xs
xsm
sm
md
lg

“เอ็มเทค” สร้างมูลค่า “ยางพารา” ผ่านงานวิจัย ยกระดับการแปรรูปเพื่อสร้างความหลากหลาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโจทย์งานวิจัย เพื่อให้เกิดการนำไปใช้จริง ซึ่งยางพาราถือเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ ที่สามารถนำไปพัฒนาและต่อยอดได้หลากหลายมากขึ้น พร้อมยกตัวอย่างงานวิจัยที่ได้พัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ คาดว่าสามารถก่อให้เกิดเป็นมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท


ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. กล่าวว่า เอ็มเทคให้ความสำคัญกับการพัฒนาโจทย์วิจัยเพื่อให้เกิดการนำไปใช้งานจริงและก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสังคม โดยทำงานร่วมกับพันธมิตรที่มีบทบาทในการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ตัวอย่างเช่น ยางพารา พืชเศรษฐกิจของประเทศที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูงและมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามแนวทาง BCG Economy Model ทั้งนี้เป้าหมายของการวิจัยด้านยางพาราของเอ็มเทค สวทช. คือการยกระดับภาคการผลิต เพื่อช่วยเกษตรกรและอุตสาหกรรมในระดับต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ สร้างผลงานที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงและก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเป็นมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท

“เริ่มจากน้ำยางสดและน้ำยางข้นที่ใช้เทคโนโลยีสารต่างๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ สารรักษาสภาพน้ำยางสดเพื่อการแปรรูปยางแผ่น ช่วยลดมลพิษตกค้างในพื้นที่สวนยางกว่า 3,700 ไร่ น้ำยางข้นสำหรับผสมกับแอสฟัลต์ซีเมนต์เพื่อทำถนน ทดแทนการใช้น้ำยางข้นทางการค้า มีการนำไปใช้ทำถนนลาดยางกว่า 4,610 กิโลเมตรใน 73 จังหวัดทั่วประเทศ การนำกลับเนื้อยางจากของเหลือทิ้งและ by product ในอุตสาหกรรมน้ำยางข้นกลับมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าและเป็นการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้แก่โรงงานน้ำยางข้นเพื่อให้อุตสาหกรรมน้ำยางข้นของไทยเป็นอุตสาหกรรม Zero Rubber Waste จนถึงระดับผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในงานวิศวกรรมหรือใช้ในอุตสาหกรรม โดยการพัฒนาสูตรยางสำหรับผลิตภัณฑ์ยางที่มีคุณภาพสูงให้มีสมบัติตามความต้องการของอุตสาหกรรม ผ่านเกณฑ์ข้อกำหนดตามมาตรฐานด้วยต้นทุนในการผลิตที่สามารถแข่งขันได้ และช่วยแก้ปัญหาให้อุตสาหกรรมกว่า 50 บริษัท”



สำหรับในปี 2564 มีงานวิจัยที่อยู่ในขั้นตอนการทดสอบระดับอุตสาหกรรมและพร้อมส่งมอบ ได้แก่ สารช่วยให้น้ำยางจับตัว ช่วยลดปัญหาเรื่องกลิ่น ทำเป็นยางก้อนถ้วยที่มีสมบัติเทียบเท่าเดิมและต้นทุนราคาที่ไม่เพิ่มขึ้น การลดปริมาณโปรตีนในถุงมือยางโดยร่วมมือกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เพื่อขยายโอกาสการเปิดตลาดของอุตสาหกรรมถุงมือยางธรรมชาติของไทย และผลิตภัณฑ์ยางรูปแบบใหม่เพื่อการเล่นและการเรียนรู้

ซึ่งงานวิจัยยังมีส่วนในการช่วยแก้ปัญหาต่างๆ เช่น นวัตกรรมการผลิตยางก้อนถ้วยและยางแท่งไร้กลิ่น เกิดจากยางก้อนถ้วยเป็นวัตถุดิบหลักของการผลิตยางแท่ง STR10 และ STR20 ซึ่งในการผลิตยางก้อนถ้วยนี้ต้องใช้กรดบางชนิดเพื่อให้น้ำยางสดจับตัวเป็นก้อน กระบวนการนี้ต้องใช้เวลาอยู่หลายวันจึงจะได้เต็มถ้วย และในช่วงเวลานั้นก็ก่อให้เกิดการบูดเน่าของก้อนยาง เกิดสารระเหยที่มีกลิ่นเหม็น สร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้างตั้งแต่สวนยาง จุดรับซื้อ โรงานผลิต รวมไปถึงชุมชนโดยรอบ ซึ่งนวัตกรรมตรงนี้จะเข้ามาช่วยในการแก้ปัญหา ในการผลิตยางก้อนถ้วยและยางแท่งแบบใหม่ ป้องกันการเกิดกลิ่นเหม็นจากการทำปฏิกิริยาของแบคทีเรียกับองค์ประกอบในน้ำยาง ลดระยะเวลาการบ่มยางก้อนถ้วยก่อนนำเข้ากระบวนการผลิต และยังสามารถเพิ่มคุณภาพในการผลิตอีกด้วย เหมาะสำหรับกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง รวมไปถึงผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง


นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ถุงมือยางธรรมชาติโปรตีนต่ำ เกิดจากถุงมือยางธรรมชาติที่ผลิตจากน้ำยางมีองค์ประกอบของโปรตีนอยู่ประมาณ 1% ซึ่งเป็นโปรตีนที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ในกลุ่มผู้ใช้งาน ซึ่งงานวิจัยนี้จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาในส่วนนี้ ที่จะช่วยลดปริมาณโปรตีนที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ ทั้งยังยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้สามารถแข่งขันได้ เหมาะสำหรับผู้ประกอบการผลิตถุงมือยางธรรมชาติ รวมไปถึงผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ และตัวอย่างในงานวิจัยชิ้นสุดท้ายคือ ผลิตภัณฑ์ยางเพื่อการเล่นและการเรียนรู้ การนำยางพารามาประยุกต์ใช้ในการผลิตของเล่นเด็กเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมการแปรรูปยางพารา ซึ่งมีถึง 3 ผลิตภัณฑ์ คือ Para Note ยางพาราสำหรับขีดเขียน คล้ายชอล์ก สามารถเขียนได้ทั้งบนกระดานหรือพื้นผิวขรุขระได้ ไม่มีฝุ่นฟุ้งกระจาย Para Dough ผลิตภัณฑ์ดินปั้นจากยางพารา คล้ายแป้งโดว์ ซึ่งสามารถขึ้นรูปได้ง่าย ไม่แห้งแข็ง หากทิ้งไว้เป็นเวลานาน และสุดท้าย Para Sand/Clay ผลิตภัณฑ์ยางพาราที่มีลักษณะเป็นผง แต่สามารถปั้นหรืออัดขึ้นรูปได้ หากต้องการให้กลับมาเป็นผงเหมือนเดิม เพียงแค่เขย่าก็สามารถกลับมาเป็นแบบเดิมได้ ขณะนี้ก็พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ผู้ที่สนใจ


อย่างไรก็ตามกระบวนการผลิตยางตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำนั้น ต้องตระหนักถึงการสร้างมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม ทีมวิจัยเอ็มเทคจึงได้เตรียมพัฒนากระบวนการผลิตยางแบบใหม่ ที่เรียกว่า “มาสเตอร์แบตช์ (Masterbatch) ยางธรรมชาติผสมสารตัวเติมด้วยกระบวนการแบบต่อเนื่อง เพื่อรองรับการผลิตยาง ตลอดจนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยาง เพื่อช่วยสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการไทยให้เป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในและต่างประเทศด้วย

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ


กำลังโหลดความคิดเห็น