“สวนลมทุ่ง” เกษตรพอเพียง 1 ไร่ 1 แสน และกำลังจะเป็น 1 ไร่ 2 แสนในเร็วๆ นี้ กับแนวคิดเกษตรแนวใหม่ พร้อมกับเนรมิตทุกพื้นที่ในสวน กลายเป็นจุดเช็คอิน ต้อนรับนักท่องเที่ยว หลังจากเรื่องราวการทำเกษตรแนวคิดใหม่ ของ “นายเลี่ยม เขตรภูเขียว” เจ้าของสวนลมทุ่ง ได้ถูกเผยแพร่ผ่านช่องทางยูทูป มีผู้ติดตามและเข้ามาชมการทำเกษตรแบบใหม่ๆ ของเขาเป็นจำนวนมาก
อดีตพนักงานผันตัวมาทำเกษตรแนวใหม่ 1 ไร่ 1 แสน
วันนี้ พามารู้จัก กับ ศูนย์เรียนรู้เกษตรพอเพียง “สวนลมทุ่ง” อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ของ “นายเลี่ยม เขตรภูเขียว” อดีตพนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพมหานคร ที่วันหนึ่งตัดสินใจทิ้งชีวิตเมืองหลวง เดินทางกลับบ้านเกิด เพื่อดูแลพ่อ แม่ที่แก่เฒ่า และเดินหน้าทำอาชีพเกษตรกรรมอย่างเต็มตัว บนพื้นที่เพียง 1 ไร่ 1งานที่ครอบครัว เหลือไว้ให้
สำหรับพื้นที่ 1 ไร่ 1 งาน แห่งนี้ ได้ถูกเนรมิต ออกมาตามแนวคิดเกษตรพอเพียง และสามารถสร้างรายได้ให้กับ “นายเลี่ยม” หรือ “ลุงเลี่ยม” ชื่อเรียกขานทางช่องยูทูป ได้ปีละมากกว่า 1 แสนบาท ช่วยสานฝันแนวคิดในการทำเกษตร 1 ไร่ 1 แสน ให้ประสบความสำเร็จ สามารถมีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว ได้ตามเป้าหมายที่ “ลุงเลี่ยม” วางไว้
“สวนลมทุ่ง” แบ่งพื้นที่อย่างไร
นายเลี่ยม เล่าถึง สวนลมทุ่ง ว่า ตนเองได้ทำสวนเกษตรแห่งนี้ มาได้ 2ปี เป็นสวนเกษตรแบบผสมผสาน ตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ ของในหลวง รัชกาลที่ 9 เป็นเกษตรแบบปลอดภัย ไร้สารเคมี โดยได้แบ่งพื้นที่ การทำเกษตรไว้เป็นส่วนๆ ดังนี้ เริ่มจากแปลงนาข้าว บนพื้นที่ 1 งาน หรือ 100 ตารางวา เป็นการทำนาในบ่อพลาสติก ที่ต้องทำนาในบ่อพลาสติก เพราะพื้นที่ทำนาอยู่ที่สูง กักเก็บน้ำไม่ได้ น้ำไหลลงสู่ที่ต่ำ ก็เลยต้องขุดบ่อ และทำนาในบ่อพลาสติก ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำ เนื่องจากน้ำจะถูกกักเก็บไว้เลี้ยงต้นกล้า จนต้นกล้าโต
โดย “สวนลมทุ่ง” เป็นเกษตรปลอดสารพิษ การบำรุงต้นข้าวในแปลงนา จึงใช้น้ำหมัก หรือ จุลินทรีย์ ซึ่งเมื่อใส่ลงในแปลงนา ทั้งน้ำหมัก และจุลินทรีย์ ช่วยบำรุง ต้นกล้า ต้นข้าวก็ได้อย่างเต็มที่ ตอนปักชำ ปักต้นกล้าเพียงต้นเดียว ซึ่งผลออกมาปรากฏว่า ต้นข้าวแตกกอใหญ่มาก ได้ผลผลิตข้าวอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ผลผลิตข้าวที่ได้ ไม่ได้จำหน่ายแต่จะนำมาเก็บไว้กินเองภายในครอบครัว
ขุดร่องน้ำ แบบโคกหนองนาโมเดล
ทั้งนี้ ด้วยพื้นที่ ที่มีอยู่อย่างจำกัด “ลุงเลี่ยม” จะต้องทำให้ทุกพื้นที่ใน 1ไร่ 1 งาน ถูกนำมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด และด้วยพื้นที่อยู่บนที่สูง ทำให้ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ เขาจึงจำเป็นที่จะขุดร่องน้ำและปูด้วยพลาสติก และเพื่อกักเก็บน้ำ และเพื่อให้ร่องน้ำ เกิดประโยชน์ ไม่ทิ้งเปล่า เขาจึงได้นำหอยขมมาเลี้ยงในร่องน้ำ และเพื่อบดบังแดดไม่ให้แดดกระทบน้ำมาก ทำให้น้ำระเหยไปหมด ก็เลยนำผักตบชวา ที่เป็นสายพันธุ์ไทยดั้งเดิมที่ปัจจุบันเริ่มหายาก มาใส่ไว้ในร่องน้ำ
หลังจากนั้น นำปลากินผัก อย่าง ปลานิล และปลาตะเพียนลงไปเลี้ยงไว้ในบ่อ ปรากฏว่า หอยขมที่เลี้ยงไว้ ออกลูกและเติบโตได้ดี ผ่านมา 2 เดือนได้หอยขมมาแกง และขาย การเลี้ยงหอยช่วยให้น้ำไม่เสีย เพราะหอยได้กินอาหารที่เหลือจากที่ปลากินเหลือไว้ ทำให้มีรายได้จากขายทั้งหอยขม และปลา ซึ่งในหนึ่งปีเลี้ยงปลาได้ 2 ครั้ง ส่วนหอยเก็บขายได้ทุก เดือน หนึ่งปีมีรายได้จากร่องน้ำเล็กที่ขุดไว้รอบพื้นที่ หลักหมื่นบาท
แปลงปลูกผักปลอดสารพิษ
ในส่วนที่ 2 การทำแปลงปลูกผัก เลือกปลูกผักที่ใช้กินในครอบครัว ที่เหลือ นำไปขายในชุมชน ผู้ใหญ่บ้านตั้งกลุ่มไลน์สมาชิกในชุมชน ใครมีพืชผัก ผลไม้ อะไร ก็นำไปขายในกลุ่มไลน์ได้ ปัจจุบันผลผลิตที่ได้ขายผ่านกลุ่มไลน์ อย่างเดียว ไม่ได้นำไปขายในตลาดชุมชน เพราะเป็นผักปลอดสารพิษ ขายได้ไม่ยาก ซึ่งในส่วนของแปลงผักมีด้วยกันทั้งหมด 8 แปลง และพื้นที่รอบๆได้ปลูกต้นไม้สูง เพื่อใช้เป็นรั้วกั้นแมลง และสารพิษ เช่น ต้นไผ่ ชะอม ฯลฯ เพราะแปลงเกษตรโดยรอบๆ ส่วนใหญ่ยังคงใช้สารเคมี จำเป็นต้องมีต้นไม้ที่ช่วยกั้นแมลงและสารพิษ ในส่วนของการบำรุงแปลงผัก และไล่แมลงใช้ น้ำส้มควันไม้ ไว้เพื่อไล่แมลง และทำปุ๋ยจากน้ำหมักจุลินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี
สำหรับพื้นที่ ส่วนที่ 3 ใช้เพื่อเลี้ยงสัตว์ ขุดบ่อเลี้ยงปลาดุก พื้นที่กว้าง 8 ตารางเมตร บ่อลึก 1.5 เมตร เลี้ยงปลาดุกจำนวน 400 ตัว ใช้เวลาการเลี้ยง 4 เดือน ที่เลือกเลี้ยงปลาดุก เพราะเลี้ยงง่ายและขายได้ง่าย และในบ่อปลาเลี้ยงผักตบชวา และจอกไว้ในบ่อด้วย ทำให้น้ำไม่เสียง่าย ซึ่งบ่อเลี้ยงปลาดุก ลุงเลี่ยม จะเปลี่ยนน้ำเพียงเดือนละหนึ่งครั้งเท่านั้น และน้ำที่ถ่ายจากบ่อเลี้ยงปลา จะนำไปรดดูแลต้นไม้ ช่วยให้ต้นไม้เติบโตได้ดี ส่วนของบ่อปลาดุก จับขายได้ครั้งละ 100 กิโลกรัมๆ ละ 70 บาท เป็นเงิน 7,000 บาท ปีหนึ่งเลี้ยง 3 รอบ ก็ได้ปีละ ประมาณ 20,000 บาท
ปลูกไม้พืชพรรณหายาก
โดยพื้นที่ในส่วนที่ 4 ปลูกพืชพรรณหายาก ที่ต้องปลูกพืชพรรณหายาก เพราะเราเป็นแหล่งเรียนรู้ เกษตรกรคาดหวังจะได้เห็นพืชพรรณที่หายาก ว่า ปลูกกันแบบไหน ที่สำคัญ คือ ตอนกิ่งพันธุ์ขายได้ เพราะกลุ่มผู้ที่มาดูงาน ส่วนใหญ่ต้องการจะได้กิ่งพันธุ์ไม้พรรณหายากของเรากลับไปปลูกด้วย ทำให้เรามีรายได้จากการจำหน่ายกิ่งพรรณ เพิ่มขึ้นมา ซึ่งหลายๆ ครั้ง เรามีรายได้จากการจำหน่ายกิ่งพรรณมากกว่าขายผลผลิตที่ได้ด้วยซ้ำ ในปัจจุบัน “สวนลมทุ่ง” มีไม้พรรณหายาก เช่น ชมพูเพชรนางฟ้า เป็นชมพูสีขาวนวล มีรสชาติที่หวานกรอบอร่อยมากที่สุด สายพันธุ์หนึ่งของชมพูที่ปลูกกันอยู่ในขณะนี้ และมีชมพูสตอเบอรี่ ฝรั่งพันธุ์แตงโม หมากเม่าเพชรภูพาน เผือกอ่อนกินดิบ ไผ่เปาะช่อแห อ้อยปาริชาติ ที่ใช้ในพิธีงานบุญ งานแต่ง ฯลฯ
"นอกจากนี้ ได้นำไม้ดอกมาปลูกไว้ด้วย เพราะในอนาคตมีแผนที่จะเปิดให้สวนลมทุ่ง เป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น ดอกมะลิซ้อน เป็นมะลิโบราณที่ ไม่ค่อยนิยมปลูก เราก็นำมาปลูกไว้ เวลามะลิชนิดนี้ออกดอกสะพรั่ง สวยมาก และส่งกลิ่นหอมไปทั่ว คนที่มาเที่ยวที่สวน หรือ มาเรียนรู้ ก็จะซื้อกิ่งตอน มะลิซ้อนของเรากลับไปปลูก ด้วย จุดประสงค์ของเรา คือ ต้องการให้คนที่มาเรียนรู้ ได้องค์ความรู้ในการทำเกษตรกลับไปแล้ว ได้ท่องเที่ยว ชมสวนที่สวย และถ่ายรูปเช็คอิน ตามจุดต่างๆ ที่เราได้พยายามทำให้สวยงาม เพื่อจะได้ถ่ายรูปเล่นได้ด้วย"
นายเลี่ยม กล่าวว่า ในอนาคต จะมีพืชสายพันธุ์ใหม่ ออกมามากขึ้น และทำแปลงเพาะชำ เพื่อให้ลูกค้าซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้านไป นอกเหนือจากองค์ความรู้ที่เขาจะได้กลับไป อย่างไรก็ตาม การทำเกษตรในยุคนี้ ต้องพึ่งพาช่องทางออนไลน์ ทางสวนลมทุ่ง ของเราก็ได้นำสินค้าเกษตร และองค์ความรู้ต่างๆ ของเรา ไปประชาสัมพันธ์ ผ่านสื่อออนไลน์เช่นกัน ที่ผ่านมามีเพจของตัวเอง ที่โพสต์เรื่องราวของสวนลมทุ่งเป็นระยะๆ พร้อมกับการจำหน่ายผลผลิตที่สวนของเราด้วย และยังมีช่องยูทูป ที่ให้ความรู้ด้านการทำเกษตร ซึ่งมีผู้ติดตามหลักแสนราย
ช่วงโควิด ปรับพื้นที่รองรับเกษตรเชิงท่องเที่ยว
ท้ายสุด นายเลี่ยมบอกเล่า ถึงแผนในอนาคตว่า ต้องการที่ปรับพื้นที่ “สวนลมทุ่ง” เป็นการทำเกษตรเชิงท่องเที่ยวเสริมเข้ามาด้วย และต้องการให้คนที่มาดูงาน ได้มาท่องเที่ยวด้วย หรือ คนที่มาท่องเที่ยวได้องค์ความรู้ด้านเกษตรกลับไปด้วย เพราะคนกลุ่มนี้ เขามาพร้อมกับกำลังซื้อ ทำให้เรามีรายได้มากขึ้น
ทั้งนี้ เราแบ่งพื้นที่ 30% ปลูกพืชไม้ดอกที่มีความสวยงาม และพื้นที่ 70%ยังคงเป็นการทำเกษตรเชิงวิชาการ คนที่มาสวนลมทุ่ง ได้องค์ความรู้ และ ความรื่นรมย์ใจ กลับไป ถ้าถามถึงรายได้ตอนนี้ สำหรับพื้นที่ 1 ไร่ 1 งานของสวนลมทุ่ง มีรายได้ต่อปี ประมาณ 120,000 บาท ซึ่งในช่วงนี้ มีสถานการณฺ์โควิด กลุ่มคนที่เข้ามาเรียนรู้ไม่มากัน ทำให้เรามีเวลาได้ปรับปรุงพื้นที่ ให้เป็นที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรอย่างที่วางเป้าหมายไว้ เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย เราจะได้สวนลมทุ่งที่สวยงาม พร้อมต้อนรับ คนที่จะมาดูงาน และนักท่องเที่ยว ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น ตั้งเป้าไว้ว่าจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า ปีละ 200,000 บาท
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์โควิด ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า การทำเกษตร ทำให้เรามีอาหารกิน ไม่ต้องพึ่งพาอะไรภายนอก เราก็สามารถอยู่ได้ โดยไม่เดือดร้อน หรือ มีความทุกข์อะไรเลย เพราะเราปลูกข้าว มีข้าวกิน ปลูกผักมีผัก มีโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ที่เราเลี้ยง หรือมีโปรตีนจากไข่ ที่เราเลี้ยงไก่ มีทุกอย่างที่ไม่เดือดร้อนอะไรเลย ถึงขายไม่ได้ เราก็แบ่งปันเพื่อนบ้านเป็นความสุขที่หาไม่ได้ ในช่วงที่เราต้องดิ้นรนทำงานในเมืองหลวง กับพื้นที่เพียงแค่ 1 ไร่
สนใจ ติดตาม FB: Liam Khetpukhiaw
คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด
SMEs manager