xs
xsm
sm
md
lg

เปิดวิสัยทัศน์ “วรวุฒิ อุ่นใจ” เศรษฐกิจเพื่อคนตัวเล็ก สร้างโอกาส ติดอาวุธให้แต้มต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ ไม่มีใครไม่รู้จัก ร้านเครื่องเขียน B2S และ ออฟฟิศแมท OfficeMate มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ กว่า 200 สาขา สร้างรายได้หลักพันล้านบาท โดยการบริหารงานของ “วรวุฒิ อุ่นใจ” “หมู” ที่วันนี้ ผันตัวเองโดดลงมาเล่นการเมือง กับการเข้ารับตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคกล้า



สำหรับ “วรวุฒิ อุ่นใจ” ปัจจุบัน หลายคนรู้จักเขาในฐานะเจ้าพ่อ อีคอมเมิร์ส ชื่อดังของเมืองไทย แต่กว่าจะก้าวมาถึงวันนี้ จนสามารถนำพา กิจการ ร้านเครื่องเขียน B2S และ ออฟฟิศแมท จนสามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ และสร้างรายได้หลักพันล้านบาท นั่น เขาต้องใช้เวลาถึง 15 ปี

โดยต้องผ่านวิกฤตหนักของประเทศมาถึง 3 ครั้ง ไม่ว่าจะเป็น วิกฤตเศรษฐกิจ ต้มยำกุ้ง ในปี 2540 น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 รวมถึงสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศ จากการประท้วงทางการเมืองอีกหลายครั้ง แต่ละครั้งก็หนักหนาสาหัส แต่เขามีวิธีการรับมือ และผ่านมาได้ รวมถึงในครั้งนี้ ที่ต้องเจอสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่หนักหนาสาหัสไม่แพ้หลายครั้งที่ผ่านมา และอาจจะมากว่าเสียอีก เพราะเกิดขึ้นกับคนทั้งโลก


เส้นทางธุรกิจ “วรวุฒิ อุ่นใจ” หนี้กว่า 17 ล้าน สู่ธุรกิจพันล้าน

วรวุฒิ เล่าว่า ตนเองเริ่มต้นธุรกิจ เดิมครอบครัวเปิดร้านขายเครื่องเขียนอยู่ในห้องแถวเล็ก ชื่อว่า กิจวิทยา สเตชั่นเนอรี่ เป็นกิจการของครอบครัว และวันหนึ่ง ขณะที่เขาเรียนอยู่ชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับทราบข่าวร้ายว่า กิจการที่บ้าน กำลังขาดสภาพคล่องอย่างหนัก ถึงขั้นใกล้ล้มละลาย โดยครอบครัวเป็นหนี้กว่า 17 ล้านบาท และด้วยความต้องการจะช่วยครอบครัว จึงได้นำความรู้จากการเรียน สาขาการตลาด มาใช้ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ จึงได้เป็นที่มาของ กลยุทธ์การขายสินค้าแบบ Catalog Sales เจาะกลุ่มลูกค้าองค์กร

ทั้งนี้ ด้วยข้อจำกัดด้านเงินทุน ทำให้ทำได้เพียง Price list เป็นใบรายการจัดหมวดหมู่ และแสดงราคาสินค้าเท่านั้น โดยผมและครอบครัว ได้ช่วยกันจัดทำและนำใบ Price list ตระเวนไปส่งตามออฟฟิศต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ เพื่อหาลูกค้าจากบริษัทต่างๆ ซึ่งวิธีการนี้ก็ช่วยให้ธุรกิจของครอบครัวสามารถรอดพ้นวิกฤตมาได้


“หลังจากช่วยธุรกิจครอบครัวอยู่ราว 4-5 ปี ผมเริ่มคิดอยากเปิดบริษัทของตัวเอง จึงตัดสินใจไปเรียนต่อด้าน MBA ภาคค่ำที่นิด้า เพื่อหาความรู้เพิ่มเติม ตอนเรียนผมได้ศึกษาโมเดลธุรกิจ Catalog Sales จากต่างประเทศทั้งในอเมริกา, ยุโรป และญี่ปุ่นอย่างจริงจัง รวมถึงเลือกทำวิทยานิพนธ์ด้านนี้โดยเฉพาะ โดยมีชื่อโครงการว่า “OfficeMate” ซึ่งสุดท้าย ผมนำผลงานชิ้นนี้ไปเสนอกับทางธนาคาร เพื่อขอกู้เงินมาเริ่มต้นธุรกิจ และก่อตั้งบริษัท OfficeMate ขึ้นในปี พ.ศ. 2537”


Catalog กลยุทธ์พลิกวิกฤต ปี 40 สร้างรายได้กว่าพันล้าน

ทั้งนี้ หลังจากเปิด OfficeMate สามารถสร้างรายได้ตั้งแต่ 2-10 ล้านบาทต่อเดือน แต่พอเจอพิษเศรษฐกิจตอนปี พ.ศ. 2540 ที่ลูกค้าส่วนใหญ่ต้องปิดกิจการลง ซึ่งกระทบต่อยอดขายของ OfficeMate ทำให้ “วรวุฒิ” กลับคิดใหม่อีกครั้ง และแทนที่จะปล่อยให้กิจการล้มละลาย แต่เลือกเสี่ยงทุ่มทุนทำตามความฝัน นั่นคือ กลับมาทำ Catalog ที่เคยคิดจะทำในช่วงแรกออกมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง

โดยเข้าไปขอเจรจากับซัพพลายเออร์ ของ OfficeMate ให้มาร่วมลงทุนทำ Catalog ซึ่งจัดพิมพ์ทั้งหมดประมาณ 30,000 เล่ม และเขาประสบความสำเร็จจากการทำหนังสือ Catalog ทำให้ยอดขายของ OfficeMate เติบโตอย่างรวดเร็ว ยอดขายแตะหลักสิบล้านภายในระยะเวลาเพียง 6 เดือน หลังจากนั้น OfficeMate เติบโตอย่างต่อเนื่อง จนสามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ MAI ในปี 2553

สำหรับรายได้ของ OfficeMate และ B2S ในปี 2562 รายได้ 11,320 ล้านบาท กำไร 762 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ OfficeMate คิดเป็น 61% และ B2S คิดเป็น 34% ทั้งหมดเป็นเส้นทางการเดินทางของ “วรวุฒิ” วันนี้ นำความรู้ที่ผ่านประสบการณ์ต่างๆ ในการช่วงชีวิตการทำธุรกิจมาถ่ายทอดให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในช่วงวิกฤตโควิด ที่คนไทยทั้งประเทศต้องเผชิญกับความยากลำบากที่สุดครั้ง หนึ่ง ในฐานะรองหัวหน้าพรรคกล้า


เศรษฐกิจเพื่อคนตัวเล็ก “สร้างโอกาสติดอาวุธให้แต้มต่อ”

สำหรับ วิกฤตโควิดอาจไม่ใช่ครั้งแรกในช่วงชีวิตของหลายคนและหลายธุรกิจ แต่อาจกล่าวได้ว่า เป็นวิกฤตที่หนักที่สุดในประวัติศาสตร์ เนื่องจากมหันตภัยของไวรัสร้าย สามารถหยุดโลกได้ในเวลาไม่กี่เดือน

นายวรวุฒิ อุ่นใจ เจ้าพ่ออีคอมเมิร์สเมืองไทย ที่ต้องผ่านวิกฤตใหญ่ของประเทศมาหลายต่อหลายครั้ง แต่ละครั้งก็จะมีธุรกิจล้มหายตายจากไปมากมาย โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย และเอสเอ็มอี ในขณะที่เขาเองในฐานะที่เคยเป็นคนตัวเล็กมาก่อน กว่าจะถึงวันนี้ก็ต้องพยายามปรับตัวและหาวิธีการเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด โดยการสร้างโอกาสใหม่ๆ สร้างความแตกต่าง มองปัญหาทุกอย่างรอบด้าน

วรวุฒิ เล่าว่า สมัยเมื่อทำธุรกิจร้านเครื่องเขียนห้องแถว กว่าจะสร้างให้เติบโตขึ้นได้นั้น ต้องฟันฝ่าอุปสรรคนับไม่ถ้วน จนวันนึงเมื่อมีโอกาส ก็อยากจะช่วยให้ ‘คนตัวเล็ก’ ไม่ว่าพ่อค้า แม่ค้า หรือ SME และ Startup รายเล็กๆ ที่มีโอกาสน้อยกว่าธุรกิจใหญ่ๆ ผ่านมุมมองการนำเสนอ 3 แนวทาง ตามนโยบายของพรรคกล้า


มุมมอง 3 แนวทาง หนุน SMEs ก้าวข้ามทุกวิกฤต

ประการแรก การสร้างโอกาสให้คนตัวเล็ก ซึ่งโอกาสที่จะอยู่รอดได้ คือ การหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ รัฐจึงต้องสร้างโอกาสที่จะอยู่รอดควบคู่ไปกับการการสร้างโอกาสให้เขาเติบโตเป็นคนตัวใหญ่ด้วย ประเทศไทยคนตัวเล็กแค่อยู่รอดก็ยากแล้ว อยู่อย่างไรให้โตยากกว่า การช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยภาครรัฐยังถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น จีน เกาหลี ไต้หวัน สิงคโปร์ ฯลฯ นั่นจึงทำให้ SME และ Startup ของประเทศเหล่านั้น มีศักยภาพและเติบโตขึ้นไปเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ได้

ประการที่สอง การติดอาวุธให้คนตัวเล็ก สิ่งที่ผู้ประกอบการตัวเล็กๆ รอคอยตลอดมา ไม่ว่าจะเป็น การเข้าถึงต้นทุนทางการเงินที่ต่ำ และมีวงเงินที่พอเพียงในการทำธุรกิจ, ติดอาวุธด้านการบริหารจัดการที่ถูกต้อง,ติดอาวุธด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และงานดีไซน์ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย ไปสู่ตลาดโลก ,ติดอาวุธด้านการส่งออกสินค้าในยุคที่ อีคอมเมิร์ซ ผู้ประกอบการรายเล็กหรือแม้แต่เกษตรกรไทย ควรจะได้รับการติดอาวุธ ให้สามารถขายสินค้าไทยไปทั่วโลกได้ง่ายขึ้น รัฐต้องช่วยสนับสนุน และมีมาตรการทางราชการและทางภาษีที่เกื้อหนุนอย่างเป็นรูปธรรมกว่าที่ผ่านมา


ประการที่สาม ให้แต้มต่อ แก่คนตัวเล็ก ทั้งเรื่องของต้นทุนทางการเงินเพื่อขยายกิจการ การทลายการผูกขาดของรายใหญ่ ให้แต้มต่อทางต้นทุนการใช้ชีวิต และต้นทุนการประกอบการ ปัจจุบัน การให้แต้มต่อด้านค่าส่งสินค้าเมื่อขายสินค้าออนไลน์ รัฐควรออกค่าขนส่งสินค้า ให้เกษตรกร หรือสินค้า OTOP เมื่อขายสินค้าออนไลน์นปีแรก วิธีนี้ จะช่วยกระตุ้นให้เกษตรกรและ SME ทั่วประเทศ ปรับตัวในการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้อย่างรวดเร็ว และลดการพึ่งพิงพ่อค้าคนกลางอีกด้วย

นอกจาก 3 แนวทางดังกล่าวว่า ต้องมีการปรับโครงสร้างระบบการจัดเก็บภาษี ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีปัญหามาโดยตลอด โดยเฉพาะ SME อยู่นอกระบบภาษีเป็นจำนวนมาก สาเหตุเพราะพวกเขา รายได้น้อยและมีความยุ่งยากต่อการเข้าระบบ กลัวการเสียภาษี ประกอบกับที่ผ่านมารัฐบาลไม่สามารถสร้างความรู้สึกชักจูงให้คนจำนวนมาก เห็นประโยชน์ของการเสียภาษี


วิกฤตโควิดหนักหนา การเยียวยาต้องถูกที่ ถูกทาง

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโควิด การช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบ จากมาตรการป้องกันการระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยทางพรรคได้นำเสนอไว้ เป็น 8 ประตู ได้แก่ 1.ประตูเปิดสู่ National e-Marketplace แรกของคนไทยเอง เนื่องจากปัจจุบันการซื้อขายจะอยู่บน E-marketplace ของต่างประเทศ แอพเป๋าตังจะสามารถต่อยอดเพื่อให้เกิดได้ 2.ประตูเปิดสู่ การหยุดข้อมูลรั่วไหลไปสู่ Platform ต่างชาติ เวลานี้ฐานข้อมูลการซื้อขายของเราอยู่ในมือต่างประเทศ จากนี้ไปเรามีฐานข้อมูลประชาชนมหาศาลแล้ว ดังนั้นสามารถใช้ข้อมูลสร้างแพลตฟอร์มเป็นของเราเองได้

และ 3.ประตูเปิดสู่ การเข้าถึง Data เพื่อทุกธุรกิจ ที่จะมีข้อมูลไปต่อยอดการทำธุรกิจได้ 4.ประตูเปิดสู่การไม่เสียค่า GP เราสามารถสร้างแพลตฟอร์มที่ลดปัญหาดังกล่าวไป 5.ประตูเปิดสู่ ระบบเงินกู้ที่ทุกคนเข้าถึงได้ มาประเมินของตัวเองได้สามารถเข้าสู่การกู้ยืมทุนในระบบได้ด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นต้องมีที่ดินหรือผู้ค้ำประกัน 6.ประตูเปิดสู่ การเป็น Digital ID ของคนไทยทุกคน เราสามารถที่จะแสดงตนต่อระบบราชการได้ ไม่ต้องใช้เอกสารมากมายเหมือนที่ผ่านมา โดยใช้แอพเป๋าตังพัฒนาเป็นดิจิทัลไอดี 


และ7.ประตูเปิดสู่ การเข้าถึงทุกสวัสดิการของรัฐได้อย่างประสิทธิภาพ เช่นอีกไม่นานเราต้องฉีดวัคซีน เราสามารถใช้แอพฯ เพื่อจองคิวและเช็คสิทธิว่าเราจะใช้บริการได้ที่สถานพยาบาลใด 8.ประตูเปิดสู่ การรับสิทธิอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่สามารถลดขั้นตอนของระบบราชการได้ โดยทั้ง 8 แนวคิดดังกล่าวจะเป็นเสมือนประตูสู่ศตวรรษที่ 21 ด้วยการเป็น National Platform และนำไปสู่การปฏิรูประบบราชการ

“แนวคิดดังกล่าว สามารถใช้มือถือสร้างอาชีพต่อยอดจากผู้ใช้แอพเป๋าตัง สู่การได้ประโยชน์ต่อประชาชนในอุตสาหกรรมที่หลากหลายทั่วประเทศ โดยแอพเป๋าตังจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศด้วยดิจิทัล จากจำนวนฐานข้อมูลประชากรเกือบ 40 ล้านคน จากงบประมาณในการดำเนินการกว่า 50,000 ล้านบาท ไม่มีบริษัทเอกชนหรือบริษัทออนไลน์ที่ไหนที่จะใช้เงินขนาดนี้ในการสร้างฐานลูกค้า ได้เท่ากับรัฐบาลไทย ซึ่งอาจจะมีไม่กี่รายในโลกด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นเมื่อเรา มีฐานข้อมูลขนาดนี้ เราจะไม่พัฒนาเป็นต่อยอดเป็น E-marketplace ให้เป็นแพลตฟอร์มของคนไทย ถือว่าเสียโอกาสอย่างยิ่ง และเป็นการใช้เงินที่ไม่คุ้มค่า และนี่คือโอกาสของคนตัวเล็กอย่างแท้จริง”


คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น