xs
xsm
sm
md
lg

The Bricket สตาร์ทอัปพลิกโฉม“เลี้ยงจิ้งหรีด” ด้วยนวัตกรรม รองรับมาตรฐาน GAP ผ่านแพลตฟอร์ม AgTech Connext

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“จิ้งหรีด” สัตว์เศรษฐกิจ ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เพราะเป็นแหล่งโปรตีนที่จะมาทดแทนโปรตีนจากสัตว์ขนาดใหญ่ หลังจากผลการวิจัยพบว่า กระบวนการเลี้ยงสัตว์ขนาดใหญ่ภายในฟาร์มนั้นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ด้วยเหตุนี้เอง รัฐบาลจึงมองเห็นโอกาสในการผลักดันให้การเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ที่จะมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ในอนาคต และ สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลกในเรื่องโปรตีนทางเลือกจากแมลง


นำเทคโนโลยีช่วยบริหารจัดการฟาร์มจิ้งหรีด

อย่างไรก็ดี การทำฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดในประเทศไทย ยังเป็นการทำฟาร์มแบบดั้งเดิม ที่ไม่สามารถควบคุมการเลี้ยงให้ได้มาตรฐาน GAP และต้นทุนการให้อาหารสูงถึง 50% และเป็นการเลี้ยงในแนวราบ ที่ไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิ และความชื้นในโรงเรือนให้สม่ำเสมอได้ และยังต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ถ้าเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ ดังนั้น การทำฟาร์มจิ้งหรีดรูปแบบเดิมๆ ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้

ทางเดอะบริคเก็ต โดย “นายอุเทน บุญรอด” ในฐานะ Co Founder จึงได้ร่วมกันพัฒนาระบบบริหารจัดการฟาร์มจิ้งหรีดขึ้นมา โดยนำเทคโนโลยีนวัตกรรม เข้ามาบริหารจัดการตั้งแต่ต้นน้ำ คือ การเพาะเลี้ยง กลางน้ำนำจิ้งหรีดมาแปรรูป และปลายน้ำ คือ การทำตลาด ซึ่งล่าสุดได้เปิดร้านอาหาร และนำผลผลิตจากการแปรรูปจิ้งหรีดในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผงจิ้งหรีดนำไปเป็นส่วนผสมในอาหาร หรือ แป้งจิ้งหรีดที่นำไปรังสรรค์เป็นอาหารทางเลือก ฯลฯ


ในส่วนของระบบบริหารจัดการฟาร์มเพาะเลี้ยงจิ้งหรีด นั้น ได้พัฒนาระบบ การจัดการฟาร์มจิ้งหรีดแบบแนวตั้ง (Vertical Cricket Farm : VCF) คือ การเลี้ยงจิ้งหรีดในกล่องเลี้ยงเป็นชั้น ๆ ในโรงเรือนแบบปิด ที่สามารถป้องกันศัตรูจิ้งหรีดและสัตว์พาหะต่าง ๆ ได้ โดยควบคุมการให้น้ำ อาหาร แสง ทั้งแสงธรรมชาติจากดวงอาทิตย์ และแสงไฟจากแผงเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) การควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และสุขอนามัยภายในฟาร์มผ่านระบบอัจฉริยะต่าง ๆ ทำให้ได้ผลผลิตในปริมาณที่มากกว่า ปลอดภัยกว่า และควบคุมได้ง่ายกว่า

นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาเทคโนโลยีการดูแลฟาร์มผ่านแอปพลิเคชั่นช่วยแทนการจดบันทึก เพราะทุกอย่างจะถูกสั่งการผ่านระบบออนไลน์ และถูกบันทึกโดยอัตโนมัติ แบบที่ไม่สามารถเข้าไปแก้ไขได้ ซึ่งช่วยให้การตรวจสอบเป็นไปอย่างโปร่งใส ในกรณีที่ทางเจ้าของฟาร์มจะขอมาตรฐาน GAP ทำได้ง่ายขึ้นทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ประเมินมาตรฐาน และ เจ้าของฟาร์ม และระบบเทคโนโลยีของเดอะบริคเก็ต ช่วยให้การให้อาหารจิ้งหรีดเป็นระบบมากขึ้น และการให้อาหารที่เป็นระบบ ช่วยลดต้นทุนด้านอาหารได้ 20-30%

ยกตัวอย่าง เช่น ในหนึ่งเดือนเคยให้อาหารราคา 5,000 บาท เหลือแค่ 3,000 บาท และการลดต้นทุนค่าอาหารในการเลี้ยงจิ้งหรีด ช่วยให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงจิ้งหรีดมีกำไรมากขึ้น เพราะปัจจุบันเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงจิ้งหรีดเจอปัญหาต้นทุนค่าอาหารมากถึง 50% ของรายได้ เช่น ขายจิ้งหรีดได้ 10,000 บาท ค่าอาหาร 5,000 บาท และยังค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดไม่สามารถอยู่ได้ถ้าราคาหน้าฟาร์มลดลงมาต่ำกว่ากิโลกรัมละ 80 บาท


ยกระดับการเลี้ยงจิ้งหรีดรองรับมาตรฐาน GAP

นายอุเทน เล่าว่า ได้พัฒนาระบบบริหารจัดการฟาร์มจิ้งหรีด ขึ้นมาได้ประมาณ 3 ปี มีเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงจิ้งหรีด มาใช้บริการจำนวน 10 ราย โดยคิดค่าบริการ 2,000 บาท ในระยะเวลา 45 วัน ไม่จำกัดพื้นที่การให้บริการ ปัจจุบัน การเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดในประเทศไทยเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่ง ปีนี้(2564) มีฟาร์มจิ้งหรีดประมาณ 25,000 ฟาร์มทั่วประเทศ แต่ที่ได้มาตรฐาน GAP มีเพียง 40-50 ราย และอยู่ในระหว่างการขอมาตรฐาน ในปีนี้ 2564 คาดว่าน่าจะมีฟาร์มจิ้งหรีดที่ได้มาตรฐาน GAP ที่สามารถส่งออกได้ประมาณมากกว่า 100 ฟาร์ม

สำหรับตลาดจิ้งหรีดในปัจจุบันจะเป็นการบริโภคในประเทศ เสียเป็นส่วนใหญ่ มูลค่าการตลาดประมาณ 1,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการนำมาทำอาหาร ในรูปแบบของแมลงทอด แต่ในส่วนของการนำมาแปรรูปเป็นผง หรือ แป้ง ยังเป็นส่วนน้อย แต่ในอนาคต การแปรรูปในรูปแบบของอุตสาหกรรม การทำผง และ แป้ง จะมีสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้นตามความต้องการของตลาดโลก ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นช่วยให้เกษตรกรมีทางเลือกในการนำจิ้งหรีดเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมได้มากขึ้นด้วย

ในส่วนของตลาดต่างประเทศ หลังจากความต้องการที่มากขึ้นตลาดโลก ทำให้การเลี้ยงจิ้งหรีด หรือการเลี้ยงแมลง เพิ่มขึ้นในหลายๆ ประเทศ ทั้งในเอเชีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา เริ่มหันมาเลี้ยงกันมากขึ้น และคู่แข่งที่สำคัญของเราในตลาดอาเซียน คือ ประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ซึ่งถ้าเราไม่พัฒนาระบบการเลี้ยงให้ได้มาตรฐาน GAP โอกาสที่จะส่งออกจิ้งหรีดไปต่างประเทศ ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เวียดนามได้ และในปี 2024-2025 ประเทศในแถบยุโรป หรือ ตลาดอียู เริ่มเปิดตลาดแมลงครั้งแรก ครั้งนี้ ทำให้แมลงกลายจะเป็นดาวเด่น พอถึงเวลานั้น ถ้าเกษตรกรไทยยังไม่ได้มาตรฐาน ก็จะทำให้เราเสียโอกาสในการเปิดตลาดในต่างประเทศ


ข้อดีการทำฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดที่ได้มาตรฐาน

นายอุเทน กล่าวถึง ข้อดีการทำฟาร์มจิ้งหรีดแบบแนวตั้ง (Vertical Cricket Farm : VCF) ประการแรก การเพาะเลี้ยงที่ไม่ใช้ยาและสารเคมี (Bio-Mini-Livestock) และ 2. การเพาะเลี้ยงในโรงเรือนแบบปิด (Indoor Mini-Livestock) สามารถควบคุมปัจจัยสิ่งแวดล้อมและป้องกันควบคุมโรคและศัตรูจิ้งหรีดได้ ประหยัดพลังงาน อัตราการเกิดของเสียจากฟาร์มต่ำ และ กระบวนการเพาะเลี้ยงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

สำหรับการเพาะเลี้ยงแบบปิด ทำให้สามารถนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์เข้ามาบริหารจัดการโรงเรือนอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งช่วยให้การติดตามและควบคุมการเจริญเติบโตตลอดวงจรการเพาะเลี้ยง การควบคุมอุณหภูมิและความชื้น การให้อาหาร การควบคุมระบบการให้น้ำแบบเรียลไทม์

โดยเทคโนโลยีที่ทางเดอะบริคเก็ต นำมาใช้ คือ แอปพลิเคชั่น ที่มีชื่อว่า "อะเชไทย"(ACHETHAi) แอปพลิเคชั่นแรกของโลก ที่ช่วยบริหารจัดการฟาร์มจิ้งหรีดโดยเฉพาะ ซึ่งช่วยเกษตรได้ดังนี้ ประการแรก กำหนดการทำงานให้พนักงานแต่ละคน ตามหน้าที่และความรับผิดชอบที่ชัดเจน 2. จัดสรร วันและเวลาทำงานในแต่ละสถานีได้ล่วงหน้า ตามจำนวนพนักงานที่เหมาะสม 3. ลดเวลาและขั้นตอนการทำงานที่ซ้ำซ้อนของพนักงาน 4. ใช้จำนวนคนงานที่เหมาะสมกับเวลาทำงาน 5. ตรวจสอบ ควบคุมและบันทึกอุณหภูมิ ความชื้น ก๊าซแอมโมเนีย คุณภาพการทำงาน สุขอนามัยของพนักงาน ความสะอาดภายในบ่อเลี้ยงและโรงเรือน รวมถึงกระบวนการหลังการฮาเวส (Post-harvest)


และ 6. การแจ้งเตือนเมื่อถึงกำหนดวันวางไข่ รอบการวางไข่ กำหนดวันฟักตัว กำหนดวันฮาเวส กำหนดวันทำความสะอาด ฯลฯ 7. การแจ้งเตือนเมื่อพบศัตรูจิ้งหรีด 8. การแจ้งเตือนเมื่อพบสิ่งผิดปกติในบ่อเลี้ยงและโรงเรือน ที่มีผลต่อการตายของจิ้งหรีด 9. ระบบควบคุมสต๊อกสินค้า และการแจ้งเตือนการสั่งของเมื่อของในสต็อกใกล้หมด 10. วิเคราะห์ปัญหาประจำวัน และสรุปปัญหาประจำรอบการเลี้ยงเพื่อแก้ไขและปรับปรุงการเลี้ยงให้มีประสิทธิภาพ11. ลดต้นทุนแฝงและต้นทุนทางตรง เพิ่มผลกำไร เช่นควบคุมจำนวนพนักงานที่เหมาะสมกับเวลาการทำงาน การให้อาหารที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัยช่วยลดการสูญเสียอาหาร การป้องกันการสั่งสต็อคมากเกินหรือน้อยเกินไป ประหยัดค่าขนส่งและป้องกันอาหารหมดอายุก่อนใช้หมด 12. การเก็บและรักษาข้อมูลปลอดภัยสูงสุด ป้องกันการเสียหาย สูญหายของข้อมูล ข้อมูลสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้อย่างโปร่งใส ทำให้ผลผลิตได้รับความน่าเชื่อถือ 13. ข้อมูลได้รับการยอมรับจากกรมปศุสัตว์ 14. ใช้งานง่าย เจ้าของฟาร์ม ผู้จัดการฟาร์ม สามารถสั่งงานพนักงาน ติดตามและตรวจสอบการทำงาน ได้สะดวกทุกที่ ทุกเวลา จากทุกที่ทั่วโลกด้วยโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียว


ติดต่อโทร. 09-8828-1646


ทั้งนี้ เดอะบริคเก็ต เป็นหนึ่งในสตาร์ทอัปที่ได้รับการคัดเลือกจาก จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ในการเข้าร่วมกิจกรรม AgTech Connext 2021 Demo Day ขึ้น จากสตาร์ทอัปด้านการเกษตรที่ได้รับการคัดเลือกทั้งหมด 14 ราย ได้แก่ เดอะบริคเก็ต: ระบบบริหารจัดการฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด ด้วยการควบคุมไอโอทีอย่างแม่นยำ ฟาร์มไทยแลนด์: ระบบควบคุม ดูเเลและจัดการแปลงเกษตร ด้วยเทคโนโลยีไอโอทีผ่านแอพพลิเคชั่นมือถือ โนวี่ โดรน พัฒนาโดรนให้เหมาะกับประเทศไทย ร่วมกับ เก้าไร่


โกรว์เด่ ฟาร์มมิ่ง ออกแบบโรงเรือนปลูกพืชคุณภาพสูงด้วยราคาเข้าถึงได้ พร้อมรับซื้อผลผลิตที่ตอนนี้โฟกัสไปในกลุ่มกัญชง กัญชา อีเด็น อะกริเทค สารเคลือบยืดอายุผัก ผลไม้ แคสปี้ จะร่วมสร้างแบรนด์สินค้าให้กลุ่มเกษตรกรได้เข้าถึงตลาดออนไลน์ อควาบิซ มีการแปรรูปอาหารกลุ่มสัตว์น้ำให้มีมูลค่าสูงขึ้นและขายผ่านออนไลน์ครบวงจร เฮิร์ป สตาร์ทเตอร์ พัฒนาการสร้างตลาดสินค้าชุมชนสู่ออนไลน์ และ ฟาร์มโตะ ระบบเจ้าของร่วมผลิตที่เชื่อมโยงเกษตรกรและผู้บริโภคเข้าหากันผ่านการขายผลผลิตเกษตรรูปแบบใหม่ตลาดออนไลน์ และ รีคัลท์ ที่นำข้อมูลขนาดใหญ่ของภาพถ่ายดาวเทียมมาพยากรณ์อากาศได้อย่างแม่นยำ น้ำเชื้อว่องไว นำเทคโนโลยีชีวภาพมาสร้างความแม่นยำในการเกิดลูกวัวได้เพศตามต้องการสำหรับวัวเนื้อและวัวนม ไบโอ แมทลิ้งค์ ระบบบริหารจัดการและดูแลการปลูกมันสำปะหลังที่สามารถควบคุมการผลิตได้ทุกขั้นตอน อัลจีบา พัฒนาเครื่องนับลูกสัตว์น้ำ

คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ"รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด
SMEs manager



กำลังโหลดความคิดเห็น