xs
xsm
sm
md
lg

ส่งท้ายปี กับ SME สุดปัง!! ปี 63 สร้างยอดขายพันล้าน แบบไม่สนโควิด-19

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบภาวะเศรษฐกิจประเทศไทยและประเทศทั่วโลก ธุรกิจส่วนใหญ่ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค ซึ่งจะมีทั้งธุรกิจที่ไม่สามารถไปต่อได้ เพราะปรับตัวไม่ได้ แต่ก็ยังมีธุรกิจที่นอกจากปรับตัวได้ และยังมียอดขายที่สุดปังในปี 2563

สุกี้ตี๋น้อย สุกี้บุพเฟ่ต์ ปังที่สุดในยุคโควิด ยอดขายเฉียดพันล้าน

สุกี้ตี๋น้อย ร้านสุกี้บุพเฟ่ต์ ถือว่าปังมาในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ด้วยกลยุทธ์ ราคาและคุณภาพจริงๆ สำหรับร้านสุกี้รายนี้ เล่นเอาแบรนด์ดังในห้างสรรพสินค้ามีหนาวๆ ร้อนๆ กับลูกค้าที่ถูกแชร์มาให้กับแบรนด์น้องใหม่รายนี้

สุกี้ตี๋น้อย เปิดให้บริการเมื่อปี 2560 โดยผู้หญิงเก่งในวัยเพียง 25 ปี “นัทธมน พิศาลกิจวนิช” ทายาทร้านอาหารชื่อดัง ด้วยครอบครัวพื้นฐานทำร้านอาหาร การเปิดร้านสุกี้ครั้งนี้ เรื่องรสชาติไม่ต้องกังวล สถานที่เป็นปัจจัยสำคัญเจ้าของร้านให้ความสำคัญ พอๆ กับการตั้งราคา เพราะด้วยความเป็นบุพเฟ่ต์ ต้องเปิดนอกห้าง ที่จอดรถ และความเหมาะสมทั้งรสชาติอาหารและสถานที่ ทำให้สุกี้ตี๋น้อย ประสบความสำเร็จ ด้วยเวลาอันรวดเร็ว ด้วยยอดขายถึงสิ้นปี 2563 เกือบ 800 ล้าน และสาขา 25 สาขา และทุกสาขาจะมีคนมานั่งรอคิวเป็นจำนวนมาก เหมือนเช่นทุกวัน แม้จะเจอสถานการณ์โควิด ก็ตาม

เฮียนพ ชวพจน์ ชูหิรัญ
เฮียนพ หมูปิ้งรถเข็นขยับขึ้นมาหมูปิ้งเป็นร้อยล้าน แบบไม่สนโควิด

เฮียนพ ชวพจน์ ชูหิรัญ อดีตเจ้าของร้านหมูปิ้งรถเข็นย่านปากเกร็ด นนทบุรี ที่สามารถผลักดันตัวเอง ขึ้นมาเป็นเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมผู้ผลิต “หมูนุ่ม” ที่สามารถส่งหมูปิ้งขายทั่วประเทศ ยอดขายต่อวันไม่ต่ำกว่า วันละหนึ่งแสนไม้ และมีรายได้ 200 ล้านบาทต่อปี

ฮียนพเป็นใครมาจากไหน เขาเรียนจบแค่ มัธยมศึกษาปีที่ 3 ผ่านการทำงานมาหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น กรรมกร ทำงานโรงงาน ขายของมาสารพัดอย่าง เป็นรปภ. ขับแท็กซี่ และมอเตอร์ไซค์รับจ้าง การมาขายหมูปิ้ง ก็เกิดจากความตกอัพในช่วงตกงาน ทำให้ต้องมาขายหมูปิ้ง และด้วยรสชาติทำให้มีคนสนใจอยากจะขายหมูปิ้งของเฮียนพ ก็เลยเป็นโอกาสให้เฮียนพได้เสียบหมูปิ้งส่งขายแม่ค้าในตลาด และเป็นที่มาของโรงงานหมูปิ้งรายแรกและรายเดียวในประเทศไทย




เลกาซี ธุรกิจเครือข่าย ออกมาประกาศยอดขาย 2,000 ล้านบาท ปีโควิด

เลกาซี หนึ่งในธุรกิจเครือข่าย ที่ไม่หวั่นกับพิษโควิด-19 หลังประกาศผลประกอบการปี 2563 ภายในระยะเวลา 10 เดือน สามารถสร้างยอดขายได้แตะ 2,000 ล้านบาท เป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดด เพราะตลอดระยะเวลา 4 ปีที่บริษัทดำเนินกิจการมา มียอดขายปีละ ประมาณ 1,000 ล้านบาท มาตลอดมาปีนี้ ก้าวเข้าสู่ปีที่ 5 กับการรุกตลาดอย่างหนัก ผ่านตัวแทนเครือข่าย ที่ทำงานอย่างหนักเช่นกัน บวกกับ บริษัทมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ดี ปลอดภัยและเป็นที่ไว้วางใจ และมีความซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภค ทำให้บริษัทเดินมาตามเป้าหมายตลอดเส้นทางแบบไม่กระทบโควิด ด้วยการมองธุรกิจระยะยาว ของ “นายวรรณ โชติกะวรรณ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เลกาซี่ คอร์ป จำกัด

สำหรับการดำเนินธุรกิจของ “เลกาซี” ตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมาได้ดำเนินธุรกิจ ภายใต้การบริการแบบ Extreme Serviec ที่ดูแลด้วยความเอาใจใส่ทั้งต่อนักธุรกิจ และผู้บริโภค เป็นจุดขายที่ทำให้ เลกาซีเติบโตและก้าวผ่านวิกฤตต่างๆไปได้ และนักขายมือทองทั้งหลายยังไว้วางใจที่จะอยู่กับ เลกาซี แบบไม่เปลี่ยนแปลง


บ.ออกานิกส์ ผู้ผลิตเสริมอาหารและความงาม โตสวนกระแสโควิด

ภก.ดร.ปัณณวิชญ์ โชติเตชธรรมมณี (ดร.เจล) ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท ออกานิกส์ จำกัด เจ้าของโรงงานผลิตกลุ่มเสริมอาหารและความงาม กล่าวว่า ทางโรงงานของเราได้ สร้างแบรนด์เครื่องสำอางมากกว่า 800 แบรนด์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สำหรับบริษัท ออกานิกส์ จำกัด ถือกำเนิดเมื่อปี 2558 โดยมีบริษัทในเครือ ประกอบไปด้วย บริษัท ออกานิกส์ อินโนเวชั่นส์ จำกัด บริษัท ออกานิกส์ คอสเม่ จำกัด บริษัทออกานิกส์ กรีนส์ ฟาร์ม จำกัด และบริษัท ด๊อกเตอร์ เจล จำกัด

ปัจจุบันมีการขยายโรงงานเพิ่มขึ้นทุกปี จากการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และในปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ธุรกิจเจอผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจของไทย และทั่วโลก แต่กลุ่มบริษัทออร์แกนิกส์ ของเรากลับมีการเติบโตแบบสวนกระแส ในขณะนี้ มีลูกค้ามาว่าจ้างให้โรงงานผู้ผลิตเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และนำไปขายผ่านช่องทางออนไลน์ เพิ่มขึ้นมากกว่า 15% ส่งผลให้ บริษัทมีรายได้ในปี 2563 จำนวน 1,000 ล้านบาท

นายธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล


ข้าวไก่แจ้ ธุรกิจโตไม่สนโควิด การันตียอดขาย 2,000 ล้านบาท

ท่ามกลางเศรษฐกิจชะลอตัวและสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นบททดสอบธุรกิจค้าข้าว แบรนด์ “ไก่แจ้” โดยนายธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สุนทรธัญทรัพย์ จำกัด ทายาทรุ่น 2 ผู้สานต่อธุรกิจให้เติบโตจากรุ่นพ่อ

จุดเริ่มต้นแบรนด์ “ไก่แจ้” เกิดจาก นายสุนทร ธัญญวัฒนกุล พ่อ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งเป็นคนชอบเลี้ยงไก่ ได้ยินเสียงไก่ขัน เหมือนปลุกให้ออกทำมาหากิน ยังฟักไข่เพื่อเป็นอาหาร ตนก็ตั้งใจว่า เมื่อจะค้าข้าวก็ต้องการใช้แบรนด์ “ไก่แจ้” คัดสรรข้าวสารบรรจุถุงในจังหวัดชลบุรี นับเป็นธุรกิจที่สามารถอยู่มาอย่างยาวนาน ซึ่งตั้งแต่ก่อตั้งรุ่นที่ 1 ก็ทำมานานกว่า 60 ปี การเข้ามาบริหารของทายาทรุ่นที่ 2 ในครั้งนี้ ต้องเผชิญกับวิกฤตหลายอย่าง

วันนี้ผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการาข้าวไก่แจ้ คนนี้ ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไม่ว่าวิกฤตอะไรก็สามารถผ่านไปได้ รวมถึงช่วงโควิด-19 หลายแห่งได้รับผลกระทบแต่ที่โรงงานผลิตข้าวของเขา ยังสามารถรักษาตลาดและยอดขายได้ มียอดสั่งซื้อออนไลน์เพิ่มขึ้น บทพิสูจน์การเรียนรู้และพัฒนาธุรกิจของเขาอย่างไม่หยุดยั้งทำให้ข้าวตราไก่แจ้วางจำหน่ายทั่วประเทศ และส่งออกไปต่างประเทศอีกกว่า 20 ประเทศ ด้วยยอดขายกว่า 2,000 ล้านบาทในปัจจุบัน และก้าวไปสู่ตลาดสากลอย่างยั่งยืน

ปริณาห์ ศรีอินทร์


“โม ปริณา” สาวแกร่งจากแม่ค้าตลาดนัด สู่ ธุรกิจพันล้าน

นางสาวปริณาห์ ศรีอินทร์ นักธุรกิจสาวรุ่นใหม่ไฟแรงในวัย 28 ปี เจ้าของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 3 แบรนด์ ประกอบด้วย VENISTA DETOX เวนิชต้า ดีท็อกซ์ คูมิโกะ KUMIKO คอลลาเจน และผลิตภัณฑ์ VALEN S ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในกลุ่มลดน้ำหนัก และเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าออนไลน์ ชื่อว่า Mrs&ms และเธอ มีโรงงานผลิตเสื้อผ้าถึง 4 โรงงาน ปัจจุบันมีรายได้ทั้งหมดจากการขายออนไลน์ ปีละเฉียดพันล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากอาหารเสริมทั้ง 3 แบรนด์ เดือนละ 50 ล้านบาท และรายได้จากการไลฟ์สดขายเสื้อผ้าของเธอวันละ 4 แสนบาท จากการขายเสื้อผ้า 4,000 ตัว

“ปริณาห์” เล่าถึงความสำเร็จของเธอในวันนี้ ว่า ชีวิตเธอไม่ได้สวยหรูเหมือนคนอื่นๆ เพราะเธอต้องต่อสู้ด้วยตัวเองมาตลอด เริ่มต้นจากการเป็นแม่ค้าตลาดนัด โดยจุดเริ่มต้นมาจาก ตนเองเป็นคนสัตหีบ จังหวัดชลบุรี และได้เข้ามาสู่ธุรกิจออนไลน์ ตั้งแต่เรียนชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศรีราชา สาเหตุมาจากเมื่อวันหนึ่งเธอได้เห็นแม่ต้องหอบเงินแบงก์ 20 มาจ่ายค่าเทอม ในขณะนั้น เทอมละ 3 หมื่นกว่าบาท เกิดคำถามว่า ทำไมมีแต่แบงก์ 20 ได้คำตอบว่า แม่ต้องเก็บเงินวันละ 20 บาท เพื่อมาจ่ายค่าเทอมให้ลูก

และวันหนึ่งแม่ก็จ่ายค่าเทอมไม่ไหว ก็มาขอให้เธอต้องออกจากการเรียนเพราะแม่ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม ตอนนั้น ก็เลยบอกแม่ไปว่า เธอจะหาเงินค่าเทอมเรียนด้วยตัวเอง เป็นที่มาที่ทำให้เธอต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อหาเงินมาเรียนให้ได้ แต่สุดท้ายไม่ได้แค่หาเงินมาเรียนจนจบได้ แต่เธอสามารถหาเงินเลี้ยงคนในครอบครัวได้ทั้งหมด


บทสรุป จากสถานการณ์วิกฤตจากโรคระบาดโควิด -19 ครั้งนี้ จะเป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่ทดสอบ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัป ของไทย ว่ามีภูมิคุ้มกันมากพอหรือไม่ ที่จะสามารถรับมือและก้าวข้ามสถานการณ์ที่เลวร้ายครั้งนี้ไปได้หรือไม่ แม้ว่าก้าวผ่านไปแล้ว ผู้ประกอบการจะประมาทไม่ได้ เพราะในอนาคตไม่รู้ว่าจะต้องมีบททดสอบอะไรที่ทำให้เอสเอ็มอีต้องเจอ เพื่อให้เอสเอ็มอีไทยเติบโตไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

* *คลิกLikeเพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด
และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


SMEs manager


กำลังโหลดความคิดเห็น