“เหมือนสังคมตีตราไปแล้วว่า วัยรุ่นที่ชื่นชอบการแต่งรถเป็นเด็กไม่ดี สร้างความรำคาญให้กับชาวบ้าน ผมในฐานะวัยรุ่นที่ชื่นชอบการแต่งรถมอเตอร์ไซค์เช่นกัน จึงคิดว่าต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างให้สังคมเห็นว่ายังมีเด็กที่ชอบแต่งรถสามารถทำความดีเพื่อสังคมได้เช่นกัน จึงชักชวนเพื่อนๆ ที่มีความชื่นชอบแต่งรถเหมือนกัน มาทำกิจกรรมจิตอาสา โดยการสนับสนุนของ สคล.
ล่าสุด ได้รวมตัวกันทำ “โครงการปิ่นโตปันสุขช่วงการระบาดของโควิด-19 ภายใต้กลุ่ม Ranger Rider หรือ สองล้ออาสา พาน้องทำดี” นำโดย นายกฤษณะ สิงห์ขาว (โก้) นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะมนุษยศาสตร์ สาขานิติศาสตร์ มรภ.สุรินทร์ และในฐานะเยาวชนเครือข่ายสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.)
นายกฤษณะ กล่าวถึงที่มาของโครงการทำดีเพื่อสังคมภายใต้ชื่อ “ปิ่นโตปันสุข” ในช่วงการระบาดไปทั่วโลกของไวรัสโควิด-19ว่า เริ่มต้นมาจากกลุ่มสองล้ออาสา พาน้องทำดี จำนวนกว่า 15-16 คน ทุกคนต้องการพิสูจน์ตัวเองว่าวัยรุ่นที่ชื่นชอบการแต่งรถมอเตอร์ไซค์อย่างพวกเขาก็เป็นคนดีได้ เริ่มต้นกิจกรรมแรกเมื่อสองปีก่อน ด้วยการขอสนับสนุนทุนงบประมาณจาก สคล.มาดำเนินกิจกรรมเล็กๆ อาทิ ทาสีโรงเรียนชายขอบแถวตะเข็บชายแดน ต่อมาเมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ระบาด หลายคนตกงานไม่มีเงินใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีวิต ผู้คนอดอยาก ขณะเดียวกัน เริ่มมีตู้ปันสุขเกิดขึ้น ผู้คนต่างช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีการนำอาหารมาแบ่งปันให้กับผู้ขาดแคลนผ่านตู้ปันสุข พวกเขาจึงเกิดไอเดียสร้าง ปิ่นโตปันสุข ขึ้นมา
“บางคนที่เขาไม่มี ก็ไม่มีจริงๆ นะครับ อาจจะอยู่ไกลจนมาเอาของจากตู้ปันสุขไม่ได้ ไม่มีจักรยานปั่นมาเอาของบริจาคด้วยซ้ำ ผมกับเพื่อนๆ เลยคิดว่า น่าจะเอาของใช้เพื่อการดำรงชีพและอาหารไปบริจาคให้ถึงบ้านเลย จึงเกิดเป็นโครงการ “ปิ่นโตปันสุข” ขึ้นมา แต่เราเป็นแค่กลุ่มเยาวชนเล็กๆ ไม่มีเงินงบประมาณจึงไปขอรับบริจาคสังฆทานจากวัดต่างๆ นำมาคัดแยกของที่หมดอายุออกและรวมของที่ยังใช้ได้ใส่ในถุงยังชีพ และที่เรียกว่า “ปิ่นโต” เพราะอยากให้เป็นสัญลักษณ์ของโครงการก่อนนำไปแจกตามชุมชน เคาะตามบ้านเลยโดยเรามีการป้องกันเรื่องของการติดเชื้อโควิดด้วย” โก้เล่าต่อด้วยน้ำเสียงเปี่ยมไปด้วยความสุข
โก้ เล่าว่า การสื่อสารไปยังผู้ขอรับบริจาคปิ่นโตปันสุข ทางกลุ่มประกาศผ่านทาง Social Network ไม่ว่าจะเป็น Facebook IG และทุกช่องทางการสื่อสารที่มี รวมทั้งการขอรับบริจาคของผ่านทางสื่อโซเซียลด้วยเช่นกัน แม้ว่าปิ่นโตปันสุขจะได้รับการตอบรับดีเกินคาด แต่โก้และผองเพื่อน มีความฝันอยากให้กิจกรรมดีๆ เช่นนี้ มีความยั่งยืน จึงต่อยอดโครงการด้วยกิจกรรม “สวนผักปันกัน” โดยร่วมกันทำสวนผักขึ้นมาเพื่อแบ่งปันผักให้ประชาชนนำไปรับประทานได้ฟรี โดยได้รับความอนุเคราะห์พื้นที่ว่างเปล่าจากผู้ใหญ่ใจดี ให้มาปลูกผักทั้ง กระถิน ผักบุ้ง คะน้า มะเขือ กล้วย เป็นต้น
“สวนผักปันกันได้ไอเดียมาจากการที่เรามามองว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืน และถ้าโควิดยังไม่หมดไป ทำอย่างไรจะช่วยให้คนยังสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ที่เลือกทำสวนผักคนเมืองเพราะคิดว่าคนเมืองน่าจะได้รับผลกระทบมากกว่าคนชนบทเพราะส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จักกัน บ้านใกล้เรือนเคียงยังไม่รู้จักกันเลยการช่วยเหลือซึ่งกันและกันอาจมีน้อยกว่า ขณะที่คนชนบทส่วนใหญ่จะรู้จักกันเป็นพี่น้องกันซึ่งจะช่วยเหลือกันได้มากกว่า” โก้เล่าต่อด้วยรอยยิ้ม
ผลของการชักชวนเพื่อนร่วมทำดีอยู่อย่างต่อเนื่อง โก้บอกว่า ยังทำให้เพื่อนในกลุ่ม Ranger Rider ค่อยๆ ห่างหายไปจากการดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากไม่มีเวลาไปปาร์ตี้สังสรรค์ ประกอบกับการสร้างบรรยากาศของกลุ่มให้ปลอดจากเหล้าอยู่ตลอดเวลา ทำให้บางคนสามารถเลิกดื่มไปโดยปริยาย ทั้งยังมีเสียงสะท้อนจากผองเพื่อนด้วยว่า เมื่อเลิกดื่มเหล้าต่างมีเงินเหลือกินเหลือใช้อย่างไม่น่าเชื่อ ทำให้โก้มีกำลังใจในการคิดหาโปรเจคใหม่ๆมาชักชวนเพื่อนร่วมทำดีอยู่เสมอ
ด้าน นายมงคล ปัญญาประชุม หรือ พี่นายของน้องๆ ในฐานะผู้ช่วยผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ภาคอีสานตอนล่าง เล่าว่า เครือข่ายองค์กรงดเหล้าทำกิจกรรมในเรื่องการลดปัจจัยเสี่ยงกับเยาวชนอยู่แล้ว โดยเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้กับน้องๆ หลังจากได้มีโอกาสพูดคุยกับน้องๆ กลุ่มนี้ ซึ่งได้สะท้อนว่า เด็กที่ชื่นชอบการแต่งรถใช่ว่าจะเป็นคนไม่ดีเสมอไป เขารู้สึกไม่เป็นธรรมที่พวกเขาถูกตีค่าว่าเป็นคนแบบนั้น จึงปฏิญาณว่าพวกเขาจะเป็นตัวแทนของกลุ่มวัยรุ่นที่ชื่นชอบมอเตอร์ไซค์ในการเปลี่ยนมุมมองของผู้ใหญ่ในสังคม ให้เห็นว่าพวกเขาก็ทำประโยชน์ให้กับสังคมได้เช่นกัน โดย สคล.จะคอยเป็นพี่เลี้ยง ให้น้องๆเรียนรู้สิ่งต่างๆด้วยตนเอง เราจะเป็นที่ปรึกษาและฝ่ายสนับสนุน ทั้งยังมีพันธสัญญากันว่าจะทำกิจกรรมแบบต่อเนื่องเพื่อเป็นการพิสูจน์ตัวพวกเขาเอง โดยเบื้องต้นปล่อยให้น้องๆ ได้เรียนรู้ด้วยตนเอง แต่เราในฐานะรุ่นพี่ก็จะค่อยสอนและค่อยๆ เปลี่ยนวิธีคิดและทัศนคติเขา จะสะท้อนการเรียนรู้ให้กับน้องๆ ว่าเขาได้อะไรจากตรงนั้นมากกว่า
“เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ตอนแรกเรากลัวรัฐบาลสั่งห้ามการรวมตัวกัน แต่มองกลับไปอีกที มีหลายคนที่เดือดร้อน เด็กๆก็อยากช่วย เราก็มาคิดกันว่าอะไรที่เราทำอยู่แล้ว ต่อยอดไปทำสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาดีกว่าและทำอย่างไรให้ยั่งยืน จึงเกิดสวนผักคนเมืองขึ้นมา พวกเขาก็หมุนเวียนไปดูแลแปลงผัก ใครผ่านไปมาก็สามารถเก็บไปรับประทานได้” พี่นายของน้องๆ กล่าว
พี่นาย เล่าต่อว่า เยาวชนกลุ่มนี้มีความเปลี่ยนแปลงชัดเจนมาก จากเดิมที่การพบปะสังสรรค์จะจบด้วยการดื่ม ก็เปลี่ยนมาทานอาหารที่มีประโยชน์ มีการตั้งกฏกติการะหว่างกัน เช่น ห้ามขับรถเสียงดัง ไม่ให้มีปัญหาชู้สาวในกลุ่ม ขับขี่มอเตอร์ไซค์ต้องเคารพกฎจราจร ผลของการทำดี น้องกลุ่มนี้เริ่มเป็น ไอดอล ของเด็กคนอื่นๆ และก็เริ่มสร้างเครือข่ายกัน เด็กๆ คุยกันเองจะช่วยดึงเพื่อนออกจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้ดีกว่าที่เราจะไปบอกไปสอนไปห้ามเขา เรามีแพลนจะพาน้องๆ ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเยาวชนจังหวัดอุบลราชธานีและนครศรีธรรมราช ให้น้องเขาสร้างเครือข่ายกัน โดยเราคอยสนับสนุนอยู่ห่างๆ ให้ประสบการณ์เป็นตัวสอนจะทำให้เขาจำได้ดีกว่าที่เราจะไปบอกด้วยคำพูด
ปิดท้ายกันที่ น้องปอนด์ นางสาวธิติพร บูรณะ นักศึกษาชั้นปี 2 คณะวิทยาการจัดการ สาขาการจัดการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ อีกหนึ่งสาวที่ไม่เคยพลาดการร่วมกิจกรรมกับผองเพื่อน เผยความรู้สึกว่า การชอบแต่งรถมอเตอร์ไซค์ก็ใช่ว่าเราจะเป็นเด็กไม่ดี จึงอยากจะพิสูจน์ตัวเองให้สังคมเห็นว่าเด็กอย่างเราก็ทำดีเพื่อสังคมได้ อยากให้ยอมรับเรา แต่สังคมจะยอมรับหรือไม่เป็นอีกเรื่อง เราไม่สามารถไปควบคุมความคิดของใครได้ ทุกวันนี้ก็ยังชอบแต่งรถ ทำสีรถ ทำทุกอย่างเอง มันเป็นความชอบส่วนตัว ส่วนกิจกรรมทำดีเราก็ทำกันตลอด แปลงผักก็ผลัดเวรกันไปดูแล บางคนไม่กล้ามาเก็บไปกิน เราก็เอาไปแจกตามบ้านเลย แค่อยากจะให้สังคมเปิดใจรับฟังพวกเราบ้าง มองพวกเราในอีกมุมหนึ่งที่พวกเราก็ยังมีประโยชน์ต่อสังคม ขอแค่เปิดโอกาสให้กับพวกเราเท่านั้น
น้องปอนด์ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า หากอยากจะสนับสนุนเธอและเพื่อนๆ หรือ ร่วมกิจกรรมดีๆ ที่ทางกลุ่มจัดขึ้น รวมถึงการบริจาคเมล็ดพันธุ์ผัก สามารถติดต่อมาได้ที่ เพจ Ranger Rider สองล้ออาสาพาน้องทำดี