ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดให้สัมภาษณ์ หลังการเข้ารับตำแหน่งผอ.สกสว.คนใหม่ พร้อมกับบทบาทท้าทาย เพราะสกสว.อยู่ในระหว่างการปรับเปลี่ยนจาก สกว. มาเป็นสกสว. มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ที่ สกสว.จะต้องปรับพร้อมการเปลี่ยนชื่อ
ภายใต้การนำของ ผอ.สกสว. คนใหม่
ปรับเปลี่ยนบทบาทครั้งสำคัญ สกสว.
เริ่มจากการปรับเปลี่ยนบทบาทจากเดิมคือการให้ทุนสนับสนุนนักวิจัยรายโครงการ เปลี่ยนมาจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานแทน และสกสว. ทำงานร่วมกับ ซุปเปอร์บอร์ด หรือ สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดย สกสว. ทำหน้าที่ในการนำเสนอแผนและนโยบายต่อสภานโยบายฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่คาบเกี่ยวกับหลายกระทรวง ดังนั้นทำให้เกิดการบูรณาการการทำงานแก้ปัญหาแบบข้ามกระทรวง
ดร.ปัทมาวดี กล่าวถึง งบประมาณในปี 2564 ทางสกสว. ได้รับงบประมาณเข้ามาในส่วนของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประมาณ 19,000 ล้านบาท เพิ่มจากปีที่แล้วที่ได้รับงบประมาณที่ 12,555 ล้านบาท ซึ่งจำนวนที่เพิ่มขึ้นมาจากการรวมงบประมาณด้านววน. จากส่วนอื่น ๆ เข้ามารวมในกองทุนด้วย
การของบวิจัยในปัจจุบันยากขึ้น
ปัจจุบัน สกสว. ไม่สามารถให้ทุนตรงกับนักวิจัยเองได้แล้ว ดังนั้นนักวิจัยจะต้องหาแหล่งทุนอื่น ๆ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ แต่ปัจจุบัน สกสว. ทำหน้าที่จัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ดังนั้นปัจจุบันนักวิจัยจะต้องมองหาหน่วยบริหารจัดการทุน ซึ่งแต่ละหน่วยก็มีวิธีการดำเนินงานและกติกาที่แตกต่างกัน การเข้าถึงแหล่งทุนยังคงจะเป็นช่วงที่ต้องปรับตัว โดย สกสว. พยายามสื่อสารถึงหน่วยงานและนักวิจัย ในทางกลับกัน นักวิจัยมีทางเลือกมากขึ้น มีแหล่งทุนหลายแหล่งที่สามารถขอทุนวิจัยที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ นักวิจัยสามารถของบประมาณจากหลากแหล่งทุน แต่ สกสว. ก็พยายามทำฐานข้อมูลกลางเพื่อตรวจสอบไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการของบประมาณด้านการวิจัย ดังนั้น ระบบการจัดการกลางจึงเป็นเรื่องสำคัญขึ้นมา ซึ่งปัจจุบัน สกสว. ก็มีบทบาทในการพัฒนาระบบนี้ขึ้นมา ภายในระยะ 1 ปีน่าจะมีส่วนต่าง ๆ ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ยังมีจุดที่ สกสว. ยังคงต้องพัฒนาอีกมาก อย่างไรก็ตามปัจจุบัน สกสว.ทำงานในเชิงระบบซึ่งมีผู้เข้ามาเกี่ยวข้องหลายภาคส่วน เชื่อมสัมพันธ์กับหน่วยงานอื่น ๆ ขณะเดียวกันมีความสัมพันธ์ระหว่างบอร์ด สกสว. ซึ่งทำหน้าที่ดูแลว่าจะอนุมัติจัดสรรงบประมาณให้กับใคร จำนวนเท่าไหร่ เป็นเบื้องต้น จากนั้นจะส่งต่อสภานโยบายฯ และขยับไปที่ ครม. เพราะฉะนั้น สกสว. ไม่ใช่จุดตัดสินใจตัวสุดท้าย
มุ่งเน้นการนำวิทยาศาสตร์และการวิจัย ลงไปสู่ระดับอบต.
โดยแผนการดำเนินงานของ สกสว.ในปีงบประมาณ 2564 นั้น ให้ความสำคัญกับหลายภาคส่วน รวมถึงส่วนในระดับท้องถิ่น การทำงานร่วมกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ผ่านมา สกสว.ทำงานร่วมกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมาก่อนหน้านี้ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ถ้าเราสามารถนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรมลงไปในพื้นที่ได้ จะช่วยแก้ปัญหาความยาก และลดความเหลื่อมล้ำได้
“ในส่วนระดับท้องถิ่น สกสว. กำลังศึกษาและเตรียมเสนอร่างกฏหมายในการสนับสนุนท้องถิ่นรวมไปถึงภาคเอกชน สามารถเข้ามารับงบประมาณการวิจัยไปดำเนินการได้ ท้องถิ่นถือเป็นหน่วยที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ หากท้องถิ่นเองใช้ความรู้ ใช้ข้อมูล ในการออกแบบการทำงาน ในการออกแบบการทำแผนของท้องถิ่น ในการจัดสรรงบประมาณ ก็จะทำให้มีพลังในการขับเคลื่อนงานและการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน”
ทั้งนี้ เมื่อ สกสว. ทำแผนด้าน ววน. ก็มีการทำแผนด้าน ววน. เชิงพื้นที่ โดยการสร้างเครือข่ายมหาวิทยาลัย ประชาสังคมและจังหวัดในพื้นที่ ร่วมกันชวนคนในพื้นที่มาออกแบบและมองภาพอนาคตว่าจะเกิดอะไรขึ้น จากนั้นถอยกลับมามองว่าอะไรบ้างที่เขาต้องพัฒนา จากนั้นจึงนำเอาความรู้จากวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเข้าไปเสริม ถ้าหากกระบวนการทำแผนด้าน ววน. สามารถเชื่อมโยงกับแผนของจังหวัดหรือลงไปถึงในระดับตำบล ก็จะทำให้แผนนั้นมีที่มา มีหลักการเหตุผล มากกว่าการออกแบบแผนตามอำนาจต่อรอง
การขับเคลื่อนชุมชน ด้วยแนวทาง 5 P
อย่างไรก็ตาม กระบวนการทำแผนเชิงพื้นที่ได้มีการออกแบบตั้งต่อเริ่มก่อตั้ง สกสว. และเมื่อมองพื้นที่ก็จะเห็นหลายประเด็น ดังนั้น สกสว. ยังยึดตามแนวทางของการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs โดยแบ่งออกเป็น 5 P ประกอบด้วย Pที่1 คือ People คือเรื่องของคน Pที่2 คือ Planet คือเรื่องของสิ่งแวดล้อม Pที่3คือ Post Priority คือเรื่องของเศรษฐกิจ Pที่4คือเรื่องของ Parnership คือการมีส่วนร่วมและ P ที่ 5 Peace คือความสงบสุข สกสว. ก็เอาทั้ง 5 เรื่องเป็นกรอบในการจัดทำแผนเชิงพื้นที่เพื่อดูว่าพื้นที่นั้นมีจุดเด่นอะไร แล้ว ววน. จะเข้าไปมีส่วนในการสนับสนุนอย่างไร โดย สกสว. พยายามคุยกับทางมหาวิทยาลัยเพื่อสนับสนุนข้อมูลคู่ขนานกัน โดยมหาวิทยาลัยสามารถเอาเครื่องมือต่าง ๆ ในใช้ในการทำงาร่วมกับกระทรวง
ที่ผ่านมา สกสว. พยายามใช้การทำงานในรูปแบบเครือข่ายจากฐานทุนเดิม สกว. รวมถึงภาคเอกชน ที่ปัจจุบันได้ร่วมหารือกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือ บพข. เพราะฉะนั้นการทำงานในเชิงส่งเสริมภาคเอกชน ยังคงเป็นโจทย์ในเชิงระบบเพื่ีอมองให้รอบด้านมากขึ้น และต้องทำให้เอกชนมีความเชื่อมั่นในการวิจัยและนวัตกรรมว่าเป็นเครื่องมือที่ทำให้เขาสามารถปรับตัวและอยู่รอดได้
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายนโยบายเองก็เป็นส่วนสำคัญในการนำเอาองค์ความรู้ไปใช้ โดยปัจจุบัน สกสว. ร่วมทำงานกับกรรมาธิการในเรื่องต่าง ๆ ในหลากหลายมิติ ที่เราเป็นตัวกลางในการสังเคราะห์ความรู้ของประเทศ โดยทำให้เป็นชุดความรู้และนวัตกรรมที่สำคัญของประเทศ ที่จะส่งมอบและสนับสนุนให้กับ PMU ไปทำสู่การใช้ประโยชน์ โดยเรามองทุกระดับ รวมถึงภาควิชาการ ซึ่งปัจจุบันคนทำวิจัยในไทยมีจำนวนลดลง
การเข้ามามีส่วนร่วมของภาคประชาชนกับกองทุน สกสว.
ดร.ปัทมาวดี กล่าวว่า เดิมในอดีต สกสว. เมื่อครั้งทำหน้าที่เป็น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เคยให้ทุนสนับสนุนการวิจัยกับชาวบ้านลงไปถึงชุมชนโดยตรง ทำให้เห็นว่าชาวบ้านนั้นสามารถใช้การวิจัยเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหา หาคำตอบ เกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเองในการสามารถพัฒนาฐานจากภูมิปัญญาที่มีอยู่ ในขณะเดียวกันก็สามารถสร้างความรู้ใหม่ร่วมกับหน่วยงานอื่นในการพัฒนา ทำให้เห็นว่า การวิจัย เป็นเครื่องมือในการสร้างคนที่ดี สอดคล้องกับนโยบายของ รมว.อว. ในปัจจุบันที่มีการพูดถึง วัฒนธรรมวิจัย คือ ทุกคนสามารถทำงานวิจัยได้ สามารถหาคำตอบด้วยตัวเอง ถ้าหากแนวคิดนี้ ขยายต่อไปด้วย จะช่วยขยายผล ขยายเครือข่าย เป็นพลังสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมาก
โดย สกสว. ต้องสร้างความเชื่อมั่นว่า ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนประเทศตัวใหม่ เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยยังคงให้ความสำคัญในด้านนี้น้อย โดยในอดีตเราใช้วิธีการขยายพื้นที่ปลูก แต่พอเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมเราก็ยังคงพึ่งพิงแรงงานต่างชาติ แต่สถานการณ์ปัจจุบันตอนนี้พื้นที่จำกัด แรงงานข้ามชาติก็จำกัด ดังนั้นพิสูจน์ของระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นความท้าทายใหม่ของประเทศ ไม่ใช่แค่ของคนในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือในมหาวิทยาลัย แล้ว สกสว. จะทำงานได้ดีแค่นั้นนั่นคือความท้าทาย
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *
SMEs manager