xs
xsm
sm
md
lg

ปรับตัวอย่างไร !! ผู้ผลิตยูนิฟอร์มเจอพิษโควิด จากรายได้ 15 ล้าน เหลือ 1 ล้านบาท/ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถานการณ์โควิด-19 กระทบกับหลายธุรกิจมาก และหนึ่งในนั้น คือ ผู้ประกอบการธุรกิจเสื้อผ้าชุดยูนิฟอร์ม รายนี้ “นางสาวนัฒนันท์ สารศาลิน” เจ้าของบริษัทติ้งแอนด์แพลน จำกัด จากรายได้ปีละ 15 ล้าน เหลือเพียง 1 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา ผลพ่วงมาจาก บริษัท ห้างร้าน ส่วนใหญ่เลือกตัดงบในส่วนของชุดนิฟอร์ม และ ชุดเสื้อผ้าสำหรับใส่ทำกิจกรรม


จากร้านตัดเสื้อผ้าเล็ก สู่ผู้ผลิตชุดยูนิฟอร์มรายได้กว่า 10 ล้านบาท/ปี


นางสาวนัฒนันท์ เล่าว่า จุดเริ่มต้นของเรา เริ่มมาจาก สมัยพ่อกับแม่ เปิดร้านตัดเย็บเสื้อผ้าเล็ก ๆ รับตัดเย็บเสื้อผ้าทั่วๆไป เป็นบ้านไม้หลังเล็ก อยู่ในย่านซอยหมอเหล็ง กรุงเทพฯ ตั้งแต่เมื่อปี 2523 และจากฝีมือการตัดเย็บ ของพ่อกับแม่ ในตอนนั้น ทำให้เรามีลูกค้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง แต่พอระยะหลังเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีเยอะขึ้น การสั่งตัดเย็บเสื้อผ้า และต้องรอนานๆ ลูกค้าไม่นิยมกัน

ครอบครัวของเราก็ค่อยขยับขยายมาเปิดร้านเสื้อผ้าย่านดินแดง และจากร้านตัดเย็บเสื้อผ้าฝีมือ พ่อกับแม่ ก็กลายมาเป็นรับผลิตเสื้อยืด คอกลม คอวี โปโล เสื้อตามแฟชั่น หรือเสื้อผ้าโหล ส่งร้านค้าย่านประตูน้ำ โดยว่าจ้างชาวบ้าน หรือ ชุมชนที่รับตัดเย็บเสื้อผ้า ช่วยตัดเย็บให้ หลังจากนั้น เริ่มมีลูกค้าที่เป็นบริษัท ห้างร้าน ที่มารับสั่งตัดชุดยูนิฟอร์ม และชุดเสื้อผ้าสำหรับใส่ทำกิจกรรมต่างๆ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรามีลูกค้าที่บริษัท ห้างร้าน มาสั่งตัดชุดนิฟอร์ม ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

จากร้านตัดเย็บเสื้อผ้าในบ้านไม้หลักเล็กๆ ในชุมชนหมอเหล็งวันนั้น กลายมา เป็นบริษัท ติ้งแอนด์แพลน จำกัด จนถึงทุกวันนี้ ก็ผ่านมาเกือบ 10 ปี แต่ถ้ารวมระยะเวลาที่ พ่อ กับแม่ ทำอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้ามาก็เกือบ 30 ปี จากพื้นฐานครอบครัวทำตัดเย็บเสื้อผ้ามาก่อน ทำให้เราสามารถออกแบบเสื้อผ้าตามคำสั่งของลูกค้าได้โดยไม่มีขีดจำกัด ที่ผ่านมา ลูกค้าที่มาสั่งตัดชุดนิฟอร์ม จึงเป็นลูกค้าประจำเยอะมาก


เมื่อโควิด ทำรายได้หายกว่า 80% นานเกือบ 2 ปี

สำหรับการสั่งตัดชุดนิฟอร์ม ถ้าเป็นช่วงปกติที่ไม่มีสถานการณ์โควิด ลูกค้ารายหนึ่งจะสั่งตัดชุดนิฟอร์มแจกพนักงานปีละ 2-3 ครั้ง ในส่วนของการจัดกิจกรรม เดือนหนึ่ง สั่งตัด 3-4 ครั้ง แต่พอเจอสถานการณ์โควิด งบประมาณในการสั่งตัดชุดนิฟอร์ม เป็นงบแรกที่บริษัทตัดออก โดยเฉพาะในส่วนของกิจกรรม ทำให้ยอดขายที่บริษัทของเรา เคยได้ปีละ 10 ล้านถึง 15 ล้านบาท หายไปเหลือแค่ปีที่ผ่านมา หนึ่งล้านบาทเท่านั้น แต่ก็ยังโชคดีที่ ในส่วนของงานตัดเย็บจ้างช่างเป็นรายชิ้น ไม่ได้จ้างเป็นพนักงานประจำ ซึ่งรายได้หายไปแบบนี้ เข้าปีที่สอง โดยครั้งแรกไม่คิดว่าสถานการณ์โควิด จะยืดเยื้อมาได้นานขนาดนี้ แต่วันนี้ เริ่มคิดว่า คงต้องควักเนื้อแบบนี้ไปนานถึง 3 ปี หรือ 5 ปี

อย่างไรก็ตาม ทำให้เราคิดว่าจะอยู่นิ่งๆ แบบนี้ เพื่อรอเวลาต่อไปอีกไม่ได้ แต่ถ้าจะให้เปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นๆ มองไปทางไหนตอนนี้ อาชีพอื่นๆ ก็น่าจะได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน ด้วยเหตุนี้เอง จึงได้เข้าร่วมอบรมกับหน่วยงาน ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และล่าสุด ได้เข้าร่วมใน โครงการฉลากคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทย เฟส 2 โดยโครงการดังกล่าว เหมือนเป็นแสงสว่างเล็กให้กับ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ตัวเล็กอย่างเรา


“ฉลากคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอ”
แสงสว่างเล็กๆช่วยเอสเอ็มอีก้าวข้ามโควิด

สำหรับโครงการฉลากคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เป็นฉลากที่มอบให้กับผู้ประกอบการ ที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพของเนื้อผ้า ความคงทนของสี และความปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง ซึ่งวัตถุดิบที่นำมาใช้ต้องเป็นผ้าที่ผ่านกระบวนการผลิตในประเทศไทยเท่านั้น ซึ่งโครงการนี้ เกิดขึ้นมาจากการเข้ามาตีตลาดผ้าของผู้ผลิตจากประเทศจีน ราคาถูกกว่า ทำให้ผู้ประกอบการหันไปใช้ผ้าจากประเทศจีน ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตผ้าในประเทศไทย ทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จึงได้คิดทำโครงการดังกล่าวขึ้นมา เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมสิ่งทอ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ


นางสาวนัฒนันท์ เล่าว่า หลังจากได้เข้าร่วมโครงการ และได้ “ฉลากคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทย” สร้างโอกาสใหม่ๆ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ที่ไม่รู้ว่าลูกค้ากลับมาเมื่อไหร่ พอได้ฉลากดังกล่าว ทำให้เรากล้าออกไปเปิดตลาดลูกค้ากลุ่มใหม่ จากเดิมที่เราเองไม่เคยคิดว่าจะต้องเปิดตลาดใหม่ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าประจำ วอล์คอินเข้ามาที่หน้าร้าน โดยเฉพาะการเข้าร่วมประมูลกับหน่วยงานของภาครัฐ เช่น สถาบันการศึกษา สถานที่ราชการ ฯลฯ ที่เปิดประมูล หลังจากได้ฉลากดังกล่าวเรากล้าที่จะส่งผลงานของบริษัทเข้าร่วมประมูลเป็นครั้งแรก และการได้ฉลากฯ เป็นการการันตีคุณภาพสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพ ให้ลูกค้าใหม่ พอสถานการณ์กลับมาปกติ เราจะได้ลูกค้าเก่ากลับมา และได้เพิ่มลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ เดิมบริษัทได้มีโอกาสส่งเสื้อผ้าแนวสปอร์ตไปต่างประเทศบ้าง เพียงเล็กน้อยแค่รายเดียว แต่พอได้ ฉลากคุณภาพสิ่งทอ มาช่วยการันตีคุณภาพในครั้งนี้ มีแผนที่จะหันไปเปิดตลาดลูกค้าชุดกีฬาใหม่ๆ ในต่างประเทศให้มากขึ้น เพราะจากวิกฤตโควิดในครั้งนี้ ทำให้เราได้เปิดมุมมองใหม่ เราจะคิดแบบเดิม อาศัยลูกค้าเก่าอย่างเดียว อีกต่อไปไม่ได้ ต้องกล้ารุกขึ้นมาสู้ และได้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นพี่เลี้ยง ช่วยให้เราผ่านวิกฤตโควิด ครั้งนี้ไปได้


กสอ.ยกระดับสิ่งทอ สัญลักษณ์ Thailand Textiles Tag

ด้านนายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ได้ดำเนินกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอเข้าสู่มาตรฐานอุตสาหกรรม เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 ต่อเนื่องมาถึงปี 2564 เพื่อเร่งยกระดับผลิตภัณฑ์ สิ่งทอไทย ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ อาทิ ผู้ผลิต เส้นด้าย ผ้าผืน เสื้อผ้าสำเร็จรูป เคหะสิ่งทอ และสินค้าไลฟ์สไตล์ ที่มีสิ่งทอเป็นองค์ประกอบ ด้วยการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน เพื่อยื่นขอการรับรอง ภายใต้ตราสัญลักษณ์ คุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทย (Thailand Textiles Tag) หรือ ฉลากคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทย

โดยฉลากดังกล่าวมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับคุณภาพของเนื้อผ้า ความคงทนของสี และความปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง รวมถึงวัตถุดิบที่ใช้และกระบวนการผลิตที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และพิจารณาจากแหล่งกำเนิดของสินค้า (Made in Thailand) โดยยึดตามหลักสากลประกอบไปด้วย เส้นด้ายที่ผลิตในประเทศไทย (Yarn Forward) หมายถึง กรณี ผู้ประกอบการซื้อเส้นใยแล้วนำมาผ่านกระบวนการปั่นเป็นเส้นด้ายในประเทศไทย ผ้าผืนที่ผลิตในประเทศไทย (Fabric Forward) หมายถึง กรณี ผู้ประกอบการซื้อเส้นด้ายแล้วนำมาผ่านกระบวนการทอ หรือ ถัก เป็นผ้าผืนในประเทศไทย รวมถึงผ่านกระบวนการฟอก ย้อม พิมพ์ และตกแต่งสำเร็จในประเทศไทย เป็นสำคัญ


สำหรับกิจกรรมในปี 2564 กสอ. ให้คำปรึกษาแนะนำ เน้นสร้างการรับรู้ และประชาสัมพันธ์เพื่อให้ผู้บริโภค เข้าใจเข้าถึงและสร้างความเชื่อมั่น ฉลากคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทยมากขึ้น รวมทั้ง จัดทำเว็บไซต์ www.thailandtextilestag.com สร้างระบบลงทะเบียนขอเครื่องหมาย Thailand Textiles Tag ผ่านออนไลน์ พร้อม เร่งสร้างโอกาสทางการค้าใหม่ ๆ ตลาดในประเทศ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ตลาดต่างประเทศ นำไปสู่การฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสิ่งทอภายในประเทศไทยทั้งระบบให้ขับเคลื่อนและแข่งขันได้

โดยในปี 2564 มีผู้ประกอบการสนใจยื่นขอการรับรองเครื่องหมาย Thailand Textiles Tag จนได้การรับรองตามหลักเกณฑ์เครื่องหมาย Thailand Textiles Tag รวมทั้งสิ้น 34 กิจการ 66 ผลิตภัณฑ์ แบ่งออกเป็นผู้ประกอบการที่สมัครเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 25 กิจการ 45 ผลิตภัณฑ์ และผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการภาครัฐกับหน่วยงานอื่น แต่สนใจยื่นขอการรับรองเครื่องหมาย Thailand Textiles Tag จำนวน 9 กิจการ 21 ผลิตภัณฑ์ รวมการดำเนินงาน 2 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรองเครื่องหมาย Thailand Textiles Tag ทั้งสิ้น 78 กิจการ 150 ผลิตภัณฑ์


สำหรับภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยว่า ในเดือนพฤษภาคม 2564 พบว่า การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 514.3 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 83.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวของปีก่อน ในขณะที่ภาพรวมการนำเข้า มีมูลค่า 418.7 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ส่งผลให้ภาพรวมดุลการค้าเกินดุล คิดเป็นมูลค่า 95.6 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ

ติดต่อ โทร. 0-2367-8279, 0-2367-8260 Facebook : ฉลากคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทย






คลิก Likeเพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ"รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น