xs
xsm
sm
md
lg

ปลดล็อกกัญชา ... ความหวังของผู้ประกอบการและ ร้านอาหารไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การปลดล็อกกัญชา เพื่อนำส่วนประกอบกัญชาที่ไม่ได้เป็นยาเสพติดมาใช้ประโยชน์ ได้รับความสนใจจากคนไทยทั้งประเทศ หลายคนคาดหวังจะมีรายได้จากการทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกัญชาในอนาคต ด้วยเหตุนี้เอง ที่ผ่านมา การจัดกิจกรรมเผยแพร่องค์ความรู้ การนำส่วนประกอบกัญชาที่ไม่ใช่ยาเสพติดมาใช้ประโยชน์ ครั้งที่ 1 ของกรมการแพทย์แผนไทยและกรมการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้รับการตอบรับมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก


สำหรับการจัดกิจกรรมดังกล่าว ได้มีการนำผู้ประกอบการที่จำหน่ายสินค้าและอาหารเพื่อสุขภาพที่มีส่วนผสมของกัญชา มาร่วมออกบูทเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ทดลองใช้ และลองชิม ว่าอาหารและผลิตภัณฑ์ที่ส่วนผสมของกัญชา จะออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งผู้ประกอบการที่ร่วมออกบูทในครั้งนี้ จะจำหน่ายสินค้าส่วนผสมของกัญชาได้ภายในงานนี้เท่านั้น และอยู่ในการควบคุมการผลิตของกรมการแพทย์แผนไทยฯ ยังไม่สามารถผลิตและนำไปจำหน่ายได้จริงในช่วงเวลาปกติ

นายกันตพัฒน์ พัชรสุวิวัฒน์
ร้านอาหารตัวแทน จ.นนทบุรี นำเมนูกัญชาเสิร์ฟลูกค้า

โดยผู้ประกอบการที่เข้าร่วมออกบูทในกิจกรรมครั้งนี้ “นายกันตพัฒน์ พัชรสุวิวัฒน์” ซึ่งเป็นตัวแทนจังหวัดนนทบุรี ได้นำข้าวขาหมูงามวงศ์วาน ข้าวแกง น้ำสมุนไพร ข้าวเหนียวมะม่วง และ คุกกี้ ซึ่งอาหารและเครื่องดื่มที่นำมาจำหน่ายในงานครั้งนี้ จะมีส่วนผสมของกัญชา ที่ทางกรมการแพทย์แผนไทยฯ เป็นผู้กำหนด และจัดหากัญชามาให้ใช้เป็นส่วนผสมในครั้งนี้ โดยทางร้านจะไม่มีสิทธิ์ที่จะนำอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาไปจำหน่ายเองหลังจากจบงาน

นายกันตพัฒน์ กล่าวว่า รู้สึกยินดีอย่างมากที่ทางกรมการแพทย์แผนไทย ฯ ได้จัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้นมา และได้เชิญให้เราเป็นตัวแทนจังหวัดนนทบุรี ในการนำอาหารส่วนผสมของกัญชาที่ไม่ใช่ยาเสพติดมาร่วมจำหน่ายในงานครั้งนี้ โดยก่อนการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ทางกรมการแพทย์แผนไทยฯ จะให้ผู้ประกอบการที่ได้เข้าร่วมออกบูทเข้ารับการอบรม ก่อนการนำส่วนผสมของกัญชาที่ไม่ใช่ยาเสพติดมาปรุงเป็นอาหาร เพื่อจะได้รู้ว่าจะต้องใช้กัญชาอย่างไรให้ถูกต้องและไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค และทางผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพราะปัจจุบันรัฐบาลเองยังไม่ได้ออกกฎหรืออนุญาตให้ร้านอาหาร หรือ ผลิตภัณฑ์อื่นๆ นำกัญชามาใช้ได้อย่างถูกกฎหมายในร้านอาหาร


กัญชาช่วยรสชาติอาหารและเครื่องดื่มดีขึ้น

ทั้งนี้ หลังจากอบรมแล้ว ทางกรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้จัดกัญชามาให้เพื่อให้เรานำไปใช้เพื่อปรุงอาหาร ในสัดส่วนที่กำหนด ซึ่งพบว่า การเติมกัญชาลงไปในอาหารทุกชนิดที่เรานำมาจำหน่าย ช่วยให้รสชาติอาหารดีขึ้นมาก เช่น น้ำสมุนไพร ที่นำมาจำหน่ายในครั้งนี้ ประกอบด้วย มะตูม กระเจี๊ยบ ชามะนาว และเก็กฮวย ซึ่งใช้ส่วนผสมของกัญชาในรูปแบบของผงกัญชาเติมลงไปในเครื่องดื่ม สิ่งที่เห็นได้ชัด คือ กลิ่นช่วยให้เครื่องดื่มหอมเหมือนกลิ่นชาที่ได้จากกัญชา คนที่ชื่นชอบการดื่มชา น่าจะชอบเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา

สำหรับในส่วนของข้าวขาหมูเราจะใส่ใบกัญชาสด ลงไปตุ๋นพร้อมกับขาหมู ใช้เวลาตุ๋นทั้งหมด 6-7 ชั่วโมง ซึ่งกัญชาช่วยทำให้รสชาติของขาหมูนัวขึ้น สามารถนำไปทดแทนการเติมผงชูรสได้ ในขาหมูอาจจะไม่ได้เรื่องกลิ่นมากนัก แต่ได้เรื่องของรสชาติที่ดีขึ้น ส่วนในคุกกี้ นำไปใช้ส่วนผสมของเนย ต้มไปพร้อมกับเนย เพราะใบกัญชาจะปล่อยสาร THC เมื่อไปโดนความร้อนที่มีส่วนผสมของน้ำมัน หรือ กะทิ ซึ่งความมันของ น้ำมัน หรือ กะทิ จะช่วยดึงสาร THC ออกมา และนำเนยไปปรุงเป็นส่วนผสมของการทำคุกกี้ต่อไป และนำใบกัญชาสดมาวางไว้บนคุกกี้ ก่อนนำไปอบอีกครั้ง เพื่อให้ลูกค้ารู้ว่า เราเป็นคุกกี้ที่มีส่วนผสมของกัญชา


ในส่วนของข้าวเหนียวมูล เติมผงกัญชาลงไปในส่วนผสม จะได้เรื่องรสชาติ เหมือนกับการเติมชาลงไป แต่จะได้สีข้าวเหนียวมูลที่จะออกสีเขียว ทำให้ดูน่ากินมากขึ้น ส่วนของแกงก็จะใช้ใบกัญชาสด เติมลงไปในเครื่องแกง ตามสัดส่วนที่กำหนด ซึ่งก่อนที่เราจะปรุงอาหารแต่ละอย่าง ต้องดูด้วยว่า จะต้องใส่ใบกัญชา หรือ ส่วนผสมของกัญชาเท่าไหร่ที่ทำให้รสชาติของอาหารดี เพราะถ้าใส่มากเกินไป รสชาติอาหารของเราก็อาจจะไม่นัว หรือ ถ้าใส่น้อยไปก็ไม่ได้เพิ่มรสชาติ แต่ทุกอย่างก็ต้องมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคด้วย


ผู้บริโภคคนไทยตื่นตัวกับเมนูส่วนผสมกัญชา

หลังจากได้ออกบูท จำหน่ายอาหารที่ส่วนผสมของกัญชา ในกิจกรรมของกรมการแพทย์แผนไทยฯ ในครั้งนี้ ทำให้เรารู้ว่า คนไทยตื่นตัวและให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา โดยเฉพาะอาหารเพราะทุกคนทราบถึงสรรพคุณที่ดีของกัญชาถ้านำมาใช้อย่างถูกวิธี ถ้าทางภาครัฐ อนุญาตให้นำกัญชามาใช้กับอาหารจำหน่ายได้ ทางเราก็พร้อมที่จะนำกัญชามาเป็นอีกหนึ่งเมนูของอาหารที่เราทำจำหน่ายอย่างแน่นอน

ในส่วนต้นทุนของกัญชา ที่นำมาใส่ในอาหาร เนื่องจากครั้งนี้ ทางกรมการแพทย์แผนไทยฯ จัดหามาให้ ฟรี ทำให้เรายังไม่รู้ต้นทุนที่แน่นอน แต่คิดว่า อนาคตถ้ามีการปลูกกันมาก ต้นทุนถูกลง ไม่น่าจะทำให้ต้นทุนอาหารของเราเพิ่มขึ้นมากนัก ราคาขายก็อาจจะเพิ่มขึ้นจากปกติไม่มากเช่นกัน ส่วนผลตอบรับในงาน ต้องบอกว่า ดีมาก อาหารที่เรานำมาจำหน่ายทั้งสองวัน ก็ขายหมด ลูกค้าซื้อไปกินวันแรกก็กลับมาซื้ออีกในวันถัดมา เพราะชื่นชอบในรสชาติ อย่างไรก็ดี กัญชาเป็นแค่ส่วนหนึ่งในการชูรส แต่รสชาติที่ดีต้องมาจากรสชาติการปรุงอาหารของเราด้วย

นายองอาจ ปัญญาชาติรักษ์
วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ เพชรล้านนา จ.ลำปาง

ด้านนายองอาจ ปัญญาชาติรักษ์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์ เพชรล้านนา จ.ลำปาง เป็นหนึ่งในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ได้มีการปลูกกัญชาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และปัจจุบันมีผลผลิตพร้อมจำหน่าย บนพื้นที่ 4 ไร่ ซึ่งทางกลุ่มมีสมาชิกทั้งหมด 300 กว่าราย รวมตัวกันปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ที่เป็นเกษตรอินทรีย์ มานานกว่า 30 ปี พืชที่ปลูกส่วนใหญ่จะเป็นผลไม้ เช่น ส้มโอ ฯลฯ และปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ หมู ควาย

สาเหตุที่กลุ่มของเราสนใจการปลูกกัญชา เพราะทราบว่ากัญชาเป็นตำรับยาแพทย์แผนไทย ที่นำมาทำยาและได้ผลที่ดี ที่ผ่านมา เราได้เห็นคนเจ็บป่วย หาวิธีการรักษาต่างๆ นานา บางคนก็ไปโดนหรอกให้ซื้อยาทางออนไลน์ ต้องเสียเงินไปเป็นจำนวนมาก ไม่ได้ช่วยอะไร ซึ่งกัญชามีผลการวิจัยรับรองว่า สามารถช่วยให้คนที่เจ็บป่วยบางโรคให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น และยังช่วยคลายเครียดได้ ปัจจุบันคนไทย ก็เป็นโรคเครียดกันเยอะมาก น่าจะมีอาหารที่ช่วยให้คนไทยได้คลายจากอาการเครียด และกัญชา ยังมีสรรพคุณอีกมากมาย และที่สำคัญเราก็อยากเห็นคนไทยกินอาหารเป็นยา มากกว่ากินยาเป็นอาหาร


ปลูกกัญชาถูกกฎหมายต้องใช้ทุนเยอะ

สำหรับพื้นที่การปลูกกัญชาของ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ เพชรล้านนา จำนวน 4 ไร่ กัญชาที่ปลูกทั้งหมด 2,000 ต้น ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถปลูกได้อย่างถูกกฎหมาย ระยะเวลาในการปลูก 5-6 เดือน ลงทุนไปกว่า 5 ล้านบาท ที่ต้องลงทุนสูง เพราะกฎระเบียบที่ยังไม่ปลดล็อก ทำให้การปลูกกัญชาของเราต้องลงทุนสูง ไม่ว่าจะเป็นการปลูกในโรงเรือนที่เราต้องลงทุนโรงเรือน ป้องกันสารปนเปื้อน ควบคุมสารอาหารเพื่อให้ได้กัญชาที่ให้สารที่ตรงกับตำรับยา และกฎระเบียบยังกำหนดให้เราต้องทำรั้ว และติดกล้องวงจรปิดป้องกันการลักลอบนำกัญชาไปจำหน่ายแบบไม่ถูกต้องด้วย

ส่วนผลผลิตกัญชาที่ได้ ตอนนี้ นำส่งมาให้กับทางกรมการแพทย์แผนไทย ฯ เท่านั้น และบางส่วนก็นำมาใช้ประกอบอาหารจำหน่ายที่ร้านอาหาร โดยส่วนของกัญชาที่นำมาใช้หลัก คือ ในส่วนของใบสด ลำต้น และราก โดยนำมาทำเป็นชาอบแห้ง นำมาเป็นส่วนผสมในการทำขนมปังสด ขนมเปี๊ยะ การทำเมนูอาหารต่างๆ ฯลฯ จำหน่ายภายในร้าน ที่กลุ่มวิสาหกิจฯ ลำปาง ผลตอบรับจากลูกค้าค่อนข้างดี หลายคนพึ่งพอใจกับรสชาติอาหารที่ส่วนผสมของกัญชา


อย่างไรก็ดี การปลูกกัญชาให้เติบโตได้ดี พบว่าจะต้องปลูกภายนอกโรงเรือน เพราะได้รับแดด และเจริญเติบโตได้ดีกว่า ดังนั้น บางส่วนนำมาปลูกภายนอกโรงเรือน แต่ที่สิ่งสำคัญ จะต้องเป็นการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ และทางกลุ่มของเราเป็นกลุ่มเกษตรอินทรีย์อยู่แล้ว จึงสามารถควบคุมเรื่องสารปนเปื้อนได้ เพราะกัญชาไวในการดูดซับสารปนเปื้อน

 อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
สร้างธุรกิจจากกัญชา ควรรู้อะไรบ้าง

อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ กล่าวในเวทีการเสวนา “การนำองค์ความรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิมในการนำกัญชามาปรุงอาหาร” ณ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จังหวัดนนทบุรี”ว่า การนำส่วนประกอบของกัญชาที่ไม่ใช่ยาเสพติดมาใช้ประโยชน์ นั้น ผู้ประกอบการให้ความสนใจกันมาก เพราะหลายๆ มองเห็นโอกาสในการสร้างธุรกิจ จากกัญชา การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ช่วยให้ผู้ประกอบการ มาเจอผู้ผลิต เพราะมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ปลูกกัญชาได้มาร่วมออกบูท และนำผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชามาให้ได้ทดลองชิม ทดลองใช้กัน

สำหรับการนำส่วนประกอบของกัญชาที่ไม่ใช่ยาเสพติด ที่สามารถมาใช้ได้นั้น มีตั้งแต่ ใบ ราก ลำต้น เมล็ด โดยวัดตั้งแต่ช่อดอกลงมาคืบนึง ทุกส่วนตรงนั้น สามารถนำมาใช้ได้ทั้งหมด แต่ทั้งหมดทั้งมวล ผู้ประกอบการจะต้องทราบว่าจะนำกัญชาไปใช้ทำอะไร และต้องใช้ในสัดส่วนเท่าไหร่ เช่น การนำไปทำอาหารต้องทราบว่า กัญชา ถ้าผ่านความร้อน แล้วจะให้สารอะไร สิ่งที่องค์การอาหารและยา กลัวที่สุด คือ เมื่อนำกัญชาสดมาผ่านความร้อนให้สาร THC ซึ่งทำให้เกิดอาการเมาได้ถ้ามีปริมาณมากๆ แต่ถ้ากินสดจะให้สาร THCA ไม่ทำให้เมา และถ้ากินต่อเนื่องนาน ทำให้เกิดอาการหลอนคลาดกลัวได้

ในส่วนของผู้ปลูกกัญชา จะต้องทราบว่า กัญชานั้นสามารถดูดซับสารปนเปื้อนได้ไวมาก ถ้าเราปลูกในพื้นที่มีสารเคมี หรือสารปนเปื้อน กัญชาเหล่านั้น ก็จะนำมาใช้ประโยชน์ หรือ จำหน่ายไม่ได้เลย ถ้าผู้ซื้อตรวจพบสารปนเปื้อนในกัญชาของเรา ก็จะไม่ซื้อเลย ทำให้ขาดทุนได้เหมือนกันถ้าขายไม่ได้


การขึ้นทะเบียน อย.ไม่ใช่เรื่องง่ายในเวลานี้

ในส่วนของ อย.เอง การขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์จากกัญชา ผู้ประกอบการอาจจะต้องเจอขั้นตอนที่ยุ่งยากในช่วงนี้ เพราะทางอย. เขาก็ยังไม่มีประสบการณ์ ดังนั้น กลุ่มที่ อย.น่าจะให้ขึ้นทะเบียนได้ก่อน น่าจะเป็นกลุ่มเวชสำอางที่ใช้ภายนอก เพราะเป็นการใช้ภายนอก แต่ถ้ากลุ่มเสริมอาหารที่ต้องกิน อาจจะยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนในตอนนี้ หรือในส่วนของการนำไปประกอบการอาหาร ถ้าเป็นการประกอบการอาหารกินกันเองภายในครัวเรือน ก็อาจจะทำได้ แต่ถ้าเป็นร้านอาหาร ซึ่งไม่ได้ขึ้นกับอย.ตรงนี้ สามารถทำจำหน่ายในร้านอาหารได้ แต่ต้องได้กัญชา จากแหล่งปลูกที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ในส่วนของการนำไปทำอาหาร ถ้าทำจำหน่าย อาจารย์ปานเทพ บอกว่า การใส่มากน้อย ทำให้รสชาติออกมาไม่เหมือนกัน ดังนั้น สิ่งสำคัญ คนที่ปรุงอาหารเขาต้องรู้ว่า นำกัญชาไปปรุงกับอาหารแบบไหน และให้รสชาติแบบไหน ถ้าเขาใส่มากไปและคนกินเขากินเข้าไปแล้วเมา ต่อไปเขาก็ไม่มากินอีก หรือ ใส่จนทำให้รสชาติผิดเพี้ยนไป หรือไม่อร่อย ผู้บริโภคเขาก็ไม่ซื้อกินเช่นกัน ทั้งนี้ การใส่มากน้อย ร้านอาหารจะต้องรู้เองว่า จะใช้ประโยชน์จากกัญชาไปช่วยชูรส อาหารของเขาได้อย่างไร และใส่ขนาดไหนทำให้คนกินไม่เมา และกลับมาซื้อเราอีก

เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม
ปลดตำรับยากัญชาแผนไทย 5 ตำรับ จากบัญชียาเสพติด

ด้าน เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยความคืบหน้าการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาทางการแพทย์ว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ที่ให้เสพเพื่อรักษาโรคหรือการศึกษาวิจัยได้ พ.ศ. 2564 ปลดตำรับยากัญชาแผนไทย 5 ตำรับที่มีส่วนประกอบของใบและกิ่งก้านกัญชาจากบัญชีตำรับยาเสพติดให้โทษ ได้แก่ ยาศุขไสยาศน์ ยาแก้นอนไม่หลับ/ยาแก้ไข้ผอมเหลือง ยาแก้ลมแก้เส้น ยาทาริดสีดวงทวารหนักและโรคผิวหนัง และยาแก้โรคจิต ภาคเอกชนสามารถขอผลิตยาดังกล่าวได้ที่กองผลิตภัณฑ์สมุนไพร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป

สอบถามรายละเอียดได้ที่ศูนย์บริการผลิตภัณฑ์สุขภาพเบ็ดเสร็จ (OSSC) โทร. 0-2821-5509 ผู้มีใบอนุญาตปลูกกัญชาสามารถขายผลผลิตให้กับผู้ผลิตยาแผนไทย นำไปผลิตยาทั้ง 5 ตำรับ โดยเฉพาะยาศุขไสยาศน์ที่มีสรรพคุณช่วยให้นอนหลับ เจริญอาหาร และมีปริมาณการใช้สูง ให้ประชาชนเข้าถึงยาจากกัญชาสะดวกขึ้นผ่านคลินิกแพทย์แผนไทยและแผนไทยประยุกต์ทั่วประเทศ


กัญชาจากแหล่งถูกกฎหมายนำทำเมนูขายในร้านอาหารได้

รองเลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ขณะนี้ยังมีข้อสงสัยเรื่องการใช้ใบกัญชา อย. ขอเรียนว่า ประชาชนสามารถใช้ใบกัญชา กัญชงไปประกอบอาหาร เพื่อดูแลสุขภาพตนเองและครอบครัว หรือใช้ตามวิถีภูมิปัญญาได้โดยไม่ต้องขออนุญาตและทำรายงานใด ๆ ส่ง อย. แต่ขอให้ใบมาจากแหล่งที่ถูกกฎหมายเท่านั้น ส่วนการแปรรูปกัญชา กัญชงเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อจำหน่ายต้องขอเลข อย. ก่อน จึงจะจำหน่ายได้ ที่สำคัญ ผู้ปรุงอาหารไม่จำเป็นต้องผ่านหลักสูตรอบรมก็สามารถขายเมนูอาหารจากกัญชาในร้านอาหารได้

ทั้งนี้ หลักสูตรอบรมผู้ปรุงอาหารที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ประชาสัมพันธ์ไปก่อนหน้านี้ เป็นหลักสูตรภาคสมัครใจสำหรับผู้ที่ต้องการเพิ่มความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกัญชาและการปรุงอาหารจากกัญชา ไม่ใช่หลักสูตรบังคับแต่อย่างใด หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสอบถามที่สายด่วน อย. 1556 กด 3


* * *คลิกLikeเพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ"  รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด * * *

SMEs manager


กำลังโหลดความคิดเห็น