xs
xsm
sm
md
lg

Funding Societies แพลตฟอร์มระดมทุนใหญ่สุดในอาเซียน เปิดตัวในไทย เติมความหวัง SMEs ไทย ช่วงโควิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายวารุน บันดารี กรรมการผู้จัดการใหญ่ Funding Societies ประเทศไทย
การเข้ามาของแพลตฟอร์มเงินทุนดิจิทัล หรือ แพลตฟอร์มการระดมทุนจากต่างประเทศ เริ่มมีให้เห็นมากขึ้นในประเทศไทย ซึ่งหลายคนเกิดความสงสัย ว่าแพลตฟอร์มต่างประเทศเหล่านั้น มองเห็นโอกาสอะไรถึงสนใจที่จะเข้ามาระดมทุนให้กับ SMEs และ สตาร์ทอัพในประเทศไทย




แพลตฟอร์มระดมทุนจากปท.สิงคโปร์

ล่าสุด Funding Societies แพลตฟอร์มเงินทุนดิจิทัลสำหรับ SMEs รายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่ได้เปิดตัวในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ หลังได้รับใบอนุญาตการเป็นผู้ให้บริการระบบคราวด์ฟันดิ้งหรือแพลตฟอร์มระดมทุนโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา

สำหรับ Funding Societies คือแพลตฟอร์มเงินทุนดิจิทัล ที่มาจากประเทศสิงคโปร์ ได้ดำเนินกิจการมาตั้งแต่ปี 2558 โดยบริษัทได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการระดมทุนอย่างถูกต้องทั้งในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย และเมื่อเร็ว ๆ นี้ และได้เข้าไประดมทุนให้กับนักลงทุน และสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ทั้งในสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย มาแล้วจำนวน 65,000 ราย ด้วยการระดมทุนรวมมากกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ หรือ 4 หมื่น 5 พันล้านบาท Funding Societies ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทนักลงทุนที่มีความน่าเชื่อถือเข้าร่วมระดมทุนผ่านแพลตฟอร์มของ Funding Societies อาทิเช่น Sequoia India, Softbank Ventures Asia Corp, Qualgro, LINE Ventures ฯลฯ


วัตถุประสงค์การเปิดแพลตฟอร์มในไทย

นายวารุน บันดารี กรรมการผู้จัดการใหญ่ Funding Societies ประเทศไทย กล่าวว่า วัตถุประสงค์บริษัทเข้ามาเปิดแพลตฟอร์มระดมทุนในประเทศไทยครั้งนี้ เพราะเรามองเห็นศักยภาพของ SMEs และสตาร์ทอัพ ที่มีอยู่หลายล้านรายในประเทศไทย จึงได้เข้าเพื่อมอบโอกาสที่ดีให้กับผู้ประกอบการเหล่านั้น ผ่านการระดมทุนทั้งจากนักลงทุนรายบุคคลและนักลงทุนสถาบัน ซึ่ง Funding Societies ก่อตั้งขึ้นจากความเชื่อที่ว่าธุรกิจ SMEs ที่มีศักยภาพ ควรได้รับโอกาสทางการเงินที่เท่าเทียม บริษัทฯ จึงมุ่งมั่นที่จะนำเสนอช่องทางการลงทุนรูปแบบใหม่ที่น่าสนใจแก่นักลงทุน เพื่อมอบโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ แม้ว่าประเทศไทยจะมีผู้ประกอบการ SMEs มากกว่า 3 ล้านราย แต่มากกว่าครึ่งกำลังประสบปัญหาการไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้น ตามที่ระบุในข้อมูลของบริษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC) บรรดาสถาบันการเงินรูปแบบเดิมมักให้ความสำคัญแต่กับการให้เงินทุนระยะยาวโดยต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดช่องว่างทางการเงินแก่ธุรกิจ SMEs มากกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์ ภาวะขาดแคลนเงินทุนนี้ยิ่งทวีความเลวร้ายมากขึ้น ระหว่างการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากสถาบันการเงินต่างพยายามลดอัตราการปล่อยสินเชื่อให้น้อยลงเพื่อลดความเสี่ยงขององค์กร

“ธุรกิจ SMEs มีสัดส่วนในผลผลิตมวลรวม (GDP) ภายในประเทศของประเทศไทยมากกว่า 40% แต่กลับต้องเผชิญปัญหามากมายในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินรูปแบบเดิม เนื่องจากขาดแคลนหลักทรัพย์เพื่อค้ำประกัน รวมถึงข้อกำหนดการยื่นเอกสารที่ยุ่งยาก และขั้นตอนการอนุมัติที่ใช้เวลานาน"


นำเทคโลโนยี AI มาช่วยให้ระดมทุนได้เร็ว และง่ายขึ้น

กรรมการผู้จัดการใหญ่ Funding Societies ประเทศไทย กล่าวถึงการทำงาน Funding Societiesว่า “ Funding Societies ได้มีการนำเทคโนโลยีล้ำสมัยอย่าง AI เข้ามาช่วย ทำให้สามารถนำแสนอรูปแบบการระดมทุนแบบใหม่ๆ ที่รวดเร็ว สะดวก และไม่แพงจนเกินไป ช่วยให้นักลงทุนชาวไทยมีโอกาสกระจายการลงทุนในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น และได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่สม่ำเสมอและสูงกว่าเมื่อเทียบกับหุ้นกู้ชนิดอื่นๆ อีกทั้งยังได้ร่วมสนับสนุนธุรกิจและแบรนด์สินค้าในประเทศไปพร้อมๆ กัน”

ในส่วนของผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับการระดมทุน ผ่านFunding Societies ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้หลักทรัพย์ในการค้ำประกัน เพราะที่ผ่านมาธุรกิจ SMEs ส่วนใหญ่ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ เพราะปราศจากหลักทรัพย์คำประกัน ครั้งนี้ ทาง Funding Societies เราจึงให้ SMEs สามารถระดมทุนได้โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน โดย SMEs ผ่านการอนุมัติและพิจารณาจากเรา ด้วยวิธีการที่เป็นแบบเฉพาะของ Funding Societies ที่ SMEs จะไม่ต้องใช้เวลารอนาน เพียงแค่ 24 ชั่วโมง สามารถพิจารณาและอนุมัติได้ทันที

สำหรับ SMEs ที่ผ่านการระดมทุนจากแพลตฟอร์มของเราจะมีเงินทุนหมุนเวียน และเงินทุนสนับสนุนโครงการล่วงหน้าให้ ด้วยเทคโนโลยีเฉพาะกรรมสิทธิ์ของเรา ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษสำหรับประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 5 แต่เราพยายามทำอัตราดอกเบี้ยให้กับ SMEs ไทยในอัตราร้อยละ 2 และสามารถอนุมัติให้ได้ภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในอนาคต ซึ่งจากประสบการณ์ในหลายๆ ประเทศที่เราเข้าไปให้บริการ ผ่านแพลตฟอร์ม Funding Societies ทำให้เรามั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

โดยผู้ประกอบการ SMEs หรือ สตาร์ทอัพที่สนใจต้องการจะระดมผ่านแพลตฟอร์ม Funding Societies แค่กรอกรายละเอียด สมัครผ่านระบบออนไลน์ และยื่นเอกสารพื้นฐาน โดยรอรับการอนุมัติเร็วสุดภายใน 3 วัน Funding Societies ยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรในระดับภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นบริษัท E-commerce ชั้นนำ อาทิเช่น บริษัท Lazada และ บริษัท Zilingo รวมไปถึงธนาคารแนวหน้าอย่าง ธนาคาร CIMB เพื่อร่วมให้บริการด้านเงินทุนกับธุรกิจ SMEs ในระบบนิเวศของพวกเขาอีกด้วย


บริหารความเสี่ยงด้วยเทคโนโลยีและทีมงานมืออาชีพ

อย่างไรก็ดี ในเร็วๆ นี้ ทางแพลตฟอร์มการระดมทุนของ Funding Societies จะเปิดให้นักลงทุนชาวไทยสามารถที่จะเข้าระดมทุน ในหุ้นกู้ประเภทต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้นผ่านแพลตฟอร์มของเขา และ จากประสบการณ์และทีมงานมืออาชีพ ที่ผ่านมา Funding Societies มีความสามารถในการบริหารความเสี่ยง โดยยังจำกัดอัตราการผิดนัดชำระหนี้ได้ต่ำกว่า 2% จากยอดเงินทุนทั้งหมดที่เขาให้กับ SMEs ถึงแม้จะอยู่ในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็ตาม

โดยเป้าหมาย การเข้ามาเปิดแพลตฟอร์ม Funding Societies ในประเทศไทย ครั้งนี้ ในช่วงเริ่มต้นยังไม่สามารถที่จะบอกได้ว่า ตัวเลขการระดมทุนให้ SMEs จะอยู่ที่เท่าไหร่ และมีนักลงทุนเข้ามาลงทุนผ่านแพลตฟอร์มของเราเท่าไหร่ เพราะในช่วงปีแรกเป็นช่วงวลาในการศึกษาและทำความรู้จัก SMEs และนักลงทุนไทยให้ได้มากกว่านี้ เพื่อที่จะสามารถบอกได้ว่า เป้าหมายการระดมทุนของเราจะอยู่ที่เท่าไหร่

สำหรับประวัติ ของผู้ก่อตั้ง Funding Societies นายเคลวิน ทีโอ นอกจากเป็นผู้ก่อตั้ง Funding Societies ยังได้เป็นประธานร่วมของ Singapore Fintech Association’s Marketplace Lending Committee ตั้งแต่ปี 2018 และในปี 2020 เขาได้รับการเสนอชื่อ โดยสมาคมฯ ให้เป็นหนึ่งใน 12 อันดับแรกของผู้นำด้านฟินเทคในสิงคโปร์ ในฐานะของผู้มีอิทธิพลด้านฟินเทค 200 อันดับแรกในเอเชีย และก่อนหน้านี้ เคยดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาที่ KKR, McKinsey และ Accenture ด้วย




มารู้จักแพลตฟอร์ม และเวบไซต์ระดมทุนในไทย

สำหรับ แพลตฟอร์มและเวบไซต์การระดมทุน ที่เปิดให้บริการในประเทศไทยในปัจจุบัน ว่ามีแพลตฟอร์ม และเวบไซต์อะไรกันบ้าง และมีจุดประสงค์ในการช่วยระดมทุนให้กับ SMEs และ สตาร์ทอัพอย่างไร เริ่มที่ 1.Taejai.com เทใจดอทคอม ชุมชนการให้เพื่อคนไทย เป็นเวบไซต์ระดมทุนที่เกิดจากความต้องการช่วยเหลือกลุ่มคนที่อยากจะทำเรื่องดีดี เพื่อสังคม รายที่ 2. DURIAN CORP Where Angle Meet Unicorns คือ แพลตฟอร์มสร้างนวัตกรรมครบวงจร ที่นำเสนอแหล่งเงินทุนเพื่อสตาร์ทอัพ ที่มีนวัตกรรมและต้องการจะก้าวไปพร้อมกันในระดับยูนิคอร์น

รายที่ 3. Sinwattana สินวัฒนา คือ แพลตฟอร์ม จากประเทศสิงคโปร์ ที่เข้ามาดำเนินการในประเทศไทยอยู่หลายปี และได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) เปิดให้บริการระดมทุนแบบครบวงจร รายที่ 4.XUXU สู้สู้ แพลตฟอร์ม Crowfunding ของไทย โดยรวบรวมคนที่ชื่นชอบเหมือนกัน และสู้สู้ไปด้วยกัน พื้นที่สำหรับคนที่มีไอเดียเจ๋งๆ ที่ต้องการได้รับการสนับสนุน รายที่ 5. Dreamaker Equity Crowdfunding คลาวด์ฟันดิ้ง ที่เปิดลงทะเบียน เพื่อเปิดรับข้อมูลบริษัทที่ต้องการเปิดระดมทุน


การลงทุนหรือการระดมทุนแบบ Crowdfundingคืออะไร

สำหรับ การลงทุน หรือ การระดมทุน แบบCrowdfundingได้แบ่งออกเป็นสองประเภท คือ 1.Debt Crowdfunding 2. Equity Crowdfunding โดยแพลตฟอร์มการลงทุนหรือการระดมทุนทั้งสองแบบความแต่งต่างซึ่งสรุปมาได้ ดังนี้ คือ

Debt Crowdfunding ประเภทธุรกิจผู้ขอเงินทุน กลุ่มSMEs /Startup ต้องการเงินทุนเพื่อหมุนเวียน ผลตอบแทน ดอกเบี้ยต่ำ และความเสี่ยงของผู้ลงทุน ต่ำกว่า (มีโอกาสไม่ได้เงินต้นหรือดอกเบี้ยตามสัญญา) สถานะของบริษัท หรือผู้ขอเงินทุน เป็นลูกหนี้

Equity Crowdfunding ประเภทธุรกิจผู้ขอเงินทุน เป็นธุรกิจขนาดเล็ก/Startupต้องการเงินทุนในช่วงของการเริ่มต้นธุรกิจจ ผลตอบแทน ปันผลกำไร หรือ หุ้น ความเสี่ยงของผู้ลงทุน สูงกว่าDebt(มีโอกาสเสียเงินต้นทั้งหมด) สถานะของบริษัทหรือผู้ขอเงินทุน มีสิทธิในความเป็นเจ้าของ

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *

SMEs manager



กำลังโหลดความคิดเห็น