xs
xsm
sm
md
lg

สสว.เจอศึกหนักอาจสูญเงินกว่า 600 ล้านบาท หลัง 39 บริษัทร่วมทุน ชักดาบ ชี้เตรียมยื่นฟ้องเอาผิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายวีระพงศ์ มาลัย ผอ.สสว.
สสว. แจงเหตุจำเป็นต้องฟ้องร้องกับบริษัทร่วมทุนที่ผิดสัญญาก่อนหมดอายุความ จำนวน 39 บริษัท เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยว่า จากกรณีที่มีรายงานข่าวเผยแพร่ว่า มีผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม จำนวน 39 ราย ที่ได้รับผลกระทบจากการเข้าร่วมโครงการ “5,000 ล้าน หุ้นส่วนใหม่ธุรกิจไทย” ซึ่งเป็นโครงการของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) โดยผู้ประกอบการเหล่านั้น ได้ทำหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยในหนังสือร้องเรียนระบุว่า เป็นสัญญาร่วมทุน แต่เมื่อผ่านระยะเวลามา 10 กว่าปี ผู้ประกอบการกลับถูกฟ้องในฐานะการกู้เงิน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายเดือดร้อน นั้น

ผอ.สสว. เผยว่า โครงการดังกล่าวเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2547 โดยมีชื่อว่า กองทุนร่วมลงทุนเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขันของธุรกิจ มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับความสามารถของธุรกิจไทย โดยสนับสนุนให้มีแหล่งเงินทุนเพิ่มขึ้นและมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนที่เหมาะสม อีกทั้งยังสนุบสนุนเงินทุนแก่ SME ที่ประสบภัย “สึนามิ” พร้อมทั้งประสานงานช่วยเหลือกับหน่วยงานสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ SME ดังกล่าว เพื่อเร่งฟื้นฟูสถานภาพและเสริมความเข้มแข็งให้ธุรกิจที่ประสบภัย กลับมาดำเนินธุรกิจได้ดังเดิม

สำหรับหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนคือ วงเงินในการร่วมลงทุนขั้นต่ำ 1 ล้านบาท สูงสุด 100 ล้านบาท มีระยะเวลาการเข้าร่วมทุนหรือถือหุ้นในกิจการ 1 - 10 ปี และกรณีการถอนตัวภายใน 5 ปี (ก่อน 31 ธ.ค. 2552) ผู้ประกอบการสามารถขายหุ้นคืนด้วยราคาต้นทุนบวก 1 เปอร์เซ็นต่อปี (เฉพาะส่วนที่เกิน 5 ปี)และหลักเกณฑ์ร่วมลงทุนที่ประสบภัย “สึนามิ” คือ วงเงินในการร่วมลงทุนขั้นต่ำ 1 ล้านบาท สูงสุด 100 ล้านบาท มีระยะเวลาร่วมลงทุนหรือถือหุ้นในกิจการไม่เกิน 7 ปี และกรณีการถอนตัวภายใน 5 ปี ผู้ประกอบการสามารถซื้อหุ้นคืนด้วยราคาต้นทุนบวก 1% ต่อปี

นายวีระพงศ์ เผยอีกว่า ภายใต้โครงการดังกล่าวข้างต้น สสว. ได้ร่วมทุนกับผู้ประกอบการจำนวน 60 บริษัท งบประมาณ 1,159.65 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2547 โดยสถานะปัจจุบันแบ่งเป็น กลุ่ม 1 ซื้อหุ้นคืนแล้ว 20 บริษัท เป็นเงิน 485.48 ล้านบาท โดยได้รับผลตอบแทน จำนวน 120.73 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ สามารถสร้างผลประกอบการและสร้างธุรกิจได้ และกลุ่ม 2 ซึ่งสถานะปัจจุบันคือ สสว. ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาร่วมลงทุนแล้ว 39 บริษัท เป็นเงิน 674.17 ล้านบาท สาเหตุเนื่องจากไม่ปฏิบัติตามสัญญาร่วมลงทุน ประกอบกับอายุความการดำเนินคดีกำลังจะครบกำหนดตามกฎหมาย สสว.จึงต้องดำเนินการตามกฎหมายผ่านอัยการตามสัญญาร่วมลงทุน

ผอ. สสว. กล่าวว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2550-2557 ที่ สสว. ได้บอกเลิกตามสัญญาร่วมลงทุนและเริ่มฟ้องร้องดำเนินคดีในปี 2559 มีจำนวนทั้งสิ้น 39 บริษัท แบ่งเป็น กลุ่มที่ 1 จำนวน 28 บริษัท ที่เลิกดำเนินกิจการ ไม่ส่งงบการเงินต่อเนื่องเกินกว่า 3 ปี หรือถูกสถาบันการเงินฟ้องร้อง หรือ เลิกจะเลิกกิจการ หรือไม่ได้มีธุรกิจหลักหรือขายสินทรัพย์หลักไปแล้ว ถูกสถาบันการเงินดำเนินคดี กลุ่มที่ 2 จำนวน 11 บริษัทนั้น ได้มีการร้องขอปรับโครงสร้างหนี้ โดยได้เสนอเงื่อนไขขอทยอยชำระเฉพาะเงินร่วมลงทุน และขอยกเว้นผลตอบแทนและเบี้ยปรับ เป็นต้น ซึ่ง สสว.อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียด แต่จำเป็นต้องฟ้องร้องดำเนินคดีผ่านอัยการตามสัญญาร่วมลงทุนไปก่อน เนื่องจากคดีกำลังจะครบกำหนดตามกฎหมาย

“สสว. จำเป็นที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายกับบริษัทร่วมลงทุนเหล่านั้น เนื่องจากระยะเวลาครบกำหนด บริษัทไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาตามกฎหมาย และอายุความการดำเนินคดีกำลังจะหมดลง เรียกว่า สสว. ผ่อนปรนเต็มที่ก่อนสัญญาจะหมดอายุความ เป็นการดำเนินการตามหน้าที่ ผ่านสำนักงานอัยการ เพื่อมิให้เกิดความเสียหายกับเงินงบประมาณของรัฐ และขณะนี้ สสว. อยู่ระหว่างพิจารณาผ่อนปรนในรายละเอียดต่างๆ และเตรียมเสนอให้คณะอนุกรรมการบริหารวิสาหกิจขนาดย่อม หรือบอร์ดบริหารพิจารณา ก่อนส่งให้เรื่องคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือบอร์ดส่งเสริม ต่อไป” ผอ.สสว. ระบุ

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น