Yindii (ยินดี) แอปพลิเคชั่น ส่งอาหารส่วนเกิน จากร้านอาหาร ร้านกาแฟและร้านขายของชำ โรงแรม และ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ในราคาถูก ตอบโจทย์การรับประทานในอาหารมื้อค่ำของคืนนั้น หรือ มื้อกลางวันของวันถัดไป โดยเป้าหมายเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมจากสภาวะโลกร้อน ด้วยการลดขยะอาหาร ซึ่งกำลังจะเป็นปัญหาใหญ่ด้านสิ่งแวดล้อมของโลกใบนี้
แอปฯรักษ์โลก ช่วยแก้ปัญหาและลดขยะอาหาร
หลุยส์ อัลบาน บาทาด ดูเปร ( Louis-Alban Batard-Dupre) และ นายชวิน อัศวเสตกุล ( Chawin Asavasaetakul ) ผู้ร่วมก่อตั้ง Yindii แอปพลิเคชั่น ในประเทศไทย เล่าว่า แต่ละปีมนุษย์ได้ผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากขยะอาหารโดยประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์ และประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์สำหรับอุตสาหกรรมการกิน ซึ่งก็แปลว่าขยะอาหารปล่อยก๊าซมากกว่าเกือบ 4 เท่า และยิ่งไปกว่านั้นก็คือ การเกิดก๊าซมีเทนที่มาจากกระบวนการการย่อยสลายของขยะอาหาร ที่ส่งผลกระทบทำให้เกิดสภาวะโลกร้อนรุนแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กว่า 25 ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในประเทศไทยเอง มีขยะอาหารมากถึง 17.6 ล้านตันต่อปี ในขณะที่ทั่วโลกมีขยะอาหารมากถึงร้อยละ 33 จากขยะทั้งหมด หรือคิดเป็นพันล้านตันที่มาจากการผลิตอาหารและไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์
ด้วยเหตุนี้เอง การจัดการปัญหาขยะจากอาหาร จึงเป็นปัญหาใหญ่ของโลกใบนี้ ที่ทุกคนจะต้องหันกลับมามอง และร่วมมือช่วยกันแก้ปัญหา Yindii แอปฯ จึงได้เสนอตัว ขอเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการจัดการปัญหาขยะที่มาจากอาหาร ในรูปแบบของบริการสั่งอาหารมื้อเย็นในราคาประหยัด จากร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม ในกรุงเทพฯ
รูปแบบการให้บริการ
รูปแบบการให้บริการของ แอปพลิเคชั่น Yindii โดยทางร้านจัดเตรียมกล่อง Yindii ที่มีอาหารส่วนเกินจากวันนั้น ที่ยังไม่มีใครสั่งซื้อ ในราคาที่ถูกลงถึง 70% ของราคาเบื้องต้น ซึ่งลูกค้า จะรู้ว่ามีอาหารอะไรอยู่ในกล่อง Yindii ของตัวเอง ก็ต่อเมื่อเขาได้เปิดกล่องนั้น สร้างความ รู้สึกเหมือนเป็นของขวัญสุดเซอร์ไพรส์เมื่อได้รับกล่อง
การเข้ามาใช้บริการของลูกค้า เหมือนกับแอปพลิเคชั่น สั่งอาหารทั่วไป โดยสามารถเลือกสถานที่ได้ว่าต้องการอาหารจาก สถานที่ไหน ซึ่งเรามีโรงแรมและร้านอาหาร เข้าร่วมมากกว่า 100 แห่ง ปัจจุบันมีโรงแรมเกือบทั่วกรุงเทพฯ เข้าร่วมในแอปพลิเคชั่นของ ยินดี ส่วนผู้มาใช้บริการที่ผ่านมามีประมาณ 800 ราย ส่วนการสั่งอาหารแต่ละวันไม่เท่ากัน เฉลี่ยวันละ 80-100 รายต่อวัน ในส่วนของการให้บริการส่งอาหาร ทางยินดีแอปฯ ได้เลือกผู้ให้บริการจัดส่งอาหาร ของ Lalamove เป็นผู้ดูแลการจัดส่งให้
เป้าหมายการเติบโต Yindii แอปฯ
นายชวิน กล่าวว่า สำหรับรายได้ของแอปพลิเคชั่น Yindii มีรายได้จากการคิดค่า จีพี จากร้านอาหาร และผู้ประกอบการที่สมัครเข้ามา เช่นเดียวกับแอปพลิเคชั่นผู้ให้บริการสั่งอาหารออนไลน์ รายอื่น ๆ โดยคิดค่า จีพี อยู่ที่ 25% เนื่องจากในช่วงเริ่มต้นนี้ ยังถือว่าเป็นช่วงลงทุน รายได้ทั้งหมดก็ใช้ไปกับการพัฒนาระบบ และการทำประชาสัมพันธ์ ให้คนเข้ามาใช้บริการ โดยเราคาดหวังการเติบโตไว้ค่อนข้างสูง ซึ่งตั้งเป้าจะมีฐานลูกค้าให้ได้ 100,000 คน ภายในระยะเวลา 1-2 ปีนี้ และภายในปลายปีนี้ยังวางเป้าหมายที่จะรุกตลาดทั่วกรุงเทพฯ พร้อมๆ กับขยายสู่หัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ อาทิ ภูเก็ต เชียงใหม่ ฯลฯ และคาดว่าในอนาคตจะขยายสู่อาเซียน อย่างสิงคโปร์ ไต้หวัน ซึ่งเป็นเป้าหมาย แรกๆ
“อย่างไรก็ตามบริการแบบนี้มันก็ยังใหม่มากๆ ในบ้านเรา เราจึงมีตัวเลือกร้านอาหารบนแอป Yindii ที่อาจจะยังไม่มากเท่าแอปสั่งอาหารทั่วไป และร้านส่วนมากตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพเท่านั้น ถึงอย่างนั้นก็ตาม แต่ก็มีร้านที่หลากหลายให้เลือกเช่นกัน เช่น เครือโรงแรมต่างๆ ก็มาให้บริการผ่านแอปฯยินดี หรือ ร้านเบเกอรี่ต่างๆ ซึ่งในแอปก็มีอยู่หลายร้าน เป็นต้น และการสั่งอาหาร หรือ เราเรียกว่า การกอบกู้อาหารก็จะมาในรูปแบบเหมือน Mystery box คือ เราจะไม่รู้ว่าเราจะได้อะไรแบบเป๊ะๆ ซึ่งก็สนุกไปอีกแบบ”
จุดเริ่มต้นที่มา.. เกิดขึ้นช่วงโควิดระบาด
นายชวิน กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของ แอปฯ “ยินดี” เริ่มขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 เมื่อเดือน ตุลาคม 2563 และพบว่า ร้านอาหารมีอาหารที่ขายไม่ได้และเหลือทิ้งเป็นขยะเพิ่มขึ้นจำนวนมากและในอีกมุมหนึ่งคือผู้บริโภคเผชิญกับความยากลำบากทางด้านอาหารการกิน จึงเป็นแรงผลักดันให้เสาะหาวิธีบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหาเรื่อง “อาหารเหลือ” เป็นที่มาของ Yindii แอปพลิเคชั่น
จากผลการดำเนินการมาได้ระยะหนึ่ง ผลตอบรับค่อนข้างดี ปัจจุบันมีฐานลูกค้าประมาณ 7 พันคน ส่วนร้านอาหารที่เข้าร่วมประมาณ 100 แห่ง ทั้งแบรนด์ขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ส่วนประโยชน์ที่ร้านค้าได้รับคือ รายได้เพิ่มขึ้นมาจากอาหารที่เหลือประมาณ 5-10% ทั้งยังเป็นการเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ ที่ผ่านมามีการสั่งซื้ออาหารผ่านแอปฯยินดี ไปแล้วกว่า 3,600 กล่อง ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปแล้วกว่า 8.8 ตัน
มุมมองของผู้ใช้บริการ มาจากการรีวิว
“ทั้งนี้ ต้องบอกก่อนว่าการสั่งอาหารจาก Yindii มันไม่เหมือนกับการสั่งจากที่อื่น เพราะอาหารที่เราจะทำการ rescue นั้นเป็นอาหารที่ทางร้านขายไม่หมดจากการขายในวันนึง ซึ่งก็แปลว่าเราก็อาจจะต้องรอถึงเวลาประมาณเย็นๆ หน่อย อาหารถึงจะมาส่ง ตั้งแต่ 6 โมงเย็น ถึง หนึ่งทุ่มหรือ ทุ่มครึ่ง เวลาอาหารเย็นพอดีแหละ แต่ว่าเราก็ต้องจองอาหารก่อนตั้งแต่ตอนกลางวัน มาถึงการใช้งานของแอป มันก็อาจจะยังไม่ค่อยลื่นไหลเท่าไหร่ แต่ก็ใช้งานได้ในระดับนึง ส่วน customer service ดีมาก (แต่เขาอาจจะไม่รู้ถึงพวกรายละเอียดยิบย่อยเกี่ยวกับอาหารนะ)”
“ส่วนของการจัดส่ง เราเลือกเดลิเวอรี่หรือไปรับเองได้ ทาง Yindii ใช้บริการเดลิเวอรี่ของหลายๆ แบรนด์ ราคาก็จะแตกต่างกันออกไป เราซื้ออาหารจาก BBCO ซึ่งอยู่ใกล้กับเราแต่เราเสียค่าส่งไป 70 บาท กลับกันเราเสียค่าส่ง 40 บาทจากร้านที่อยู่ไกลอย่าง Hummus Heads เรื่องราคา ถือว่าคุ้มเลยแหละ เราได้ขนม 2 ชิ้นจากร้าน Paris Mikki ในราคา 250 บาท (ปกติชิ้นละประมาณ 200 บาท) และขนมปังกับเพรทเซล 7 ชิ้นจากร้าน Bei Otto มาในราคา 125 บาทเอง (กินได้ทั้งบ้าน) พูดถึงคุณภาพ ถ้าไม่บอกเราก็แยกไม่ออกเลยแหละว่านี่เป็นอาหารที่ขายไม่หมด”
บทสรุป Yindii แอปพลิเคชั่น
การเกิดขึ้นของ Yindii แอปพลิเคชั่น เป็นอีกหนึ่งสตาร์ทอัปเกิดขึ้น ในช่วงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สืบเนื่องมาจากร้านอาหารขายได้ลดน้อยลง มีขยะอาหารเหลือทิ้งจำนวนมาก สร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในขยะอาหารเพิ่มมากขึ้น และในอีกมุมหนึ่ง ผู้บริโภคเข้าถึงอาหารได้ยากขึ้น แอปฯ ยินดี เป็นตัวเชื่อมให้ ผู้ผลิต และผู้บริโภคได้เจอกัน ในราคาประหยัดกับอาหารมื้อเย็น
สำหรับ ประโยชน์ที่ได้รับ ผู้บริโภคมีตัวเลือกในการเข้าถึงอาหารได้มากขึ้นและในราคาที่ถูกลงกว่าปกติ ช่วยประหยัดเงินในกระเป๋า และยังได้ช่วยลดปัญหาขยะอาหาร แหล่งกำเนิดของก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ และก๊าซพิษอย่างมีเทน ที่สำคัญ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะร้านอาหารเหล่านั้นมีรายได้เพิ่มขึ้น ประมาณ 5-10% จากอาหารเหลือ และช่วยสนับสนุนอาชีพขับรถส่งอาหารให้มีรายได้เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจต้องการสร้างประสบการณ์ใหม่ ในการรับประทานอาหารมื้อค่ำ สามารถดาวน์โหลดแอป Yindii ทั้ง App store สำหรับ iOS และบน Google Play Store สำหรับ Android
คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด
SMEs manager