xs
xsm
sm
md
lg

จับตาตลาดความงามกัมพูชา ดร.เจล ซุ่มเงียบ ผลิตกว่า 30 แบรนด์ รายได้หลายร้อยล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตลาดผลิตภัณฑ์ความงามของประเทศเพื่อนบ้านอย่าง “กัมพูชา” เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยมองข้ามไม่ได้ เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตลาดผลิตภัณฑ์ความงามของกัมพูชาเติบโตอย่างก้าวกระโดด และประเทศไทยเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตสำคัญที่ผู้ประกอบการกัมพูชา เลือกที่จะเข้ามาใช้เป็นฐานการผลิต




กัมพูชา เชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ความงาม จากแหล่งผลิตในไทย

ทั้งนี้ เหตุผลกัมพูชา เชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ความงามจากประเทศไทย ส่วนหนึ่งมาจากสินค้าไทยมีคุณภาพ และจากสื่อไทย ที่เข้าไปมีอิทธิพลต่อคนกัมพูชา ทำให้รู้จักดาราไทย รู้จักเน็ตไอดอลจากประเทศไทย จุดเริ่มต้นที่ ทำให้คนกัมพูชาใช้ผลิตภัณฑ์ความงามตามดารา และเน็ตไอดอลจากประเทศไทย ที่ผ่านมา กลุ่มสินค้าที่กัมพูชาต้องการนำเข้าจากไทย เป็นอันดับต้น ได้แก่ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มสินค้าเครื่องสำอาง สินค้าเพื่อสุขภาพ ความงาม มาเป็นอันดับต้นๆ เช่นกัน นอกจากนี้ ยังสินค้าใน กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า กลุ่มสินค้าของใช้ในชีวิตประจำวัน สบู่ ผงซักฟอก ยาสีฟัน ยารักษาโรค ฯลฯ วัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง เป็นต้น

นอกจากกลุ่มสินค้าที่คนกัมพูชา นำเข้าจากประเทศไทย เป็นอันดับต้นแล้ว ธุรกิจที่คนกัมพูชา พึ่งพาประเทศไทยอันดับต้นๆ เช่นกัน คือ ธุรกิจบริการที่ปรึกษาแก่ผู้ประกอบการในการทำตลาดผ่าน ดิจิทัล และธุรกิจขายสินค้าผ่าน แพลตฟอร์มต่างๆ หรือ ขายสินค้าแบบดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง ด้วยเหตุนี้เอง “ภก.ดร.ปัณณวิชญ์ โชติเตชธรรมมณี” ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท ออกานิกส์ คอสเม่ จำกัด และ บริษัท ออกานิกส์ อินโนเวชั่น เจ้าของโรงงานผู้ผลิตสินค้าในกลุ่มอาหารเสริม เครื่องสำอาง จึงได้เข้ามามีบทบาทในการสร้างแบรนด์เครื่องสำอางให้กับคนกัมพูชา ผ่านการทำตลาดแบบดิจิทัล




“ออกานิกส์ คอสเม่” ผลิตสินค้ามากกว่า 30 แบรนด์ ขายในกัมพูชา

ภก.ดร.ปัณณวิชญ์ กล่าวว่า สำหรับบริษัท ออกานิกส์ คอสเม่ จำกัด เปิดให้บริการเมื่อปี 2558 เป็นบริษัทรับจ้างผลิตในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและความงาม ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ผลิตสินค้ากับผู้ประกอบการ กว่า 800 ราย มีรายได้แตะพันล้านบาท เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งผู้ประกอบการที่มาว่าจ้างโรงงานออแกนิกส์ คอสเม่ ผลิตสินค้า ครั้งนี้ ต้องยอมรับว่า กว่า 30% เป็นผู้ประกอบการจากประเทศกัมพูชา และทางบริษัทคาดว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ ทางโรงงานน่าจะมีสัดส่วนการผลิตสินค้าป้อนให้กับผู้ประกอบการจากประเทศกัมพูชา เพิ่มถึง 50% ของกำลังการผลิตของโรงงานทั้งหมด

ปัจจุบันทางโรงงานมีผู้ประกอบการจากกัมพูชา มาว่าจ้างโรงงานผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ของลูกค้าเองไม่ต่ำกว่า 30 ถึง 40 แบรนด์ และประเภทสินค้าหลาย 100 รายการ การสั่งสินค้าของเจ้าของแบรนด์ในกัมพูชา ต่างจากเจ้าของแบรนด์ในประเทศไทย เพราะกัมพูชาสั่งครั้งละจำนวนมากๆ ยอดการสั่งซื้อครั้งหนึ่ง ไม่ต่ำกว่า 7-8 หลัก และสั่งต่อเนื่องทุกเดือน ด้วยเหตุนี้และทางบริษัทจึงได้ตัดสินใจมาเปิดออฟฟิศ ภายใต้แบรนด์ด็อกเตอร์เจล เพื่อดูแลและอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า ในกัมพูชา พร้อมกับการบุกตลาดอย่างจริงจัง ของ ด็อกเตอร์เจล ในประเทศกัมพูชา


ทำไม ผปก.กัมพูชาเลือกทำธุรกิจ ดร.เจล

ดร.ปัณณวิชญ์ เล่าถึงตลาดกัมพูชา ว่า ทางบริษัทได้เริ่มทำตลาดในกัมพูชา มาได้ระยะหนึ่ง จุดเริ่มต้นมาจากเมื่อครั้งที่บริษัททำธุรกิจร่วมกับหุ้นส่วนเมื่อครั้งก่อนแยกทางมาเปิดแบรนด์ด็อกเตอร์เจล ในครั้งนั้น ได้รู้จักกับตัวแทนจำหน่ายจากประเทศกัมพูชา จากเหตุการณ์คนกัมพูชาจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าอาหารเสริม ความงามให้กับสินค้าแบรนด์หนึ่งในประเทศไทย เจอปัญหาบริษัทดังกล่าวไม่ยอมจ่ายค่าคอมมิชชัน ทำให้ตัวแทนเหล่านั้นต้องเดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อที่จะมาเรียกร้องให้บริษัทจ่ายค่าคอมมิชชัน ปรากฏว่าบริษัทนั้นได้ปิดกิจการหนีไป และเราก็เลยถือโอกาสนี้ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือตัวแทนจากกัมพูชากลุ่มนั้น พร้อมกับชักชวนให้เขาเข้ามาทำธุรกิจร่วมกับเรา ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นการทำตลาดในกัมพูชา ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันผ่านมา 3-4 ปี


“สำหรับตลาดกัมพูชา ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนกัมพูชาให้ความสนใจกับความสวย ความงามกันมาก ทำให้ผลิตภัณฑ์ความงามได้รับความนิยมอย่างมากในกัมพูชา ตั้งแต่ตลาดล่างไปจนถึงตลาดบน ซึ่งในส่วนกลุ่มตลาดล่างจะเป็นกลุ่มที่สนใจมาเป็นตัวแทนจำหน่าย ส่วนกลุ่มผู้บริโภค จะเป็นกลุ่มตลาดกลาง และตลาดบน และในส่วนเจ้าของแบรนด์ จะเป็นกลุ่มตลาดบน และเป็นกลุ่มที่มาว่าจ้างโรงงานของเราผลิตสินค้าให้”

“ปัจจุบัน มีโรงงานรับจ้างผลิต หรือ OEM ที่เป็นโรงงานจากประเทศไทยในการผลิตสินค้ากลุ่มความงามไม่มาก เพียงไม่เกิน 5 โรงงาน และเราก็เป็นหนึ่งในนั้น ๆ และสาเหตุที่ผู้ประกอบการกัมพูชา ต้องจ้างโรงงาน OEM เพราะที่ประเทศของเขาไม่มีโรงงาน และการทำงานของเราไม่ได้แค่ผลิตอย่างเดียว เราวางแผนธุรกิจ ให้คำปรึกษาทั้งด้านตัวผลิตภัณฑ์ และการทำตลาดในช่องทางแพลตฟอร์มดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง เป็นเหตุผลที่ผู้ประกอบการจากประเทศกัมพูชา เลือกใช้ฐานการผลิตเครื่องสำอาง ความงามจากประเทศไทย”


กลุ่มสินค้าความงามที่ได้รับความนิยมในกัมพูชา

ส่วนผลิตภัณฑ์ความงาม ที่คนกัมพูชาให้ความสนใจ เช่น ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวทำให้ผิวขาว ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเรื่องเพศ และผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเส้นผม ส่วนสินค้าในกลุ่มดูแลสุขภาพในกัมพูชา ยังขายได้น้อยกว่ากลุ่มความงาม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนกัมพูชา รักสวย รักงามมากกว่าการดูแลสุขภาพ ซึ่งคนกัมพูชาเหมือนกับประเทศไทย ในช่วง 5 ปีก่อนหน้านี้ ที่สนใจความงามมากกว่าสุขภาพ ถ้ามองกัมพูชาต่อความสนใจสินค้าไทย เทียบได้กับการที่คนไทยสนใจต่อสินค้าที่ผลิตจากประเทศเกาหลี หรือ ญี่ปุ่น

สำหรับคนกัมพูชา กลุ่มที่ร่ำรวย ก็จะร่ำรวยมาก โดยเฉพาะคนรวยที่มาจากในบ่อน ในขณะที่คนชั้นกลาง เริ่มมีมากขึ้น และรายได้ส่วนใหญ่คนชั้นกลาง มาจากการทำงานบ่อนการพนัน เช่นกัน ส่วนคนกลุ่มล่างก็ยังมีจำนวนมาก แต่ทุกกลุ่มสามารถเข้าถึง ระบบอินเตอร์เน็ตพื้นฐาน โดยเฉพาะคนในตลาดล่าง ซึ่งให้ความสนใจกับการซื้อผลิตภัณฑ์ความงาม เช่นเดียวกัน แต่ที่คนในกลุ่มล่างผันตัวมาเป็นผู้ขายมากขึ้น เพื่อจะได้มีเงินมาซื้อสินค้าที่เขาเป็นผู้ขาย ดังนั้น การเข้าไป ด็อกเตอร์เจล ในการหาตัวแทนจำหน่ายมุ่งไปที่กลุ่มคนในตลาดล่างกัมพูชา ช่องทางการขายเหมือนกับคนไทย คือ การซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ เป็นหลัก


ทั้งนี้ กัมพูชา มีประชากรอยู่ทั้งหมด 15-16 ล้านคน รายได้ของชาวกัมพูชาอยู่ที่ประมาณ 7,600 บาท ถึง 15,000 บาท ค่าครองชีพสูงกว่ารายได้ ดั้งนั้น สินค้าไทยที่เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคจะต้องวางแผนการตลาดให้สอดคล้อง และเหมาะสมกับตลาดเป้าหมาย บางรายการสินค้าใช้เทคนิควางขายเฉพาะในเมืองหลวงอย่างพนมเปญเป็นเมืองเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของประเทศ ในขณะที่สินค้าบางรายการอาจใช้เทคนิค ป่าล้อมเมือง เพื่อสินค้าเติบโตแบบหลบคู่แข่ง แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยได้เปรียบคู่แข่ง เพราะกัมพูชามีความชื่นชอบสินค้าและบริการจากประเทศไทย มีความเชื่อมั่นในศักยภาพและมาตรฐานการผลิต คู่แข่งที่สำคัญของไทย คือ เวียดนาม และ จีน

ท้ายสุดนี้ ทาง ดร.ปัณณวิชญ์ กล่าวถึงการเข้าไปทำตลาดกัมพูชา ไม่ได้คาดหวังเพียงแค่ผลกำไร แต่สิ่งสำคัญ คือ ต้องการให้คนกัมพูชา โดยเฉพาะคนกลุ่มล่างได้มีชีวิตที่ดีขึ้น เพราะการเข้าไปทำตลาดในกัมพูชา เหมือนกับการทำตลาดในประเทศไทย ให้ความรู้สอนวิธีการทำตลาดช่องทางดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง ว่าจะต้องทำอย่างไร ไม่ได้คิดว่าจะเข้าไปหาผลประโยชน์เพียงอย่างเดียว แต่ใช้วิธีการเข้าไปให้การช่วยเหลือ เหมือนกับลูกค้ากัมพูชา กลุ่มแรก เราเข้าไปให้การช่วยเหลือเขาก่อน หลังจากนั้น พอเขาเชื่อใจ ก็จะสั่งสินค้าจากเราเอง








* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEsผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *
SMEs manager



กำลังโหลดความคิดเห็น