xs
xsm
sm
md
lg

กสว.จัดสรรงบ “วิจัยแก้จน” หนุน บพท.เดินเครื่องนวัตกรรมแก้จน 10 จังหวัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำระดับหน่วยงาน ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ โดยการจัดงานวันนี้มีขึ้นเพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมมือขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาคนจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระดับกระทรวงและระดับหน่วยงาน ให้บรรลุเป้าหมายอันจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า ปัญหาความยากจนเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยที่มีมาช้านาน โดยสิ่งที่เป็นปัญหาใต้ร่มความยากจน คือความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้บรรลุผลเท่าที่ควร ด้วยเหตุนี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) จึงออกแบบแผนงานริเริ่มสำคัญ (Flagship) เรื่อง “งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ” เสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างแพลตฟอร์มการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ทำงานในพื้นที่นำร่อง 10 จังหวัดที่มีรายได้ภาคครัวเรือนต่ำสุดจากข้อมูลดัชนีความก้าวหน้าของคน (Human Achievement Index : HAI Index) ปี 2562 ได้แก่ ปัตตานี อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน ชัยนาท สุรินทร์ ยโสธร ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร และกาฬสินธุ์ มีจำนวนคนจน 131,040 คน ตามฐานข้อมูล Thai People Map and Analytics Platform (TPMAP)

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา
ทั้งนี้ ร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่สร้างกลไกความร่วมมือแก้ไขปัญหาความยากจนของจังหวัดและสร้างกลไก สร้างเครื่องมือกลางในการสำรวจ วิเคราะห์เชิงปริมาณความยากจนในพื้นที่เป้าหมายเพื่อจำแนกกลุ่มคนจน ออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1) กลุ่มเป้าหมาย 20% ล่าง ได้แก่ คนจนดักดาน/คนจนยากไร้ คนจนกลุ่มนี้จะประสานและส่งต่อความช่วยเหลือจากระบบสงเคราะห์ภาครัฐและเอกชนเข้าไปช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน 2) กลุ่มเป้าหมาย 20% บน ที่มีปัญหาความยากจนจากหนี้สินภาคครัวเรือน การประกอบอาชีพ ซึ่งจะนำงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยเข้าไปหนุนเสริมกระบวนการเรียนรู้ให้สามารถประกอบอาชีพและดำรงชีวิตได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ บพท.ยังได้ดำเนินการประสานทำความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในด้านการจัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการวิจัยร่วมกับคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความยากจนของจังหวัด เพื่อติดตามและประสานงานการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ รวมถึงได้วางแนวทางการสร้างความร่วมมือกับสถาบันวิจัย ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (สศป.) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) วิจัยนโยบาย จัดทำระบบวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อติดตามกลุ่มเป้าหมายคนจนที่มีความแม่นยำ และทำการสังเคราะห์ภาพรวมและการเชื่อมโยงระบบข้อมูลในระดับชาติ พร้อมทั้งเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลปัญหาความยากจนของโครงการวิจัยในพื้นที่ 10 จังหวัดเป้าหมาย เพื่อให้การจัดสรรสวัสดิการภาครัฐมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น

ศาสตราจารย์ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ
สำหรับในปี 2564 จะดำเนินงานขับเคลื่อนระบบความช่วยเหลือและติดตามให้คนจนสามารถหลุดพ้นปัญหาความยากจนอย่างเป็นรูปธรรม และขยายผลการทำงานจากพื้นที่เป้าหมาย 10 จังหวัด เป็น 20 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน ชัยนาท สุรินทร์ ยโสธร ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ นราธิวาส อุบลราชธานี ลำปาง พัทลุง นครราชสีมา ร้อยเอ็ด พิษณุโลก เลย และยะลา โดยคัดเลือกจากจังหวัดที่มีรายได้ภาคครัวเรือนต่ำสุดจากดัชนีความก้าวหน้าของคนปี 2562 โดย จังหวัดลำปางและเลยเป็นจังหวัดตามนโยบายการขับเคลื่อนไทยของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อให้เกิดการขยายผลและต่อยอดการขับเคลื่อนโครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาคนจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ

ด้านศาสตราจารย์ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ประธาน กสว.) เปิดเผยข้อมูลว่า กสว.เล็งเห็นถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยใช้การวิจัยและนวัตกรรมเป็นกลไกสำคัญ ทั้งนี้ งบประมาณเป็นเพียงต้นทุนหนึ่งที่การแก้ปัญหานี้สำเร็จลุล่วง แต่การร่วมมือกันเป็นสิ่งสำคัญ โดยการวิจัยภายใต้การแก้ปัญหาดังกล่าวนั้นต้องไม่ได้ทำบนฐานคิดที่ว่าคนจนเป็นคนไร้ความสามารถ แต่ดำเนินการผ่านมุมมองว่าเขาคือคนที่มีศักยภาพ หากเติมความรู้ นวัตกรรม จะสามารถแก้ปัญหาในครัวเรือนตนเองได้ โดยในปีงบประมาณ 2564 มีการจัดงบประมาณในแผนงานนี้กว่า 800 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น