xs
xsm
sm
md
lg

ก๋วยเตี๋ยวเส้นเห็ด เพิ่มมูลค่า “เห็ด” ไอเดีย อดีตวิศวกร ทิ้งเงินเดือนครึ่งแสนหันทำเกษตร

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





ปัจจุบัน ประเทศไทยมีแรงงานคืนถิ่น กลับไปทำการเกษตรเพิ่มมากขึ้น และเกษตรกรคนรุ่นใหม่เหล่านี้ นำเทคโนโลยี และความรู้ใหม่ที่ได้จากการเรียนรู้บนโลกออนไลน์ มาผสมผสานกับความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ จนได้ออกมาเป็นการเกษตรยุคใหม่ 4.0 ผลงานของ Young Smart Farmer

สายฝน ดวงคำ  เจ้าของฟาร์มเห็ดคุณลุงกะทิ
อดีตวิศวกรโรงงาน สู่เส้นทาง Young Smart Farmer

ครั้งนี้ กำลังพูดถึงความสำเร็จของ Young Smart Farmer ที่อดีตเธอ มีดีกรีเป็นถึงวิศวกรโรงงาน ที่มีเงินเดือนกว่าครึ่งแสน “ สายฝน ดวงคำ” วัย 28 ปี การตัดสินใจลาออกมาทำการเกษตรของเธอเกิดขึ้น เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดขึ้นมาจาก ความประมาทในการใช้ชีวิต และเป็นหนี้บัตรเครดิต และหนี้ก้อนใหญ่จากการซื้อบ้าน เพราะตั้งใจอยากพาแม่ที่ป่วยเป็นอัมพาตครึ่งซีก ย้ายจากสุรินทร์มาดูแลอย่างใกล้ชิดในกรุงเทพฯ แต่พอเธอพาแม่มาใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงเทพฯ แม่ไม่มีความสุขทำให้อาการป่วยทรุดหนักลง ทำให้เธอต้องตัดสินใจพาแม่กลับบ้านที่สุรินทร์ และลาออกจากงาน หันมาทำฟาร์มเพาะเห็ด 

“กรุงเทพฯ ไม่ใช่สังคมที่แม่เคยอยู่ ท่านต้องอยู่บ้านคนเดียว เราออกทำงานแต่เช้ากลับดึกไม่มีเวลาดูแล ทำกับข้าวมื้อเช้า มื้อเที่ยง มื้อเย็น ทิ้งไว้ทั้งวันก็ไม่อร่อย แล้วแม่ไปไหนไม่ได้ เพื่อนบ้านก็ไม่มี ทำให้แม่นั่งร้องไห้บนวีลแชร์ เป็นแบบนี้อยู่ปีกว่า เราคิดหาทางแก้ปัญหาแต่ไม่มีทางออก เลยตัดสินใจกลับบ้านที่จังหวัดสุรินทร์ในปี 2558 ไปเริ่มต้นชีวิตใหม่” สายฝน กล่าว




เลือกทำฟาร์มเห็ด เพราะมีรายได้ทุกเดือน

“สายฝน” เล่าว่า ที่เธอเลือกทำฟาร์มเห็ด แทนที่จะทำนา ทำไร่ เหมือนคนอื่นๆ เพราะไม่ต้องใช้พื้นที่เยอะ ซึ่งการทำฟาร์มเห็ดครั้งนี้ เธอใช้พื้นที่เพียง 3 งาน และที่สำคัญสามารถเก็บผลผลิตได้ภายในระยะเวลาหนึ่งเดือน โดยตั้งใช้ชื่อฟาร์ม ว่า ฟาร์มเห็ดลุงกะทิ โดยเห็ดที่เพาะมีอยู่ด้วยกัน 4 ชนิด ได้แก่ เห็ดนางฟ้า เห็ดภูฐาน เห็ดนางรมทอง เห็ดนางนวลชมพู ซึ่งเก็บผลผลิตมีรายได้ทุกเดือน ไม่แน่นอน ขั้นต่ำเดือนละ 50,000 บาท ไปจนถึง เดือนละ 100,000 บาท

“ถ้าปลูกข้าวต้องใช้เวลา 4-5 เดือนกว่าจะเก็บเกี่ยวได้ และอาจทำได้เพียง 1-2 ครั้งต่อปี เวลานานขนาดนั้นเรารอไม่ได้เพราะมีหนี้สินค้ำคออยู่ จึงนำรถไปรีไฟแนนซ์นำเงินก้อนมาลงทุนเปิดโรงเรือนเพาะเห็ด 4 โรง ในชื่อฟาร์มคุณลุงกะทิ ผลิตหัวเชื้อเอง 20,000 ก้อน คือ เห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม ด้วยการศึกษาจากยูทูบ ใช้แรงงานจากคนในครอบครัว ส่วนเครื่องไม้เครื่องมือเราเตรียมพร้อมมาตั้งแต่ลาออกจากอาชีพวิศวกรแล้ว” อดีตวิศวกร กล่าว




การทำฟาร์มเห็ดไม่ยาก แต่การทำตลาดยากกว่า

ทั้งนี้ หลังจากที่ สายฝน เริ่มเรียนรู้การทำฟาร์มเห็ดผ่านช่องทางออนไลน์ ในช่องยูทูป เธอก็สามารถทำได้เลย ในปีแรก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเธอ คือ การทำตลาด เพราะผลผลิตที่ได้ไม่มีตลาดรองรับ 

“ลองนำผลผลิตไปขายในตลาดสด เราไม่มีแผงต้องไปฝากแม่ค้าคนกลางขาย ด้วยความมือใหม่ก็โดนเขากดราคา แต่ต้องจำยอมเพราะผลผลิตทยอยออกมาเรื่อยๆ ระหว่างนั้นพยายามหาตลาดใหม่ พอจะมีที่ไหนบ้างที่เปิดโอกาสให้เราเป็นเจ้าของพื้นที่สามารถนำของไปขายได้ จนไปเจอตลาดคลองถมเปิดขายทุกวันแต่เปลี่ยนสถานที่ไปเรื่อยๆ ขายมาปีกว่าจนมีลูกค้ามาอุดหนุนประจำ”

สำหรับผลผลิตและยอดขายเพิ่มขึ้นเรื่อย เป็นที่น่าพอใจ หลังจากนั้น “สายฝน” ควักเงินเก็บราว 200,000 บาท เปิดโรงเรือนเพิ่มเป็น 10 โรงเรือน แต่ครั้งนี้ ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะทำจำนวนมากการดูแลไม่ทั่วถึง เจอศัตรูพืช ต้องพักโรงเรือนไปบางส่วน เพราะไม่อยากใช้สารเคมี ส่วนสร้างโรงเรือนใช้เป็นโรงเรือนมุงด้วยหญ้าคา ขนาด 4 คูณ 12 เมตร จุเห็ดได้ 6 พันก้อนต่อ 1 โรงเรือน ส่วนหัวเชื้อเพาะเพิ่มเป็น 10 ชนิด เช่น เห็ดนางฟ้าภูฏาน เห็ดนางรมฮังการี เห็ดขอนขาว เห็ดนางนวลชมพู เห็ดนางรมทอง เห็ดโคนน้อย เห็ดหลินจือ เป็นต้น


อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในช่วงหลังมีแรงงานคืนถิ่นมากขึ้น และหลายคนหันกลับมาทำการเกษตร และทางภาครัฐเองส่งเสริมการทำฟาร์มเห็ด ทำให้มีฟาร์มเห็ดรายใหม่เกิดขึ้นมากมาย ผลผลิตจึงออกมามากขึ้น แต่ผู้บริโภคยังมีเท่าเดิม ทำให้เกิดภาวะผลผลิตล้นตลาด ราคาก็ตก และขายไม่ได้ ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ สายฝน ต้องหันมาหาช่องทางการแปรรูปเห็ด เธอทำมาหลายอย่าง ทั้งแหนมเห็ด ข้าวเกรียบ เห็ดสามรส น้ำพริกเห็ด ฯลฯ แต่สินค้ายังไม่แตกต่างจากท้องตลาด มีคนทำกันแบบนี้ขายอยู่แล้ว พอเรามาทำเพิ่มอีกก็เป็นปัญหาเรื่องการแข่งขันการตลาดอีก


แปรรูปเห็ด ให้แตกต่างจากสินค้าที่มีในท้องตลาด

"สายฝน" ตัดสินใจที่จะค้นหาวิธีการทำอย่างไรให้ไม่เหมือนกับสินค้าที่มีในท้องตลาด จึงได้ออกมาเป็นเส้นบะหมี่เห็ด และ เส้นบะหมี่เห็ดอบแห้ง เหมือนกับเส้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ขายในท้องตลาด

“เราหยุดแล้วกลับมาทบทวนตัวเอง คิดและพัฒนาสินค้าใหม่จนได้เส้นก๋วยเตี๋ยว สังเกตจากคนสมัยก่อนในหมู่บ้านเขาทำขนมจีนได้โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไรเยอะแยะ เขายังทำกันได้ ทำไมเราจะทำเส้นก๋วยเตี๋ยวไม่ได้ ในมุมมองการตลาดเรามีที่หน้าฟาร์มว่างอยู่อยากเปิดเป็นร้านอาหารสักร้าน แต่จะขายอาหารตามสั่งคงไม่โดดเด่น บังเอิญแม่มีสูตรน้ำก๋วยเตี๋ยว และคนนิยมกิน เลยพัฒนาเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวเห็ด ศึกษาหลายๆ ทาง ทั้งยูทูบและปราชญ์ชาวบ้าน ลองผิดลองถูกพอได้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา” เจ้าของฟาร์มเห็ด เล่าเสริม

ทั้งนี้ เกิดการบอกกันแบบปากต่อปาก ทำให้มีลูกค้ารู้จักเยอะขึ้น โดยเราได้ขึ้นป้ายหน้าร้านว่า ก๋วยเตี๋ยวเส้นเห็ด คนรักสุขภาพผ่านมาเส้นนี้ แวะเข้ามากิน และชื่นชอบก็เลยเกิดการบอกกันแบบปากต่อปาก ทำให้เราขายได้มากขึ้น เกินกว่าที่คาดคิด ขนาดมีคนอยากจะสั่งเส้นก๋วยเตี๋ยวของเรากลับไปทำกินเองที่ต่างจังหวัด และคนกรุงเทพที่ได้แวะมาชิมก็ชื่นชอบ อยากจะเอากลับไปทำให้ลูกๆ ที่ชื่นชอบการกินบะหมี่กึ่งสำเร็จ ได้เปลี่ยนมากินเส้นเห็ดอบแห้งของเราแทน รวมถึงร้านอาหาร และร้านก๋วยเตี๋ยวมีการสั่งซื้อเส้นเห็ดอบแห้งนำไปใช้ทำอาหารขายที่หน้าร้าน เพื่อดึงลูกค้าที่ชื่นชอบเมนูเพื่อสุขภาพ โดยเส้นแห้ง 1 ห่อ ราคา 39 บาท สามารถทำอาหาร หรือ ก๋วยเตี๋ยวได้ 2 ชาม


ร่วมโครงการศูนย์บ่มเพาะผปก.รุ่นใหม่ ม.ราชภัฎสุรินทร์ 

นอกจากนี้ จากการบอกแบบปากต่อปาก เป็นจังหวะดี ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ เปิดศูนย์บ่มเพาะให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่นำแผนธุรกิจไปประกวด จึงใช้โอกาสนี้นำโมเดลเส้นก๋วยเตี๋ยวเห็ดเข้าประกวด

“กรรมการค่อนข้างชื่นชอบ เพราะยังไม่มีใครทำ บวกกับเทรนด์สุขภาพกำลังมา การประกวดครั้งนั้นสามารถคว้ารางวัลที่หนึ่งมาครองได้สำเร็จ เข้าโครงการทั้งหมด 2 ปี มีทีมมาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์จนได้สูตรมาตรฐาน โดยใช้อัตราส่วนแป้ง 1 กิโลกรัม ต่อเห็ด 1 กิโลกรัม ประกอบด้วยเห็ด 3 ชนิด คือ เห็ดนางรมทอง เห็ดนางนวลชมพู และเห็ดนางฟ้าภูฏาน ทำให้ได้เส้นก๋วยเตี๋ยวที่นุ่ม เหนียว มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ ประกอบกับหน้าฟาร์มทำร้านก๋วยเตี๋ยวเส้นเห็ด@ฟาร์มคุณลุงกะทิ เสร็จพอดีเมื่อปี 2562 อาจารย์จึงแนะนำให้ทดลองนำสินค้าไปวางขาย ปรากฏว่าผลตอบรับดี คนเต็มร้านทุกวัน” สายฝน กล่าว


ส่วนจุดเริ่มต้นของการทำเส้นก๋วยเตี๋ยวเห็ดอบแห้งครั้งนี้ เกิดขึ้นมาจากเจอสถานการณ์โควิด -19 ทำให้ได้รับผลกระทบต้องปิดหน้าร้าน ทางทีมอาจารย์จึงเสนอให้พัฒนาเป็นก๋วยเตี๋ยวเห็ดอบแห้ง เจ้าแรกในประเทศไทย

“การพัฒนาสินค้าต้องลงทุนเยอะ เป็นอุตสาหกรรม มีมาตรฐาน อย. อาจารย์จึงพาไปโรงงานผลิตเส้น เอาไอเดียไปคุยให้เขาฟังแล้วผลิตแบบ OEM ซึ่งได้มาตรฐาน สามารถขายได้ทั่วประเทศ แต่ละเดือนสามารถผลิตได้ 3,000 ซอง วางจำหน่ายหน้าฟาร์ม เพราะร้านเริ่มกลับมาเปิดได้แล้ว รวมถึงในท็อปส์มาร์เก็ต ที่โรบินสันสุรินทร์ และเซ็นทรัลอุบลราชธานี”

อย่างไรก็ดี ทาง “สายฝน” มองเห็นว่า การทำตลาดแบบนำแปรรูปเอง ทำรายได้ดีกว่า การนำเห็นสดไปจำหน่ายในตลาด เธอก็เลยตัดสินใจ เหลือโรงเรือนเพาะเห็ดเพียง 2 โรงเรือน และทำผลผลิตออกมาให้ได้มาตรฐานที่สุด แบ่งจำหน่ายผ่าน 2 ช่องทาง คือ การแปรรูปเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวเห็ด ภายใต้แบรนด์ ฮักธม และอีกช่องทาง คือ การผลิตส่งให้กับทางโรงพยาบาลและโรงเรียน



ครั้งนี้ ถือว่า การตัดสินใจออกมาทำการเกษตร แบบมีรูปแบบเทคโนโลยี ความรู้ด้านนวัตกรรมเข้ามาช่วย แปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าทางการเกษตร ช่วยทำให้คนรุ่นใหม่ที่หันหลังให้เมืองหลวง กลับบ้านเกิด เพื่อทำการเกษตร สามารถเติบโต และมีรายได้ที่ยั่งยืน และมั่นคงอย่างที่พวกเขาต้องการ และที่สำคัญยังได้ดูแลครอบครัวอย่างใกล้ชิด ไม่ต้องทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด และครอบครัวมาทำงานในเมืองอีกต่อไป

ติดต่อ FB: ฟาร์มเห็ดคุณลุงกะทิ สุรินทร์ และ บะหมี่เส้นเห็ดอบแห้ง ตราฮักธม


* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *
SMEs manager



กำลังโหลดความคิดเห็น