xs
xsm
sm
md
lg

สกสว. จับมือ พีเอ็มยู เดินหน้าให้ทุนวิจัยแบบงบประมาณต่อเนื่อง ‘Multi – Year’เริ่มสตาร์ทที่โครงการสำคัญ Flagship ปีงบ ’66

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล
 
เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุน (พีเอ็มยู) จัดการประชุม PMU Forum ครั้งที่ 5/2564 เพื่อร่วมหารือถึงแนวทางขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยการหารือในวันนี้มีประเด็นสำคัญหลากหลายประเด็น  รวมถึงประเด็นแนวทางการจัดสรรงบประมาณต่อเนื่อง (Multi - Year)

รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่าในฐานะหน่วยงานที่มีพันธกิจในการบริหารจัดการกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และมีหลักธรรมาภิบาล เปิดเผยข้อมูลว่า การจัดสรรงบประมาณต่อเนื่อง คือ การจัดสรรงบประมาณที่หน่วยงานได้รับอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาที่มากกว่า 1 ปี งบประมาณแต่ไม่เกิน 3 ปี เพื่อให้สามารถดำเนินการได้จนกระทั่งสิ้นสุด ระยะเวลาตามแผนงาน ซึ่งเป็นการจัดสรรงบประมาณที่ปรับขึ้นเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับโครงการวิจัยระยะยาวซึ่งมีความจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณอย่างต่อเนื่อง  


โดยแผนงานวิจัยที่จะได้รับการจัดสรรแบบงบประมาณต่อเนื่องต้องผ่านความเห็นชอบจาก คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ทั้งนี้พีเอ็มยู สามารถของบประมาณต่อเนื่องได้โดยอิงคำของบประมาณเดิม แต่ต้องรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานเทียบกับแผน หากผลการดำเนินงานเป็นไปตามแผน แผนงานนั้นจะได้รับงบประมาณในปีถัดๆ ไป โดยลักษณะแผนงานที่อยู่ภายใต้กรอบแนวทางดังกล่าวคือ ประกอบด้วย

1. แผนงานพัฒนากำลังคนทางด้านการศึกษาแบบได้ปริญญา (Degree-based) และแผนงานพัฒนากำลังคนเชิงรุกแบบหลักสูตรระยะสั้น ได้รับประกาศนียบัตร (Non Degree)
2. แผนงานแบบบนลงล่าง (Top Down) ต่อเนื่องระยะยาว ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี หรือเป็นนโยบายระดับประเทศ โดยอาจเป็นแผนงานด้านงานวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) โครงการท้าทาย (Grand Challenges) เป็นต้น
3. แผนงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างขีดความสามารถ (Capacity Building) ของหน่วยงานหรือองค์กร เช่น การพัฒนาศูนย์วิจัยเฉพาะทาง เป็นต้น
4. แผนงานที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.)
5. แผนงานหรือโครงการที่จำเป็นต้องใช้ระยะเวลานานในการเก็บผลการวิจัย เช่น การพัฒนาพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ เป็นต้น
6. แผนงานที่มีภาระผูกพันกับต่างประเทศ


 
เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ที่ผ่านมา กสว. มีมติเห็นชอบในหลักการแนวทางการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) แบบงบประมาณต่อเนื่อง ตามหลักการดังกล่าว จึงต้องสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกับพีเอ็มยู ถึงกฎเกณฑ์ เงื่อนไข ของลักษณะโครงการหรือแผนงานที่จะเข้าข่ายในการขอสนับสนุนงบประมาณในรูปแบบนี้ โดยการจัดสรรงบประมาณแบบต่อเนื่อง จะเริ่มในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยจะจัดสรรให้แผนงานที่เป็นโครงการวิจัย Flagship แต่หากมีโครงการในส่วนงบประมาณขาลงในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่ กสว. อนุมัติเชิงหลักการ ก็อาจนำมาพิจารณาดำเนินการ โดยแผนงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในรูปแบบต่อเนื่องจะต้องถูกประเมินผลลัพธ์ (output) รายปี




กำลังโหลดความคิดเห็น