จากการสนับสนุน “คลัสเตอร์ปลากัด” ของ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ทำให้เกิดงาน “การประกวดปลากัดออนไลน์ระดับชาติ ปี 2564” สำเร็จเกินคาด สำหรับคลัสเตอร์ปลากัด มีผู้ประกอบการเข้าร่วมกว่า 824 ราย ล่าสุดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 51 ล้านบาท แนวโน้มตลาดโตต่อเนื่อง คาดการณ์อนาคตจะมีมูลค่าการส่งออกไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท/ปี
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เล่าถึง “คลัสเตอร์ปลากัด” ว่า การดำเนินงานโครงการสนับสนุนและพัฒนาคลัสเตอร์ SME เป็นการทำงานอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 3 ซึ่งแต่ละปีก็จะมีการพัฒนาต่อยอดแตกต่างกันออกไป นอกจากคลัสเตอร์ปลากัดแล้ว ยังมีคลัสเตอร์อื่นๆ อีก เช่น Health and Wellness Economy, Digital Content, ปลากัด, โกโก้, กระเทียม, ทุเรียน, สมุนไพร, แปรรูปประมงน้ำจืด, แปรรูปอาหารทะเล, เกลือ และไม้ดอกไม้ประดับ เป็นต้น กว่า 30 คลัสเตอร์
“การทำงานของคลัสเตอร์ เป็นการทำงานอย่างต่อเนื่อง เข่าสู่ปีที่ 3 แต่ปีนี้เป็นปีที่ก็มีการพัฒนาต่อยอดแตกต่างกันไป ซึ่งคลัสเตอร์เราจะดูตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ หรือสามารถบอกง่ายๆ ได้ว่า แต่ละคลัสเตอร์นั้น จะมีตั้งแต่กระบวนการผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการให้ธุรกิจนั้นเกิดขึ้นเป็น supply chain วันนี้เรามีอยู่ทั้งหมด 11 คลัสเตอร์หลักๆ”
โดยการดำเนินงานโครงการพัฒนาและส่งเสริมคลัสเตอร์ SME ประจำปี 2564 ได้รับความร่วมมือจาก 5 หน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยศิลปากร สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ สถาบันอาหาร และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย มีกลุ่มคลัสเตอร์เข้าร่วมโครงการ รวมทั้งสิ้น 30 คลัสเตอร์ มีผู้ประกอบเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 4,347 ราย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 270 ล้านบาท
ในส่วนของกลุ่มคลัสเตอร์ปลากัด มีผู้ประกอบการเข้าร่วม 824 ราย ล่าสุดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 51 ล้านบาท แนวโน้มตลาดโตต่อเนื่อง คาดการณ์อนาคตจะมีมูลค่าการส่งออกไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท/ปี ขณะที่การจัดกิจกรรมไฮไลต์ “การจัดประกวดปลากัดออนไลน์นานาชาติ ปี 2564” (National Plakad Online Competition 2021) ผลตอบรับดีเกินคาด มีทั้งไทยและต่างชาติเข้าร่วมชม และส่งปลากัดร่วมประกวด มากเกือบ 1,600 ตัว
“ในบางคลัสเตอร์ เช่นคลัสเตอร์ปลากัด จริงๆ มีตั้งแต่ระดับผู้เพาะเลี้ยง ฟาร์ม หรืออาจจะเป็นผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับการค้าขายอาหารสัตว์ ผู้ประกอบการบางรายอาจจะพัฒนา และต่อยอด เป็นเสื้อผ้า ของที่ระลึก เป็นต้น รวมถึงผู้ขายและผู้ส่งออกก็เชื่อมโยงกันทั้งหมด และทุกๆ อุตสาหกรรมก็จะมีลักษณะเฉพาะ และปีนี้เป็นปีที่เน้นเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ โดยการเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินการ”
สำหรับ “คลัสเตอร์ปลากัด” และแนวโน้มตลาดปลาสวยงามในปี 2564 ทั้งในประเทศและการส่งออกจากข้อมูลกรมศุลกากรพบว่า ในปี 2563 “ปลากัดไทย” มีการส่งออกไปยัง 74 ประเทศทั่วโลก มูลค่า 213.66 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 37 ของมูลค่าการส่งออกสัตว์น้ำสวยงาม โดยประเทศที่ส่งออกมากที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา มูลค่า 108,282,383 บาท (50.68%) รอลงมาได้แก่ จีน อิหร่าน เกาหลีใต้ และ ญี่ปุ่นตามลำดับ และคาดการณ์ว่าในอนาคต ปลากัดไทยจะมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“ในเรื่องของแนวโน้มการเติบโตของตลาดปลากัด ถือว่ายังมีโอกาสอยู่มาก โดยที่ตลาดใหญ่ที่สุดอยู่ที่ สหรัฐอเมริกา เรียกได้ว่ามากกว่าครึ่ง ยังมีความต้องการอยู่ต่อเนื่อง และด้วยปลากัดของไทยมีอยู่หลายสายพันธุ์ ความต้องการของผู้ซื้ออาจจะไม่ได้สนใจเพียงแค่สายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งเพียงอย่างเดียว เหมือนเรามีสินค้าเยอะๆ โอกาสในการขายก็มากตาม”
จากวิกฤติโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบกับการส่งออกปลากัด แต่เป็นเพียง 1 เดือนเท่านั้น คือ ช่วงเดือนเมษายนปี 2563 ที่มียอดการส่งออกลดลง แต่หลังจากเดือนเมษายน 2563 เป็นต้นมา ยอดการส่งออกปลากัดก็กลับมาสู่สภาวะปกติ คือ ส่งออกเดือนละประมาณ 1.5-2 ล้านตัว มูลค่าประมาณ 15-20 ล้านบาท/เดือน และยังคงมีมูลค่าและปริมาณการส่งออกสูงสุดในกลุ่มสัตว์น้ำสวยงามของไทย
และเนื่องด้วยสถานการณ์ โควิด-19 ทำให้การจัดงานประกวดได้ปรับเป็นออนไลน์เต็มรูปแบบ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้เกิดระบบการรวบรวม และจัดการข้อมูลปลากัดผ่าน web application มีการประกวดมากถึง 54 รุ่น แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ การประกวดทั้งปลากัดสายพันธุ์ดั้งเดิมหรือปลากัดป่า จำนวน 18 รุ่น และการประกวดปลากัดสวยงามที่ผ่านการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีสีสันที่สวยงาม จำนวน 36 รุ่น
มีผู้สนใจส่งปลากัดเข้าร่วมการประกวด แบ่งเป็นปลากัดสวยงาม จำนวน 928 ตัว ปลากัดป่า จำนวน 662 ตัว รวมปลากัดที่ส่งเข้าร่วมประกวดครั้งนี้ มากถึง 1,590 ตัว ภายในงานผู้ชมต่างตื่นตาตื่นใจกับไฮไลต์การประกวดปลากัดป่าดั้งเดิมที่พัฒนาทั้งให้มีสีสันและรูปทรงต่างๆ ที่ยังไม่เคยมีการจัดประกวดมาก่อน ส่วนปลากัดสวยงาม ได้พบกับการประชันโฉมความงามของธงชาติไทยบนตัวปลากัด และค้นหาสุดยอดปลากัดที่มีลาย และสีเหมือนธงชาติไทย ที่สำคัญงานนี้มีต่างชาติติดตามการประกวด และเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก กว่า 10 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เยอรมัน แคนาดา สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปินส์ และ เวียดนาม
สำหรับการสนับสนุน “คลัสเตอร์ปลากัด” มีการพัฒนาในด้านของการเพิ่มเทคโนโลยี และนวัตกรรมเข้ามาช่วยในเรื่อง ของการเลี้ยงปลากัด ทั้งช่วยควบคุมในเรื่องของ อุณภูมิ แสง และอาหาร เป็นต้น เนื่องจาการเปลี่ยนแปลงลวดลายของปลาบางครั้งก็ขึ้นอยู่กับ สภาพแวดล้อมพวกนี้ด้วยเช่นกัน
ในอนาคตการขยายกลุ่มผู้เลี้ยง และตลาดให้ขยายให้สัมพันธ์กัน เนื่องจากในบางครั้งหากตลาดยังโตไม่พอ หากผู้เลี้ยงมีจำนวนมากก็อาจจะเกิดปัญหาได้ และสำหรับผู้ที่สนใจทาง สสว. ก็มีแอปพลิเคชั่นให้สามารถติดต่อได้ง่ายทาง SME Connext สามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้ในช่องทางนี้อีกด้วย
* * *คลิก Likeเพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ"รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด * * *