xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) “ไหมจันทร์หอม” ร้านผ้าไหมลงทุนเกือบ 100 ล้านบาท สร้างจุดเช็กอินแห่งใหม่ จ.อุบลฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไหมจันทร์หอม MaiChanHom ร้านผ้าไหมที่ เจ้าของ คือ “วิยะดา อุนนะนันทน์” อดีตพนักงานธนาคารกรุงเทพ ที่ผันตัวเองมาเปิดร้านผ้าไหม ความพิเศษร้านผ้าไหมแห่งนี้ คือ การทุ่มทุนไปเกือบ 100 ล้านบาท ที่จังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันกลายเป็นจุดเช็กอินแห่งใหม่ของจังหวัดอุบลราชธานี ที่นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ รวมถึง คนในพื้นที่ต่างแวะเวียนไปใช้บริการ

วิยะดา อุนนะนันทน์
ร้านผ้าไหมกึ่งพิพิธภัณฑ์ของคนไทย คู่แข่ง จิมทอมป์สัน

สำหรับ ไหมจันทร์หอมแห่งนี้ม่ได้เป็นแค่จุดจำหน่ายผ้าไหม แต่ยังเปิดให้เป็นศูนย์เรียนรู้พิพิธภัณฑ์ และร้านกาแฟ บนพื้นที่ 14 ไร่ ตั้งอยู่ที่หมู่ 4 บ้านบัวเทิง ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีรวงค์ จังหวัดอุบลราชธานี โดย “วิยะดา” เจ้าของได้เปิดพื้นที่แห่งนี้ ให้นักท่องเที่ยวและผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมหัตถกรรมการทอผ้าไหม เชิงอนุรักษ์ เพื่อสืบสานวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งแบ่งพื้นที่บางส่วนๆ เป็น ร้านกาแฟ และ พิพิธภัณฑ์ ที่มีชื่อว่า "คุ้มจันทร์หอม” เรือนไทยอีสานประยุกต์” ภายในคุ้มจันทร์หอม ประกอบด้วย อาคารในแบบสถาปัตยกรรมไทยอีสานประยุกต์ แบ่งพื้นที่เป็นโฮงทอผ้า โฮงฮุก

และเรือนหัตถกรรม ซึ่งเป็นจุดแสดงชิ้นงานผ้าไหมทอมือ ที่ทางร้านได้คัดสรรมาเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชมศิลปกรรมความงดงามของผ้าไหมทอมือเมืองอุบลฯ ลวดลายโบราณและ ลวดลายประยุกต์ ในแบบที่หาชมที่ไหนไม่ได้ และภายในเรือนหัตถกรรม ได้เปิดเป็นศูนย์ถ่ายทอดการเรียนรู้วิถีการทอผ้าภูมิปัญญาท้องถิ่น และให้ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอน กระบวนการหัตถกรรมพื้นบ้านการทอผ้าไหม เริ่มตั้งแต่การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การสาวไหม การย้อมไหม การทอ และกระบวนการอื่นๆ ทุกขั้นตอน


สานฝันสืบสานการอนุรักษ์ผ้าไหมเมืองอุบลฯ

“วิยะดา” กล่าวว่า ที่เธอยอมทุ่มแบบควักเงินเก็บที่มีอยู่ทั้งหมดมาเปิด “ไหมจันทร์หอม” และ “คุ้มจันทร์หอม”ในครั้งนี้ เพราะโดยส่วนตัวชื่นชอบผ้าไหม จะมีผ้าไหมสะสมอยู่หลายผืน และเมื่อ 5 ปีก่อนหน้านี้ มีงานพระบรมศพ ในหลวงรัชกาลที่ 9 เห็นคนไทยแต่งชุดผ้าไหมจิตรลดา ช่วงนั้นขับรถไปหาผ้าไหม พบว่ามีคนทอผ้าไหมที่เป็นงานทอมือน้อยมาก ตอนนั้นรู้สึกว่า เราคงจะต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อที่จะได้อนุรักษ์การทอผ้าไหมให้คนรุ่นหลังได้สืบทอดต่อๆไป และได้นึกย้อนกลับไปถึงในสมัยที่สมเด็จพระพันปีหลวง พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 9 ท่านทรงพยายามที่อนุรักษ์การทอผ้า และสร้างอาชีพให้คนทอผ้า โดยการรับซื้อผ้าทอเหล่านั้น เราก็อยากจะเป็นกลไกเล็กๆ ในการสานต่อในสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระบรมราชินี พระพันปีหลวงฯ ทรงได้ทำไว้


โดย สิ่งหนึ่งที่เชิดหน้าชูตาจังหวัด คือ ผ้าไหมของอุบลฯ หรือ คนทั่วไปรู้จักกันดี ในนามของ ผ้าไหมลาวอุบลฯ ผ้าไหมลาวได้ชื่อว่าเป็นผ้าไหมที่สวยที่สุด และถ้าไม่อนุรักษ์เอาไว้ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ย้อนกลับไปในอดีต ลูกหลานเมืองอุบลฯ นิยมส่งลูกเรียนสูงๆ และไปทำงานบริษัท หรือไม่ก็เป็นข้าราชการ ทำให้คนทอผ้าเริ่มที่จะค่อยๆหายไป เหลือแค่คนแก่ ทอผ้าอยู่กลับบ้าน รอลูกหลานกลับมา

ทั้งนี้ “วิยะดา” เธอตัดสินใจเปิดร้านขายผ้าไหม เพื่อช่วยเหลือคนทอผ้าที่ไม่มีพื้นที่จำหน่ายผ้าไหม และต้องการให้คนที่ตกงานจากการไปทำงานโรงงาน ที่หันกลับมาอยู่บ้านได้มีงานทำ และได้กลับมาสืบสานการทอผ้าของจังหวัดอุบลฯ ให้พัฒนาและเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ที่ไม่ใช่แค่จังหวัดอุบลฯ เท่านั้น โดยเปิดไหมจันทร์หอมมาจนถึงปัจจุบันผ่านมากว่า 5 ปี และได้ช่วยสร้างอาชีพให้กับชุมชนทอผ้า กว่า 70 ครอบครัว มีรายได้ต่อครอบครัวไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาท


ออกแบบเอกลักษณ์เฉพาะ..สร้างจุดขายไม่เหมือนใคร

สำหรับผ้าทอของ ไหมจันทร์หอม มีความโดดเด่นเรื่องคุณภาพการทอ และลวดลายประยุกต์ที่ทางร้านมีทีมออกแบบลายผ้า และสีสันที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่งชิ้นงานที่เราจำหน่ายจะหาไม่ได้จากร้านจำหน่ายผ้าไหมทั่วไป บวกกับคุณภาพ ทำให้ ไหมจันทร์หอมเป็นที่รู้จักในกลุ่มของลูกค้าที่ชื่นชอบการแต่งตัวด้วยผ้าไหมไทย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นตลาดกลุ่มบน เพราะราคาผ้าไหมค่อนข้างสูง ซึ่งราคาเฉลี่ยอยู่ในหลักหมื่นบาท ไปจนถึงหลักแสนบาท

“สาเหตุที่ผ้าของจันทร์หอมราคาค่อนข้างสูง เนื่องจากเป็นงานมือในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การย้อมเส้นไหมด้วยสีธรรมชาติ ไปจนถึง การทอด้วยลายลายที่ใช้ความละเอียดสูง ผ้าหนึ่งผืนช่างทอจะต้องใช้ระยะเวลาในการทอตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป และผ้าไหมที่มีราคาหลักแสนบาท ช่างทอของไหมจันทร์หอมต้องใช้เวลาการทอ 3 เดือนถึง 6 เดือนกว่าจะได้ผ้าหนึ่งผืน เพราะความยากในการทอ และลวดลายที่ออกแบบมาเฉพาะแบบผืนเดียว ไม่ทำซ้ำ ทำให้ลูกค้าค่อนข้างจะพอใจและยินดีที่จะจ่ายเงินหลักแสนเพื่อซื้อผ้าของเรา”


คนรุ่นใหม่ หันมาสวมใส่ผ้าไทย และผ้าไหม

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทางไหมจันทร์หอม ไม่ได้มีการทำประชาสัมพันธ์ แต่ได้กลุ่มลูกค้าที่เคยมาซื้อผ้าไหม และกลับมาซื้ออีก โดยทาง “คุณวิยะดา” เธอจะเปิดเพจพูดคุยแนะนำผ้าของเธอผ่านหน้าเพจ เริ่มจากนำผ้าที่เธอเก็บสะสมมาโพสต์ หลังจากนั้น ผ้าที่เธอสะสมเริ่มหมดไปเพราะมีคนมาสนใจซื้อไปหมด เธอเริ่มมาเปิดร้านและจ้างช่างทออย่างจริงจัง

“ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนหันมาสวมใส่ผ้าไหม ผ้าไทยมากขึ้น โดยเฉพาะการสวมใส่ผ้าซิน ไม่เว้นแม้แต่คนรุ่นใหม่ หรือ วัยรุ่น หันมาสวมใส่ผ้าซิน กับเสื้อสมัยใหม่ หรือ แม้แต่การสวมใส่ผ้าซินกับเสื้อยืด และรองเท้าผ้าใบ ฯลฯ ทำให้ผ้าไหมได้รับความสนใจและเติบโตในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากเดิมคนที่สวมใส่ผ้าไหมเราจะมองไปที่กลุ่มที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี 50 ปี ขึ้นไป แต่ปัจจุบัน คนอายุ 20- 30 ปี เขาหันมาสนใจการแต่งชุดผ้าไหมกันมากขึ้น ”


อย่างไรก็ตาม ในส่วนการทำตลาดในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทย หรือคนไทยยังมีกำลังซื้อ เพราะไหมจันทร์หอม ยอดขายไม่ได้ลดลง แต่เรากลับมียอดขายมากขึ้น เพราะคนไทยที่มีกำลังซื้อเหล่านั้น ไม่ได้เดินทางไปเที่ยวหรือ ชอปสินค้าแบรนด์เนมในต่างประเทศ ทำให้เขามีเวลามาดูและซื้อสินค้าผ้าไหมของเราทดแทนการชอปสินค้าแบรนด์เนม อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าสินค้าของเรา ราคาอยู่ในระดับสินค้าแบรนด์เนมที่พวกเขาเคยซื้อ ดังนั้น การที่เขาตัดสินใจซื้อ สินค้าชิ้นนั้นต้องถูกใจจริงๆ ซึ่งที่ไหมจันทร์หอม เราสามารถขายสินค้าราคาหลักแสนบาทได้จำนวนไม่น้อยไปกว่าสินค้าราคาหลักหมื่นบาท 


คุ้มจันทร์หอมร้านกาแฟ ตอบโจทย์คนชอบถ่ายรูป

ในส่วนคุ้มจันทร์หอม “วิยะดา” บอกว่า เธอเปิดมาได้ประมาณ2 ปีที่ผ่านมา ใช้เงินไปหลายสิบล้านบาท แต่โชคไม่ดีเพราะ เปิดมาเพียง 1 ปี ก็เจอช่วงสถานการณ์โควิดพอดี ซึ่งในช่วงแรกที่เปิดให้บริการตอนนั้น ต้องบอกว่าได้รับการตอบรับดีมาก มีนักท่องเที่ยวทั้งในพื้นที่ และนักท่องเที่ยวนอกพื้นที่ รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ เข้ามาใช้บริการกันเป็นจำนวนมาก รวมถึงมีลูกค้ามาใช้พื้นที่จัดกิจกรรมและจัดงานแต่ง เพราะด้วยพื้นที่สามารถตอบโจทย์ที่ไม่ได้แค่เป็นร้านกาแฟธรรมดา แต่เป็นจุดเช็กอินให้คนที่ชื่นชอบการถ่ายภาพอวดในโลกโซเชียลฯ คาดหวังว่า หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย คุ้มจันทร์หอม จะกลับมาได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว เหมือนเดิม


ทำสิ่งที่ชอบ ไม่คาดหวังคืนทุน สร้างมรดกให้ลูกหลาน

ไหมจันทร์หอม เป็นอีกหนึ่งผู้ประกอบการที่ทำในสิ่งที่เธอชื่นชอบที่สุด และทำออกมาให้ดีที่สุด ซึ่งวันนี้ คุณวิยะดา เธอไม่ได้มองว่า เธอจะขายผ้าไหมและสามารถคืนทุนที่เธอลงทุนไปเกือบ 100 ล้าน แต่สิ่งที่ได้ คือการได้สืบสานอาชีพการทอผ้า และได้สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น และยังเป็นการเปิดประสบการณ์การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ควบคู่ไปพร้อมกันในจังหวัดบ้านเกิดของตนเอง และสร้างมรดกตกทอดไปถึงลูกหลานต่อไป 

อย่างไรก็ดี การลงทุนคุ้มจันทร์หอมด้วยเงินหลายสิบล้าน ก็ไม่ได้เพียงแค่ขายกาแฟ แต่ยังเป็นสิ่งที่ช่วยดึงลูกค้า ให้เข้ามารู้จัก ผ้าไหมสวยของ ไหมจันทร์หอมได้ง่ายขึ้นกว่าการที่เธอจะเปิดร้านผ้าไหมเพียงอย่างเดียวด้วย และด้วยผ้าไหมที่มีราคาสูง เธอก็ยังได้เปิดมุมให้คนได้มาศึกษาเรื่องราวการทอผ้า ว่า เขาทำกันอย่างไร และทำไมผ้าไหมของเธอถึงราคาแพง สิ่งสำคัญที่สุด คือ เธอได้เผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมภาคภูมิใจ และรู้จักผ้าไหมลาวอุบลฯ ผ้าไหมที่สวยที่สุดอีกด้วย

ติดต่อ เพจ ร้านไหมจันทร์หอม
www.chanhomstore.com






* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *



กำลังโหลดความคิดเห็น