“เครื่องสีข้าวไม้ไผ่” เครื่องมือสำหรับสีเปลือกข้าว ที่ใช้แรงงานคนโยกหมุนให้เครื่องทำงาน ภูมิปัญญาอันชาญฉลาดของเกษตรกรไทย มาตั้งแต่สมัยอดีตกาล ช่วยทุนแรงแทนการใช้ครกกระเดื่อง โดยประดิษฐ์ขึ้นมาจากวัตถุดิบ ที่หาได้ในท้องถิ่น ตามธรรมชาติ อย่างไม้ไผ่ มีกรรมวิธีที่ไม่ยุ่งยากและซับซ้อนทุกครัวเรือนสามารถประดิษฐ์ขึ้นได้โดยง่าย เพียงมีพื้นฐานทางด้าน งานจักสาน ก็สามารถทำเครื่องสีข้าวไม้ไผ่ไว้ใช้ภายในครอบครัวโดย มีต้นทุนที่ต่ำทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถ พึ่งพาตนเองได้
ศ.ศ.ป. ปลุกชีพเครื่องสีข้าวไม้ไผ่ กลุ่มงานจักสานเพื่อการส่งออก
อย่างไรก็ตาม ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่เข้ามาทดแทนการใช้เครื่องสีข้าวไม้ไผ่ แบบดั้งเดิม ทำให้ปัจจุบัน การทำเครื่องสีข้าวไม้ไผ่เริ่มค่อยๆ หายไป คนเฒ่า คนแก่ที่ได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญา การทำเครื่องสีข้าวไม้ไผ่ ก็เหลือน้อยลงมาก ทำให้เราได้เห็นเครื่องสีข้าวไม้ไผ่ที่หลงเหลืออยู่แค่ตามบ้านเกษตรกรในชนบท เพียงไม่กี่หลังคาเรือนและเป็นของเก่าโบราณ ที่ผุพังไปตามกาลเวลา โดยไม่ได้มีการทำขึ้นมาใหม่แต่อย่างใด
ด้วยเสน่ห์ของ งานจักสานเครื่องสีข้าวไม้ไผ่ ดังกล่าว ทางศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) (ศ.ศ.ป.) SACICT จึงได้เล็งเห็นว่า ควรที่จะได้อนุรักษ์ภูมิปํญญาอันชาญฉลาด ของเกษตรกรไทย นี้ไว้ โดยพัฒนาขึ้นมาเป็นของแต่งบ้าน ที่สามารถพรีเซนต์ขายให้กับ ผู้ที่สนใจงานแต่งบ้านจากวัสดุธรรมชาติ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ หากแต่ในวันนี้หากกล่าวถึง ผู้ที่ยังคงอนุรักษ์ รักษา และสืบสานการประดิษฐ์ “เครื่องสีข้าวไม้ไผ่โบราณ” ด้วยภูมิปัญญาแบบดั้งเดิมมากว่า 60ปี คงต้องกล่าวถึง “ครูบุญชู ภิญโญ” บุคคลสำคัญที่เป็นผู้อนุรักษ์การทำ เครื่องสีข้าวไม้ไผ่แห่งพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี และยังคงใช้เครื่องสีข้าวโบราณที่ประดิษฐ์ขึ้นเองในการสีข้าว ทำให้สามารถพึ่งพาตนเองได้มาจนถึงในปัจจุบัน
“ครูบุญชู” ปราชญ์ชาวบ้านยังคงอนุรักษ์การทำเครื่องสีข้าวไม้ไผ่
ทั้งนี้ ด้วยความภาคภูมิใจ และแม้ว่าวัยที่ล่วงเลยเข้าสู่วัยชรามากแล้วในวันนี้แต่ “ครูบุญชู” ยังคงมุ่งมั่นใช้กำลังแรงกายที่ยังมีอยู่ ประดิษฐ์เครื่องสีข้าวไม้ไผ่ ให้แก่ผู้ที่สนใจเห็นคุณค่า ควบคู่ไปกับการถ่ายทอดวิธีการและเทคนิคต่าง ๆ การทำ เครื่องสีข้าวแบบโบราณ ด้วยความหวังที่อยากให้คนรุ่นใหม่หันมาสืบทอดภูมิปัญญาการทำ เครื่องสีข้าวไม้ไผ่
อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัด ของ เครื่องสีข้าวไม้ไผ่โบราณ อีกอย่างหนึ่ง คือ น้ำหนัมาก เวลาเคลื่อนย้ายต้องใช้แรงงานคนมากถึง 4 คน “ครูบุญชู” จึงได้พยายามดัดแปลงผลิตภัณฑ์เครื่อง สีข้าวไม้ไผ่โบราณ ให้มีความทันสมัย สามารถ เคลื่อนย้ายได้ง่าย ขึ้น ด้วยการติดตั้งล้อไว้ที่ฐานของเครื่องสีข้าว เพื่อสะดวกในการลากไปใช้งานในที่ต่าง ๆ ได้ และทำให้มีขนาดที่เล็กลงเพื่อสามารถ นำ ไปใช้เป็นของฝาก ของที่ระลึก และอุปกรณ์ในการตกแต่งสถาน ที่ เช่น โรงแรม รีสอร์ท และพิพิธภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ปัจจุบัน “ครูบุญชู” ยังคงถ่ายทอดวิธีการและเทคนิค ต่าง ๆ ให้กับผู้ที่สนใจโดยไม่หวงวิชา ด้วยความหวังที่ว่าอยากให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจ เรียนรู้และสืบทอดภูมิปัญญาการทำ เครื่องสีข้าว ไม้ไผ่ ให้กลไกแห่งภูมิปัญญาโบราณแขนงนี้ไม่ให้สูญหาย
สำหรับขั้นตอนการทำ เครื่องสีข้าวไม้ไผ่ นี้ ประกอบด้วย โครงสร้างทำด้วยไม้เนื้อแข็ง และ นำจักตอกไม้ไผ่มาสานขึ้นเป็นทรงกระบอกที่มีความสูงลักษณะคล้ายกับเครื่องโม่แป้ง กลไกในการทำ เครื่องสีข้าวไม้ไผ่ ไม่มีความซับซ้อนอะไร เพียงแค่สานให้มีส่วนที่ ใส่ข้าวเปลือกอยู่ด้านบน และส่วนที่รองรับข้าวที่ผ่านการสีอยู่ด้าน ล่าง มีคันโยกสำหรับหมุนฟันบดด้านบนเพื่อขัดเปลือกข้าวให้กระ เทาะและไหลลงมาด้านล่าง องค์ประกอบมีอยู่ 5ส่วน คือ ท่อนฟันบน ท่อนฟันล่าง แกนหมุน ไม้คาน และคันโยก ท่อนฟันบนจะสานด้วยไม้ไผ่เป็น รูปทรงกระบอกสูงประมาณ 50 เซนติเมตร วัดเส้นผ่าศูนย์กลางยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ใช้ไม้ เนื้อแข็งขวางเป็นไม้คานให้ปลายไม้ทะลุผิวไม้ไผ่ที่สานท่อนฟันบนออกมาข้างละ 25 เซนติเมตร ไม้ คานที่โผล่ออกมาจะเจาะรูให้ทะลุเพื่อให้สลักคันโยก ซึ่งมีเดือยสอดไว้สำหรับโยกหมุน
ศ.ศ.ป.ภารกิจสานต่อการตลาด ศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ
ในส่วนของ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) (ศ.ศ.ป.) ปัจจุบันได้ดำเนินการตามภาระกิจในการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการประกอบอาชีพผสมผสานเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านตามโครงการส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และส่งเสริมสนับสนุนด้านการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) จัดตั้งขึ้นมา เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2546 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกา และประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2546 และมีชื่อภาษาอังกฤษ The SUPPORT Arts and Crafts International Centre of Thailand (Public Organization) เรียกโดยย่อว่า “SACICT" (อ่านพ้องเสียงกับคำว่า “ศักดิ์สิทธิ์” ในภาษาไทย)
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของไทยเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำด้วยมือ ซึ่งมีคุณค่าและมีเอกลักษณ์ของความเป็นไทยโดยเฉพาะ สมควรที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จะประสานความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศขึ้น เพื่อส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนางานผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของไทย รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนด้านการตลาด การขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ และจัดระบบการบริหารงานให้สามารถดำเนินการได้อย่างอิสระคล่องตัว เอื้ออำนวยต่อการอนุรักษ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านสู่ความเป็นเลิศและเป็นที่รู้จักแพร่หลาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
รายงานส่งออกผลิตภัณฑ์หัตถกรรม ของ ศ.ศ.ป.
สำหรับการดำเนินงาน ตลอดระยะเวลา 17 ปี ของ ศ.ศ.ป. จากการรายงานส่งออกผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย ช่วงเดือนมิถุนายน 2564 มูลค่าการส่งออกรวม 23,859.78 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 61.43 เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2563 และขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.49 เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2564 ตลาดส่งออกหลักที่มีมูลค่าส่งออกมากที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา และมีอัตราการขยายตัวมากที่สุด คือ อาเซียน ประเทศที่มีมูลค่าส่งออกมากที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา และมีอัตราการขยายตัวมากที่สุด คือ ลาว กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าส่งออกมากที่สุด คือ และมีการขยายตัวมากที่สุด คือ กลุ่มเครื่องเงิน เครื่องทอง ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าส่งออกมากที่สุด คือ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และมีการขยายตัวมากที่สุด คือ โลหะมีค่าฯ
โดยเมื่อแยกเป็นรายกลุ่มผลิตภัณฑ์ ผ้าทอมือ มูลค่าส่งออก 5,466.43 ล้านบาท เติบโต 20.06% เครื่องเงิน เครื่องทอง มูลค่าส่งออก 10,964.92 ล้านบาท เติบโต 125.35% หัตถกรรม มูลค่าส่งออก 6,837.77 ล้านบาท เติบโต 38.06% และเซรามิก มูลค่าการส่งออก 590.65 ล้านบาท เติบโต 44.47% ภาพรวมการส่งออกเดือนมกราคม – มิถุนายน 2564 การส่งออกผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย มีมูลค่าการส่งออกรวม 123,432.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17,614.63 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 16.65 เมื่อเทียบ กับช่วงเดียวกันในปีก่อน เดือนมกราคม – มิถุนายน 2563 มูลค่าการส่งออกเท่ากับ 105,817.95 ล้านบาท
ในส่วนของศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร สร้างขึ้นตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2527 มีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกอบรมงานช่างฝีมือและศิลปะไทยแก่ประชาชนในพื้นที่ อันจะเป็นการเพิ่มรายได้พร้อมรักษางานศิลป์ไทยให้คงอยู่สืบไป ปัจจุบันศูนย์มีแผนกงานฝีมือต่างๆ มากกว่า 30 แผนก เช่น เครื่องสาน เครื่องเคลือบดินเผา เครื่องหนัง เครื่องเรือนไม้ ตุ๊กตาชาววัง เป่าแก้ว แกะสลัก ปักผ้า ทอผ้า ฯลฯ ผู้ที่สนใจ ต้องการเข้าชมได้ทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ ตั้งแต่เวลาประมาณ 9.00 – 16.00 น.
คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEsผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด
SMEs manager