รมช.พณ.นำทีมลุยพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผลักดันวิสาหกิจชุมชนไชโยฟาร์มเห็ดเป็นธุรกิจต้นแบบอัจฉริยะออนไลน์ของประเทศไทย พร้อมสำรวจธุรกิจที่มีศักยภาพและชวนขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ สร้างอาชีพสร้างรายได้ให้คนฐานรากเข้มแข็งและเติบโตที่ผ่านมาเกิดธุรกิจต้นแบบทั่วประเทศไทยแล้ว 34 แห่ง ช่วยเพิ่มยอดขายได้สูงถึง 1 แสนบาทต่อเดือนและร้อยละ 10 ต่อปี
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่สำรวจธุรกิจและพบปะกับผู้นำวิสาหกิจชุมชนไชโยฟาร์มเห็ด จังหวัดสุราษฎร์ธานี ระหว่างวันที่ 21-22 ตุลาคม 2564 ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยืดเยื้อยาวนานได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการสินค้าชุมชนในการจำหน่ายสินค้าอย่างมาก จึงได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเร่งเดินหน้าโครงการ Digital Village by DBD หรือชุมชนอัจฉริยะออนไลน์ซึ่งเป็นการผลักดันสินค้าท้องถิ่นให้เข้าสู่ช่องทางการขายสินค้าผ่านทางออนไลน์และแพลตฟอร์ม e-marketplace ที่มีชื่อเสียง หรือช่องทางโซเชียลมีเดียที่กำลังเป็นที่นิยม จนสามารถขยายตลาดไปยังกลุ่มเป้าหมายได้กว้างขึ้น และเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าที่เป็นอัตลักษณ์ ประกอบกับส่งเสริมให้ภูมิปัญญาไทยได้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง
รมช.พณ. กล่าวต่อว่า “การลงพื้นที่ในครั้งนี้ตนได้มีโอกาสเยี่ยมชมกิจการของวิสาหกิจชุมชนไชโยฟาร์มเห็ด พร้อมกับพูดคุยกับผู้นำและสมาชิกซึ่งตนได้มองเห็นศักยภาพของชุมชนนี้เป็นอย่างมาก มีความพร้อมทั้งด้านการผลิตสินค้าที่ได้พัฒนาการแปรรูปให้เป็นที่ต้องการของตลาดผู้บริโภค อาทิ น้ำพริกเห็ด น้ำเห็ด คั่วกลิ้งเห็ด และ น้ำพริกเผาเห็ด โดยเห็ดแครงเป็นสินค้าที่ผ่านมาตรฐาน Organic Thailand เป็นรายแรกของประเทศไทย รวมถึงยังมีผู้นำและสมาชิกที่เข้มแข็ง ซึ่งปัจจุบันมีรายได้จากการขายสินค้าผ่านช่องทางออฟไลน์ร้อยละ 70 และออนไลน์ (Facebook, Line) ร้อยละ 30 โดยกระทรวงพาณิชย์จะเข้าไปสนับสนุนให้เข้าสู่ระบบแพลตฟอร์มออนไลน์ซึ่งจะช่วยเพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้กว้างขึ้นไม่จำกัดยอดขายแค่ในประเทศไทยแต่จะช่วยพาธุรกิจไปขายสินค้าผ่านออนไลน์ในต่างประเทศได้ด้วย พร้อมทั้งมีระบบการบริหารจัดการสินค้าที่เป็นมาตรฐานและจะกลายเป็นต้นแบบชุมชนอัจฉริยะออนไลน์ของประเทศไทย เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาสินค้าชุมชนให้แก่พื้นที่อื่นๆ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีต่อไป”
“การลงพื้นที่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีในครั้งนี้ยังทำให้มองเห็นถึงศักยภาพในอีกหลายธุรกิจที่จะสามารถ ต่อยอดไปได้ไกล ตนได้กำชับให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเร่งขยายโครงการ Digital Village by DBD ไปยังพื้นที่อื่นๆ ให้มีชุมชนต้นแบบในลักษณะนี้กระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2562-2564 การดำเนินโครงการนี้ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมากสร้างชุมชนอัจฉริยะออนไลน์ไปแล้วถึง 34 ชุมชน ทั้งนี้ ชุมชนต้นแบบที่ผ่านการพัฒนาสามารถสร้างรายได้จากการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์สูงสุดถึง 100,000 บาทต่อเดือน และมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10% ต่อปี และในปี 2565 จะเกิดชุมชนต้นแบบอีกจำนวน 20 ชุมชน”
“โครงการฯ ยังได้ส่งเสริมธุรกิจต้นแบบและผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนาให้สามารถนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายบน e-marketplace ชื่อดังอย่าง Shopee ภายใต้แคมเปญ “สุขใจซื้อของไทย” (www.shopee.co.th/dbdonline) ซึ่งรวมสินค้าจากชุมชนทั่วประเทศ (ของดีออนไลน์ by DBD) โดยที่ผ่านมาตั้งแต่มีนาคม 2563-กันยายน 2564 สามารถสร้างยอดจำหน่ายได้มากถึง 54 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2564) ผลจากการสร้างชุมชนต้นแบบของประเทศไทยช่วยทำให้คนในท้องถิ่นสามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ จากช่องทางออนไลน์ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตได้อย่างเป็นรูปธรรม” รมช.พณ. กล่าวทิ้งท้าย