“วัด” ศูนย์กลางของชาวบ้าน คนในชุมชนมีเรื่องเดือดเนื้อ ร้อนใจ หรือมีความทุกข์ หลายคนก็จะหันหน้าเข้าวัด และในสถานการณ์โควิด-19 วัด ก็ยังคงเป็นที่พึ่งให้ประชาชนได้เหมือนเช่นที่ผ่านมา
วันนี้ พามารู้จัก กับ “วัด” ที่พึ่งของคนยาก ทำหน้าที่ช่วยชาวบ้านในช่วงสถานการณ์โควิดได้อย่างไร นอกจากสอนธรรมะ เรากำลังพูดถึง “วัด” เปิดสอนอาชีพ
“หลวงพี่ไอซ์ ไขอาชีพ” วัดโบสถ์สมพรชัย อยุธยา
เริ่มที่วัดโบสถ์สมพรชัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดแห่งนี้ โด่งดังในโลกโซเชียล เหตุเพราะหลวงพี่ไอซ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ได้นำสูตรอาหารมาแจกในโซเชียล และเปิดสอนอาชีพให้คนตกงาน
หลวงพี่ไอซ์ เล่าว่า ปัจจุบัน หลวงพี่อายุ 32 ปี ดำรงตำแหน่ง เลขานุการรองเจ้าคณะ อำเภอบางไทร ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดโบสถ์สมพรชัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยได้บวชเณรตั้งแต่อายุ 14 ปีจนถึงปัจจุบัน รวม 18 ปีแล้ว ที่เดินเข้าสู่ทางสายกลาง นอกจากจะปฏิบัติธรรมแล้ว ยามที่มีเวลา หลวงพี่ก็ชอบแจกสูตรทำอาหารด้วยเหมือนกัน
หลวงพี่จำสูตรต่างๆ มาจากโยมย่า เมื่อท่านเสีย หลวงพี่ก็กลัวสูตรจะหายเหมือนกันนะ แต่หลวงพี่เป็นพระ จะมาทำเองก็ไม่ใช่ที่ แล้วพื้นเพหลวงพี่เป็นคนขี้เล่น เข้ากับผู้อื่นง่าย คนแถวบ้านแถววัดจะทราบดี เช่นว่า เวลาสงสัยว่าแกงนี้ใส่อะไรบ้าง ก็จะถามหลวงพี่ เพราะเขารู้จักดีว่าพระองค์นี้รู้เรื่องอาหารเยอะ
“แล้วมาช่วงโควิด หลวงพี่เห็นคนตกงานกันเยอะ เลยนึกว่า เขียนลงโซเชียลเล่นๆ เผื่อคนมาถามนั่นนี่แล้วไม่มีเวลามาตอบเพราะทำหน้าที่หลายอย่าง เป็นทั้งเลขานุการรองฯ เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสงานฯ และเป็นนักเทศน์ด้วย พอพิมพ์บอกไปก็กลายเป็นมีคนเข้ามาติดตามเพิ่ม มีคนเอาไปใช้สร้างรายได้ หลวงพี่ก็เลยต่อยอดมาเป็นโครงการ หลวงพี่ไอซ์ไขอาชีพ”
วัดตะโหมด จ.พัทลุง สอนปลูกเมล่อน
สำหรับ วัดตะโหมด อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง โดยพระครูสุนทรกิจจานุโยค เจ้าอาวาสวัดตะโหมด กล่าวว่า ทางวัดได้ร่วมกับ สถาบันปฏิบัติการชุมชนเพื่อการศึกษาแบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ เพราะด้วยวัดเป็นศูนย์กลางของชาวบ้าน และมีพื้นที่ ที่น่าจะนำมาปรับเป็นสวนเมล่อนได้ โดยได้องค์ความรู้มาจากทางมหาวิทยาลัยทักษิณ ถ่ายทอดให้กลุ่มเกษตรกร นอกเหนือจากการทำนา
“ในช่วงสถานการณ์โควิดที่ทำให้การทำมาหากินยากลำบาก ชาวบ้านรายได้น้อยลง จึงคิดทดลองปลูกเมล่อนซึ่งเป็นพืชที่มีราคาสูง ใช้พื้นที่ไม่มากก็สามารถสร้างรายได้เพิ่มให้ครัวเรือนได้ โรงเรือนแห่งนี้ตั้งใจทำให้ชาวบ้านดูเป็นตัวอย่าง เป็นโรงเรือนระบบปิดอย่างง่ายที่ใช้ระบบเกษตรอินทรีย์ วิถีพอเพียง”
“วัดไม่ได้เน้นเชิงเศรษฐกิจ แต่ต้องการส่งเสริมระบบเกษตรอินทรีย์ตามนโยบายของจังหวัด คนในชุมชนจะได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย เราทำแบบพอเพียงเน้นบริโภค ที่เหลือเป็นรายได้เสริม ที่ต้องทำให้ดูเพราะถ้าเขาไม่เห็นความสำเร็จเขาจะไม่กล้า เมื่อชาวบ้านเห็นว่าวัดก็ยังปลูกได้ อาศัยพระลูกวัดช่วยกันดูแล จนเป็นผลสำเร็จ”
คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด