ด้วยสภาวะการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้หลายๆ ประเทศทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ไม่เว้นแต่ประเทศมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ยังสั่นคอน ประเทศไทยเป็นหนึ่งประเทศที่กำลังเผชิญกับการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบไปในหลายๆ ด้าน รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนทั้งเรื่องวัคซีนและเรื่องปากท้องของประชาชน
โดยหนึ่งในนั้น คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน ของกรมพัฒนาชุมชน ผ่าน โครงการ “โคก หนอง นา โมเดล” ทางรอดที่พลิกวิกฤติเป็นโอกาส !! ...สร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ให้กับคนในชุมชน และสร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับเกษตรกรคนรุ่นใหม่ ที่หันหลังให้เมืองหลวงกลับบ้านเกิด เดินหน้าสานต่อการทำการเกษตรของครอบครัว ในช่วงโควิด-19
ทิ้งอาชีพเมืองหลวงพลิกพื้นดิน สู่แนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่
นางนวลศรี กองน้อย หนึ่งในเกษตรกรที่สมัครเข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ในพื้นอำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม บนพื้นที่จำนวน 1 ไร่ โดยมอบหมายให้บุตรชาย “นายประมวน กองน้อย” “หนุ่ย” เป็นผู้ดูบริหารจัดการพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุด ภายใต้ชื่อ ‘ไร่สลิลทิพย์’
นายประมวน กองน้อย “หนุ่ย” เจ้าของไร่สลิลทิพย์ เล่าว่า ‘อดีตตนเองทำงานในเมืองหลวง เคยเป็นนักสื่อสารมวลชนมาก่อน ทำงานในสายข่าวกับหลายองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน เก็บสะสมความรู้ประสบการณ์มาบ้าง... เมื่อวงการสื่อสารมวลชนเข้าสู่ยุคดิจิตอล จึงได้ผันตัวเองออกมาหันหลังให้วงการสื่อมวลชนกลับสู่บ้านเกิดที่อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม มาทำธุรกิจร้านสะดวกซื้อในนาม ‘ร้านป๋าหนุ่ย’ จำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ดในชุมชน
หลังจากนั้นได้เข้าไปร่วมเป็นหนึ่งใน ‘นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ ‘โคก หนอง นา โมเดล’ หรือ (นพต.) มีโอกาสได้เข้าร่วมอบรมการเป็นนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ ที่สำนักงานพัฒนาจังหวัดมหาสารคามได้จัดขึ้น ณโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริฯ บ้านกำพี้ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม นำความรู้มาต่อยอดการทำ ไร่สลิลทิพย์ และ การช่วยเหลือกิจกรรมของชุมชน พร้อมทั้งทำหน้าที่เป็นครูวิทยากร นำองค์ความรู้ที่ได้รับ มาถ่ายทอดให้กับครัวเรือนต่างๆในชุมชน ให้สามารถบริหารจัดการแปลงพื้นที่และพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืนในยุคโควิด-19
‘ไร่สลิลทิพย์’ ได้รับโอกาสในการเข้าร่วมโครงการ ‘โคก หนอง นา โมเดล’ แบ่งพื้นที่ที่เคยทำนามาก่อน 8 ไร่ ได้ผลผลิตไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะด้วยพื้นที่ไม่ได้อยู่เขตชลประทาน ทำให้การทำนาต้องรอฝนตามฤดูกาล ครั้งจะปลูกพืชผักที่ต้องใช้น้ำทุกวันก็ทำได้ยาก และพอเข้าช่วงฤดูฝนตกมากๆ เกิดน้ำท่วมขัง ครอบครัวก็เลยตัดสินใจ เข้าร่วมโครงการฯ ดังกล่าว หวังจะทำให้พื้นที่ดังกล่าว สร้างรายได้มากขึ้น และเป็นแหล่งอาหารที่ยั่งยืนให้กับครอบครัวตลอดไป
1 ไร่ กับการบริหารจัดการ โคก หนอง นา โมเดล
สำหรับพื้นที่จำนวน 1 ไร่ ของ ไร่สลิลทิพย์ ในการทำโคก หนอง นา โมเดล ครั้งนี้ ได้ทำการขุดตามแบบมาตรฐานของกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งพื้นที่จะต้องมีในส่วนของหนอง นา และคลองไส้ไก่ โดยได้บริหารจัดการดังนี้ คือ 1.โคก ได้ทำการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ปลูกไม้มรดกให้ลูกหลานได้ใช้ในอนาคต เช่น ยางนา สัก 2.หนอง ได้ทำการเลี้ยงปลานิล ปลาตะเพียน กุ้ง หอยขม และกระจับ 3.นา ได้ทำการปลูกข้าวเหนียว กข6
นอกจากนี้บริเวณรอบพื้นที่ยังได้ทำการปลูกพันธุ์ไม้ต่าง ๆ เช่น มะม่วง ลำไย มะไฟ ขนุน มะนาว ดอกกระเจียวขาว ดอกกระเจียวหวาน ฝรั่ง ผักหวาน และกล้วยสายพันธุ์ต่างๆ รวมทั้งยังมี “คันนาทองคำ” ครัวเรือนต้นแบบสามารถใช้เป็นพื้นที่ในการปลูกพืชผักสวนครัว เช่น หอม ขิง ข่า ตะไคร้ มะกรูด มะเขือ แตงกกว่า บวบ และถั่วฝักยาว เป็นต้น โดยใช้องค์ความรู้ต่างๆ ทั้งการทำน้ำหมัก การห่มดิน การทำแซนวิชปลา การทำปุ๋ยหมักแห้ง การทำหลุมพอเพียง เข้ามาช่วยในการลดต้นและรักษาความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่แปลงครัวเรือนต้นแบบได้เป็นอย่างดี
‘ปัจจุบันไร่สลิลทิพย์ถือว่าเป็นแหล่งอาหารที่สามารถเลี้ยงชุมชนได้เป็นอย่างดีในยุค โควิด-19 พลิกวิกฤติเป็นโอกาส !!…ในการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและ ครัวเรือนมีรายได้จากการขายพืชผลการเกษตรเพิ่มขึ้นจากรายได้ประจำ และมีอาหารกินทุกวัน เหมือนกับยกตลาดสดมาไว้ที่บ้าน ที่สำคัญ คือ สามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องให้กับครอบครัวของเราในทุกๆ วัน โดยไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 หรือ ต้องตกอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเหมือนกับช่วงต้องทำงานที่กรุงเทพฯ’ หนุ่ย กล่าวทิ้งท้าย
“โคก หนอง นา” สร้างความมั่นคงทางอาหาร…หลักทฤษฎีใหม่
นางปิยะพร สุทธิทาที พัฒนาการอำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม กล่าวเพิ่มเติมว่า ‘อำเภอแกดำ ได้รับการจัดสรรงบประมาณตามโครงการ โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน จำนวน 2 โครงการ รวมทั้งสิ้น 27 ครัวเรือน ดังนี้ 1. โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ได้รับการจัดสรรงบประมาณจำนวน 14 ครัวเรือน 2. โครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรม การพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” อำเภอแกดำ ได้รับจัดสรร จำนวน 13 ครัวเรือน”
ทั้งนี้ ครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการ จะต้องมีความพร้อมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ ที่ดินในการเข้าร่วมโครงการ มีทัศนคติที่ดีต่อการขับเคลื่อนกิจกรรมให้ประสบผลสำเร็จ ดำเนินการปรับรูปแบบแปลงที่ดินตามแบบรายละเอียดงานปรับรูปแบบแปลงที่ดินตามแบบมาตรฐาน โคก หนอง นา โมเดล พื้นที่ครัวเรือนต้นแบบ พื้นที่ 1 ไร่ และ 3 ไร่ เพื่อให้พื้นที่ทำกิน พื้นที่อยู่อาศัยของประชาชน ได้รับการพัฒนาเป็นพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Household Lab Model for quality of life : HLM) ระดับครัวเรือน
โดยมีนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ จำนวน 8 คน รับผิดชอบในพื้นที่ 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลมิตรภาพ ตำบลโนนภิบาล ตำบลหนองกุง และตำบลวังแสง และมีพัฒนากรประจำตำบล รับผิดชอบในการติดตาม สนับสนุน ประสานการดำเนินงานขับเคลื่อนกิจกรรมในแปลงร่วมกับ นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบและครัวเรือนเจ้าของแปลง ดำเนินการกิจกรรม เอามื้อสามัคคี ครัวเรือนละ 3 ครั้ง เพื่อให้ครัวเรือน เกิดการถ่ายทอดความรู้ ฝึกทักษะปฏิบัติทางหลักกสิกรรมธรรมชาติ การแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญจากบุคคลสู่บุคคล ผ่านการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มกันพัฒนาพื้นที่ เกิดความรัก ความสามัคคี การช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชุมชน
“โคก หนอง นา พัฒนาชุมชนอำเภอแกดำ” มุ่งมั่น พัฒนา เพื่อเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อให้รอดจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน เป็นต้นแบบการขับเคลื่อนกิจกรรม โคก หนอง นา ช่วยเหลือเกื้อกูล เป็นที่พึ่ง สร้างความมั่นคงทางอาหารให้คนในพื้นที่ สนใจเข้าเยี่ยมชมไร่สลิลทิพย์...ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล ติดต่อได้ที่ 85 หมู่ 3 บ้านเสือกินวัว ตำบลมิตรภาพ อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม 44190 โทร.08-6218-2199 หรือสนใจเข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ติดต่อได้ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ สำนักงานพัฒนาการจังหวัดทั่วประเทศ
ที่มาของ โครงการ โคก หนอง นา โมเดล
“โคก หนอง นา โมเดล” เป็นรูปแบบหนึ่งของการแก้ไขปัญหาเรื่องการจัดการน้ำ ที่สถาบันเศรษฐกิจพอเพียงและมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ได้น้อมนำพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่9 การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ตาม แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้บริหารจัดการน้ำและพื้นที่การเกษตร โดยมีการผสมผสานกับภูมิปัญญาพื้นบ้าน ให้สอดคล้องกันโดยแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วน30 : 30 : 30 : 10 ดังนี้ 30% สำหรับแหล่งน้ำ โดยการขุดบ่อทำหนองและคลองไส้ไก่30% สำหรับทำนา ปลูกข้าว 30% สำหรับทำโคกหรือป่า ปลูกป่า3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ก็คือปลูกไม้ใช้สอย ไม้กินได้และไม้เศรษฐกิจเพื่อให้ได้ประโยชน์ คือ มีกิน มีอยู่ มีใช้ มีความสมบูรณ์และความร่มเย็น และ10% สำหรับที่อยู่อาศัย และเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ ปลา วัว และควาย เป็นต้น
การออกแบบที่คำนึงถึง “ภูมิสังคม”การออกแบบพื้นที่ โคก หนอง นา โมเดล จะคำนึงถึง “ภูมิสังคม” เป็นสำคัญ “ภูมิ” คือ สภาพทางกายภาพ เช่น สภาพดิน นํ้า ลม สังคม คือ วัฒนธรรม ความเชื่อภูมิปัญญาดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่นั้น ซึ่งในการออกแบบจะให้ความสำคัญกับ “สังคม”มากกว่า “ภูมิ” คือต้องออกแบบตามสังคมและวัฒนธรรมของคนที่อยู่ แม้ว่าภูมิประเทศจะเหมือนกันก็ตาม หากสังคมต่างกัน การออกแบบก็จะต่างกันโดยสิ้นเชิง
หลักการสำคัญของโคก หนอง นา โมเดล คือ การเก็บกักน้ำไว้ใช้อย่างเพียงพอ ซึ่งการออกแบบพื้นที่จะให้ความสำคัญต่อการเก็บน้ำ 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ 1. เก็บน้ำไว้ในหนอง: การขุดหนองจะต้องขุดให้คดโค้ง และมีระดับตื้นลึกแตกต่างกันไปในแต่ละจุดซึ่งก่อนขุดต้องมีการคำนวณปริมาตรนํ้าที่สามารถเก็บได้ในหนองเพื่อให้พอใช้งาน 2. เก็บน้ำไว้บนโคก:ทำได้โดยการปลูกป่าและเก็บในระบบรากของต้นไม้ที่ปลูกไว้5 ระดับ ได้แก่ ไม้ระดับสูง ไม้ชั้นกลาง ไม้ชั้นเตี้ย ไม้เรี่ยดิน และไม้หัวใต้ดิน ไม้แต่ละระดับควรจะมีอย่างน้อยไม่น้อยกว่า21 ชนิดเพื่อสร้างความหลากหลายของระบบราก เมื่อฝนตกลงมาระบบรากจะช่วยอุ้มน้ำไว้ในดิน 3. เก็บไว้ในนา:ยกคันนาให้สูงและกว้าง สามารถเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฝนทิ้งช่วง นอกจากนี้เรายังสามารถปลูกพืชผักไว้บนคันนาได้อีกด้วย
คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด