เทคโนโลยีบล็อกเชน และ คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) โอกาสในโลกยุคใหม่ ที่จะมาปฏิวัติโลกแห่งการเงินให้เปลี่ยนไป ซึ่งคริปโตเคอร์เรนซี ไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องของสกุลเงินเท่านั้น แต่ยังมีทรัพย์สินที่เราสามารถสร้างขึ้นบนโลกดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ ผลงานเกมส์ หรืออะไรก็ตามที่เราเรียกมันว่า NFT (Non Fungilbe Token) ก็เป็นคริปโตเคอร์เรนซี ที่มีเอกลักษณ์ สามารถสร้างทรัพย์สินที่มีแค่ชิ้นเดียวในโลก ไม่มีใครสามารถทำซ้ำกันได้
โอกาสศิลปินไทยกับช่องทางสร้างรายได้จากคริปโต
แม้ NFT จะเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย แต่บ้านเราก็มีศิลปิน คนดังมากมายเริ่มที่จะมีวางขายทรัพย์สินในรูปแบบดังกล่าวกันมากขึ้น โดยเฉพาะในรูปแบบ Cryto Art เช่น ผลงานภาพดิจิทัล “ปกขายหัวเราะฉบับแรก” ที่ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1973 พร้อมลายเซ็นของ “วิธิต อุตสาหจิต” บรรณาธิการของขายหัวเราะ , คุณปาล์ม แห่งวงดนตรี Instinct , ศิลปินรุ่นใหม่ ปั๋น- ยูทูปเบอร์ จากช่อง Riety ,ศิลปินเพลงฮิปฮอปวัยรุ่นชื่อดัง ยังโอม หรือแม้แต่นักร้องยุค 90 อย่าง ติ๊ก ชีโร่ ก็นำงานวาดในคอลเลคชั่นส่วนตัวมาขายในรูปแบบของ NFT และราคาของผลงานพวกเขาก็มีมูลค่ามากขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกวัน
ตลาดศิลปะ NFT เป็นโอกาสใหม่ที่น่าสนใจ เพราะลักษณะของ NFT เหมาะกับงานศิลปะ โดยเฉพาะงานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความ limited edition ทำออกมามีชิ้นเดียวไม่ซ้ำกับชิ้นอื่นๆ ในโลก อีกทั้งการเกิดขึ้นของตลาด NFT ทำให้การซื้อขายงานศิลปะที่หายากได้ง่ายขึ้นในโลกดิจิทัล สะดวก เข้าถึงง่าย ตรวจสอบได้
และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็เป็นที่ฮือฮาในแวดวง Cypto Art ในบ้านเราอีกครั้ง เมื่อ “นายกรณ์ จาติกวณิช” อดีตประธานสมาคมไทยฟินเทค และหัวหน้าพรรคกล้า ได้ลุกขึ้นมาสร้างสินทรัพย์ดิจิทัล ด้วยการส่งภาพสุนัขพันธุ์ เฟรนช์ บูลด็อก 20 ตัวที่เลี้ยงไว้ ขึ้นขายบนแพลตฟอร์มซื้อ-ขายงานศิลปะระดับโลกอย่าง ‘โอเพ่นซี’ (opensea.io) เพื่อนำรายได้บริจาคช่วยเหลือน้องหมา ใน 3 มูลนิธิชื่อดัง คือ Dog Trust ประเทศอังกฤษ และ 2 มูลนิธิในประเทศไทย คือ มูลนิธิเดอะวอยซ์ เสียงของเรา และ เกาะสุนัข ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด ทำให้เงินบริจาคช่วยเหลือลดน้อยลงกว่าเดิมมากกว่าสภาวะปกติ
วงการฟินเทคกับการระดมทุนผ่านงานศิลปะ
“กรณ์” ถือเป็นคนในวงการฟินเทค ที่ระดมทุนช่วยเหลือสุนัขจรจัดในประเทศไทยจากผู้สนใจบริจาคทั่วโลก ผ่านงานศิลปะและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน ด้วยการใช้ภาพถ่ายสุนัข 20 ตัว ที่เลี้ยงไว้ มาสร้างเป็นงานศิลปะ พร้อมเทคโนโลยีแสดงความเป็นเจ้าของในผลงานศิลปะที่กำลังเป็นที่นิยมในหมู่คนสร้างสรรค์งานศิลปะระดับโลก นำไประดมเงินบริจาคในตลาดใหม่ซึ่งซื้อ-ขายด้วยสกุลเงินคริปโตเคอเรนซี่ อันเป็นโอกาสใหม่ในการสร้างรายได้ให้กับคนไทยที่มีความสามารถในงานศิลปะ ดนตรี และกีฬา โดยเขาให้ความเห็นว่า งานศิลปะเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ (Softpower) ในการสร้างรายได้คนไทย และจะน่าเสียดายมากถ้าเราต้องตกเป็นเมืองขึ้นทางเทคโนโลยี หากเราไม่ส่งเสริมการต่อยอดอุตสาหกรรมใหม่นี้ตั้งแต่วันนี้
“กรณ์” เปิดเผยถึงแรงบันดาลที่ เลือกใช้ NFT ในการสร้างแผนปฏิบัติการน่ารัก Mission Pawsible หรือ ภารกิจช่วยแก๊งค์อุ้งเท้า ว่า ปีนี้เราตื่นเต้นกับ NFT ที่เพิ่งจะโด่งดังเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้เอง เมื่อศิลปะดิจิทัลของ “บีเพิล” หรือ ไมค์ วิงเคิลแมน จิตรกรดิจิทัลชื่อดัง ได้นำงานศิลปะของเขาไปให้ บริษัทประมูลศิลปะชื่อดัง คริสตี้ (Christie’s) ประมูลขาย ซึ่งปรากฏว่าผลงานของเขาถูกประมูลไปด้วยมูลค่าเกือบ 70 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 2,000 ล้านบาท ซึ่งเป็น NFT Token เดียว ทำให้ทุกคนหันมาสนใจ และตั้งคำถามว่า นี่อาจเป็นโอกาสสำหรับศิลปินในยุคดิจิทัล ที่แท้จริง ได้หรือไม่
แม้แต่ผลงานของ Jack Dosey ผู้ก่อตั้งโซเชียลมีเดีย Twitter ที่ได้นำทวีตแรกของเขาเมื่อตอนสร้างแพลตฟอร์มออกมาขายในรูปแบบ NFT โดยทวีตแรกของเค้าบอกเล่าว่า “Just set up my twitter” และมีมหาเศรษฐีจากประเทศมาเลเซียชนะการประมูล NFT ภาพนี้ไปที่ราว ๆ 90 ล้านบาท โดยเหตุผลของมหาเศรษฐีท่านนี้กล่าวเพียงสั้น ๆ ว่าทรัพย์สิน NFT อันนี้เปรียบได้ดั่งรูปภาพโมนาลิซ่า ของลีโอนาร์โด ดาร์วินชี่ เลยทีเดียว ซึ่งทำให้เราพอเข้าใจได้ว่า นั่นคือความภาคภูมิใจในความเป็นเจ้าของ มันมีค่าทางใจ
“จึงมาคิดว่า ผมมีสุนัขพันธุ์เฟรนซ์ บูลด๊อก เพศผู้ 20 ตัวที่น่ารักมาก จะสามารถทำเป็น NFT ได้หรือไม่ จึงได้คุยกับน้องปิยฉัตร ศรไพศาล ศิลปินดิจิทัลอาร์ต ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ ว่าจะสามารถสร้างภาพดิจิทัลที่เป็นเอกลักษณ์ของสุนัขแต่ละตัวในสไตล์ของเขา โดยใช้ชื่อว่าเป็นภารกิจช่วยแก๊งค์อุ้งเท้า (Mission Pawsible) ซึ่งน้องปิยฉัตร ได้ถ่ายทอดออกมาได้อย่างสดใส น่ารัก มีเอกลักษณ์ชัดเจน ประกอบเรื่องเล่าที่น่าติดตาม จากนั้นทีมเทค ก็ได้นำภาพเหล่านั้นไปบรรจุในระบบบล็อกเชน ในรูปแบบของ NFT แล้วก็มาหาว่าตลาดไหนเป็นตลาดที่เหมาะสมที่สุด ในการที่จะนำ NFT 20 ชิ้นไปขาย เพื่อระดมนำรายได้มาช่วยเหลือสุนัขตามที่เราได้ตั้งเป้าหมายไว้ จริง ๆ เราก็จะขายใน market place ของคนไทยเอง แต่มันยังไม่มี เพราะฝ่ายกำกับยังทบทวนอยู่ว่ามีความจำเป็นอย่างไรหรือไม่ที่ต้องมากำกับดูแลธุรกรรมประเภทนี้
สุดท้ายก็ไปลงตัวที่แพลตฟอร์มซื้อ-ขายงานศิลปะระดับโลกอย่าง “opensea.io” โดยเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าระบบอยู่ที่ประมาณ 2,000 บาท และหากขายได้เท่าไรตัวแพลตฟอร์มของเขาก็จะหักเป็นค่าคอมมิชชัน 2.5% จากยอดขายของเรา” คุณกรณ์ กล่าวพร้อมกับเปิดภาพสุนัขแต่ละตัวที่ศิลปินดิจิทัลอาร์ต ถ่ายทอดได้อย่างน่ารักและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของสุนัขแต่ละตัวจริง ๆ และเรื่องราวความน่ารักของ เฟรนซ์ บูลด็อกซ์ ทั้ง 20 ตัว ก็ถูกเขียนไว้ในเว็บไซต์ https://opensea.io/collection/mission-pawsible
อนาคตของ NFT ในระบบบล็อกเชน
อย่างไรก็ตาม “กรณ์” มองว่าในอนาคตยังไม่มีใครตอบได้ว่า NFT จะอยู่กับเราหรือเป็นโอกาสของคนไทยอย่างไร ต้องอาศัยเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่วันนี้ เราปฏิเสธไม่ได้ว่า NFT เป็นเรื่องที่เราต้องเรียนรู้ และเชื่อว่า Use case อาจไปไกลกว่างานศิลปะ ซึ่งหมายถึงอาจรวมไปถึงสินทรัพย์ประเภทอื่นด้วย ต้องคอยดูว่าสินทรัพย์ประเภทไหนที่ยังคงสร้างความลำบากให้กับเรา ในการแลกเปลี่ยน ในการซื้อขาย ในการพิสูจน์ว่ามันเป็นของจริง หรือไม่ เพราะระบบบล็อกเชน คุณสมบัติสำคัญคือ การพิสูจน์ที่มาของสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นข้อเท็จจริงเนื่องจากในระบบบล็อกเชน ไม่มีใครจะสามารถเข้าไปแก้ข้อมูลหรือเข้าไปสร้างข้อมูลเทียมในระบบนั้นได้
“ตอนนี้ที่คิดได้เร็ว ๆ ยกตัวอย่างเรื่องของโฉนดที่ดิน การทำธุรกรรมที่ดิน ซึ่งสร้างปัญหามากมายให้กับคนไทย คือมีความยุ่งยากลำบากและยังมีความจำเป็นต้องพึ่งหน่วยงานราชการ เป็นผู้ยืนยัน และในหลายครั้งก็เป็นประเด็นปัญหาที่เกิดจากหน่วยราชการเองว่า โฉนดนั้นเป็นของแท้หรือไม่ ซึ่งหากนำโฉนดมาอยู่ในระบบบล็อกเชน ปัญหานี้จะหมดไป ในอนาคตการซื้อขายที่ดิน หรือเปลี่ยนมือระหว่างกัน จะไม่มีความจำเป็นที่ต้องไปพึ่งกรมที่ดิน หรือพึ่งพาระบบราชการ อื่น ๆ อีก สามารถทำกันในระบบบล็อกเชนด้วยความมั่นใจได้ วันนี้ บล็อกเชนอยู่กับเราแน่ ส่วน NFT ซึ่งก็เป็นหน่วยที่อยู่ในเทคโนโลยีบล็อกเชนที่น่าสนใจ จึงเป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจว่า เราจะนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับเราได้อย่างไร” คุณกรณ์ กล่าว
สำหรับผู้สนใจอยากเข้าร่วมประมูลเพื่อช่วยเหลือมูลนิธิสุนัข เปิดให้ประมูลแล้วตั้งแต่วันนี้ จนถึงเที่ยงคืนของวันที่ 26 สิงหาคม 2564 ซึ่งเป็นวันสุนัขโลก โดยต้องเตรียมกระเป๋าเงินคริปโตเคอเรนซี่ของคุณให้พร้อม แล้วไปที่โปรเจค Mission-Pawsible บนเว็ปไซค์ https://opensea.io/collection/mission-pawsible โดยรับการชำระด้วยเงินดิจิตัลสกุล Etherium (ETH)
ส่วนมูลนิธิที่จะนำเงินรายได้ไปช่วยเหลือทั้ง 3 มูลนิธินั้น มีประวัติความเป็นมาที่สามารถตรวจสได้ ประกอบด้วย 1. มูลนิธิ Dog Trust องค์กรการกุศลเพื่อสวัสดิภาพสัตว์ โดยเฉพาะสุนัขที่ใหญ่ที่สุดในสหราชอาณาจักร ดูแลสุนัขถึงกว่าปีละ 15,000 ตัว และยังสนับสนุนเงินให้กับองค์กรแบบเดียวกันในประเทศต่างๆ ในประเทศไทย Dog Trust ให้เงินสนับสนุนมูลนิธิ Soi Dog ถึงปีละ 30 ล้านบาท
2.มูลนิธิเดอะวอยซ์ เสียงของเรา มูลนิธิช่วยเหลือสัตว์จรจัดของไทย ก่อตั้งในปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ และมีสัตว์จรจัดได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก จึงได้เริ่มทำกิจกรรมช่วยเหลือสัตว์มาจนถึงปัจจุบัน นอกจากจะให้การช่วยเหลือสัตว์แล้ว เดอะวอยซ์ (เสียงของเรา) ยังเน้นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนด้วยการกระตุ้นความรับผิดชอบในการเลี้ยงดุสัตว์เลี้ยงของตนเอง
และ 3. เกาะสุนัข สถานสงเคราะห์สุนัขแห่งพุทธมณฑล สถานที่สุดท้ายของสุนัขถูกทิ้ง จากการดูแลสุนัขที่ถูกนำมาปล่อยทิ้งที่พุทธมณฑลเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เป็นหน่วยงานที่ดูแลสุนัขกว่า 400 ตัว โดยพี่งพาเงินบริจาคเพียงอย่างเดียว เกาะสุนัขในช่วงโควิดมีจำนวนผู้บริจาค และรับอุปการะสุนัขลดลง จึงต้องการความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง
คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ"รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด
SMEs manager