xs
xsm
sm
md
lg

อดีตพนักงานทัวร์กลับบ้านเกิด ผันตัวเป็นแม่ค้าเปิดร้านชำออนไลน์ ขายของขึ้นชื่อหายาก จ.พัทลุง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ร้านขายของชำออนไลน์ “banban.localgrocery” ตามความตั้งใจที่ต้องการให้ ขนม อาหาร ที่ขึ้นชื่อและเริ่มหากินยากใน จังหวัดพัทลุง ได้พัฒนากลายเป็นสินค้าที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยการที่ร้านรวบรวมสินค้าเหล่านี้จากทั้งเกษตรกร ชาวบ้าน มาพัฒนาและต่อยอดให้สินค้าดูดี สามารถขายได้ในช่องทางออนไลน์



เยาวณี หนูยิ้ม หรือ ส้มปอย เจ้าของร้าน banban.localgrocery จังหวัดพัทลุง เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่มาเปิดร้านนี้ว่า เริ่มต้นมาจากเป็นอีกหนึ่งคนที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 ที่ต้องโดนพักงานหรือออกจากบริษัท ซึ่งก่อนหน้านี้ตนก็ทำงานอยู่บริษัททัวร์ ท่องเที่ยว แห่งหนึ่งในจังหวัดกระบี่ ในช่วงที่ออกมาจากงานนั้นต้องการหางานทำ เพื่อหารายได้ จึงตัดสินใจหาสินค้ามาลองวางขายในช่องทางออนไลน์ โดยเริ่มจากสิ่งต่างๆ รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นขนมขึ้นชื่อของ จังหวัดพัทลุง ที่ไม่สามารถหากินได้ง่าย หรือเป็นอาหารที่แม้แต่คนในพื้นที่เองยังหาคนทำได้ยาก


โดยที่ตนก็เริ่มต้นติดต่อ ชาวบ้าน พ่อค้า แม่ค้า รวมไปถึงเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบช่วง โควิด-19 เช่นกัน ก็ติดต่อไปเพื่อสนับสนุนสินค้าต่างๆ และนำมารีแบรนด์รวมไปถึงพัฒนาบรรจุภัณฑ์รูปแบบใหม่ ให้ดูดีกว่าเดิมที่เป็นอยู่





“จริงๆ มันเป็นจังหวะที่จะบอกว่าตั้งใจก็ไม่ได้นะคะ เพราะว่าเป็นจังหวะที่เราตกงานจากโควิด-19ในช่วงปีที่แล้ว ก่อนหน้านี้ก็ทำงานอยู่บริษัททัวร์ จังหวัดกระบี่ ตำแหน่งการตลาด หลังจากที่เกิด โควิด-19 ขึ้นก็ทำให้บริษัทไม่สามารถไปต่อได้ ทำให้บริษัทต้องหยุดกิจการชั่วคราว ก็เลยต้องกลับมาอยู่บ้านที่จังหวัดพัทลุง ในช่วงเดือน เมษายน 2563 ปีที่แล้ว ด้วยความที่ตัวเองก็ทำงานมาตลอด ช่วงที่ว่างก็เลยหาสินค้ามาลองวางขายดู โดยเริ่มจากสิ่งต่างๆ รอบตัวที่เราคิดว่าเป็นสินค้าที่มีมูลค่า เป็นของที่คนนอกพื้นที่ คนต่างจังหวัด คนกรุงเทพ ไม่สามารถเข้าถึงของพวกนี้ได้อย่างเรา แต่สิ่งเหล่านี้คนในพื้นถิ่นอาจจะมองว่ามันธรรมดา เราก็เลือกที่จะหยิบจับตรงนั้นมาสร้างให้สินค่ามีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ เช่นขนมขึ้นชื่อของจังหวัดพัทลุง หรือแม้แต่อาหารที่แปลกและหากินยาก ทำไปได้ประมาณ 3-4 เดือน ทางบริษัทก็เรียกตัวกลับไปช่วยงาน เราก็กลับไปช่วยทำ แต่ก็มองไปว่าหลังจากที่เรามาทำตรงนี้แล้วก็ถือว่าเป็นโอกาสที่ดี ตอนที่ทำเราก็รู้สึกสนุกไปกับมัน เลยเลือกที่จะจัดการงานที่บริษัทเดิม แล้วมาเริ่มต้นใหม่เมื่อเดือน มกราคม ที่ผ่านมาก็กลับมาทำอย่างเต็มตัว”





ทั้งนี้เริ่มต้นจากการขายสาคู ก็คือเปิดช่องทางการขายในออนไลน์ ช่วงนั้นมาร์เก็ตเพลสกำลังเป็นที่นิยม ตอนนั้นก็คิดแค่ว่า ทำสนุกๆ เป็นเพียงแค่งานอดิเรก ส่วนตัวก็เป็นคนที่มีความรู้ในเรื่องของช่องทางออนไลน์อยู่บ้าง ซึ่งตั้งแต่ช่วง โควิด-19 ทุกคนต่างก็ได้รับผลกระทบกันหมด ซึ่งเราเองก็เข้าไปสนับสนุนชาวบ้าน เกษตรกร โดยการนำสินค้าของคนกลุ่มนี้มารีแบรนด์

อีกทั้งไอเดียเหล่านี้ก็ได้มาจากการเดินทางไปต่างประเทศ อย่างประเทศญี่ปุ่น จะเห็นได้ว่า ประเทศญี่ปุ่นจะมีอาหาร หรือของขึ้นชื่อตามท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัด ซึ่งแต่ละที่ก็นำสินค้ามาพัฒนาทั้งในเรื่องของบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม ซึ่งเป้าหมายของตนเองก็ต้องการให้สินค้าของ จังหวัดพัทลุง ได้พัฒนาต่อยอดเป็นอย่างเช่นต่างประเทศเช่นกัน ถือเป็นเป้าหมายสูงสุดที่ต้องการจะทำ แต่ปัจจุบันก็ถือว่าอยู่ในขั้นตอนเริ่มต้นก็จะพยายามพัฒนาให้เทียบเท่าและสามารถขายได้




แม้จะเป็นร้านที่เปิดมาได้เพียงไม่นาน แต่สิ่งที่ทางร้านตั้งใจทำมาตลอดคือ สินค้าต้องมีคุณภาพ คือตนต้องมั่นใจในสินค้า และจะมีการตรวจสอบทุกอย่างก่อนที่จะนำเข้ามาขายที่ร้านอยู่เสมอ และต้องมั่นใจว่ามันจะดีที่สุดก่อนที่จะส่งถึงมือลูกค้า มีความจริงใจ รับผิดชอบต่อลูกค้า เป็นสิ่งที่สำคัญที่ทางร้านจะบริการลูกค้าอยู่ตลอด

“ผลตอบรับจากลูกค้าก็ถือว่าดีมากๆ ส่วนใหญ่ลูกค้าที่เข้ามาก็จะเป็นการบอกต่อ ปากต่อปาก ลูกค้าหลายๆ รายต่างก็แนะนำกันเข้ามา บางทีลูกค้าก็ไปรีวิวให้ และก็มีบางส่วนที่ตามมาจากรีวิวในออนไลน์เช่นเดียวกัน”





นอกจากนี้ยังตั้งใจว่าจะเป็นร้านของชำสำหรับสินค้าพื้นบ้านออนไลน์ เนื่องจากทางร้านขยายให้มีสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น ก่อนหน้านี้ก็วางเป็นร้านขายของฝาก แต่หลังจากที่สินค้าเริ่มมีมากขึ้น หลากหลายมากขึ้น จึงวางเป็นร้านขายของชำ สินค้าพื้นบ้าน จะครอบคลุมมากกว่า ซึ่งลูกค้าสามารถที่จะซื้อฝากก็ได้ หรือซื้อกินก็ได้เช่นเดียวกัน

สำหรับสินค้าที่เป็นที่นิยมของร้านอันดับ 1 จะเป็นมะม่วงเบาแช่อิ่ม ต่อมาก็จะเป็นไตปลาแห้ง น้ำแกงไตปลาปรุงสำเร็จ ทางร้านก็จะบรรจุขวดลูกค้าก็สามารถนำไปปรุงอาหารได้ทันที กุ้งหวาน รวมไปถึงผงหมักไก่ทอดหาดใหญ่สำเร็จรูป ทางร้านพยายามที่จะพัฒนาสินค้า เป็นอาหารที่กินง่าย สำหรับคนที่อยู่ในเมืองก็สามารถกินได้สะดวกสบาย




ในอนาคตตั้งใจไว้ว่าต้องการที่จะมีหน้าร้าน เป็นในรูปแบบคาเฟ่ของฝาก เป็นแหล่งขายสินค้าที่คล้ายกับว่าเป็น Premium localgrocery อาจจะพัฒนาเป็นอาหาร ขนมฟิวชั่นส์ มารวมกับอาหารวัฒนธรรมใหม่ๆ พร้อมกับต้องการเผยแพร่ขนมพื้นบ้านพร้อมทั้งรักษาวัฒนธรรม โดยการเปิดแหล่งเรียนรู้การทำขนม เปิดคอร์สเรียนทำอาหาร ทำขนมพื้นบ้าน อีกหนึ่งอย่างที่ขาดไม่ได้เลยคือการแปรรูปสินค้าเกษตรให้สามารถเพิ่มมูลค่าได้

สนใจติดต่อ Instagram : banban.localgrocery
Facebook : บ้านบ้าน สินค้าพื้นบ้านหาทานยาก จ.พัทลุง

* * *คลิก Likeเพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ"รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น