มะยงชิด ผลไม้ที่มีการพูดถึงมากที่สุดในขณะนี้ เพราะปีนี้ 2564 จังหวัดนครนายก แหล่งปลูกมะยงชิดขึ้นชื่อเบอร์ต้นๆ ของเมืองไทย มีผลผลิตออกมากกว่าทุกปี เพราะอากาศหนาวที่มาหลายรอบ ประกอบกับสถานการณ์โควิด ทำให้มะยงชิด จากเดิมราคา 200-300 บาท/กิโลกรัม เหลือเพียงกิโลละ 80-120 บาทเท่านั้น วันนี้ พามารู้จัก กับ มะยงชิดแบบปลอดสารพิษ นครนายก เขามีวิธีการลดใช้ยาฆ่าแมลงกันอย่างไร
มารู้จัก มะยงชิด จ.นครนายก
มะยงชิดในประเทศ ซึ่งเป็นที่รู้จัก มาด้วยกัน 3 สายพันธุ์ ได้แก่ "เพชรกลางดง" เป็นมะยงชิดที่ปลูกกันมากที่อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา และ มะยงชิด จ.นครนายกสายพันธุ์ที่มีชื่อว่า “ทูลเกล้า” เป็นหนึ่งใน 3 สายพันธุ์มะยงชิดที่โด่งดังไปทั่วประเทศ และเป็นพันธุ์ที่ถุกแอบบอ้างชื่อมากที่สุด เป็นดาวจรัสแสงอยู่ในขณะนี้ และสายพันธุ์ "บางขุนนนท์" ในสมัยรัชกาลที่ 5 เรียกว่า มะปรางเสวย แหล่งที่มา อยู่แถว ต.ท่าอิฐ อ.เมือง จ.นนทบุรี
ที่มาของ สายพันธุ์ “ทูลเกล้า” เกิดขึ้น เมื่อปี 2522 มาจาก “ลุงบุญสม” แก่เคยเป็นชาวสวนอยู่จังหวัดสมุทรสงคราม และย้ายถิ่นฐานมาอยู่ จังหวัดนครนายก พอมาอยู่นครนายก แก่ได้นำสายพันธุ์มะยงชิด ที่ ต.บางพรหมมา อ.คณฑี จ.สมุทรสงคราม มาปลูก จนได้ผลผลิต หลายคนที่ชิมก็ชื่นชอบ จนเป็นที่มาของการขยายพันธุ์มะยงชิด ในจังหวัดนครนายก จนโด่งดังมาจนถึงปัจจุบันนี้ และที่มาของ ชื่อพันธุ์ “ทูลเกล้า” ก็เกิดขึ้นมาจากสวนของลุงแก่อยู่แถว รร.นายร้อยจปร. และลูกชายแก่นำมะยงชิดทูลเกล้า ถวายสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
สวนมะยงชิด “ดาบนวย” นครนายก
ในช่วงแรกมีเกษตรกรที่ปลูก สายพันธุ์ ทูลเกล้า ที่มาจากสวนลุงบุญสม จำนวน 10 ราย และหนึ่งในนั้น คือ ร.ต.ต.อำนวย หงษ์ทอง หรือ ที่รู้จักกันดีในชื่อ "ดาบนวย" ประธานคณะกรรมการบริหารชมรมชาวสวนมะปรางนครนายก เจ้าของสวนนพรัตน์ ที่ชีวิตคลุกคลีอยู่กับสวนมะปราง มาตั้งแต่เด็ก พอเริ่มทำสวนของตนเอง ก็เมื่อได้มาปลูกมะยงชิด ปัจจุบันนับว่าปลูกมะยงชิด มาเกือบ 40 ปี
สำหรับ สวนมะยงชิดของ “ดาบนวย” อยู่ที่ในพื้นที่ ต.ดงละคร และต.สาลิกา อ.เมือง จ.นครนายก จำนวน 40 ไร่ และที่ อ.แก่งคอย อีก 25 ไร่ ซึ่งผลผลิตมะยงชิด และที่ผ่านมา มะยงชิด ที่ “ดาบนวย” ปลูกเจอปัญหาแมลงวันทองมาเจาะ และวางไข่บนผลมะยงชิด พอลูกค้านำไปแกะกินก็จะเจอหนอนแมลงวันในผลมะยงชิด เป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความเสียหาย ดังนั้น ตนเอง และชาวสวนแก้ปัญหา ด้วยการฉีดยาฆ่าแมลงวัน หรือ ใช้กักดัก ที่เป็นกาวดักแมลงวัน ที่มาของแมลงวัน มาว่างไข่ในผลมะยงชิด เกิดขึ้นมาจาก ชาวสวนเก็บผลผลิตไม่หมด และเมื่อมะยงชิดแก่จัด ผลร่วงหล่นลงพื้น ทำให้แมลงวันก็มาตอม และมาวางไข่
นวัตกรรมการกำจัด แมลง ด้วยเทคโนโลยีนิวเคลียร์
ร.ต.ต.อำนวย เล่าว่า ปัญหาแมลงวันผลไม้สร้างความเสียหายให้กับชาวสวนที่ปลูกมะยงชิดมาทุกปี เฉพาะที่สวนนพรัตน์แต่ละปีจะผลิตผลมะยงชิดได้ประมาณ 40 ตัน แต่แมลงวันผลไม้จะทำให้ผลผลิตเสียหายไปประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 20 ตัน ส่วนที่เก็บผลผลิตได้อีก 20 ตัน ก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าจะมีไข่ของแมลงวันผลไม้อยู่ในผลมะยงชิดอีกเท่าไหร่ ถ้าคิดราคามะยงชิดกิโลกรัมละ 100 บาท ก็หมายความว่าแต่ละปีสวนนพรัตน์จะสูญเสียรายได้ไปประมาณปีละ 2 ล้านบาท
สำหรับปัญหานี้เกิดขึ้นกับชาวสวนผลไม้แทบทุกรายที่จังหวัดนครนายก เมื่อตนทราบข่าวเกี่ยวกับการปล่อยแมลงวันเป็นหมันเพื่อควบคุมแมลงวันผลไม้ที่จังหวัดนครนายกที่ สทน. มาเป็นผู้ดำเนินการ และสามารถลดปริมาณแมลงวันผลไม้ได้กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ จึงเกิดความสนใจและได้ปรึกษากับผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก จนในที่สุดจึงเกิดความร่วมมือระหว่าง สทน. และจังหวัดนครนายกในปี 2563 โดยสทน. ได้นำวิธีการปล่อยแมลงวันเป็นหมันในบริเวณพื้นที่ส่วนที่เรียกว่าเกาะดงละคร มีเนื้อที่ประมาณ 3,700 ไร่
ปล่อยแมลงวันเป็นหมัน ช่วยลดต้นทุนผลผลิตเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ สทน. ใช้วิธีกรปล่อยแมลงวันเป็นหมันควบคู่กับวิธีการอื่นๆ เช่น การวางกับดักในสวนและแนวกันชนเพื่อลดปริมาณแมลงวันผลไม้ การกำจัดผลไม้ที่หล่นอยู่ในสวนเพื่อไม่ให้เป็นอาหารและแหล่งแพร่พันธุ์ หลังจากนั้นจึงนำแมลงวันตัวผู้ที่เป็นหมันมาปล่อย หลังจากนำมาปล่อยได้ระยะหนึ่งสังเกตได้ชัดเจนว่าแมลงวันผลไม้ลดลง ผลผลิตเสียหายน้อยลง ปริมาณผลผลิตที่ได้เพิ่มขึ้น มีรายได้จากการขายผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์
ในขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชก็ลดลงเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับสวนของตนอีก 2 แห่ง ที่ตำบลสาลิกาและที่แก่งคอยซึ่งไม่ได้ใช้วิธีการปล่อยแมลงวันเป็นหมันปรากฏว่าผลผลิตเสียหายมาก ตนคิดว่าโครงการนี้มีประโยชน์มากน่าจะมีการขยายผลให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด จะสามารถช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชาวสวนมะยงชิดซึ่งปัจจุบันสร้างรายได้ให้กับจังหวัดนครนายกได้ถึงปีละ 500 ล้านบาท
ขั้นตอนทำหมันแมลงวัน ด้วยเทคโนโลยีนิวเคลียร์
รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือกล่าว ขั้นตอนของเทคนิคการใช้แมลงวันผลไม้ที่เป็นหมัน ประกอบด้วย การเลี้ยงแมลงวันผลไม้ในห้องทดลองเป็นจำนวนมาก การทำหมันแมลงวันผลไม้ที่เลี้ยงด้วยการฉายรังสี การปล่อยแมลงวันผลไม้ที่เป็นหมันออกไปผสมพันธุ์กับแมลงผลไม้ที่มีอยู่ในธรรมชาติ ผลของการผสมพันธุ์จากแมลงวันผลไม้ที่เป็นหมัน ทำให้ตัวเมียวางไข่ที่ไม่สามารถฟักออกเป็นตัวได้ แต่จะต้องปล่อยแมลงที่เป็นหมันให้มากกว่าแมลงที่มีอยู่ในธรรมชาติ เพื่อลดโอกาสแมลงที่มีอยู่ในธรรมชาติจะได้ผสมพันธุ์กันเอง ทำให้ประชากรแมลงในธรรมชาติลดลง เมื่อปล่อยแมลงที่เป็นหมันจำนวนมากติดต่อกัน จะสามารถลดประชากรแมลงในธรรมชาติอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ความเสียหายกับผลผลิตลดลง
การควบคุมแมลงวันผลไม้โดยเทคนิคแมลงวันเป็นหมันในประเทศไทย เริ่มดำเนินการครั้งแรก ที่โครงการหลวงดอยอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2528-2540 พบว่า สามารถลดการทำลายท้อพันธุ์พื้นเมือง ของแมลงวันผลไม้จาก 54.7% ลดลงเหลือ 4% หลังจากนั้นถึงนำเทคนิคนี้ไปเผยแพร่และช่วยเหลือเกษตรกรในหลายๆ พื้นที่ อาทิ อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี และที่ประสบความสำเร็จสูงสุด คือ ที่ ต.ตรอกนอง อ.ขลุง จ.จันทบุรี ที่ปัจจุบันเป็นพื้นที่ควบคุมแมลงวันผลไม้ในระดับต่ำ
ในฐานะที่ สทน. เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ จ.นครนายก ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีผลไม้เศรษฐกิจขึ้นชื่อ และถูกขึ้นทะเบียน GI ได้แก่ มะปราง และมะยงชิด แต่ปัญหาหนึ่งที่เกษตรกรประสบปัญหาคือ การถูกทำลายผลผลิตด้วยแมลงวันผลไม้ ทำให้ไม่ได้ผลผลิตเท่าที่ควร สทน.จึงได้ร่วมกับจังหวัดนครนายก ดำเนินโครงการแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มเกษตรอุตสาหกรรมโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี โดย สทน.ให้การสนับสนุนงบประมาณจำนวน 1.2 ล้านบาท เพื่อดำเนินการควบคุมแมลงวันผลไม้โดยเทคนิคการใช้แมลงที่เป็นหมันที่ตำบลดงละคร อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ครอบคลุมพื้นที่ราว 3,700 ไร่ ผลการดำเนินการตลอดปี 2561-2562 ปรากฏว่า ความเสียหายของผลผลิตลดลงเหลือเพียง 14% เกษตรกรมีรายได้รวมมากกว่า 25 ล้านบาท ลดการใช้สารเคมีลงได้มากกว่า 70%
มะยงชิด จ.นครนายก ในวันที่ราคาตกต่ำสุด
ร.ต.ต. อำนวย กล่าวถึงมะยงชิดว่า ในปัจจุบัน มีพื้นที่การปลูกมะยงชิด ในจังหวัดนครนายก และ อีกหลายจังหวัด และปีนี้ 2564 เป็นปรากฎการณ์ ที่มีมะยงชิด มีผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุด ส่วนหนึ่งมาจากอากาศหนาว ที่มาบ่อยในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทำให้มะยงชิด ออกดอกเป็นจำนวนมาก ปกติในมีนาคม ผลผลิตมะยงชิดเริ่มหมด แล้ว แต่วันนี้ ชาวสวนก็ยังคงมีผลผลิตมะยงชิด ออกให้เก็บขายอยู่ ซึ่งผลผลิตที่ออกมาก ส่งผลต่อราคา และเป็นครั้งแรกในหลายสิบปี ที่ ดาบนวย บอกว่า เขาได้เห็นราคามะยงชิด ที่ขายริมถนน นครนายก ราคากิโลกรัมละ 60 บาท เป็นราคาเมื่อ 20-30 ปีก่อนหน้านี้
สำหรับราคามะยงชิด พันธุ์ ทูลเกล้าของนครนายก ราคาปกติอยู่ที่ 150-200 บาท จากสวน และก่อนหน้านี้ เคยราคาสูงถึง กิโลกรัมละ 500 บาท แต่เป็นเรื่องปกติของผลไม้ เมื่อผลผลิตออกมาเยอะราคาถูกลง ซึ่ง มะยงชิดที่หลายที่ ก็จะพุ่งเป้ามาขายกันที่นครนายก เพราะรู้ว่า มะยงชิดนครนายกราคาดี
เป้าหมายการส่งออกมะยงชิดในต่างประเทศ
ร.ต.ต.อำนวย ประธานชมรมชาวสวนมะปราง และมะยงชิด นครนายก กล่าวว่า ที่ผ่านมา ตนเองเคยร่วมกับบริษัทผู้ส่งออกผลไม้ และได้มีการส่งมะยงชิดไปต่างประเทศ ครั้งแรกประมาณ 1,000 ตัน ซึ่งสามารถจำหน่ายหมดภายในเวลาไม่กี่วัน แสดงว่า ต่างประเทศชื่นชอบมะยงชิด เช่นเดียวกับคนไทย แต่ปัญหาการส่งออกมะยงชิด คือ เป็นผลไม้อายุสั้น ไม่สามารถเก็บได้นาน ก็ต้องหาวิธียืดอายุการเก็บมะยงชิดให้สามารถอยู่ได้นาน เพื่อที่จะได้ส่งออกไปหลายๆ ประเทศ และเป็นช่วยแก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาด ถ้ามีเกษตรกรหันมาปลูกกันเยอะขึ้น
สำหรับผลผลิตมะยงชิด ในปัจจุบัน ยังคงจำหน่ายภายในประเทศ ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอต่อการส่งออก ในอนาคตปลูกกันมากขึ้น ก็มีความจำเป็นที่ต้องขยายตลาดไปต่างประเทศ ในส่วนของจังหวัดนครนายกเองหันมาปลูกมะยงชิดกันมากขึ้น มีพื้นที่ปลูกไม่ต่ำกว่า 10,000 ไร่ ผลผลิตในปีที่ผ่านประมาณ 3,000 ตัน แต่ปีนี้ ผลผลิตเพิ่มดับเบิ้ลมาเป็น 5-6 พันตัน
ในส่วนของเกษตรกรที่ปลูกมะยงชิด ต้องยอมรับว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกษตรกรมีเงินใช้กันแบบสบายๆ ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณทาง เกษตรจังหวัดที่ช่วยโปรโมท และมีการจัดงาน มะยงชิด มะปรางวัน ทุกปี ตั้งแต่ปี 2536 ทำให้คนรู้จักมะยงชิด นครนายก จนมีชื่อเสียงโด่งดัง และทำให้ราคามะยงชิด เคยพุ่งไปถึง กิโลละ 500 บาท
สนใจ โทร. 08-1762-4082
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *
SMEs manager