“ขยะพลาสติก” เป็นปัญหาระดับโลกที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนในสังคม ในแต่ละปีทั่วโลกมีการใช้ถุงพลาสติกมากถึง 5 แสนล้านใบ และครึ่งหนึ่งเป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastics) สำหรับในประเทศไทยแต่ละปีมีการก่อขยะพลาสติกปริมาณกว่า 2 ล้านตัน โดยมีการใช้ถุงพลาสติกประมาณ 4.5 หมื่นล้านใบต่อปี และมากกว่าร้อยละ 50 เป็นขยะพลาสติกที่มาจากธุรกิจจัดส่งอาหาร ปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทยเริ่มหนักขึ้นและกำลังเข้าสู่ขั้นวิกฤต
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยว่า เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้มีการลด-เลิกใช้พลาสติก (ถุงพลาสติกหูหิ้ว กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติก หลอดพลาสติก ฟิล์มพลาสติก ฯลฯ) โดยใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือพลาสติกชีวภาพแบบ “ร้อยเปอร์เซ็นต์” หรือหมายถึงการยกเลิกใช้อย่างสิ้นเชิงภายในปี 2565 แต่เนื่องจากการใช้ถุงพลาสติกเป็นภาพสะท้อนความเคยชินในชีวิตประจำวันของคนในสังคม ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งในส่วนของผู้ผลิตสินค้าและผู้บริโภค วช.สนับสนุนทุนวิจัยแก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในโครงการ “ถุงพลาสติกแตกสลายได้ทางชีวภาพแบบใช้ครั้งเดียวจากวัสดุฐานเทอร์โมพลาสติกสตาร์ช” โดยมี รศ.ดร.รังรอง ยกส้าน รองหัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ คณะอุตสาหกรรมเกษตร เป็นหัวหน้าโครงการ
รศ.ดร.รังรอง ยกส้าน รองหัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า พลาสติกชีวภาพ หรือ Bioplastics มี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ มีต้นกำเนิดมาจากสิ่งมีชีวิต เช่น bio-PE และ กลุ่มที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เช่น PLA (Polylactic acid) PBAT (Polybutyl adipate-co-terephthalate) PBS (polybutylene succinate) TPS (thermoplastic starch) เป็นต้น พลาสติกชีวภาพกลุ่มหลังนี้มีความแข็งแรงและทนทานน้อยกว่าพลาสติกทั่วไป จึงไม่สามารถนำมาใช้ทดแทนบรรจุภัณฑ์พลาสติกได้ทั้งหมด เพราะบรรจุภัณฑ์บางอย่างต้องรับน้ำหนักมาก ต้องทนความร้อน และต้องการความทนทาน
ดังนั้น การเลือก applications ที่เหมาะสมกับสมบัติของวัสดุจะทำให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการใช้ประโยชน์จริงของวัสดุนั้นๆ โครงการวิจัยนี้จึงให้ความสำคัญต่อการพัฒนาถุงพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ โดยมีส่วนผสมของ TPS จากแป้งมันสำปะหลัง และพอลิเอสเตอร์แตกสลายได้ทางชีวภาพ เพื่อทดแทนฟิล์มและถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เช่น 1) ถุงใส่เศษอาหารในครัวเรือน ซึ่งเมื่อเข้าสู่กระบวนการกำจัดก็สามารถฝังกลบไปพร้อมกัน ถุงก็สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ 2) ถุงใส่ขยะในห้องน้ำ 3) ถุงกระตุกสำหรับใส่อาหารประเภทเนื้อสัตว์ และผักผลไม้ ในซูเปอร์มาร์เกต 4) ฟิล์มสำหรับผลิตภัณฑ์อนามัย เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ครั้งเดียวทิ้งเพราะมีการปนเปื้อน หรือหากไม่มีการปนเปื้อนก็อาจจะนำกลับมาใช้ซ้ำจนเสื่อมสภาพแล้วจึงทิ้ง
หลังจากที่ประสบผลสำเร็จในการผลิตในระดับห้องทดลองแล้วก็ได้นำพลาสติกชีวภาพไปทดสอบผลิตและขึ้นรูปโดยใช้เครื่องจักรในอุตสาหกรรมร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชน ตั้งแต่ผลิตเม็ด เป่าขึ้นรูปฟิล์ม พิมพ์ ปิดผนึกด้วยความร้อนและตัดเป็นถุง
นอกจากนี้ยังได้นำเสนอให้ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ใช้ประโยชน์เพื่อดู applications ที่เหมาะสมต่อไป ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการหลายราย พลาสติกชีวภาพส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องความชื้น และความหนืดมากกว่าพลาสติกทั่วไป จึงทำให้ผู้ประกอบการกังวลว่าจะสร้างความเสียหายให้แก่เครื่องจักร และก่อให้เกิดความยุ่งยากในการผลิต การยอมรับของผู้ประกอบการครั้งนี้จึงยืนยันว่าพลาสติกชีวภาพที่ผลิตขึ้นสามารถนำไปปรับใช้ในภาคอุตสาหกรรม สามารถขึ้นรูปได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายในกระบวนการผลิต เพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพในเชิงพาณิชย์ได้
คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด