xs
xsm
sm
md
lg

สกสว. จับมือพันธมิตร พัฒนายุทธศาสตร์ ววน. ด้านต่างประเทศ นำร่อง 4 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี สหราชอาณาจักร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศาสตราจารย์ ดร. อมเรศ ภูมิรัตน
 
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดการประชุมระดมความเห็น “ยุทธศาสตร์การกำหนดเป้าหมายการทำความร่วมมือด้าน ววน. กับต่างประเทศ”  ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญในการศึกษาสถานการณ์ภาพรวมด้านการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทย รวมทั้งการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศของประเทศไทย โดยการจัดงานวันนี้เป็นการรับฟังข้อคิดเห็นเพื่อพัฒนา (ร่าง) ยุทธศาสตร์ฯ การทำความร่วมมือด้าน ววน. ระหว่างไทย กับ 4 ประเทศเป้าหมาย คือ จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี   สหราชอาณาจักร 

รองศาสตราจารย์ ดร. พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์
รองศาสตราจารย์ ดร. พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. เปิดเผยข้อมูลว่า ปัจจุบัน สกสว. ร่วมกับ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ออกแบบแนวทางในการสร้างความร่วมมือด้าน ววน. กับประเทศต่างๆ 3 ส่วนหลักด้วยกัน คือ 1. การจัดทำ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ความร่วมมือ ววน. กับต่างประเทศ หรือ White Paper ที่มีการระดมสมองกันวันนี้ เพื่อศึกษายุทธศาสตร์ ววน. ของไทยและประเทศเป้าหมาย โดยวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็ง รวมถึงเป้าหมายร่วมของไทยกับแต่ละประเทศ ทั้งจีน ญี่ปุ่น เยอรมนี และ สหราชอาณาจักร 2. การให้ทุนสนับสนุน ววน. ในรูปแบบเครือข่ายระหว่างประเทศ ผ่านแผนงาน Global Partnership Fund เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการทำงานระหว่างประเทศ โดยเน้นด้านที่เป็นเป้าหมายสำคัญของไทย 

และ 3. การเจรจาความร่วมมือกับประเทศเป้าหมาย ในรูปแบบ G to G (Government to Government) หรือ ภาครัฐสู่ภาครัฐด้วยกัน โดยอาศัยความร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศ เอกอัคราชทูตวิทยาศาสตร์ไทย ประจำประเทศต่างๆ ตลอดจนเครือข่ายวิเทศสัมพันธ์ของกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยในส่วนของโครงการ Global Partnership Fund ถือเป็นโครงการสำคัญที่มุ่งเน้นการองค์ความรู้ การพัฒนานโยบายสาธารณะ และสนับสนุนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคมผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างเครือข่ายความร่วมมือระดับนานาชาติ

โดย ภายใต้ 3 วัตถุประสงค์หลักคือ 1. โครงการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือนานาชาติเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (Global Partnership for Competitiveness) 2. โครงการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือนานาชาติเพื่อสร้างความเป็นเลิศของระบบอุดมศึกษาไทยในระดับโลก (Global Partnership for Research Excellence) และ 3. โครงการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือนานาชาติเพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างยั่งยืน (Global Partnership for Environment and Societal Sustainable Development) โดยในปีงบประมาณ 2563 ภายใต้โครงการนี้ ส่งผลให้ประเทศไทยเกิดความร่วมมือด้านงานวิจัยและนวัตกรรม กับสถาบันต่างประเทศทั้งหมด 249 แห่ง กว่า 26 ประเทศ

ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล
ต่อมาในที่ประชุมได้มีการระดมความเห็นต่อ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การกำหนดเป้าหมายการทำความร่วมมือด้าน ววน. กับต่างประเทศ ต่อประเทศเป้าหมาย คือ จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี สหราชอาณาจักร ทั้งในประเด็นที่ควรส่งเสริมความร่วมมือ ความสอดคล้องกับแผนและนโยบาย ววน. ของไทย ตลอดจนรูปแบบความร่วมมือ อย่างในกรณีของประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศที่ลงทุนกับการวิจัยและนวัตกรรมอันดับที่ 8 ของโลกและตั้งเป้าว่าในปี 2025 จะลงทุนกับด้าน ววน. เพิ่มเป็น 3.5 % ของ GDP 

โดย ศาสตราจารย์ ดร. อมเรศ ภูมิรัตน กรรมการกำกับทิศทางโครงการ Global Partnership ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า ข้อมูลที่ สกสว. นำเสนอวันนี้ ถือเป็นข้อมูลที่ดีและต้องมีการนำข้อมูลเหล่านี้ไปสร้างการปฏิบัติอย่างจริงจัง อาจเริ่มที่ประเด็นเรื่องของการจัดการขยะ (Waste Management) เนื่องจากเยอรมันมีความเชี่ยวชาญมาก และ สกสว. จะต้องผลักดันการทำงาน โดยอาจเจรจากับรัฐบาลหรือหน่วยงานให้ทุนของเยอรมัน จัดการเป็นโครงการร่วมทุนขนาดใหญ่ (Joint Funding) ที่มีการลงทุนฝ่ายละ 50% อย่างต่อเนื่อง 5 ปีติดต่อกัน เพื่อให้ไทยมีนวัตกรรมการจัดการของเสีย (Waste Management) แบบเยอรมนี เป็นต้น นอกจากนี้ เราจะเห็นบทบาทของสถาบันมักซ์พลังค์ (Max Planck Institute) ของเยอรมนี ที่เป็นผู้ขับเคลื่อนงานวิจัยพื้นฐาน (Basic Research) และเป็นแหล่งโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยและนวัตกรรม (Infrastructure) ที่สำคัญ ซึ่งประเทศไทยยังไม่มี จึงน่าศึกษาเรียนรู้ เป็นต้น

 นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. ได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า นอกจากจะมีการศึกษาสถานการณ์การส่งเสริมระบบ ววน. ของแต่ละประเทศในปัจจุบันแล้ว ควรวิเคราะห์ปัจจัยความสำเร็จ (Key Success Factor) ในการบริหารจัดการระบบ ววน. ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในการทำงานครั้งนี้คือการรู้เขา รู้เรา ทั้งในภาพลึกของแต่ละประเทศ และในภาพกว้าง ซึ่งหมายถึง การมองเห็นภาพความร่วมมือด้าน ววน. ของแต่ละหน่วยงานในประเทศไทย เพื่อที่จะสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงจุด


อย่างไรก็ตาม จากการประชุมระดมสมองในวันนี้ สกสว. จะนำข้อเสนอแนะเพิ่มเติม จากผู้ทรงคุณวุฒิมาพัฒนาต่อ เพื่อให้ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การกำหนดเป้าหมายการทำความร่วมมือด้าน ววน. กับต่างประเทศฉบับนี้ มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ในการเสนอแนะแนวทางสร้างความร่วมมือกับประเทศเป้าหมายต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น