xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) อานิสงส์ไม้ด่าง บอนสีต้นละ15บาท ขึ้นไปหลักหมื่น “นพดลบอนสี” โกยหลักหลายแสนต่อเดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บอนสี เป็นหนึ่งในไม้ด่าง ที่กำลังมาแรงในช่วงนี้ และแหล่งเพาะปลูกบอนสีทำกันมานานหลายสิบปี และเป็นที่รู้จักในวงการไม้ประดับ และ วงการไม้ประกวด หนึ่งในนั้น คือ อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี เดิมก่อนปี 2554 ที่จะเกิดน้ำท่วมใหญ่ อำเภอไทรน้อย มีหมู่บ้านบอนสีเฉลิมพระเกียรติ แต่พอเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ทำให้บอนสีในหมู่บ้านบอนสีเฉลิมพระเกียรติ เสียหายทั้งหมด จึงได้เลิกทำกันไป


แหล่งปลูกบอนสี อำเภอไทรน้อย นนทบุรี ปลูกมานานกว่า 50 ปี

อย่างไรก็ดี ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ อำเภอไทรน้อย ใกล้ๆ กับ หมู่บ้านบอนสีเฉลิมพระเกียรติ หลายรายก็ยังคงเพาะปลูกขยายพันธุ์ และจำหน่ายบอนสีอยู่ ด้วยใจรัก และชื่นชอบ รวมถึง ผู้เพาะปลูกบอนสี รายนี้ “นายนพดล โพธิ์จันทร์” เจ้าของสวน “นพดลบอนสี” อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี ซึ่งทำบอนสีตกทอดจากหลายชั่วอายุคน ตั้งแต่รุ่นปู่ และข้ามมาจนถึงรุ่นของ “นพดล” ซึ่งปลูกบอนสีจำหน่ายมาเกือบ 30 ปี ถ้ารวมสมัยปู่คุณนพดล เรียกว่าปลูกบอนสีกันมามากกว่า 50 ปี

นายนพดล เล่าว่า จุดเริ่มต้นที่มาทำบอนสี เริ่มมาจากปู่ทำมาก่อน และแอบถอนต้นบอนสีของปู่ไปเล่น โดยที่เราไม่รู้ว่าต้นนั้นมีราคา ตอนนั้น เริ่มรู้สึกสงสัยว่าทำไมปู่ห่วงบอนสีของเขามาก ก็เลยได้มาเรียนรู้ และเริ่มเพาะปลูก และขยายพันธุ์ต้นบอนสีตั้งแต่ยังเรียนหนังสือ ตอนไปโรงเรียนครูที่โรงเรียนถามว่า นพดล ที่บ้านปู่ของเธอมีบอนสีเยอะ แบ่งมาขายให้ครูบ้างสิ เราก็แอบเอาบอนสีของปู่มาขายครู จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรารู้ว่า บอนสีมันขายได้ราคา ตอนนั้น ต้นหนึ่ง 5 บาท 10 บาท เมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว สำหรับเราเด็กมองว่าเยอะแล้ว จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรา คิดเพาะขยายพันธุ์ต้นบอนสี จำหน่าย

หลังจากนั้น เหมือนทำด้วยใจรักก็ทำมาเรื่อยๆ โดยไม่ได้คาดหวังว่าจะเป็นอาชีพเลี้ยงเราได้ และไม้ประดับในสมัยก่อนราคา ความต้องการของตลาดมีขึ้นมีลง ทำให้บางครั้งไม่ได้ทำรายได้ให้กับเรามาก ช่วงจังหวะหนึ่งผมหันไปทำอาชีพอื่นๆ ทำงานประจำเป็นพนักงานในโรงงาน แต่สุดท้ายใจเรามันชอบอิสระ ก็เดินกลับมาทำอาชีพปลูกต้นไม้ขาย มีความสุขมากกว่า และบอนสีที่เราปลูกไว้ ก็เติบโตของมันไปเรื่อย เพียงแค่เรากลับมาดูแลมันมากขึ้น ลูกค้ามีทั้งที่เป็นพ่อค้า แม่ค้า ก็จะแวะเวียนมารับไปขาย เพราะเราขายไม่แพง และมีไม้สวยๆ แปลกใหม่ให้เลือกตลอด


“นพดลบอนสี” เกือบ 30 ปี จากการเดินสายประกวด

ตลาดของบอนสี มีขึ้นมีลงมาตลอด ตั้งแต่อดีต ต้องขยันผสมให้ได้สายพันธุ์ใหม่ๆ ในสมัยก่อน ไม่ได้มีอินเตอร์เน็ตหรือโซเชียลฯ เหมือนอย่างทุกวันนี้ คนที่ต้องการหรือนักสะสมก็จะเสาะแสวงหากัน และผมเป็นสายประกวด คนก็จะรู้จักมากหน่อย ผมส่งบอนสีของผมเข้าประกวดทุกปี และล่ารางวัลมาเยอะ แต่รางวัลไม่ได้การันตีเรื่องราคา ในสมัยก่อนราคาบอนสี เหมือนไม้ประดับทั่วไป ราคาเริ่มต้นแค่ 15 บาท สูงสุดสวยๆ ก็หลักพันบาท โอกาสแตะหลักหมื่นน้อยมาก แต่กระแสบอนสีในช่วงนี้ที่มีราคาแพงหลักหมื่น หลักแสนบาทได้รับอานิสงส์มาจากไม้ด่างเพราะไม้ด่างที่เขาเล่นกัน บางชนิดจัดอยู่ในกลุ่มของบอนสี ส่งให้ราคาบอนสีที่ด่าง ก็ราคาสูงตามไปด้วย”

“ผมมีตัวอย่างบอนสี ต้นหนึ่ง เมื่อก่อนผมขายในราคาต้นละ 15 บาท ในสมัยที่ไม้ด่างยังไม่ได้รับความนิยมเหมือนอย่างทุกวันนี้ แต่หลังจากที่กระแสไม้ด่าง บอนสีที่ราคา 15 บาทของผมขยับไปเป็น หลักหมื่นบาท หรือ ตัวอย่าง บอนสีที่ผมส่งพ่อค้า แม่ค้า เหมากันไปเป็นตู้ หนึ่งตู้ประมาณ 500 ต้น ผมขายในราคาตู้ละ 30,000 บาท วันนั้น ถ้าในตู้มีไม้ด่างผสมไปด้วย 4-5 ต้น พ่อค้าก็รวยกัน หลักแสนบาท พ่อค้า แม่ค้าหลายคนที่มารับบอนสีที่สวนของผมก็รวยกันเยอะมากในช่วงกระแสไม้ด่าง”


การตั้งราคาบอนสีเปลี่ยน.. ที่มาต้นละ 15 บาทเป็นต้นหลายหมื่น

นายนพดล เล่าว่า ในช่วงที่ยังไม่มีกระแสความแรงของไม้ด่าง การตั้งราคาบอนสีของผม คือ ไม้ต้องสวย ใบสวย ลำต้นสวย ลวดลายและสีบนใบต้องเสมอกัน และต้องเป็นสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ผสมขึ้นมา มีความแปลกใหม่ไม่ซ้ำในตลาด ลูกค้าจะเป็นกลุ่มนักสะสม นักเล่น หรือ ซื้อไปตกแต่งประดับบ้าน แต่วันนี้ กระแสไม้ด่างทำให้ บอนสีที่เป็นผสมข้ามสายพันธุ์ และได้ไม้ด่าง มีราคาขึ้นมา

“ผมเองก็ต้องปรับตัว และเรียนรู้ตลาดว่า ไม้ด่างเขาเล่นกันอย่างไร แต่ด้วยเราทำบอนสีมากว่า 30 ปี การผสมและให้ได้ไม้ด่าง ไม่ได้ยากสำหรับเรา แต่ถ้าเป็นมือใหม่ วันนี้ ก็ไม่ได้ยากมาก เพราะมีสายพันธุ์ที่นักผสมพันธุ์เขาทำกันออกมาเยอะ แค่เอาไปผสมต่อ ถ้าต้นเดิมด่าง ผสมยังไงก็ได้ไม้ด่าง ผมเลยมองว่ากระแสไม้ด่างในบอนสี ไม่น่าจะนาน เหมือนใครทำก่อน ก็ได้ก่อน”

สำหรับราคาบอนสีด่าง ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้ามาก่อน สายพันธุ์ไหนมีความต้องการและหายากราคาสูง และตามมาด้วยความสวยงาม คือ ถ้าได้สายพันธุ์ที่ตลาดต้องการ หายาก บวกกับความสวยงามของต้นนั้นๆ ราคาพุ่งไปแบบโอเว่อร์ หลักหมื่น หลักแสน หรือ หลายแสนกันเลยทีเดียว


ต้นไม้ต้องใช้เวลา ทำให้บอนสีบางชนิดขาดตลาดราคาสูงขึ้น

“ในส่วนไม้ด่างของ “นพดลบอนสี” ของผม ช่วงนี้ต้องบอกว่า เราไม่มีของให้ลูกค้า เพราะต้นไม้มีระยะเวลาการเติบโต ถ้าขายต้นนี้ไปแล้วผมก็ต้องรอ 3-4 เดือน ผมไม่ได้กลัวเรื่องความยากในการทำบอนสีด่าง แต่ปัญหา คือ ลูกค้าต้องรอ และส่วนใหญ่ลูกค้าซื้อเพื่อไปทำราคา ต้องการของเลย ผมหาให้ไม่ได้ ทำให้การทำตลาดของผม ก็จะค่อยเป็นค่อยไป คือ ด้วยผมไม่ได้เก็บไว้เก็งราคาเหมือนที่อื่น ซึ่งใครเข้ามาผมก็ขาย หมด และเก็บแค่พ่อ แม่พันธุ์ไว้เพาะ และโดยส่วนตัวผมชอบสร้างสายพันธุ์ใหม่ ผมก็จะผสมไปเรื่อยๆ ส่วน ราคาขายส่งอย่างไร ขายปลีกผมขายเท่านั้น ซึ่งราคาตอนนี้ ผมก็ปรับไปตามราคาตลาด อย่างเดิมผมขายส่งต้นละ 15 บาท ถ้าตลาดราคาหลักร้อย หลักพันบาท ผมก็ต้องขายตามเขา”

จากเดิมผมอยู่สายประกวด ในอดีตไม้ประกวดราคาไม่แรงเหมือนไม้ด่าง ราคาอยู่หลักพันบาท และบางต้นราคาขึ้นอยู่กับความพึ่งพอใจ ผมได้สายพันธุ์ใหม่ๆ มาไม่มีในตลาด ถ้าลูกค้าพึ่งพอใจ ในราคาที่ผมตั้งขึ้นมา ผมก็ขาย หรือ ลูกค้ามองว่าแพงไปไม่ซื้อ ผมก็ขายไม่ได้ ก็มีแค่นั้น แต่วันนี้ไม่ใช่ ราคาขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดไม้ด่าง มาเป็นโจทย์ให้เราต้องตามให้ทัน

ด้วยเหตุที่การเพาะบอนสีต้องใช้เวลา 3-4 เดือน ผมก็เลยไม่ได้ขึ้นขายออนไลน์ เหมือนคนอื่นๆ เพราะไม้ของผมทุกต้น ผมเพาะขยายพันธุ์ เอง ผมไม่ได้ไปซื้อหามา แบบคนอื่นๆ ถ้าผมขึ้นขายต้นนี้ และมีคนต้องการเยอะๆ ผมก็หาต้นไม้ให้เขาไม่ได้ เป็นเหตุผลที่ไม่ได้ขึ้นขายออนไลน์




กระแสไม้ด่าง พลิกวิกฤตเป็นโอกาสตลาดบอนสีแจ้งเกิดอีกครั้ง

นายนพดล เล่าถึงรายได้ที่ได้รับ ในช่วงที่กระแสไม้ด่างมาแรงในกลุ่มบอนสีช่วงนี้ ว่า จากรายได้หลักหมื่นกลายเป็นรายได้หลักหลายแสนบาทต่อเดือน จากเดิมที่ไม่มีกระแสไม้ด่าง นพดลบอนสี ของผมมีรายได้หลักหมื่น ไปจนถึงหลายหมื่นบาทต่อเดือนอยู่แล้ว ลูกค้าหลัก คือ คนที่มารับไปจำหน่ายต่อ ส่วนนักสะสม หรือ คนเล่นก็มีบ้าง เพราะผมส่งไม้เข้าประกวด เกือบทุกเวที แต่หลังจากกระแสไม้ด่าง ลูกค้ามาจากที่ไหนบ้าง เราก็ไม่เคยถาม คือใครมาผมขายหมด เพราะผมไม่มีหน้าร้าน หลายคนหน้าใหม่ๆ ซึ่งรู้จักเราจากการบอกแบบปากต่อปาก ว่าเราทำบอนสี สื่อออนไลน์ ก็เข้ามาขอสัมภาษณ์ เอาไปเผยแพร่ แต่เป้าหมายคนที่เข้ามาส่วนใหญ่ คือ เขาเข้ามาหาบอนสีด่าง ซึ่งผมทำบอนสีมานานก็ต้องมีบอนสีด่างอยู่แล้ว เป็นเหตุผลที่ ทำไม วันนี้ ผมถึงมีรายได้หลักหลายแสนบาทต่อเดือน

สุดท้าย ไม่ว่ากระแสของบอนสี หรือ ไม้ด่าง จะเป็นอย่างไร ราคาจะขึ้นหลักหมื่น หลักแสน หรือลงมาอยู่ที่หลักสิบบาท อาชีพของผม คือ การทำบอนสีจำหน่าย ถ้าได้ราคาดี ก็เป็นช่วงกอบโกย แต่ถ้าราคาตกผมก็ยังต้องทำ เพราะเป็นอาชีพของเรา วันนี้ ถ้าจะให้ขยายพื้นที่ออกไป หรือ รับคนงานเข้ามาช่วยเพาะพันธุ์ต้นไม้เยอะ ผมก็คงไม่ทำ เพราะราคาวันนี้ ไม่ใช่ราคาที่แท้จริงของต้นไม้ วันหนึ่งขึ้นไปสูงสุดมันก็ลงมาต่ำสุด ซึ่งผมไม่กล้าเสี่ยง ซึ่งต้องยอมรับว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด คนอยู่บ้านเยอะหันมาปลูกต้นไม้ หลายธุรกิจอาจจะได้รับผลกระทบ แต่เราถือว่าโชคดี ที่วิกฤต คือโอกาสเท่านั้นเอง” เจ้าของสวนนพดลบอนสี กล่าว

โทร. 08-9781-8040





คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น