร้างจุดขาย ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด และสินค้าที่ยังคงมาแรงในยุคนี้ ก็ต้องเป็นสินค้ากลุ่มเพื่อสุขภาพ และกลุ่มรักษ์โลก
ต่อยอดธุรกิจ OEM สู่การสร้างแบรนด์รองเท้าจากขวด PET
ครั้งนี้ พามารู้จักกับ รองเท้ารักษ์โลกที่ทำมาจากขยะเหลือทิ้งจากขวดพลาสติก PET แบรนด์ Le Casino (เลอคาสิโน) รองเท้าแฟชั่นสำหรับสุภาพสตรี ของ “กัญชรัตน์ ศรีกัลยาณวัจน์” เป็นการนำขวดพลาสติก PETมาผ่านกระบวนการเรียกว่า upcycle อัพไซเคิล เป็นการนำผลิตภัณฑ์ที่ถูกใช้แล้วมาผ่านกระบวนการแปลงสภาพ เพื่อเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่แตกต่างจากสิ่งเดิม เพิ่มมูลค่าให้ใช้งานได้ยาวนานขึ้น
นางสาวกัญชรัตน์ ศรีกัลยาณวัจน์ เจ้าของแบรนด์รองเท้า Le Casino เล่าถึง ที่มา upcycle ขวดพลาสติก PET ของ Le Casino เกิดขึ้นมาจากเดิมครอบครัวของสามี ทำธุรกิจเป็นผู้จัดจำหน่ายวัตถุดิบที่ใช้ผลิตรองเท้า “หนังสัตว์” ให้กับโรงงานผลิตรองเท้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ และรับทำOEM รับจ้างผลิตรองเท้าแบรนด์ต่างๆ ทั้งรองเท้าผู้ชาย และรองเท้าผู้หญิง รวมถึงรองเท้าแฟชั่น ซึ่งรองเท้าส่วนใหญ่จะใช้วัตถุดิบหนังฟอก ในกระบวนการผลิตที่จะต้องฟอกหนังนั้น จะมีของเสียที่ถูกปล่อยออกมากระทบกับสิ่งแวดล้อมภายนอก ทั้งน้ำเสีย และอากาศเสีย รวมถึงมีเศษหนังที่เหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก ที่ต้องใช้เวลาในการย่อยสลายเป็นหลายร้อยปี
“ในส่วนของ แบรนด์รองเท้า Le Casino ของเราเดิมใช้หนังฟอกมาเป็นวัตถุดิบในการทำรองเท้าเช่นกัน ทำให้มองเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมในอนาคต ตนเองและสามี จึงคิดว่าควรจะมีส่วนช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยการใช้วัสดุอื่นๆที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเราทั้งสองคนได้ศึกษาหาวัสดุอื่นๆว่ามีอะไรที่จะมาแทนหนังฟอกที่เราใช้อยู่ได้บ้าง”
จากขวดพลาสติกมาเป็นรองเท้าแฟชั่นโดนใจสาว สาว ได้อย่างไร
กระทั่ง วันหนึ่งได้มารู้จักกับ เสื้อผ้า และ กระเป๋า ที่ทำมาจากเส้นใยที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลขวดพลาสติก PET และในเมื่อกระเป๋าและเสื้อผ้าสามารถใช้เส้นใยจากขวด PETมาทำได้ และทำไมรองเท้าจะทำไม่ได้ หลังจากนั้น เราได้เริ่มศึกษาเส้นใยที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลจากขวดพลาสติกPET จนได้มารู้จักกับโรงงานรีไซเคิลขวดพลาสติกแห่งหนึ่ง และได้ดิวกันเพื่อตกลงที่จะซื้อเส้นใยขวดพลาสติก หรือ เส้นใยโพลีเอสเตอร์ มาทำรองเท้า
จนเกิดเป็นรองเท้ารักษ์โลก ในคอลเลคชั่น Waste To Wow (2w) ภายใต้คอนเซ็ปต์ “จากขยะสู่รองเท้ารักษ์โลกสุดว้าว” โดยรองเท้าที่ได้จากการใช้เส้นใยโพลีเอสเตอร์จากการรีไซเคิลขวดพลาสติก PET ครั้งนี้ ผลลัพธ์ที่ได้ ถือว่าประสบความสำเร็จมาก เพราะเราได้รองเท้าที่มีความยืดหยุ่นสูง และสามารถประกอบขึ้นรูปเป็นรองเท้าได้ทุกรูปแบบ รองเท้ายังมีความนุ่มสบายเวลาสวมใส่ และยังสามารถนำไปล้าง หรือเข้าเครื่องซัก หรือ ซักมือได้ด้วย
สำหรับขั้นตอนการรีไซเคิลขวดพลาสติก PET จนได้ออกมาเป็นเส้นใยโพลีเอสเตอร์ นั้น เป็น กระบวนการแปรรูปด้วยความร้อน (Heat compression) กระบวนการนี้เป็นกระบวนการแปรรูปขยะให้กลับสู่สถานะวัตถุดิบตั้งต้น โดยเริ่มจากการทำความสะอาด,อบแห้ง,บด,หลอม และแปรรูปพลาสติกกลับสู่รูปแบบเม็ดพลาสติก กระบวนการนี้สามารถแปรรูปได้เฉพาะพลาสติกที่ไม่ทนความร้อน (เช่น PET,PE และพลาสติกชนิดอื่นๆที่หลอมตัวได้) โดยเส้นใยที่ได้จะถูกนำไปทักทอด้วยเครื่องเทคโนโลยี 3 D Kniting
ทั้งนี้ ในกระบวนการรีไซเคิล ที่ปัจจุบันทำกันนั้น สามารถแยกได้เป็น 3 ประเภทดังนี้ 1.กระบวนการสลายตัวด้วยความร้อน (Thermal depolymerization)กระบวนการนี้เป็นกระบวนการแปรรูปขยะพลาสติกกลับสู่รูปของน้ำมันปิโตรเลียมโดยการใช้ความร้อน กระบวนการนี้มีข้อดีคือสามารถรีไซเคิลพลาสติกทุกชนิดได้ แต่มีค่าใช้จ่ายในการลงทุนสร้างระบบที่สูง 2.กระบวนการแปรรูปด้วยความร้อน (Heat compression) กระบวนการนี้เป็นกระบวนการแปรรูปขยะให้กลับสู่สถานะวัตถุดิบตั้งต้น โดยเริ่มจากการทำความสะอาด,อบแห้ง,บด,หลอม และแปรรูปพลาสติกกลับสู่รูปแบบเม็ดพลาสติก กระบวนการนี้สามารถแปรรูปได้เฉพาะพลาสติกที่ไม่ทนความร้อน (เช่น PET,PE และพลาสติกชนิดอื่นๆที่หลอมตัวได้) กระบวนการนี้มีข้อเสียที่มีต้นทุนพลังงานที่ใช้ในกระบวนการที่สูงและ 3.กระบวนการอื่นๆกระบวนการนี้จะใช้กรรมวิธีอื่นๆที่ไม่เข้าพวกกับ 2 วิธีแรก เช่น บดและอัดขยะพลาสติกให้กลายเป็นแผ่นปูทางเท้า หรือ นำขยะพลาสติกมาใช้เป็นเชื้อเพลิง เป็นต้น
การทำตลาด รองเท้า Le Casino คอลเลคชั่น Waste To Wow
นางสาวกัญชรัตน์ เล่าถึงการทำตลาด รองเท้า Le Casino คอลเลคชั่น Waste To Wow ว่า ทางเราได้เริ่มวางจำหน่าย ประมาณ 2 ปี สินค้าแนวแฟชั่นที่เจาะตลาดผู้หญิงเป็นหลัก ซึ่งเดิมทำตลาดผ่านช่องทางออฟไลน์ ในห้างสรรพสินค้า แต่หลังจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดทำให้ห้างสรรพสินค้าต้องปิดให้บริการ จำเป็นที่จะต้องปรับตัว โดยเพิ่มช่องทางตลาดออนไลน์ ซึ่งผลตอบรับออกมาดีมาก เพราะเดิมขายการขายในห้างสรรพสินค้าจะได้ แต่กลุ่มลูกค้าที่มาเดินชอปปิ้ง ในห้างสรรพสินค้าเท่านั้น
หลังจากปรับมาขายออไลน์ ยอดขายเพิ่มมากขึ้น กว่าการขายในห้างสรรพสินค้าอีก มีคนรู้จักเรามากขึ้น เพราะออนไลน์ ช่วยขยายตลาดไปได้ในวงกว้างทุกพื้นที ซึ่งจนถึงปัจจุบันนี้ เราได้ปรับการทำตลาดออนไลน์อย่างจริงจังมาได้ประมาณ 1 ปี ยอดขายเพิ่มขึ้นตลอด มีการทำโปรโมชั่นผ่านช่องทางออนไลน์ บ้าง มีการซื้อแอดโฆษณาผ่านสื่อ กูเกิล และ เฟซบุ๊กบ้าง รวมถึงนำสินค้าไปวางขายผ่านช่องทางมาร์เก็ตเพลสต่างๆ ด้วย
นอกจากนี้ ข้อดีของการขายผ่านออนไลน์ คือ การที่เราไม่เสียค่าจีพีให้กับทางห้างฯ และไม่ต้องเสียค่าพนักงานขาย เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ การขายออนไลน์ ราคารองเท้าของเราจะถูกกว่าการขายในห้างสรรพสินค้า โดยการขายในห้างกับการขายออนไลน์ ราคาแตกต่างกัน ซึ่งราคาขายในห้างประมาณคู่ละ 2,490 บาท ไปจนถึง 2,990 บาท แต่พอปรับมาขายออนไลน์ ราคาอยู่ประมาณ 1,290 บาท จนถึง 1,490 บาท
สำหรับกลุ่มลูกค้า ของรองเท้า Le Casino คอลเลคชั่น Waste To Wow เป็นกลุ่มคนทำงาน และคนที่ใส่ใจและให้ความสำคัญกับเรื่องของผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมในอนาคต ผลตอบรับที่ออกมาค่อนข้างดีมาก ดีเกินกว่าที่เราคาดไว้ ส่วนหนึ่งมาจากการรณรงค์ และให้ความรู้เรื่องผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และ ส่วนที่สองมาจากการออกแบบรองเท้าที่เราให้ความสำคัญมากเช่นกัน โดยแต่ละปีจะออกคอลเลคชั่นใหม่ 3-4 ครั้ง เพราะลูกค้าแม้ว่าอยากจะสนับสนุนสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่รูปแบบของรองเท้า รวมถึงการสวมใส่สบายเท้า ก็เป็นสิ่งที่ลูกค้าให้ความสำคัญมาเป็นอันดับต้นๆ เช่นกัน
บทสรุป ความสำเร็จของผู้ประกอบการ เจ้าของแบรนด์รองเท้า Le Casino เลอคาสิโน ประการแรก ความสำเร็จที่เกิดจากการคิดต่าง กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดยุคปัจจุบัน และคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นในอนาคต ประการที่สอง การเอาตัวรอดในช่วงสถานการณ์โควิด รายนี้เป็นอีกหนึ่งเอสเอ็มอี ที่วิกฤตกลายเป็นโอกาส จากเดิมไม่ได้มองตลาดออนไลน์ จนวันหนึ่ง เมื่อไม่มีทางเลือกต้องโดดลงมาทำตลาดออนไลน์ ผ่านมาวันนี้ เค้ามียอดขายมากกว่า ช่วงที่ขายออฟไลน์เสียอีก
ติดต่อ FB:lecasinobrand
คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด