xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ผลิตเครื่องสำอาง หันปลูก “กัญชง” นำสาร CBD ส่วนผสมสกินแคร์ หลังตลาดตปท.บูมหนัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




วันนี้ คนไทยเกษตรกรและผู้ประกอบการต่างตื่นตัวกับการหาผลประโยชน์ และหวังสร้างรายได้จากพืช ทั้ง 2 ชนิดนั่นคือ กัญชา และ กัญชง และถ้าพูดถึงกัญชา และ กัญชง และไม่กล่าวถึงสารสำคัญอย่าง ซีบีดี CBD ก็คงไม่ได้ เพราะไม่เฉพาะคนไทย ทั่วโลกต่างให้ความสนใจกับ CBD เพราะคุณประโยชน์ที่มีสรรพคุณทางยาสามารถรักษาอาการของโรคต่างๆ ได้



ซีบีดี (CBD) คืออะไร

สำหรับ ซีบีดี หรือ CBD หรือน้ำมันซีบีดี คือสารแคนนาบินอยด์ ที่สกัดได้จากกัญชง หรือ กัญชา รวมถึงพืชอื่นๆ อีกหลายชนิด และมีสรรพคุณทางยา สามารถรักษาอาการของโรคต่างๆได้ เช่น ลมชัก พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ เป็นต้น สาร CBD ไม่ทำให้เมา ไม่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท และไม่ทำให้เกิดการเสพติด

สาร CBD มีมากในพืชตระกูลกัญชาสายพันธุ์ Sativa ที่มีสารทีเอชซีต่ำกว่า 1% ซึ่งตามกฏหมายไทยเรียกว่ากัญชง สำหรับอเมริกากำหนดไว้ว่า พืชที่มีสารทีเอชซีต่ำกว่า 0.3% เรียกว่ากัญชง ถ้า THC สูงกว่า 0.3% เรียกว่ากัญชา ส่วนยุโรปกำหนดสารทีเอชซีสำหรับกัญชงไว้ที่ไม่เกิน 0.2% ซึ่งต่ำกว่าทั้งของไทยและอเมริกา

กัญชงที่นำมาใช้สกัดเพื่อเอาสาร CBD ส่วนใหญ่เป็นกัญชงที่ผ่านการพัฒนาสายพันธุ์มาแล้ว เช่น FenoMax, FenoMed, และ FenoQueen ที่ให้สารซีบีดีได้สูงถึง 25% และมีสาร THC ต่ำกว่า 0.3% สำหรับกัญชงที่ปลูกไว้เอาน้ำมันจากเมล็ด หรือเส้นใย ที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักกันนั้น ไม่นิยมนำมาสกัดเพื่อเอาสารซีบีดี เพราะกัญชงสายพันธุ์นั้น แทบไม่มีสาร CBD อยู่เลย สารซีบีดีสกัดได้จาก ก้าน ใบ และดอกของต้นกัญชง ไม่ใช่จากเมล็ดกัญชง เพราะในเมล็ดกัญชงไม่มีสารซีบีดี

สารซีบีดีไม่ได้มีแค่ในกัญชง ในกัญชาก็มีสารซีบีดีเหมือนกัน แต่สารซีบีดีในกัญชามีน้อยมาก การสกัดสารซีบีดีในต่างประเทศ จึงนิยมใช้กัญชงที่ผ่านการพัฒนาสายพันธุ์มาแล้ว

อย่างไรก็ตาม สารซีบีดี ยังพบในพืชผัก ผลไม้อีกหลายชนิด ซึ่ง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. ยังได้ค้นพบสารซีบีดีในเปลือกมะนาว ซึ่งรอผู้ประกอบการเครื่องสำอางเตรียมนำไปต่อยอดเช่นกัน ในต่างประเทศให้ความสนใจกับ CBD มาสักระยะ นักวิจัยหลายประเทศพยายามคิดค้นหาสารซีบีดีจากผลไม้ ชนิดอื่นๆ และหนึ่งในนั้น ที่ประเทศเยอรมันได้พบCBDในผลไม้ชนิดหนึ่ง เชอรี่โมยา เป็นผลไม้ในตระกูลเดียวกับน้อยหน่า

ภก.ดร.ปัณณวิชญ์ โชติเตชธรรมมณี
เกาะกระแสกัญชา กัญชง เปิดตัวสกินแคร์ส่วนผสม CBD รายแรกปท.ไทย

ภก.ดร.ปัณณวิชญ์ โชติเตชธรรมมณี ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท ออกานิกส์ คอสเม่ จำกัด และ บริษัท ออกานิกส์ อินโนเวชั่น เจ้าของโรงงานผู้ผลิตสินค้าในกลุ่มอาหารเสริม เครื่องสำอาง กล่าวว่า ด้วยกระแสของกัญชา และกัญชง และการพูดถึงซีบีดีในวงกว้าง ทำให้ทางบริษัทตัดสินใจ อาศัยจังหวะในช่วงนี้ เปิดตัวผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ สกินแคร์ ที่มีส่วนผสมของซีบีดี รายแรกของประเทศไทย โดยนำเข้าสารสกัดCBD จากประเทศเยอรมัน ที่ได้มาจากผลเชอรี่โมยา

สำหรับคุณสมบัติของสกินแคร์ ส่วนผสม CBD ช่วยลดการอักเสบ สิว รอยด่างดำ รอยแดง สะเก็ดเงินหนังแข็ง ลดริ้วรอย ในต่างประเทศกำลังบูม มากสำหรับ CBDในเครื่องสำอาง แบรนด์ชั้นนำต่างๆ มีการผลิตออกมาจำหน่าย ส่วนในประเทศไทย แบรนด์ของ Dr.JELถือว่าเป็นรายแรก ที่ผลิตสกินแคร์ โดยใช้สาร CBD ในอนาคตมีแผนที่จะมีผลิตภัณฑ์ตัวอื่นๆ ที่ส่วนผสมของ CBD ออกมาจำหน่ายอีกหลายผลิตภัณฑ์


ผู้ผลิตเครื่องสำอางปลูกกัญชง  ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

ดร.ปัณณวิชญ์ กล่าวว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ ทางบริษัทมีแผนที่จะปลูกกัญชง เพื่อนำมาผลิต สาร CBD ทดแทนการนำเข้าสาร CBD จากผลเชอรี่โมยานำเข้าจากเยอรมัน โดยทางบริษัทในฐานะผู้ผลิตเครื่องสำอาง อาหารเสริม มีแผนที่จะทำตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยเริ่มวางแผนการปลูกกัญชงเอง และนำผลผลิตที่ได้มาทำสารสกัดใช้เองในโรงงาน

ทั้งนี้ ล่าสุดบริษัทได้เตรียมพื้นที่โรงเรือนไว้จำนวน 4 ไร่ ในจังหวัดนครปฐม แปลงสาธิตปลูกกัญชงในสายพันธุ์ต่าง เพื่อหาสายพันธุ์ที่เหมาะสม และให้CBD สูงสุด ปัจจุบันกัญชงสายพันธุ์ที่ปลูกอยู่ในประเทศไทย ให้สาร CBD น้อยมากเพียง 10% ในขณะที่ต่างประเทศมีสายพันธุ์ที่ให้CBD สูงถึง 20% ล่าสุด ทางบริษัทอยู่ระหว่างการหาสายพันธุ์ที่เหมาะ และนำสายพันธุ์ดังกล่าวมาให้เกษตรกรผู้ปลูกพื้นที่สูงในจังหวัดเชียงใหม่ ทำการปลุูกเพื่อ ป้อนให้กับทางโรงงานของเรา


อนุญาตปลูกกัญชง นำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน

สำหรับการอนุญาตให้ปลูกกัญชง และนำมาใช้ประโยชน์ได้ นั้น เกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 29 มกราคม 2564 โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงสาธารณสุข ลงนามในกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) พ.ศ. 2563 ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 29 ม.ค. 2564

โดยทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกร ภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป สามารถขออนุญาตปลูกได้ทุกวัตถุประสงค์ ตั้งแต่ การค้า การแพทย์ การศึกษา วิจัย การใช้ตามวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม หรือผลิตเมล็ดพันธุ์รับรอง ซึ่งสามารถนำส่วนต่าง ๆ ของกัญชงไปแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น ช่อดอกนำไปผลิตยา สารสกัดจากกัญชง

ส่วนของใบนำไปผลิตอาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอาง, น้ำมันจากเมล็ดกัญชงนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอาง, สารสกัดจากกัญชงนำไปผลิตเป็นเครื่องดื่ม เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สมุนไพร เป็นต้น


CBD ในเครื่องสำอาง ได้รับความนิยมอย่างมากในต่างประเทศ

ดร.ปัณณวิชญ์ กล่าวว่า ตนเองได้ศึกษาเรื่อง CBD มาก่อนหน้านี้ ประมาณ 2-3 ปี หลังจากได้ไปดูงานคอสเมติกในต่างประเทศ เห็นว่าในต่างประเทศนิยมกันมาก และเมื่อกลับมาเมืองไทย ได้มีการทดลองปลูกกัญชงมาแล้วกว่า 34 สายพันธุ์ ทำให้มีความรู้ตรงนี้อยู่ประมาณหนึ่ง และเมื่อต้นปี 15 มกราคม ได้เดินทางไปดูงานคอสเมติกที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็นงานใหญ่ประจำปี และครั้งนี้ ก็ได้เห็นถึงการตื่นตัวในการนำ CBD ที่ได้จากพืชมาเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางว่าบูมมากในต่างประเทศ

ด้วยเหตุนี้เอง ทางเราในฐานะบริษัทผู้ผลิตคอสเมติก มองเห็นถึงศักยภาพด้านการตลาดสำหรับเครื่องสำอาง และอาหารเสริม ที่มีส่วนผสมของ CBD หลังจากนั้นได้ไปรวบรวมซัพพลายเออร์ที่นำเข้า สารสกัดที่มีคุณสมบัติคล้ายสารจาก CBDในกัญชง และเลือกดิวกับรายหนึ่งเป็นผู้ผลิตจากประเทศเยอรมัน และสั่งนำเข้าสาร CBD ดังกล่าว เข้ามาในประเทศไทย และพอดีจังหวะในช่วงที่รัฐบาลประกาศปลดล็อกกัญชง และกระแสของกัญชา กัญชง มาแรง ทำให้เราถือโอกาสเปิดตัว ผลิตภัณฑ์สกินแคร์ ที่มีส่วนผสมของสารคล้าย CBD ในกัญชง ในครั้งนี้

ทั้งนี้ ในส่วนของปลูกกัญชง ทางบริษัทได้เตรียมเงินลงทุนกว่า 5 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงเรือนแปลงสาธิตการปลูกกัญชง สายพันธุ์ที่ให้สาร CBD สูงสุด เพราะบริษัทของเราต้องการจะเป็นผู้ผลิตที่สามารถทำได้ ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งเชื่อมั่นว่า กระแสของเครื่องสำอางที่ส่วนผสมของ CBD จะไม่ได้หายไปเหมือนกับกระแสของกัญชา เพราะด้วยคุณสมบัติที่ผ่านการวิจัย และในวงการเครื่องสำอาง ทั่วโลกให้การยอมรับในประสิทธิภาพของ CBD เมื่อนำมาใช้ในเครื่องสำอาง 


กัญชาต่างจาก กัญชงอย่างไร

ความแตกต่างระหว่าง กัญชาและกัญชง คือ กัญชา จะมีลำต้นเตี้ย ใบสีเขียวเข้ม และใบมีเฉก 5-7 เฉก ในขณะที่กัญชง ลำต้นจะสูงใหญ่กว่า และใบจะมีเฉกมากกว่า 7-9 เฉก ใบจะมีสีเขียวอ่อนกว่ากัญชา  ในขณะที่กัญชงจะปลูกง่ายกว่ากัญชา ทนร้อน ทนความแห้งแล้งกว่า กัญชา

ส่วนขั้นตอนการขอปลูกกัญชง ไม่ยุ่งยากเหมือนกัญชา โดยผู้ที่ต้องการปลูกสามารถไปขออนุญาตปลูกได้โดยการยื่นคำขอ ณ สถานที่ปลูกที่ตั้งอยู่ หากอยู่พื้นที่กรุงเทพฯ ให้ยื่นที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หากอยู่ต่างจังหวัดให้ยื่นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ส่วนผู้ขอนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชง ให้ยื่นคำขอที่ อย. ในส่วนผู้สามารถขออนุญาตปลูกกัญชงได้ คือ  เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ประชาชนทั่วไป นิติบุคคลสัญชาติไทย หน่วยงานรัฐ เอกชน


* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด * * *
SMEs manager



กำลังโหลดความคิดเห็น