xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มผู้ปลูกสมุนไพรกำแพงแสน ตัวจริงฟ้าทะลายโจรผลผลิตหลักร้อยตัน สร้างรายได้เกษตรกรเป็นกอบเป็นกำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฟ้าทะลายโจร สมุนไพรทางเลือกสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่ผ่านมา เกษตรกรสนใจทำเกษตรโดยการปลูกสมุนไพรไม่มาก เพราะความต้องการสมุนไพรมีความไม่แน่นอน แต่เมื่อทั่วโลกเผชิญกับโรคร้าย สมุนไพรไทย ฟ้าทะลายโจรเป็นทางเลือกช่วยเหลือผู้ป่วยได้ ทำให้ความต้องการฟ้าทะลายโจรเพิ่มมากขึ้น ทางกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้หันมาส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกสมุนไพรฟ้าทะลายโจร เพื่อลดการขาดแคลน และสร้างรายได้ทางเลือกใหม่ให้กับเกษตรกร

วันนี้ พามารู้จัก กับ กลุ่มเกษตรผู้ปลูกสมุนไพร อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ของ นายสมชาย ลาวัณย์วิสุทธิ์ โดย “ภัสรา ชวประดิษฐ์” กลุ่มส่งเสริมการผลิตพืชสมุนไพร โทร.02-579-9547 e-mail-pasara@hotmail.com

นายสมชาย เล่าว่า ตนเองเป็นประธานกลุ่มผู้ปลูกและส่งเสริมการปลูกสมุนไพร อำเภอกำแพงแสน จ.นครปฐม และยังได้เปิดบริษัท ฟ้ากำแพงแสน จำกัด เพื่อเป็นศูนย์รวบรวมสมุนไพร ในละแวก จังหวัดนครปฐม และ ราชบุรี ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 44 ราย โดยสมุนไพรหลัก คือ ฟ้าทะลายโจร ขมิ้น มะแว้ง หญ้าแห้วหมู และอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีการขยายเครือข่ายผู้ปลูก ในจังหวัดกาญจนบุรี พิษณุโลก ลำพูน ฯลฯ

โดยปริมาณผลผลิตสมุนไพร ทั้งหมดที่รับซื้อในกลุ่มและเครือข่าย ประมาณ 300-500 ตันแห้งต่อปี โดยมีขมิ้นชันประมาณ 200 ตัน แห้ง ไพล ประมาณ 100 ตันแห้ง และว่านชักมดลูก 150 ตันแห้ง และฟ้าทะลายโจร ประมาณ 100 ตัน แห้ง ต่อปี นอกจากนี้ยังมีพืชเสริมที่ เก็บจากธรรมชาติ คือแห้วหมู ประมาณ 100 ตันต่อปี (คุณสมชายให้ข้อมูลว่าปีที่ผ่านมาเหลือเพียง 40 ตัน เพราะพื้นที่ว่างเปล่าที่เป็นแหล่งแห้วหมูกลายเป็นนาข้าวในยุคประกันพืชผลการเกษตร)

นายสมชาย ลาวัณย์วิสุทธิ์ (ขวา)
นายสมชาย กล่าวว่า ตนเองมีหลักในการส่งเสริมการปลูกและการตลาด สมาชิก โดยแนะนำ ให้สมาชิก ปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจแต่ไม่ใช่พืชหลักของเกษตรกร สมาชิกปลูกพืชสมุนไพรเป็นอาชีพเสริมรายได้ ปลูกพืชสมุนไพรหลายชนิด (ประมาณ 5 ชนิด ) หมุนเวียนเพื่อกระจายความเสี่ยงเรื่องราคาผลผลิตและ เพิ่มรายได้โดยการจัดระบบปลูกพืชในแปลง เช่น ปลูก มะแว้งอายุ 2 ปีรวมกับฟ้าทะลายโจรอายุ 5 เดือน หรือปลูกข้าวโพด แล้วปลูกพืชหัวตาม

โดย คุณสมชาย แนะนําและคาดการณ์สภาวะตลาดและ แนวโน้มในแต่ละปีแนะนําแก่สมาชิกด้วย เนื่องจาก เขาอยู่ตรงนี้ ในฐานะผู้ผลิต และ เป็นผู้จัดจำหน่ายมานานกว่า 20 ปี ทำให้ทราบว่าจะต้องปลูกอย่างไร และทำตลาดอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมา สิ่งที่ ประธานกลุ่มสมุนไพร รายนี้ รู้สึกหนักใจมาตลอด คือ การปลูกสมุนไพรที่ไม่ได้คุณภาพของเกษตรกร มีการใช้สารเคมี เพื่อต้องการผลผลิตจำนวนมาก และได้ผลตอบแทนสูง โดยไม่ได้คํานึงถึงประสิทธิภาพของสมุนไพรที่ได้ เช่น เก็บเกี่ยวฟ้าทะลายโจรที่อายุ 5 เดือน แต่ฟ้าทะลายโจรคุณภาพดี อายุ 3-4 เดือน หรือเกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมี เพื่อให้ได้ผลผลิตสูง ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพพืช สมุนไพร เป็นต้น


นอกจากนี้ มีเรื่อง ของราคาผลผลิตไม่แน่นอน ผู้รับซื้อ กดราคาและการนําเข้าสมุนไพรจากต่างประเทศที่มีคุณภาพต่ำ เข้ามาตีตลาด เช่น ฟ้าทะลายโจรคุณภาพต่ำจากประเทศ จีน ปริมาณการผลิตไม่สอดคล้องกับความต้องการตลาด โดยเฉพาะตลาดค้าส่ง ซึ่งไม่แน่นอน เกษตรกรคาดคะเนยาก  และที่สำคัญ คือ ตลาดคุณภาพต้องการวัตถุดิบจำนวนมาก แต่มีปริมาณวัตถุดิบที่มีคุณภาพออกมาน้อยมาก อีกปัญหาที่เป็น ปัญหาหลักของพืชสมุนไพรคือ ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรสูงโดยเฉพาะค่าแรงงานในการกําจัดวัชพืช

คุณสมชาย กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ปลูกสมุนไพร ยังขาดการสนับสนุนจากภาครัฐในการเชื่อมโยงตลาดข้อตกลง เช่น โรงพยาบาล โรงงานอุตสาหกรรมยาแผนโบราณ ต่อคําถามถึงสิ่งท้าทายข้างหน้านี้ คุณสมชาย กล่าวถึง การพัฒนาวัตถุดิบสมุนไพรของกลุ่ม ไปสู่ตลาดคุณภาพ  โดยมีผู้ซื้อผลผลิตเพื่อนําไปส่งออกต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น หรือโรงพยาบาลที่ต้องใช้สมุนไพร หรือภาคเอกชนที่นําวัตถุดิบไปเป็นผลิตภัณฑ์ยา เป็นสิ่งที่ต้องการมาก  แต่ขาดการพัฒนาคุณภาพของสมุนไพรตรงนี้  ซึ่งขณะนี้ทางกลุ่มอยู่ใน ระหว่างขอ GAP ให้แก่แปลงสมาชิกที่มีความพร้อม สําหรับสมุนไพรในอนาคตที่คาดหวังว่าจะมีแนวโน้มที่ดี คือ กลุ่มสมุนไพรสําหรับใช้ในอาหารสัตว์จะมีตลาดที่ดีกว่ากลุ่มอื่นๆ

โทร.081-941-8024



สำหรับเทคนิคการปลูกฟ้าทะลายโจร โดย กรมส่งเสริมการเกษตร กรีนเนท Green Net

ฟ้าทะลายโจร มีถิ่นกำเนิดในอินเดียและศรีลังกา ลักษณะเป็นไม้พุ่มเตี้ย มีความสูงประมาณ 30 – 70 เซนติเมตร

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

1. สภาพภูมิอากาศ
1.1 อุณหภูมิ: ร้อนชื้น อุณหภูมิประมาณ 25-30 °C
1.2 ความชื้นสัมพัทธ์: เฉลี่ย 60-80%
1.3 แสง: ร่มไร ถ้าจำเป็นต้องปลูกกลางแจ้ง ต้องให้น้ำเพิ่มเป็นพิเศษ
1.4 น้ำ: ต้องการน้ำเพียงพอตลอดฤดูปลูก ถ้าขาดน้ำ ผลผลิตและปริมาณสารสำคัญจะลดลง
1.5 ลม: แหล่งปลูกต้องไม่มีลมพัดแรง มีการทำแนวบังลมเพื่อป้องกันต้นหักล้ม

2. สภาพพื้นที่
2.1 ความสูง: จากระดับน้ำทะเลถึง 3,200 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล

3. สภาพดิน
3.1 ประเภทดิน – ดินร่วนซุย หลีกเลี่ยงดินเหนียว หรือดินทรายจัด
3.2 อินทรียวัตถุ – มีอินทรียวัตถุไม่น้อยกว่า 3.5%
3.3 ความเป็นกรดด่างของดิน(pH) – 5.5-8
3.4 การระบายน้ำ – ระบายน้ำดี ไม่ท่วมขัง

4. สายพันธุ์
พันธุ์จาก อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม น้ำหนักสดต่อต้นสูง
พันธุ์จากระยอง
พันธุ์ศรีสะเกษ
5. ผลผลิตเฉลี่ย
ผลผลิตสดเฉลี่ย 2,000-3,000 กิโลกรัมต่อไร่
ผลผลิตสด : ผลผลิตแห้ง 4 : 1

การเตรียมดิน
* ถ้ามีวัชพืชมาก ให้ไถพรวน 2 ครั้ง ตากดิน 2 สัปดาห์ แล้วจึงใส่ปุ๋ยอินทรีย์รองพื้น ก่อนทำแปลง
* ในกรณีที่ดินดี มีวัชพืชน้อย อาจแค่ปรับดิน โดยไม่ต้องใส่ปุ๋ยอินทรีย์

การเตรียมพันธุ์
* ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
* เลือกใช้เมล็ดจากฝักแก่จัด สีน้ำตาลแดง เมล็ดสมบูรณ์ ไม่มีโรค-แมลง
* อาจนำเมล็ดมาแช่น้ำหรือไม่แช่น้ำก็ได้ ถ้าแช่น้ำ ให้แช่ 2 ชั่วโมง แล้วห่อกระดาษทิชชู ทิ้งไว้ 2 วัน

เตรียมแปลงปลูก
* ยกแปลงสูง 15 – 20 ซม. กว้าง 1 เมตร แปลงยาว 3 – 5 เมตร ตามสภาพพื้นที่
* ใส่ปุ๋ยอินทรีย์และถ่านไบโอชาร์ รดน้ำ ปล่อยทิ้งไว้อย่างน้อย 30 – 45 ก่อนปลูก


การปลูก ทำได้ 4 วิธี

1) หว่านลงแปลงโดยตรง โดยอาจนำเมล็ดมาผสมทรายหยาบ อัตรา 1:1-2 เพื่อสะดวกในการหว่าน
2) โรยเมล็ดเป็นแถว ขวางแปลง ระยะแถวห่าง 50 ซม. กลบดินบางๆ
3) เพาะกล้าในถาดเพาะ แล้วจึงย้ายลงแปลงปลูก
4) เพาะในแปลง โดยเตรียมแปลงเพาะกว้าง 1 ม. สูง 15 – 20 ซม. ใส่ปุ๋ยอินทรีย์รองพื้น 0.5 – 1 กก.ต่อพื้นที่ 1 ตรม.

ในกรณีปลูกด้วยการย้ายกล้า

* ใช้ต้นกล้าอายุ 30 วัน
* ปลูกฤดูแล้ง ระยะ 30 x 40 ซม. จะปลูกได้ 8 ต้น/ตรม.
* ปลูกฤดูฝน ระยะ 30 x 60 ซม. จะปลูกได้ 6 ต้น/ตรม.

การให้น้ำ  ให้น้ำอย่างพอเพียงและสม่ำเสมอ ตั้งแต่เริ่มปลูกถึงเก็บเกี่ยว
ถ้าแดดจัดให้น้ำวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
ถ้าแดดไม่จัด ให้น้ำวันละครั้ง ช่วงเย็น
เมื่ออายุได้ 2 เดือนแล้ว สามารถลดการให้น้ำ โดยดูตามความเหมาะสม

การให้ปุ๋ย
* ช่วงเตรียมดินย้ายกล้า ใส่ปุ๋ยอินทรีย์หว่านบางๆ
* หลังจากนั้น 15 วัน ใส่ปุ๋ยอินทรีย์รอบสอง 125 กรัมต่อต้น หรือ 300 – 400 กรัมต่อ 1 ตรม. โดยหว่านกระจายให้ทั่วแปลง

การกำจัดวัชพืช

ช่วงแรก จะต้องกำจัดวัชพืชประมาณทุกครึ่งเดือน เมื่อต้นฟ้าทะลายโจรโต ทรงพุ่มกว้างคลุมแปลงแล้ว จะมีวัชพืชน้อย ไม่จำเป็นต้องกำจัดก็ได้

ศัตรูที่สำคัญและการป้องกันกำจัด  อาจพบหอยทากบ้างในช่วงระยะต้นกล้า ให้กำจัดด้วยมือ
หลังจากนั้น ไม่พบการระบาดของโรคระบาดที่ทำความเสียหายรุนแรง
บางครั้งพบโรคโคนเน่า-รากเน่าจากเชื้อรา ให้ถอนทำลายทันที

การเก็บเกี่ยวเพื่อให้ได้สารสำคัญสูงสุด ให้เก็บเกี่ยว
* เก็บเกี่ยวระยะเริ่มออกดอก-ดอกบาน 30% และไม่ควรเกินระยะดังกล่าว เพราะสารสำคัญจะลดลง
* วิธีเก็บตัดเหนือดินห่างโคน 4 ข้อ (ประมาณ 5 – 10 ซม.)
* ใบมีปริมาณสารสำคัญมากกว่ากิ่งก้าน

การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว
* คัดแยกสิ่งปนปลอม เช่น วัชพืชที่ปะปนมา
* ล้างน้ำสะอาด
* ตัดเป็นท่อนยาว 2-3 ซม. ผึ่งให้แห้ง
* ทำแห้งโดยตากแดดบนลานตากยกพื้นมีวัสดุรองรับที่สะอาด หรือใช้เครื่องอบแห้งแบบลมร้อน ที่อุณหภูมิ 50 °C ใน 8 ชั่วโมงแรก และลดอุณหภูมิเหลือ 40 – 45 °C อบต่อจนแห้งสนิท

คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น