ที่รัฐสภา นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงเรื่องยางพาราและการระบายยางว่า การประชุมทุกครั้งจะต้องมีองค์ประชุมครบถึงจะดำเนินการได้ จะต้องเป็นมติของที่ประชุม การยางแห่งประเทศไทย เป็นรัฐวิสาหกิจจัดตั้งตามพระราชบัญญัติการยาง 2558 โดยมีบอร์ดการยางเป็นผู้ออกนโยบายกำกับดูแล อนุมัติในกิจกรรมของการยางแห่งประเทศไทย รวม 14 ท่าน จะมีมติได้ที่ประชุมส่วนใหญ่ถือเป็นเอกฉันท์ เป็นความรับผิดชอบร่วม การยางแห่งประเทศไทยมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจในการควบคุมกำกับของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ตนเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีเมื่อวันเดือนกรกฎาคมปี 2562 และรัฐบาลแถลงนโยบายประกันรายได้ราคาพืชผลการเกษตร 5 ชนิด ยางพาราเป็น 1 ในสินค้า 5 ชนิด ที่รัฐบาลดำเนินโครงการประกันรายได้ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับการประกันว่าจะมีการรายได้ขั้นต่ำที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ เพราะพี่น้องคนไทยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ถ้าเกษตรกรมีความเข้มแข็งประเทศชาติก็มีความเข้มแข็งด้วย ถ้ามีรายได้ที่มั่นคงประเทศชาติก็จะมั่นคงด้วย
“เชื่อว่า วันที่รัฐบาลชุดนี้ประกาศนโยบายประกันรายได้ เกษตรกรมีความสุขและยิ้มทั้งประเทศ เป็นครั้งเดียวที่ได้มีโอกาสได้รับการดูแลภาคการเกษตรจากรัฐบาลอย่างจริงจัง และไม่ใช่ว่าเมื่อประกันรายได้แล้วจะไม่ทำอะไรเลยปล่อยให้ราคายางเป็นไปตามยถากรรม เราทำทุกวิถีทางเพราะเราเข้าใจว่าเกษตรกรไทยคือหัวใจของชาติ จนราคายางพารารัฐบาลไม่ต้องจ่ายชดเชยส่วนต่างจนเรามาประสบวิกฤติโควิดซึ่งภาวะวิกฤตนี้มีผลกระทบไปทั่วโลก ทุกประเทศ ทุกสาขาอาชีพ ภาคการเกษตรก็ไม่เว้น แต่เรามีการบูรณาการการทำงานในทุกภาคส่วน ทั้งกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงต่างประเทศ บูรณาการร่วมกัน” นายเฉลิมชัย กล่าว
นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า วันที่ตนเข้ามากำกับดูแลการยางแห่งประเทศไทยมีหน้าที่กำกับมอบนโยบายไม่มีหน้าที่เซ็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้ให้นโยบายต้องทำงานอย่างสุจริตไม่ผิดกฎหมาย และกำชับอีกว่าถ้าท่านทำในสิ่งที่ถูกต้องตนจะปกป้องท่าน แต่ถ้าท่านทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องตนจะดำเนินการกับท่านโดยเด็ดขาด เรื่องของยางพารา 104,000 ตัน มียางพาราอยู่ในสต๊อก 104,000 ตันเศษซึ่งอย่างที่เก็บไว้เสียค่าเช่าโกดังค่าประกันภัยจะได้รับการชดเชยโดยสัญญาทุกปีจะสิ้นสุดวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี และเริ่มต้นมิถุนายน การยางแห่งประเทศไทยทำสัญญาเช่าเริ่มตั้งแต่ปี 2555 โครงการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง
โดยการซื้อยางเข้าสู่สต๊อก เพื่อให้ยางในตลาดมีปริมาณน้อยลง เพื่อรักษาเสถียรภาพ เพราะขณะนั้นราคายางตกมาก จาก กิโลกรัมละ 180 บาทเหลือ 90 บาท เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2555 จึงรับซื้อยางเข้ามา ปริมาณทั้งหมด 213,492 ตันในราคาเฉลี่ย 98.96 บาทต่อกิโลกรัม งบประมาณ 22,782 ล้านบาท และในปี 2557 มีโครงการมูลพันธ์กันชนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางพาราเพื่อให้ยางในตลาดขณะนั้นมีราคาไม่ต่ำจนเกษตรกรไม่มีจะกิน ที่ซื้อยางเข้าสต๊อกทั้ง 2 ครั้ง ปี 2555 กับ 2557 เพื่อตัดปริมาณยางในตลาดรักษาสถานภาพราคายางเมื่อมีการนำยางเข้ามาในสต๊อก มีการระบายยางโดยครั้งแรกในปี 2557 มีการลงนามสัญญา 278,000 ตัน เมื่อทำสัญญาแล้วราคายางตกลงอย่างมากบริษัทรับยางเพียง 37,602 ตัน เนื่องจากราคาตกมากจึงไม่ได้รับครบจึงเป็นไปสู่การกำหนด TOR ในการประมูล
นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า การประมูลครั้งที่ 2 ประมูลในรอบปี 2559-2560 ซึ่งเป็นการประมูลแบบคละเหมาคุณภาพแยกโกดัง ให้พ่อค้าเข้าไปตรวจสอบคุณภาพหากพอใจโกดังไหนที่ประมูลโกดังนั้น พ่อค้าก็เลือกยางดีดีไปหมด การประมูลครั้งที่ 2 เหลือยางในสต๊อกจนถึงปัจจุบัน 104,000 ตันเศษ 9 ปีเต็ม เป็นยางที่ถูกคัดเลือกของดีไปเรียบร้อยแล้ว ยางในสต๊อกนี้คือฝันร้ายของพี่น้องเกษตรกร ตนมาช่วยคลายล็อกให้พี่น้องเกษตรกรไม่ต้องฝันร้ายต่อไปอีก จะได้ไม่ถูกยางในสต๊อกเป็นข้ออ้างของพ่อค้าบางกลุ่มกดราคา อ้างว่ายางไม่ขาดมีในสต๊อก ทั้งที่ยางในสต๊อกไม่มีสภาพที่พร้อมใช้แล้ว ยางแผ่นดิบปกติเก็บ 6 เดือนสีก็เปลี่ยน ระหว่างปี 2555-2559 ค่าใช้จ่ายในการซื้อยางเข้ามาในสต๊อก ค่าเช่าโกดัง ค่าประกันภัยยางพาราใช้เงินทั้งสิ้น 2,317 ล้านบาท และปี 2559 ถึงปี 2564 ยาง ค่าใช้จ่ายรวมกัน 925 ล้านบาท โดยเป็นเงินงบรายจ่ายการยางแห่งประเทศไทยจากเงินกองทุนพัฒนายางพาราซึ่งใช้ดูแลพี่น้องชาวเกษตรกร จึงเป็นฝันร้ายที่ 2 ของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง
" คณะกรรมการการยางธรรมชาติจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ให้ระบายยางในสต๊อกนี้ให้หมดโดยเร็ว และนำเข้า ครม.วันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 การระบายต้องดูจังหวะที่เหมาะสมและไม่กระทบกับราคายางในตลาดมากนักเมื่อ ครม.ได้รับทราบ ตนในฐานะกำกับดูแลการยางแห่งประเทศไทย ให้นโยบายการยางแห่งประเทศไทยในการระบายอย่างสต๊อก 1.ให้การยางแห่งประเทศไทยดูช่วงเวลาที่เหมาะสมในการระบายเพื่อไม่ให้กระทบราคายางในตลาด 2.พี่น้องเกษตรกรต้องได้รับประโยชน์ 3.ต้องรักษาผลประโยชน์ภาครัฐเพราะเป็นเงินภาษีของพี่น้องประชาชน 4.ต้องทำโดยสุจริตโปร่งใสตรวจสอบได้ และถูกต้องตามระเบียบ ที่เน้นย้ำที่สุดคือห้ามทุจริตคอรัปชั่นโดยเด็ดขาด ถ้าเขาทำทุจริตผิดกฎหมายผมไม่ละเว้นอยู่แล้วและนอกจากผมไม่ละเว้นแล้วยังมีหน่วยงานมากมายที่รอการตรวจสอบท่านสามารถฟ้องได้เลย เพราะถ้าไม่ถูกต้องผมก็ไม่ชอบ อยู่ประเทศไทยทำร้ายประเทศผมก็ไม่เอา " นายเฉลิมชัย กล่าว