การฉีกรูปแบบปาท่องโก๋ อาหารเช้าที่อยู่คู่คนไทยนับร้อยปี ของสถานีปาท่องโก๋ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ ที่ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้ทันตามยุคตามสมัย และสามารถตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ได้ โดยได้นำปาท่องโก๋แบบโบราณมาปรับโฉมให้ออกมาเป็นปาท่องโก๋ในรูปแบบใหม่ ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน
นายนัฐพล หอมพวงภู่ เจ้าของสถานีปาท่องโก๋ เล่าถึงรูปแบบของปาท่องโก๋ ที่สถานีปาท่องโก๋ ว่า ปาท่องโก๋ของเรา มีด้วยกันหลายรูปแบบ ซึ่งถือได้ว่า เป็นร้านปาท่องโก๋ที่มีรูปแบบให้เลือกมากที่สุดในขณะนี้ก็ว่า โดยประกอบไปด้วย ปาท่องโก๋โบราณ ปาท่องโก๋หลากรส มีรสดังนี้ รสใบเตยหอม รสอัลมอน รสงาดำ ปาท่องโก๋พันไส้กรอก ไก่หนังกรอบพันด้วยปาท่องโก๋ใบเตย ปาท่องโก๋ญี่ปุ่น มีด้วยกัน 2 รสชาติ คือ แบบดั้งเดิม และแบบ CINNAMOL ปาท่องโก๋มีไส้ ประกอบด้วย ไส้แฮมชีส หมูสับ และกล้วยหอม ฯลฯ และยังมีนมข้นหวาน ครีมสังขยารสชาติต่างให้เลือก สำหรับคนที่ชอบกินปาท่องโก๋แบบจิ้ม ฯลฯ
ส่วนปาท่องโก๋ญี่ปุ่น เป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่สร้างความฮือฮาอย่างมากในช่วงเปิดตัว ซึ่งเปิดตัวในงานแสดงอาหารญี่ปุ่น ที่จัดในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งที่ประเทศไทย ซึ่งในครั้งนั้น ทางผู้จัดงานได้ติดต่อเข้ามาชวนเราไปร่วมออกบูท และให้ช่วยทำปาท่องโก๋ออกมาในสไตล์ญี่ปุ่น ก็เลยได้เป็นที่มาของปาท่องโก๋สไตล์ญี่ปุ่น ไอเดียก็ได้มาจากเห็นคนญี่ปุ่นมีขนมชนิดหนึ่งที่ทำออกมาแท่ง ก็เลยทำปาท่องโก๋ออกมาเป็นแท่งรสชินามอลและเสิร์ฟจิ้มกับนมฮอกไกโด ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอาหารญี่ปุ่น
ในส่วนของราคาขายปาท่องโก๋ของเรา เริ่มต้นที่ 10 บาท 20 บาท และ 30 บาท ซึ่งราคาต่อชิ้น คือ ประมาณ 3 ชิ้น 10 บาท ราคาอาจจะสูงกว่าปาท่องโก๋ทั่วไปเล็กน้อย ราคาทั่วไปอยู่ที่ประมาณชิ้นละ 2 บาท ส่วนไส้กรอกราคาชิ้นละ 10 บาทแต่ของเราคัดเลือกวัตถุดิบอย่างดี ทอดในน้ำมันมะพร้าว ซึ่งราคาจะสูงกว่า น้ำมันปาล์มที่ร้านปาท่องโก๋ทั่วไปใช้ ดังนั้น ลูกค้าจะเห็นเลยว่า น้ำมันทอดปาท่องโก๋ของเราจะไม่ดำ และดีต่อสุขภาพ
ทำไมต้องคิดออกแบบปาท่องโก๋ให้หลากหลาย
นายนัฐพล เล่าว่า สำหรับการคิดรูปแบบปาท่องโก๋ที่หลากหลาย เริ่มต้นขึ้นมาจากผมเป็นคนชอบคิดทำอะไรใหม่ๆ แต่ตอนเปิดร้านแรกๆ ขายเหมือนคนอื่นๆ ปาท่องโก๋แบบโบราณ และในตลาดที่ผมเปิดร้านขายปาท่องโก๋ เมื่อประมาณ 8 ปีที่ผ่านมา อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ผมเปิดขายหน้าบ้าน และในย่านนั้นมีขายปาท่องโก๋อยู่แล้ว และถ้าจะทำเหมือนคนอื่นๆ ซึ่งเรามาที่หลังยังไม่มีประสบการณ์จะสู้คนที่ทำมานานได้อย่างไร และประกอบกับตัวเองเป็นคนชอบคิด ชอบพัฒนา ไม่ชอบทำอะไรอยู่กับที่ ก็เลยคิดว่าเราจะยกระดับปาท่องโก๋ที่มีมาเป็นพันปีได้อย่างไร
จนมาได้ลองผิดลองถูกกับแป้งปาท่องโก๋ ที่มีอยู่ว่าจะสามารถนำไปต่อยอดเป็นอะไรได้บ้าง สุดท้าย ก็เลยพัฒนาออกมาได้เรื่อยจนถึงทุกวันนี้ เรามีปาท่องโก๋ที่หลากหลาย ออกมาจำหน่ายดังที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งในความเป็นจริง ผมสามารถที่พัฒนาปาท่องโก๋ให้มีความหลากหลายได้มากกว่านี้อีก แต่ทุกอย่างต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง คือ ราคาที่จับต้องได้ คนขายในกรอบเวลาจริง เพราะเวลาในการขายปาท่องโก๋ช่วงเวลาค่อนข้างสั้น แค่ช่วงเช้า ถ้าเราคิดอะไรให้หลากหลายแต่ไม่สามารถ ควบคุมราคาได้ ควบคุมเวลาในการทำได้ ก็ขายไม่ได้ สุดท้ายก็เลยมาจบ แค่สูตรที่ทำขายในขณะนี้
จากร้านซ่อมคอมฯ ต้องผันตัวเองมาขายปาท่องโก๋
สำหรับสถานีปาท่องโก๋ ของเราเปิดขายมาจนถึงทุกวันนี้ ผ่านมาประมาณ 8 ปี จุดเริ่มต้น มาจากผมเปิดร้านซ่อมคอมพิวเตอร์ แต่ด้วยเทคโนโลยีไอที พัฒนาไปมาก ทุกคนมีโทรศัพท์มือถือที่สามารถทดแทนคอมพิวเตอร์ได้ ส่วนใหญ่ก็เลยเลิกใช้คอมพิวเตอร์ หันไปใช้โทรศัพท์มือถือ รายได้หลักของครอบครัวเริ่มลดลงมาเรื่อย ตอนนั้นคิดว่าจะต้องหาอาชีพอื่นๆ ซึ่งก็มาลงตัวที่ขายปาท่องโก๋ เพราะเป็นสินค้าที่สามารถเติบโตด้วยตัวของมันเองได้ ทุกคนรู้จักปาท่องโก๋ และกินปาท่องโก๋เป็นอาหารเช้ากันมานาน แต่ตอนหลังปาท่องโก๋มีการพูดถึงเรื่องของสุขภาพ เพราะทอดในน้ำมัน ทางเราก็เลยต้องกลับมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนกินปาท่องโก๋ที่ร้านของเราได้อย่างสบายใจ ก็เลยมาลงตัวที่เลือกใช้น้ำมันมะพร้าว
ทั้งนี้ ด้วยต้นทุนน้ำมันมะพร้าวที่สูงกว่า น้ำมันปาล์มอยู่เป็นเท่าตัว ทำให้เราต้องมาปรับและยกระดับปาท่องโก๋ ของเราให้เป็นพรีเมียม และได้ออกมาเป็นปาท่องโก๋หลากหลายของสถานีปาท่องโก๋ เป็นทางเลือกให้คนที่ชื่นชอบการรับประทานปาท่องโก๋ได้กินปาท่องโก๋ในอีกแบบหนึ่ง
รายได้หลักแสนบาทต่อเดือนจากกิจการปาท่องโก๋
นายนัฐพล เล่าว่า หลังจากได้เปิดร้านสถานีปาท่องโก๋ ในครั้งแรกรายได้ไม่มาก แต่พอปรับให้ปาท่องโก๋มีความหลากหลายทำให้เรามีรายได้เพิ่มมากขึ้นจนไม่จำเป็นต้องทำร้านซ่อมคอมพิวเตอร์ควบคู่ไปด้วย เหมือนกับตอนเปิดครั้งแรก โดยในแต่ละวันจะมีรายได้จากการขายปาท่องโก๋อยู่ที่วันละประมาณ 5,000 บาท กำไรประมาณ 50% ใช้ระยะเวลาในการขายแค่ประมาณ 3 ชั่วโมง ก็ขายหมด ในขณะที่บางสาขาที่ให้เราให้ญาตินำไปเปิดขาย เช่นสาขาโชคชัย 4 มีรายได้วันละหลักหมื่นบาท บางวันเกือบ 20,000 บาท ซึ่งใช้ระยะเวลาในการขาย 3-4 ชั่วโมง ช่วงเวลาที่ลูกค้าเข้าร้านเยอะช่วงประมาณ 6 โมง ถึง 8 โมงเช้า และปิดร้านประมาณ 10 โมง
"ทั้งนี้ ผมค่อนข้างพึ่งพอใจกับการทำงานเพียงแค่ 3-4 ชั่วโมง เพราะทำให้เราบริหารจัดการเวลาไปทำอย่างอื่นได้ หรือ ได้พักผ่อนอยู่กับครอบครัว ไม่ต้องใช้เวลาทั้งหมดไปกับการทำงาน ผมพอใจแบบนี้มากกว่า และรายได้ที่เราได้มาก็เป็นรายได้ที่เพียงพอต่อการใช้จ่าย อย่างสาขาที่นครชัยศรีของผม ไม่ได้มีค่าเช่า ไม่ได้มีลูกน้อง ค่าใช้จ่ายก็จะน้อยกว่าสาขา โชคชัย 4 ที่ต้องมีค่าเช่า ต้องมีลูกน้อง รายได้ที่ได้มาส่วนหนึ่งต้องจ่ายค่าเช่า จ่ายค่าลูกน้อง แต่เขาขายได้มากกว่าผม 3-4 เท่าแต่รายจ่ายเขาก็มากกว่าเช่นกัน"
ขยายสาขาในรูปแบบของแฟรนไชส์
นายนัฐพล เล่าถึงการขยายสาขา ว่า หลังจากผมเปิดมาได้ระยะหนึ่ง ผมได้ขยายสาขา โดยให้ญาตินำไปเปิดกันในทำเล ที่พวกเขาเลือกกันเอง ผมมีหน้าที่เพียงแนะนำและบอกวิธีการทำ และบริหารร้านปาท่องโก๋อย่างไรให้ได้กำไร ต้องขายช่วงเวลาไหน ถึงจะคุ้มการลงทุน ซึ่งขยายสาขาเองโดยให้ญาติไปเปิดขาย ถึงตอนนี้ผ่านมา 4 ปี แต่ในช่วง 2 ปีหลัง เริ่มขยายในรูปแบบของแฟรนไชส์ เพราะเริ่มมีคนอื่นๆ เขาได้มาเห็นถึงความสำเร็จ โดยเฉพาะสาขาโชคชัย 4 ก็เลยมีคนต้องการซื้อแฟรนไชส์ เลยเป็นที่มาของการขายแฟรนไชส์ รวมถึงปัจจุบันเปิดมาได้ 9 สาขา ทั้งที่เป็นของญาติๆ และลูกค้าแฟรนไชส์ ราคาแฟรนไชส์ คือ 69,000 บาท ได้ทุกอย่างพร้อมเริ่มต้นธุรกิจ
สำหรับคนที่สนใจแฟรนไชส์ของ สถานีปาท่องโก๋ ทาง คุณนัฐพล เจ้าของแฟรนไชส์ บอกว่า สิ่งสำคัญคือ ต้องมารู้จักปาท่องโก๋ เราก่อน ต้องมาชิมเพื่อจะได้รู้ว่าเขาชอบไหม มาดูว่าเราขายอย่างไร สินค้าของเรามีอะไร และต้องตอบตัวเองก่อนว่าชอบ และมีความสุขไหม ถ้าจะต้องมามีอาชีพขายปาท่องโก๋ ถ้าคิดแค่ว่า ผลตอบแทนดีและจะทำเราไม่สนับสนุน เพราะเราสร้างอาชีพนี้มาด้วยความรัก และความเอาใจใส่ เราก็อยากได้คนที่มาร่วมธุรกิจกับเรา เขารักและเอาใจใส่ ซึ่งเป็นหัวใจของคนที่จะประสบความสำเร็จ ดังนั้น เราจึงไม่ได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะขายแฟรนไชส์ได้กี่สาขา เพราะต้องขึ้นอยู่ว่าจะมีคนสนใจจะทำธุรกิจแฟรนไชส์กับเราเท่าไหร่ เพราะเราไม่ได้ทำประชาสัมพันธ์ชักจูงให้ใครต้องมาซื้อแฟรนไชส์ของเรา
ความสำเร็จของสถานีปาท่องโก๋รายนี้ เกิดมาจาก สิ่งแรก คือ ต้องปรับตัวเพระอยู่ในช่องทางอาชีพที่กำลังจะโดนดิสรัปชั่น และการยกระดับอาหารโบราณริมทางให้ดูเป็นสินค้าพรีเมี่ยม จากการคิดนอกกรอบ และนำเสนออะไรที่แตกต่าง จากปาท่องโก๋ อาหารเช้าที่อยู่กับคนไทยมาเป็นร้อยๆ ปี พอวันหนึ่งมีคนทำมากขึ้น แต่แป้งแบบเดียวกัน ใครจะคิดได้ว่าจะต้องออกแบบปากท่องโก๋ให้ออกมาอย่างไร นอกเหนือจากรสชาติที่ดี เพื่อสร้างกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ให้มาสนใจอาหารโบราณอย่างปาท่องโก๋ และเป็นที่มาจากความสำเร็จสถานีปาท่องโก๋ รายนี้
ติดต่อ FB: สถานีปาท่องโก๋
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *
SMEs manager