ธุรกิจส่งออกจิวเวลรี่ เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่วิกฤตโควิดไม่สามารถทำให้อะไรธุรกิจในกลุ่มนี้ ได้ หลังจาก ที่ “แทนทองอาร์ต” ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องประดับจิวเวลรี่ และสินค้าตกแต่งบ้าน รูปภาพประดับพลอยและจิวเวลรี่ ออกมาเปิดเผยถึง การดำเนินธุรกิจส่งออกเครื่องประดับ และของแต่งบ้านจากจิวเวลรี่ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 1-2 ปีนี้ (2563-2564)
ยุคเปลี่ยนผ่าน..ธุรกิจส่งออกจิวเวลรี่จากออฟไลน์ สู่ออนไลน์
นางวัลยา สุวรรณาภิรมย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แทนทอง อาร์ต จำกัด ผู้ผลิตและส่งออก รูปภาพประดับพลอย & จิวเวลรี่ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ได้ตัวช่วยอย่างออนไลน์ มาช่วยทำให้ ยอดขายกลับสวนทางกับวิกฤตโควิด-19 เพราะตั้งแต่การระบาดของโควิดในปี 2563 รูปแบบการทำงานและติดต่อกับพาร์ทเนอร์ธุรกิจได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ก่อนหน้าวิกฤตบริษัทฯ เข้าร่วม International Trade Fair ทุกปีเพราะตลาดของเราอยู่ที่ต่างประเทศทั้งหมด ดังนั้นการปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลเป็นกลยุทธ์สำคัญที่องค์กรใดๆ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในยุคปัจจุบัน
“จริงๆ เราเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลมาตั้งแต่ก่อนที่โควิดจะเกิดแล้ว มีครั้งหนึ่งที่เราไปร่วมนิทรรศการสินค้าที่ประเทศจีน เป็นครั้งแรกที่เราได้เห็นวิวัฒนาการของไลฟ์สตรีมที่ส่งผลต่อการขาย มีไลฟ์สตรีมเมอร์ชาวจีนเดินมาที่ บูธสินค้าเพื่อนำของไปไลฟ์ขาย ปรากฏว่าวันต่อมาของขายหมด เขาก็ขอเพิ่มมาไลฟ์ขายต่อที่บูธ ซึ่ง ณ ตอนนั้นเป็นเรื่องใหม่สำหรับเรามากๆ พอมาช่วงที่ธุรกิจต้องพึ่งแพลตฟอร์มออนไลน์ในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและติดต่อกับพาร์ทเนอร์ ทำให้เราได้นำเอาประสบการณ์ตรงนั้นมาใช้เป็นกลยุทธ์ในการทำตลาดออนไลน์ ครั้งแรกของ “แทนทองอาร์ต” และพบว่าทำให้สินค้าของเราได้รับความสนใจและสามารถสร้างยอดขายได้” นางวัลยากล่าว
โดยแทนทองอาร์ต ได้รับเลือก จากทางอาลีบาบา ในการเข้าร่วมใน หลักสูตร Netpreneur ของอาลีบาบา ซึ่งเป็นการเริ่มบทเรียนการทำธุรกิจออนไลน์ สินค้าจิวเวลรี่ ของแทนทองอาร์ตอย่างเต็มตัว ทำให้เราได้ข้อคิดหลายๆ จากการเข้าร่วมในหลักสูตรดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น ในแง่ของวัฒนธรรมองค์กร จริงอยู่ที่เป้าหมายหลักของการทำธุรกิจคือ กำไรและการเติบโตของธุรกิจ แต่หากปราศจากวัฒนธรรมองค์กรที่จับต้องได้ การทำธุรกิจก็จะปราศจากทิศทางที่ชัดเจนและขาดความมั่นคง อาลีบาบาให้ความสำคัญกับลูกค้ามาเป็นอันดับแรก แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ละเลยพนักงาน เพราะตัวชี้วัดว่าบริษัทจะประสบความสำเร็จหรือไม่ คือ ทรัพยากรบุคคล เพราะฉะนั้นแทนที่จะเติบโตอย่างมั่งคั่งอย่างเดียว บริษัทควรจะเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว
สวนกระแสโควิด จากยอดขายเพิ่มขึ้นหลังใช้แพลตฟอร์มออนไลน์
อย่างไรก็ดี เมื่อวิกฤตโควิด-19 มีแนวโน้มว่าจะยังอยู่กับเราไปอีกระยะหนึ่ง ธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดแม้สถานการณ์โควิดในปีนี้จะจัดว่าแย่กว่าปีที่แล้ว แต่ลูกค้าของแทนทองอาร์ต จัดเป็นกลุ่มที่ปรับตัวได้ดี ทำให้มีคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัทฯ มียอดขายที่สูงขึ้นมากกว่าปีก่อนหน้า ทำให้ในช่วงนั้นมีพนักงานหลายคนสมัครใจทำงานล่วงเวลา เพราะทุกคนต่างต้องการให้เราส่งสินค้าให้ตรงตามกำหนด ซึ่งเราก็มีค่าตอบแทนที่เหมาะสมให้กับพนักงานกลุ่มนี้ จุดนี้เองที่แทนทองอาร์ตได้นำ หลักการ 3H (Heart, Head, Hand) บทเรียนที่ได้รับจากหลักสูตร Netpreneur มาประยุกต์ใช้ในการจัดโครงสร้างของบุคลากร ทำให้มีการปรับปรุง จัดสรรบุคคลให้เหมาะสมกับงาน และปรับปริมาณให้เหมาะสมกับชนิดของงาน ทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เช่น ในส่วนการผลิต สามารถทำให้ผลิตสินค้าได้เร็วขึ้น ในส่วนของฝ่ายสนับสนุนด้านต่างๆ ทำให้ลดปัญหาเรื่องความผิดพลาด ลดค่าใช้จ่าย เป็นต้น
แทนทองอาร์ตไม่ได้แค่คุณภาพจิวเวลรี่ แต่ขายงานฝีมือ
นางวัลยา กล่าวถึง ธุรกิจจิวเวลรี่ ส่งออกเพชรพลอย ว่า เนื่องจาก ธุรกิจจิวเวลรี่ จัดเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมของประเทศไทยที่สร้างชื่อเสียงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ด้วยมีผู้เล่นจำนวนมากในท้องตลาด อาจทำให้ผู้ประกอบการต้องแข่งขันในการหาเพชรพลอยคุณภาพดี เพื่อส่งออกในจำนวนมากๆ ไปยังคู่ค้า อาจจะต่างกันกับ “แทนทอง อาร์ต” ที่เป็นทั้งเน้นงานศิลปะขายงานฝีมือเป็นหลัก ไม่ได้แค่คุณภาพของจิวเวลรี่ ที่นำมารังสรรค์ผลงานเท่านั้น หากแต่จะต้องใช้ฝีมือในการทำงานให้ออกมาถูกใจลูกค้า ที่ยากหากใครจะเลียนแบบ
“ก่อนหน้าที่จะก่อตั้งบริษัท แทนทอง อาร์ต จำกัด ครอบครัวทำธุรกิจค้าทอง ขายเครื่องประดับที่ทำจากทอง ทำให้เรามีความผูกพันกับอุตสาหกรรมประเภทนี้จนเกิดเป็น passion ให้มาทำธุรกิจจิวเวลรี่เป็นของตัวเองเมื่อ 30 ปีที่แล้ว สินค้าของเราไม่ได้ตอบโจทย์ functional pain point อะไร เพราะฉะนั้นคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของเราคือผู้ที่ชอบในความสวยงามล้วนๆ”
มุมมองดังกล่าวได้เปลี่ยนไปเมื่อ บริษัท แทนทอง อาร์ต จำกัด ได้รับการคัดเลือกไปเป็นหนึ่งในผู้ร่วมหลักสูตร Alibaba Netpreneur Training Program ปีที่ 3 ที่ปรึกษาเคสธุรกิจ โดยได้ยกประเด็นในเรื่องของการให้ความสำคัญกับธุรกิจในส่วนที่เป็น gift หรือของฝาก ซึ่งสามารถพัฒนาและขยายธุรกิจเป็นอย่างมาก ในส่วนนี้ได้ paint point คือการมองหาของขวัญที่ถูกใจให้กับครอบครัวหรือผู้รับ ยิ่งไปกว่านั้นหากสามารถยกระดับโมเดลธุรกิจไปเป็น Corporate Gift จะยิ่งทำให้ธุรกิจเติบโตได้และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ อีกด้วย
จุดขายผลงานศิลปะจิวเวลรี่ฝีมือคนไทย ที่มีชิ้นเดียวในโลก
สำหรับโปรดักส์ของแทนทอง อาร์ตส่งออกไปยังต่างประเทศ 100 เปอร์เซ็นต์ในรูปแบบ B2B กล่าวคือ คู่ค้าของเราจะนำสินค้าไปขายต่อในตลาดนั้นๆ ซึ่งตลาดหลัก ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน เยอรมนี ตลาดรอง ได้แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสหรัฐอเมริกา ประเภทสินค้าที่เน้นผลิตและส่งออกคือ สินค้าที่ได้รับลิขสิทธิ์ (licensed product) อาทิ ดิสนีย์ ซานริโอ สินค้าดีไซน์การ์ตูนมังงะ หรืออนิเมะญี่ปุ่น โดยสัดส่วนของผลงานภาพวาดและเครื่องประดับคิดเป็น 50:50 คือเฉลี่ยเท่าๆ กัน
นอกจากนี้ยังมีสินค้าที่ผลิตตามผลงานศิลปะชื่อดังของศิลปินระดับโลก อย่าง แวน โกะห์ หรือแอนดี วอร์ฮอล นับเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของแทนทอง อาร์ต ก็ว่าได้ เพราะเป็นออเดอร์พิเศษที่ผู้ซื้อสั่งทำ ให้ฝังเพชรหรูลงไปบนรูปภาพ เรียกว่ามีชิ้นเดียวในโลก โดยราคาสินค้าอยู่ที่ตั้งแต่ประมาณ 320-3,200 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 10,000-100,000 บาทต่อชิ้น และคู่ค้าสามารถนำไปขายต่อในราคาที่สูงกว่าราคาขายถึง 5-10 เท่า ทำให้สินค้าของแทนทอง อาร์ต นอกจากมีมูลค่าทางด้านธุรกิจแล้ว ยังมีมูลค่าทางด้านจิตใจอีกด้วย
“แม้ธุรกิจของเราจะจัดเป็นกลุ่มตลาดนิชและมีผู้สร้างสรรค์งานศิลปะจิวเวลรี่มากมายในท้องตลาด เราเชื่อว่าเหตุผลหลักที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือ เราเป็น partner & supplier ที่ได้รับความไว้วางใจมากจากคู่ค้า ด้วยนโยบายการรักษาคุณภาพ ข้อตกลงในเรื่องระยะเวลาการส่งมอบสินค้า การแก้ปัญหาบนผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นหลัก ตลอดจนคำแนะนำอย่างมืออาชีพเพื่อให้ได้ผลงานออกมาดีที่สุด ให้ลูกค้าได้ประโยชน์สูงที่สุด ซึ่งก็สอดคล้องกับหลักการ “Customer First” ซึ่งเป็นวัฒนธรรมองค์กรเพื่อการพัฒนาธุรกิจอย่างก้าวกระโดดที่อาลีบาบา กรุ๊ปยึดถือมาตลอด” นางวัลยากล่าวปิดท้าย
คลิก Likeเพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ"รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด