กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ประกาศรายชื่อธุรกิจที่ได้รับการคัดเลือกมาตรฐาน ธรรมาภิบาลธุรกิจ ประจำปี 2564 ยกให้เป็นต้นแบบธุรกิจสีขาวที่จะเป็นแบบอย่างให้ธุรกิจอื่นๆ ซึ่งธุรกิจที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานในปีนี้จะได้รับหนังสือรับรองมาตรฐาน พร้อมอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายแสดงความดี และได้รับการการันตีบนหน้าหนังสือรับรองนิติบุคคล ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้ธุรกิจ
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่วันแรกที่เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้รับนโยบายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ให้กำกับดูแลและติดตามการดำเนินงานของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เนื่องจากเป็นกรมฯ ที่มีภารกิจและบทบาทหน้าที่สำคัญเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการโดยตรง อีกทั้งยังเป็นคลังข้อมูลธุรกิจขนาดใหญ่ของประเทศ โดยเน้นย้ำให้หาแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจไทยให้สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างคล่องตัว มีความสะดวก ควบคู่ไปกับการปลูกฝังให้ภาคธุรกิจมีธรรมาภิบาล และมีมาตรฐานในการดำเนินธุรกิจตามหลักเกณฑ์ของสากล สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการสร้างประเทศไทยให้ใสสะอาด โดยที่ผ่านมาทราบว่ากรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้สนับสนุนและสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ภาคธุรกิจที่ประพฤติตนเป็นธุรกิจที่ดี มีการบริหารกิจการด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส ผ่านการจัดกิจกรรม “การรับรองมาตรฐานธรรมาภิบาลธุรกิจ” อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา
“แม้ในปี 2564 นี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะคลี่คลายลงก็ตาม ทำให้การจัดกิจกรรมต่าง ๆ ไม่สามารถดำเนินได้ในรูปแบบปกติ แต่ภาคธุรกิจยิ่งต้องการขวัญและกำลังใจเพื่อให้สามารถเดินหน้านำพากิจการก้าวต่อไปได้ จึงได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเดินหน้า จัดกิจกรรมส่งเสริม ธรรมาภิบาลให้แก่ภาคธุรกิจในรูปแบบ New Normal โดยได้เปิดให้ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน หรือบริษัทจำกัด ที่จัดตั้งมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี สมัครเข้าร่วมกิจกรรม โดยมีหลักเกณฑ์การตรวจประเมินเพื่อขอรับหนังสือรับรองมาตรฐานธรรมาภิบาลธุรกิจ 6 ข้อ ได้แก่ 1) หลักนิติธรรม ธุรกิจต้องปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ อย่างเคร่งครัด 2) หลักคุณธรรม ต้องมีการส่งเสริมคุณธรรมและจรรยาบรรณทางธุรกิจ 3) หลักความโปร่งใส มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอ 4) หลักความมีส่วนร่วม ธุรกิจมีความใส่ใจเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ 5) หลักความรับผิดชอบ ผู้บริหารต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม และ 6) หลักความคุ้มค่า มีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสร้างคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยมีธุรกิจสนใจสมัครเข้าร่วมทั้งหมดจำนวน 63 ราย และผ่านเกณฑ์การตรวจประเมินมาตรฐานธรรมาภิบาลธุรกิจ จำนวน 38 ราย โดยกรมฯ ได้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1) ธุรกิจที่ได้รับการต่ออายุหนังสือรับรอง และก้าวเข้าสู่การเป็นธุรกิจธรรมาภิบาลต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 มีจำนวน 14 ราย และ 2) ธุรกิจรายใหม่ผ่านเกณฑ์การตรวจประเมินธรรมาภิบาล มีจำนวน 24 ราย”
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายสินิตย์ เลิศไกร) แสดงความยินดีกับธุรกิจที่ผ่านการประเมินมาตรฐานธรรมาภิบาลธุรกิจ และกล่าวเพิ่มเติมว่า “ธุรกิจที่ผ่านการประเมินจะได้รับหนังสือรับรองและตราเครื่องหมายรับรอง “มาตรฐานธรรมาภิบาลธุรกิจ” จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรอง เป็นระยะเวลา 3 ปี เครื่องหมายดังกล่าวนอกจากจะเป็นเครื่องยืนยันการปฏิบัติตามกฎหมายซึ่งเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของการประกอบธุรกิจแล้ว ยังแสดงถึงการประกอบธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียอีกด้วย เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงออกถึงความดี และการดำเนินธุรกิจที่อยู่บนพื้นฐานของหลักคุณธรรม โดยธุรกิจสามารถนำเครื่องหมายนี้ไปใช้ร่วมกับเครื่องหมายการค้าในการโฆษณาเพื่อเป็นการการันตีการเป็นธุรกิจสีขาว นอกจากนี้ ยังจะได้รับสิทธิในการระบุข้อความรับรองมาตรฐานธรรมาภิบาลธุรกิจบนหนังสือรับรองนิติบุคคลด้วย ซึ่งจะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและความน่าเชื่อถือให้กับคู่ค้า อีกทั้งยังเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ธุรกิจรายอื่น”
ขณะนี้ กรมฯ กำลังเร่งส่งเสริมให้ภาคธุรกิจนำหลักธรรมาภิบาลมาใช้เป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจไทยมีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับทั้งในและนอกประเทศ รวมทั้งจะผลักดันให้เกิดการสร้างเครือข่ายธุรกิจสีขาว เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนเป็นแบบอย่าง และพลังในการสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจไทยต่อไป
ธุรกิจที่สนใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรมสร้างธรรมาภิบาลธุรกิจในปีต่อ ๆ ไป สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่กองธรรมาภิบาลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2 547 4417 หรือ e-mail : goodgov.dbd@gmail.com และติดตามรายละเอียดการเปิดรับสมัครได้ที่ www.dbd.go.th
รายชื่อธุรกิจที่ผ่านเกณฑ์
1) ธุรกิจที่ได้รับการต่ออายุหนั
1. บริษัท แมงโก้ คอนซัลแตนท์ จำกัด
2. บริษัท เลกซัส ออโต้ ซิตี้ จำกัด
3. บริษัท สีไดโน จำกัด
4. บริษัท ดี ดับเบิลยู คอนซัลแทนท์ แอนด์ เมเนจเม้นท์ จำกัด (กรุงเทพมหานคร)
5. บริษัท โปรเฟสชั่นแนล โชเฟอร์ ซัพพลาย จำกัด (กรุงเทพมหานคร)
6. บริษัท ผลิตไฟฟ้าขนอม จำกัด
7. บริษัท เหล็กสยามยามาโตะ จำกัด
8. บริษัท ไทยอีสเทิร์น อินโนเวชั่น จำกัด (ชลบุรี)
9. บริษัท อี.คิว. รับเบอร์ จำกัด
10. บริษัท เอ.ไอ.พี. จำกัด
11. บริษัท ชัยบูรณ์ บราเดอร์ส จำกัด
12. บริษัท ผลไม้กระป๋องประจวบ จำกัด (ประจวบคีรีขันธ์)
13. บริษัท พิษณุเวช จำกัด
14. บริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด (สมุทรปราการ)
2) ธุรกิจรายใหม่ผ่านเกณฑ์
1. บริษัท ยูพี แอ็คเคาน์เทนซี จำกัด
2. บริษัท ควิกสปีด จำกัด
3. บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด
4. บริษัท เดอะสตาร์ จำกัด
5. บริษัท บีอีเอซี แอคเคาน์ แอนด์ ออดิท จำกัด (กรุงเทพมหานคร)
6. บริษัท บุศยา แอคเคาน์ติ้ง จำกัด
7. บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด
8. บริษัท เมิร์ซ เฮลธ์แคร์ (ประเทศไทย) จำกัด (กรุงเทพมหานคร)
9. บริษัท ยูโรสแกน จำกัด
10. บริษัท รัชพร การบัญชีภาษีอากรและกฎหมาย จำกัด (กรุงเทพมหานคร)
11. บริษัท รัตนมณีการบัญชี จำกัด
12. บริษัท เอสแอนด์เอ ออดิท จำกัด
13. บริษัท 2 เอ็ม อโกร เท็ค จำกัด
14. บริษัท อีซูซุกาญจนบุรี จำกัด
15. บริษัท บี.วี. การบัญชีและภาษีอากร (ขอนแก่น) จำกัด (ขอนแก่น)
16. บริษัท เอ.จี.ยูนิเวอร์แซล จำกัด
17. บริษัท จันทบุรี โทรทัศน์บริการ จำกัด (จันทบุรี)
18. บริษัท ไทย รีเบิร์ท จำกัด
19. บริษัท เศรษฐกฤษฏ์ การบัญชี จำกัด (ชัยนาท)
20. บริษัท เคมิท กรุ๊ป จำกัด
21. บริษัท ฟอร์ซ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (นนทบุรี)
22. บริษัท ทอสเท็มไทย จำกัด
23. บริษัท ทิป ท็อป เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (ปทุมธานี)
24. บริษัท อินเตอร์เฟส ซิสเทค จำกัด (ปทุมธานี)