xs
xsm
sm
md
lg

Chunwovens กระเป๋ารีไซเคิลจากเชือกรองเท้า แบรนด์ไทยตราสัญลักษณ์ Thailand Textiles Tag

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฉลากพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทย (Thailand Textiles Tag) หนึ่งใน แผนการฟื้นฟูกิจการอุตสาหกรรมสิ่งทอ และแฟชั่นไลฟ์สไตล์ ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โดยจุดประสงค์ของการทำตราสัญลักษณ์ ฉลาก Thailand Textiles Tag เพื่อเป็นการยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสิ่งทอ แฟชั่นไลฟ์สไตล์ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งผู้ที่จะได้รับตราสัญลักษณ์ จะต้องใช้สิ่งทอ วัตถุดิบที่มาจากผู้ผลิตในประเทศแบบ 100%เท่านั้น


กระเป๋า Chunwovens หนึ่งในผปก.ได้ฉลากThailand Textiles Tag

นายภคพล ธีระมงคลกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีบีพีพี จำกัด ผู้ผลิตกระเป๋าจากผลิตภัณฑ์รีไซเคิล เชือกผูกรองเท้า สายเทป นิตติ้ง ฯลฯ และเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ได้รับฉลากตราสัญลักษณ์ Thailand Textiles Tag ได้มาเล่าให้ฟัง ว่า บริษัทได้เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอเข้าสู่มาตรฐานอุตสาหกรรม ก่อนจะมาเปิดบริษัททำกระเป๋า เดิมผมเองทำกิจการ หจก.นิวย่งฮั้ว (ไทยแลนด์) ผลิตเชือกรองเท้า สายเทป สายกระเป๋า ส้ายกุ้น ยางยืด เจกกะ นิตติ้ง ฯลฯ ทำจาก เส้นใยโพลี ทีซี ทีเค แอนตี้แบคทีเรีย กันน้ำ ซึ่งทำมานานกว่า 50 ปี หลังจากที่บริษัทได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ยอดการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศลดลงไป

“สำหรับในช่วงสถานการณ์โควิดที่เริ่มต้นช่วงแรก ทุกคนรวมถึงตัวผมไม่รู้ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะเป็นเรื่องใหม่ โดยเราก็ไม่รู้ว่าจะอยู่กับสถานการณ์แบบนี้ไปนานแค่ไหน และจะต้องปรับตัวอย่างไร เพื่อให้กิจการยังคงดำเนินต่อไปได้ ซึ่งครั้งนั้น คิดว่าคงจะต้องมีสินค้าใหม่ๆ นอกเหนือจากที่ทำอยู่เพิ่มขึ้นมา เพื่อเป็นอีกทางเลือกและทางรอดในอนาคต โดยผมได้เข้าร่วมอบรมผู้ประกอบการกับทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และหนึ่งในนั้น คือ กิจกรรมฉลากพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทย (Thailand Textiles Tag)”


ที่มา ของ Chunwovens กระเป๋ารีไซเคิล

นายภคพล เล่าว่า ส่วนที่มาของกระเป๋ารีไซเคิล ของผมเกิดขึ้นมาจาก และการเข้าอบรมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในโครงการต่างๆ และหนึ่งในนั้น เป็นแผนลดต้นทุนการผลิต ซึ่งเรามีสินค้าที่เราผลิตและไม่ผ่านเกณฑ์ หรือ ตกเกรดไม่สามารถส่งออกได้ ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูง การลดต้นทุนที่น่าจะทำได้ คือ ต้องนำมารีไซเคิลใหม่ เพื่อลดการสูญเสีย และสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งที่ผ่านมา ทำไมเราถึงมีสต็อกสินค้าไม่ผ่านเกณฑ์เป็นจำนวนมาก เนื่องจากลูกค้าที่สั่งเชือกรองเท้า สายเทป สายกระเป๋า ฯลฯ ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตสินค้าแบรนด์เนมระดับโลก เช่น อดิดาส รีบอค ไนกี้ นันยาง และแบรนด์ชุดชั้นในแบรนด์ดังอีกหลายยี่ห้อ ฯลฯ และด้วยแบรนด์ระดับโลก สินค้าที่เราส่งให้จำเป็นที่ต้องคัดเกรดเอคุณภาพเท่านั้น ทำให้มีสินค้าที่ไม่ผ่านเกณฑ์อยู่เป็นจำนวนมากในสต็อก เดิมที่ผมเองก็เคยคิดว่าจะนำมาทำอะไรได้บ้าง แต่ช่วงนั้นไม่มีเวลาเพราะทำงานตามออร์เดอร์ในต่างประเทศต้องส่งงานให้ตรงเวลา ก็เลยยังไม่ได้เดินหน้าจะทำอะไร

พอเจอสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ได้มีเวลามาคิดเรื่องการรีไซเคิลสินค้าในสต็อกมากขึ้น และเป็นการหางานให้พนักงานได้ทำในช่วงโควิด-19 ที่ออร์เดอร์การผลิตลดลง เดิมต้องผลิตเชือกรองเท้า และสินค้าอื่นๆ แบบเต็มกำลังการผลิต ขนาดต้องทำโอทีตลอด แต่พอมีสถานการณ์โควิดพนักงานไม่มีโอที รายได้ลดลงและมีเวลามากขึ้น เราก็เลยนำงานกระเป๋าตัวนี้ มาให้พนักงานได้ทดลองทำ จนได้มาเป็นกระเป๋าและเฟอร์นิเจอร์สานจากเชือก เป็นลักษณะงานสานแฮนด์เมดแบบ 100%


สร้างงานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ขอนแก่น ช่วงโควิด

นายภคพล เล่าว่า หลังจากได้รูปแบบกระเป๋า ก็ได้ว่าจ้างกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นกลุ่มวิสาหกิจที่ทำงานให้กับศูนย์ศิลปาชีพฯ ช่วยสานกระเป๋าให้ ซึ่งในช่วงโควิด-19 กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มนี้ไม่มีงานรายได้ขาดหายไปเราก็ช่วยสร้างงานสร้างรายได้  และบางคนก็ตกงานและว่างงาน กลับไปอยู่บ้านก็ได้มีรายได้จากการสานกระเป๋าในครั้งนี้ด้วย หลังจากได้กระเป๋าเป็นรูปเป็นร่าง มีแบบมากขึ้น ตั้งใจว่าจะทำตลาดอย่างจริงจัง โดยได้เปิดบริษัท พีบีพีพี จำกัดรองรับ ซึ่งเปิดมาได้ประมาณ 1 ปี เมื่อต้นปี 2563 ซึ่งใช้ชื่อแบรนด์ ว่า Chunwovens

โดยได้นำกระเป๋า Chunwovens เข้าร่วมกิจกรรมฉฉลากพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทย (Thailand Textiles Tag) และได้ตราสัญลักษณ์ Thailand Textiles Tag เป็นการการันตีถึงคุณภาพ ที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานรัฐบาลไทย เวลาไปออกงานในต่างประเทศ จะได้รับการยอมรับจากลูกค้าง่ายขึ้น

สำหรับการได้เข้าร่วมกิจกรรมของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในครั้งนี้ นอกจากจะได้ตราสัญลักษณ์ Thailand Textiles Tag เพื่อเป็นการันตีถึงคุณภาพให้กับลูกค้าแล้ว ทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมยังได้ให้ทีมที่ปรึกษา มาคอยให้คำแนะนำตลอดระยะเวลาที่เราได้เข้าร่วมกิจกรรม ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต ไปจนถึงแนวทางในการทำตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดย ทางกรมฯ ได้ทีมอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญมาอบรมให้กับพนักงานในบริษัท สร้างความมั่นใจกับบริษัทและพนักงาน ในการเตรียมความพร้อมเพื่อบุกตลาด หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย


แผนบุกตลาดกระเป๋าญี่ปุ่น ชื่นชอบงานคราฟท์

นายภคพล เล่าว่า หลังจากสถานการณ์โควิดในระลอกแรก ออร์เดอร์หายไปเยอะมาก แต่ในช่วงนี้ มีการฉีดวัคซีนกันมากขึ้นทั่วโลก ออร์เดอร์เริ่มกลับมา มากขึ้นเป็นสองเท่า เพราะโรงงานผลิตที่ประเทศอินเดียปิดไป จากสถานการณ์โควิด ผู้ผลิตหันมาสั่งสินค้าจากประเทศไทย ออร์เดอร์เพิ่มขึ้นมาก พนักงานของเรา ในส่วนของการผลิต หจก.นิวย่งฮั้ว (ไทยแลนด์) กลับมาทำโอทีได้ตามปกติ แต่ในส่วนของกระเป๋าทำให้เรามีเวลาดูน้อยลง แต่ขับเคลื่อนไปได้เองหลังจากเปิดบริษัท

ในส่วนของการทำตลาดกระเป๋ารีไซเคิล ในครั้งนี้ ช่วงแรกขายผ่านออนไลน์ไปก่อน แต่ถ้าสถานการณ์ดีขึ้น ตั้งใจว่าจะร่วมออกบูทกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และหน่วยงานของภาครัฐ มากขึ้น แผนในอนาคตตั้งใจว่าจะไปออกบูทในงานแสดงสินค้าที่ประเทศญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา เพราะทั้งสองประเทศนี้ชื่นชอบงานคราฟท์ โดยเฉพาะเป็นสินค้ารีไซเคิล ต่างชาติจะสนับสนุน และชื่นชอบเป็นพิเศษ และด้วยคุณสมบัติที่เป็นจุดขายของเรา คือ กระเป๋าของเราทำจากวัสดุที่ผ่านการผลิตและได้มาตรฐานแอนตี้แบคทีเรีย ตามกฎของแบรนด์ระดับโลก


บทบาท กสอ. ช่วยผปก.สิ่งทอช่วงโควิด-19

จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้หลายอุตสาหกรรมชะลอตัว และได้รับผลกระทบทางด้านการค้า รวมทั้งอุตสาหกรรมสิ่งทอเครื่องนุ่งห่มของไทยด้วยนั้น ปัจจุบันภาวะตลาดส่งออกแข่งขันค่อนข้างสูง ประกอบกับในยุคดิจิตอลที่มีแพลตฟอร์มซื้อขายต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย และมีการนำเข้าสินค้าเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่กำลังการผลิตจากผู้ประกอบการภายในประเทศก็มีปริมาณมากเช่นกัน

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ได้ดำเนินกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอเข้าสู่มาตรฐานอุตสาหกรรม โดยเริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 ต่อเนื่องมาถึงปี 2564 นี้ เพื่อเร่งยกระดับผลิตภัณฑ์ สิ่งทอไทย ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ อาทิ ผู้ผลิต เส้นด้าย ผ้าผืน เสื้อผ้าสำเร็จรูป เคหะสิ่งทอ และสินค้าไลฟ์สไตล์ ที่มีสิ่งทอเป็นองค์ประกอบ ด้วยการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน 

ทั้งนี้ ภายใต้ ตราสัญลักษณ์ ฉลากคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทย (Thailand Textiles Tag) พร้อมจัดกิจกรรมสร้างการรับรู้ กิจกรรมส่งเสริมการจำหน่าย และสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ผลิตภายในประเทศไทย (Made in Thailand) ทั้งระบบให้ขับเคลื่อนและแข่งขันได้


หลักเกณฑ์ฉลากรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทย

วามสำคัญของ ฉลากคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทย (Thailand Textiles Tag) คือ เป็นเครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่ผลิตในประเทศไทยและได้รับการพัฒนาคุณภาพ โดยผ่านการตรวจสอบตามหลักเกณฑ์มาตรฐานสากล โดยหลักเกณฑ์การให้การรับรองเครื่องหมาย Thailand Textiles Tag นั้น มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับคุณภาพของเนื้อผ้า ความคงทนของสี และความปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง รวมถึงวัตถุดิบที่ใช้และกระบวนการผลิตที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และพิจารณาจากแหล่งกำเนิดของสินค้าโดยยึดตามหลักสากลได้แก่

- เส้นด้ายที่ผลิตในประเทศไทย (Yarn Forward) หมายถึง กรณี ผู้ประกอบการซื้อเส้นใยแล้วนำมาผ่านกระบวนการปั่นเป็นเส้นด้ายในประเทศไทย

- ผ้าผืนที่ผลิตในประเทศไทย (Fabric Forward) หมายถึง กรณี ผู้ประกอบการซื้อเส้นด้ายแล้วนำมาผ่านกระบวนการทอ หรือ ถัก เป็นผ้าผืนในประเทศไทย รวมถึงผ่านกระบวนการฟอก ย้อม พิมพ์ และตกแต่งสำเร็จในประเทศไทยด้วย


ภาพรวมส่งออกอุตฯสิ่งทอไทย ปี 2564

สำหรับภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ในเดือนเมษายน 2564 พบว่า การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 516.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวของปีก่อน ส่งผลให้ภาพรวมดุลการค้าเกินดุล คิดเป็นมูลค่า 108.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยคาดว่าภายหลังการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ให้ได้รับการรับรอง Thailand Textiles Tag จะสามารถกระตุ้นการค้าให้กับอุตสาหกรรมสิ่งทอเครื่องนุ่งห่มของไทย พร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มฟื้นฟูสิ่งทอไทยให้แข่งขันได้ในตลาดโลก สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ กองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

ติดต่อ โทร. 02-367-8279, 02-367- 8260
Facebook : ฉลากคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทย


คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น