กว่าหนึ่งปีที่ผ่านมาตัวเลขผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสในประเทศไทยนับว่ามีจำนวนไม่สูงนักเมื่อเทียบกับตัวเลขผู้ติดเชื้อของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายอีกครั้งกับการระบาดระลอกใหม่ในช่วงปลายปี 2563 ทำให้มีมาตรการป้องกันและควบคุมโรคในประเทศที่เข้มข้นอีกครั้ง
การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ลดทอนความเชื่อมั่นของคนไทยลงไปอีก โดยการวิเคราะห์ความเชื่อมั่นของคนไทยเป็นมาตรการสำคัญที่บ่งบอกว่าประเทศและประชาชนมีความแข็งแกร่งเพียงใด ด้วยเหตุผลดังกล่าว มาร์เก็ตบัซซจึงสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด และจากการสำรวจความรู้สึกของคนไทยที่มีต่อการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ และพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เปลี่ยนแปลงหลังโควิด-19 ในช่วงมกราคม 2564 ซึ่งครอบคลุมหัวข้อที่สำคัญต่างๆ โดยได้สำรวจกลุ่มตัวอย่างคนไทยทั่วประเทศจำนวน 1,600 คน
ผลการสำรวจพบว่าความรู้สึกของคนไทยที่มีต่อสถานการณ์เป็นบวกลดลง โดยในเดือนมกราคม 2564 คนไทยไม่มีความสุขในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ ถึงร้อยละ 75 สูงกว่าผลการสำรวจในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2563 ที่พบคนไทยไม่มีความสุขร้อยละ 71, 62 และ 51 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในช่วงสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ครั้งแรก และยังพบว่าในเดือนมกราคม 2564 ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายลดลง เห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากมาตรการป้องกันและควบคุมโรค รวมถึงการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและพฤติกรรมของผู้บริโภคด้วย
ในช่วงของการใช้มาตรการป้องกันและควบคุมโรค ผลการศึกษาแรกนั้นแสดงให้เห็นชัดเจนว่าสินค้าบางประเภทที่ผู้บริโภคเคยมีการใช้จ่ายน้อย กลับเพิ่มมากขึ้น เช่น สินค้าทำความสะอาดบ้าน อาหารสด อาหารแช่แข็ง อาหารกระป๋อง ผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนตัว ผลิตภัณฑ์ยาและวิตามิน ซึ่งไม่น่าแปลกใจเพราะผู้บริโภคให้ความสำคัญต่อสุขอนามัยและการทำความสะอาดในครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น และใช้เวลาที่บ้านมากยิ่งขึ้น
ในขณะที่กลุ่มสินค้าบางประเภทได้รับผลกระทบหนักจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ส่งผลให้การจับจ่ายน้อยลงในช่วงเดือนมกราคม 2564 คือ การชอปปิ้งที่ห้างสรรพสินค้า, สินค้าแฟชั่น, การรับประทานบุฟเฟต์และร้านอาหารนอกบ้าน อาหารดิบ เช่น ซูชิและสลัด กาแฟและชานม การซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ เช่น ทีวี เครื่องปรับอากาศ หรือสินค้าฟุ่มเฟือย มีตัวเลขที่ลดลงเช่นเดียวกับอุปกรณ์กีฬา รวมถึงสินค้าประเภทแอลกอฮอล์
มร.แกรนท์ เบอร์โทลี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มาร์เก็ตบัซซ จำกัด กล่าวว่า “นักเศรษฐศาสตร์ให้ความสนใจในการวัดความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพราะเป็นสิ่งที่สามารถนำไปคาดการณ์ดัชนีทางเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาข้อมูลความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในหนึ่งเดือนสามารถใช้ทำนายทุกอย่างได้ตั้งแต่อัตราการจ้างงานไปจนถึงการใช้จ่ายในหลายเดือนข้างหน้าเพื่อคาดการณ์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยหลายๆ อย่าง สินค้าบางประเภทมีตัวเลขการใช้จ่ายลดลงอย่างที่คาดการณ์ไว้ และใกล้เคียงกับสิ่งที่เราเคยประสบจากการระบาดรอบแรก อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือคนไทยจะรับมืออย่างไรในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดว่าจะประสบปัญหาทางเศรษฐกิจต่อไปในอนาคตหรือไม่”
การเริ่มต้นของปีเหมือนเพิ่งจะผ่านไป การระบาดของโรคสร้างผลกระทบอย่างมากมายให้แก่ทุกๆ คน สิ่งสำคัญสำหรับประเทศคือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และที่สำคัญยิ่งกว่าในปัจจุบันนี้คือ การจับตาดูพฤติกรรมและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เพื่อคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มในการสร้างความยั่งยืนและเอาชนะการระบาดของโรคนี้ไปด้วยต่อไป
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด * * *
SMEs manager