กระแสโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากเทคโนโลยีดิจิทัล จนทำให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวเพื่อหนีการไล่ล่าจากการถูกดิสรัปชั่น ยังไม่ทันจะคุ้นชิน ก็ถูกถาโถมด้วยการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว รัฐบาลประกาศชัดเจนว่าการพัฒนาประเทศนับจากนี้ไป จะต้องปรับตัวเพื่อสร้างความเข้มแข็งและมั่นคงให้กับประเทศชาติ นั่นคือการสร้างเศรษฐกิจบนพื้นฐานของนวัตกรรม เพื่อนำพาประเทศพ้นกับดักรายได้ปานกลางสู่ประเทศที่มีรายได้สูง
เพิ่มบริษัทฐานนวัตกรรมพันรายเป้าหมายล้านล้านบาท
การประชุมคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องด้านการส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรมและการพัฒนาปรับปรุงกฎหมาย กฎและระเบียบ ที่จัดโดย สำนักงานสภานโยบาย การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช) เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่าน ได้มีการหารือกันถึงประเด็นสำคัญ คือ กรอบการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) ของประเทศปี 2570 โดยตั้งเป้าการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.)ภายในปี 2570 ในมิติเศรษฐกิจนวัตกรรม โดยคาดว่าจะต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา (Gross expenditures on R&D: GERD) เป็น 2% ต่อ GDP หรือประมาณ 370,000 ล้านบาท ซึ่งเป้าจุดหมายของประเทศที่พัฒนาแล้ว
นอกจากนี้ ทางสอวช. ได้วางเป้าหมายในการเพิ่มจำนวนบริษัทฐานนวัตกรรม หรือ IDE (Innovation Driven Enterprise) ที่มียอดขาย 1,000 ล้านบาท จำนวน 1,000 ราย หรือมีมูลค่ารวม 1 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปี เพื่อเป็นการขับเคลื่อนประเทศในอนาคต
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ของประเทศ เปิดเผยกับ “ผู้จัดการายวัน” ว่า แนวทางการดำเนินงานในขณะนี้เตรียมไว้ 2 ช่องทางหลักคือ 1. ใส่เงินผ่านกองทุนส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมประมาณ 2 หมื่นล้าน โดยจะถูกนำมาใช้เพื่อช่วยบริษัทเอกชน จำนวน 2 - 3 พันล้านบาท ส่วนช่องทางที่ สอง คือ การใส่เงินผ่านหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งมีอยู่หลายหน่วย ยกตัวอย่าง เช่น หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) มีเงินปีละประมาณ 4 พันล้าน นำมาสนับสนุนการทำงานวิจัยที่นำไปสู่การใช้ประโยชน์ หรืองานวิจัยที่ใกล้ตลาด โดยแมทชิ่งกับภาคเอกชน
จัดตั้งกองทุนนวัตกรรมเอสเอ็มอี
นอกจากนี้ สอวช. กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อยู่ระหว่างการร่วมกันจัดตั้ง กองทุนนวัตกรรมสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยให้ภาคเอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อนการบริหารจัดการ ซึ่งเงินทุนจะมาจากการตั้งมูลนิธิกองทุนนวัตกรรมเพื่อเอสเอ็มอี ของสภาอุตสาหกรรมฯ ที่มีการระดมเงินทุนจากบริษัทขนาดใหญ่
ทั้งนี้ รัฐบาลโดยกรมสรรพากร ได้มีมาตรการลดหย่อนภาษีให้กับบริษัทขนาดใหญ่ที่ใส่เงินเข้ามาสามารถเคลมภาษีได้ 2 เท่า และกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมจะเติมเงินลงไปอีกเท่านึง เช่น ถ้าภาคเอกชนระดมทุนมาได้ 500 ล้านบาท กองทุนเติมเงินเข้าไปให้อีก 500 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 1 พันล้านบาท รวมไม่เกิน 3 ปี ซึ่งสามารถช่วยสนับสนุนทางการเงินด้านนวัตกรรมของไทย ขณะนี้ สอวช.ได้ประสานงานกับบริษัทขนาดใหญ่และหน่วยงานภาครัฐ โดยนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากเอสเอ็มอี ขอให้บริษัทขนาดใหญ่และหน่วยงานภาครัฐ ช่วยสนับสนุนด้านการตลาด โดยการสั่งสินค้าจากบริษัทเหล่านี้ ซึ่งเชื่อว่าถ้าสามารถทำตามที่กล่าวมาข้างต้นได้ บริษัทฐานนวัตกรรมเหล่านี้ จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศได้
ส่งเสริมมหาวิทยาลัยตั้งโฮลดิ้งคอมพานี
ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า ในขณะเดียวกัน ทางสอวช.มีแผนในส่วนของการส่งเสริมมหาวิทยาลัย แหล่งที่มาของนวัตกรรมจำนวนมาก โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีมหาวิทยาลัยอยู่กว่า 180 แห่ง ที่เป็นของรัฐประมาณ 80 แห่ง และขณะนี้มีมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีผลงานวิจัยอยู่จำนวน 10 แห่ง ที่อยู่ระหว่างการโปรโมทให้มหาวิทยาลัยตั้งเป็นโฮลดิ้ง คอมพานี ด้วย โดยให้มหาวิทยาลัยลงทุนส่งเสริมในโครงการที่เป็นนวัตกรรมเพื่อทำผลิตภัณฑ์ขาย
ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยโฮลดิ้ง คอมพานีอยู่อย่างน้อย 5 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นมหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าของประเทศไทย ซึ่งเริ่มมีนักลงทุนVC เวนเจอร์แคปปิตอล เข้ามาลงทุน โดยมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งก็ยังสามารถไปลงทุนในมหาวิทยาลัยอื่นได้ ไม่จำเป็นต้องลงทุนแต่เฉพาะของมหาวิทยาลัยตัวเองเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการสร้างเศรษฐกิจฐานราก เป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยชุมชน ในส่วนนี้ มีหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) อยู่แล้ว โดยรัฐบาลจะเติมเงินไปทางโปรแกรมแมนเนจเมนท์ ผ่านทางหน่วยงานให้ทุนอื่นด้วย เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานวิจัยแห่งชาติ หน่วยงานละเกือบพันล้านบาท และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ (2564) รัฐบาลให้เงินส่วนหนึ่งเข้ามาใส่ให้กับมหาวิทยาลัยของรัฐประมาณ 10,600 ล้านบาท เพื่อนำไปกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน 60,000 ตำแหน่ง
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยจะเป็นส่วนสำคัญในการเข้าไปช่วยดำเนินการให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมในวิสาหกิจชุมชนในท้องถิ่นจำนวน 3,000 ตำบล ซึ่งสินค้าโอท็อปที่มีการนำนวัตกรรมเข้าไปชวยพัฒนาที่ผ่านมา ประกอบด้วย ผ้าพื้นเมือง ผ้าทอ ที่ผ่านการย้อมสีธรรมชาติ โดยมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้าไปช่วยในการเติมสี เติมกลิ่นหอม เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ซึ่งในบางครั้งอาจจะไม่ใช่การนำนวัตกรรมขั้นสูง แต่เป็นลักษณะการเติมองค์ความรู้เข้าไป เพื่อสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชนก็มีเช่นกัน ยกตัวอย่าง เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช ได้เข้าไปช่วยชาวบ้าน ในการใช้ผ้าทอพื้นเมืองนำมาตัดชุดครุยรับปริญญา ทำให้มีเงินหมุนเวียนลงไปสู่ชุมชนกว่า 10 ล้านบาทต่อปี สามารถเพิ่มรายได้ สร้างงาน สร้างเงินให้กับชาวบ้านได้
สร้างระเบียงเศรษฐกิจนวัตกรรมเชื่อมประเทศเพื่อนบ้าน
สำหรับแผนในระยะยาว สอวช.เตรียมวางแผนเรื่องการสร้างระเบียงเศรษฐกิจนวัตกรรม เริ่มจากภาคเหนือเชื่อมจากประเทศจีน เพื่อนำนวัตกรรมที่มีอยู่ เข้าไปช่วยบริษัทและวิสาหกิจชุมชนที่ทำการค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยมุ่งเน้นประเทศในแถบลุ่มแม่โขง ล้านช้าง ที่เชียงของ ไทย ลาว และมณฑลยูนานของประเทศจีน ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมจัดทำคลัสเตอร์ระหว่างประเทศ
ในส่วนของด้านสังคม ซึ่งรัฐมนตรี อว. มีนโยบายส่งเสริมการวิจัย ด้านมนุษย์ศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ โดยได้ตั้งโปรแกรมเป็นการเฉพาะขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นการทำงานนวัตกรรมเชิงสังคม เช่น การสร้างสังคมเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างนโยบายขับเคลื่อนประเทศ สร้างพื้นที่ทางสังคมให้คนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมได้ รวมไปถึงการศึกษาประวัติศาสตร์ที่เป็นรากเหง้าของประเทศไทย เช่น สุวรรณภูมิศึกษา เพื่อดูว่าอดีตที่ผ่านมาการพัฒนาก่อนเป็นไทย สยามมีพื้นเพเป็นอย่างไร พวกนี้จะถูกนำมาเป็นเรื่องราวที่จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวในอนาคต
ดันบีซีจีโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจ
ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริม บีซีจีโมเดล เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทย โดยระบุว่า ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง สามารถนำทรัพยากรชีวภาพไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศได้ โดยต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อแปลงทรัพยากรทางด้านชีวภาพไปสู่มูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น
สำหรับเป้าหมายของ บีซีจีโมเดลคือ 1. เกษตร อาหาร ในส่วนที่มีมูลค่าสูงจะเน้นส่งเสริมฟังก์ชั่นนัลฟู้ด และฟังก์ชั่นนัลอินกรีเดียนท์ โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และในส่วนฐานล่างของปิรามิดที่มีเกษตรกรเป็นจำนวนมาก ที่จะเน้นการพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรให้มีคุณภาพสูงและต้นทุนต่ำ เป็นการผลิตครั้งละจำนวนมากโดยใช้เทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ และสมาร์ทฟาร์มมิ่ง 2. เคมีชีวภาพ พลังงานชีวมวล และชีววัสดุ
และ 3. สุขภาพและการแพทย์ ส่วนที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ได้แก่ พวกยาไบโอโลจิค เช่น ยาต้านมะเร็ง ยาจำพวกไบโอฟาร์มาซูติคัล ที่ไปเพิ่มเม็ดเลือดแดงสำหรับผู้ป่วยที่ต้องทำการผ่าตัดหรือผู้ป่วยโรคไต นอกจากนี้ ยังรวมถึงการผลิตยาสมุนไพรเนื่องจากประเทศไทยมีสมุนไพรค่อนข้างมาก 4. การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องการให้บริการ เช่น การให้บริการทางการแพทย์และสุขภาพ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยสำหรับการให้บริการเรื่องของโมบายแอพลิเคชั่นต่าง ๆ
ทั้งนี้ สอวช. ยังให้ความสำคัญ กับอีกกลุ่มหนึ่ง นั่นก็คือ กลุ่มงานวิจัยในระดับแนวหน้า ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมองไปยาวๆ ในอนาคตด้วย โดยปีที่ผ่านมา ได้มีการลงทุนสร้างนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรที่ทำงานด้านเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อเป็นโนฮาวให้กับประเทศไทย ซึ่งอาจจะยังไม่สามารถนำมาใช้ได้ในเร็วๆ นี้ แต่เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *
SMEs manager