กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) หนุนผู้ประกอบการสตาร์ทอัพปีที่ 6 ภายใต้โครงการเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ หรือแองเจิล ฟันด์ โดยมีภาคเอกชนเป็นผู้สนับสนุนแหล่งเงินทุน พร้อมติวเข้มบันไดทักษะ 6 ขั้นทางธุรกิจเพื่อให้ผู้ประกอบการเตรียมพร้อมก่อนนำเสนอโมเดลธุรกิจ นอกจากนี้เพื่อเร่งขับเคลื่อนนโยบายอัดฉีดเงินสู่ภาคอุตสาหกรรมสร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจไทยในอนาคต คาดเงินสะพัดกว่า 500 ล้านบาท
นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM) เผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมภายใต้การดำเนินงานของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ขานรับนโยบายรัฐบาลที่มุ่งปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมนวัตกรรม จึงมอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) เร่งขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการและพัฒนาสตาร์ทอัพอย่างต่อเนื่องให้สามารถนำทักษะและองค์ความรู้ไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการภายใต้โครงการ “เชื่อมโยงแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ (Angel Fund)” ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จำนวน 158 ทีม รวมมูลค่ากว่า 16.16 ล้านบาท และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจสูงถึง 500 ล้านบาท ดังนั้น ในปีนี้ กสอ.จึงเดินหน้าโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 โดยมุ่งเป้าพัฒนาและส่งเสริมสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเชิงลึก เพื่อให้มีขีดความสามารถนำเข้านวัตกรรมจากต่างประเทศคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 150 ล้านบาท
ทั้งนี้ เกณฑ์การคัดเลือกผู้ประกอบการสตาร์ทอัพเพื่อเข้าร่วมโครงการ แบ่งออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ผู้ประกอบการในระยะเริ่มต้น (Early stage) ได้แก่ ผู้ประกอบการ หรือผู้สนใจทั่วไปที่มีแนวคิดหรือสิ่งประดิษฐ์เชิงนวัตกรรมที่ต้องการเงินสนับสนุนแบบให้เปล่าเพื่อสร้างหรือพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ออกสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งในปีนี้มี บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมเป็นผู้ให้การสนับสนุน หรือ Angel เพิ่มเติมจากปีที่ผ่านมา ซึ่งมีทีมที่ผ่านการคัดเลือกจากโครงการ Angel Fund แล้วจำนวน 50 ทีม สำหรับผู้ประกอบการระยะเติบโต (Growth stage) ประเภทวิสาหกิจเริ่มต้นที่จดทะเบียนพาณิชย์ตามกฎหมายไทยมีผลิตภัณฑ์หรือบริการ รวมถึงนวัตกรรมในรูปแบบธุรกิจ ที่พร้อมจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้ และมีเป้าหมายหลักในการขยายตลาดและมีโอกาสได้รับทุนสนับสนุนจาก VC/CVC ผ่านโครงการ Startup Connect ของกรมฯ ในอนาคตต่อไป
นอกจากนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพมีศักยภาพและความพร้อมสำหรับการนำเสนอโมเดลธุรกิจต่อบริษัทเอกชนผู้ให้ทุนสนับสนุน กสอ.ได้จัดกิจกรรม “บ่มเพาะทักษะทางธุรกิจอย่างเข้มข้น” (Business camp) เพื่อถ่ายทอดการเรียนรู้ในภาคปฏิบัติเกี่ยวกับการนำเสนอแผนธุรกิจที่สามารถนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของอุตสาหกรรมและนวัตกรรมที่ได้พัฒนาขึ้น โดยกิจกรรมดังกล่าวจะช่วยพัฒนาและสร้างทักษะ 6 ขั้นทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการเพื่อเตรียมพร้อมก่อนเข้าสู่แหล่งเงินทุนคุณภาพประกอบด้วย ทักษะความเข้าใจผู้บริโภค (Customer-Centric Design) ทักษะการวางองค์ประกอบทางธุรกิจ (Business Model Canvas) การทดสอบตลาด (Market Validation) ความรู้สำหรับการจดสิทธิบัตรเพื่อเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจเชิงนวัตกรรม (IP) การประเมินมูลค่าทางธุรกิจและการนำเสนองานเพื่อให้เกิดการตัดสินใจร่วมลงทุน
อย่างไรก็ตาม กสอ.มีนโยบายที่พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการในทุกระยะของการดำเนินธุรกิจ ตั้งแต่ผู้ประกอบการที่มีแนวคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมแต่ยังขาดองค์ความรู้หรือผู้ประกอบการที่มีความพร้อมต้องการความช่วยเหลือในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนคุณภาพ ซึ่งเป็นนโยบายพิเศษเพื่ออัดฉีดเงินเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมไปสู่ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพความพร้อมเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย โดยตั้งเป้าว่าหลังจากพัฒนากลุ่มสตาร์ทอัพเพิ่มเติมได้ในช่วงปลายปีจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้เพิ่มได้อีกเท่าตัว และมีความมั่นคงในเชิงของการพัฒนาผู้ประกอบการให้มีศักยภาพสูงขึ้นอีกด้วย
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *