อาหารขึ้นชื่อของจังหวัดอุบลราชธานี คงจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากหมูยอ สำหรับเจ้าดังในจังหวัดก็มีทางเลือกสำหรับลูกค้าจำนวนมากพอสมควร และอีกร้านที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักสำหรับคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว ก็จะเป็น ร้านหมูยอ ป.อุบล ที่นอกจากจะมีชื่อเสียงแล้ว ยังได้รับรางวัลการันตี สินค้าโอทอปอีกด้วย
นายสมนึก เหรียญรักวงศ์ เจ้าของ ป.อุบล (มหาชัยวาริน) เล่าว่า เดิมครอบครัว โดยเริ่มจากนายประยงค์ เหรียญรักวงศ์ หรือคุณพ่อ ทำธุรกิจจำหน่ายอาหารทะเลในตลาดสด เมื่อปี พ.ศ. 2519 โดยเริ่มต้นผลิตสินค้า 2 ชนิด คือ แฮ่กึ๊น และหอยจ๊อ หลังจากนั้นก็ได้ย้ายมาอยู่ที่ จังหวัดอุบลราชธานี และเป็นผู้ที่สืบทอดธุรกิจต่อมา ในกระทั่งปี พ.ศ. 2545 ได้ขยายโรงงาน เพิ่มกำลังการผลิตเป็นอุตสาหกรรมขนาดย่อม
อีกทั้งมุ่งพัฒนากระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่องจนได้รับมาตรฐาน และเกียรติบัตร GMP จาก อย. และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ เช่น หมูยอ ลูกชิ้นหมู ลูกชิ้นเนื้อ ไส้กรอก กุนเชียง แฮ่กึ๊น หอยจ๊อ ไก่จ๊อ หมูหยอง แหนม หมูเด้ง เป็นต้น
“ช่วงปี พ.ศ. 2519 ตอนนั้นคุณพ่อคนเริ่มต้นธุรกิจ ซึ่งอยู่ที่เยาวราชที่ร้านเราขายเป็น แฮ่กึ๊น และหอยจ๊อ จะเป็นสินค้าที่ขายดีในตอนนั้น และเมื่อปี พ.ศ. 2545 ก็เข้ามาสืบทอดธุรกิจ และขยายโรงงานการผลิต ช่วงที่เริ่มทำหมูยอในช่วงแรกๆ ประมาณปี พ.ศ. 2548 นั้นกำลังการผลิตยังทำได้เพียง 20 แท่ง แต่ปัจจุบันสามารถผลิตได้มากถึง 3,000-4,000 แท่ง ต่อวัน”
ทั้งนี้ในเรื่องของมาตรฐานสินค้า และการผลิตเป็นเรื่องที่ ป.อุบล ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก พร้อมทั้งมุ่งพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้า ปรับปรุงและวางแผนพัฒนากระบวนการผลิตและการจัดจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง ผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต การจัดการภายในโรงงานให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และปลอดภัยตามมาตรฐานสากลเพื่อให้ลูกค้าได้บริโภคสินค้าที่มีคุณภาพ
พร้อมทั้งเพิ่มศักยภาพในด้านของ ความสามารถในการแข่งขันทางการตลาด จนได้รับรางวัลการันตีสินค้าจำนวนมาก เช่น ผลิตภัณฑ์ ระดับ 5 ดาว ในประเทศประจำปี พ.ศ. 2549 รางวัลชนะเลิศประเภทหมูยอ ในงานกาชาดจังหวัดอุบลราชธานี ในปี พ.ศ. 2549 หมูยอและหอยจ๊อ ได้รับการรับรองให้ใช้เครื่องหมาย มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน หมูยอ ป.อุบล ได้รับรางวัลชนะเลิศ โอทอปเด่นจังหวัดอุบลราชธานี และรางวัลโอทอป 5 ดาว ระดับประเทศไทยในปี พ.ศ. 2555 ผลิตภัณฑ์ระดับ 5 ดาว ประเภทอาหารปี พ.ศ. 2559
พร้อมทั้งพัฒนาสินค้าไปอีกรูปแบบคือ “ไข่ต้มชาใบหม่อน 88” ที่นำไข่มาต้มในน้ำชาใบหม่อน หรือผลมัลเบอร์รี่ ที่ส่วนใหญ่นิยมกินเป็นผลสดและนอกจากผลที่สามารถกินได้นั้น ใบยังสามารถนำมาแปรรูปให้เป็นชาใบหม่อนดื่มเพื่อสุขภาพอีกด้วย ซึ่งแนวคิดนี้ได้ไปรับแรงบันดาลใจมาจากการไปเที่ยวที่ประเทศไต้หวัน ซึ่งที่ ไต้หวัน จะมีไข่ต้มใบชาซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของสถานที่ท่องเที่ยวนั้นมาปรับใช้กับการพัฒนาสินค้าในรูปแบบของตัวเองในครั้งนี้
นอกจากนี้ ป.อุบล ยังมีศูนย์รวมของฝากจากอุบลฯ บนพื้นที่กว่า 64 ไร่ บนพื้นที่ทั้งหมดที่นอกจากจะมีศูนย์รวมของฝากที่ใหญ่ที่สุดแล้ว ยังมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรอีกด้วย โดยภายในพื้นที่สามารถพบกับแปลงปลูกผักอินทรีย์ พืชสวนครัว ข้าวอินทรีย์ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ในการพักผ่อนทั้งร้านอาหาร ร้านกาแฟ พื้นที่ทำกิจกรรมครอบครัว ทั้งถ่ายภาพ ให้อาหาร ป้อนนม ป้อนหญ้าแกะ สามารถรองรับคณะทัวร์ได้มากถึง 10 คันด้วยกัน สามารถสร้างรายได้เฉลี่ย 5 ล้าน บาทต่อเดือน
ในอนาคตวางแผนที่จะขยายโรงงานการผลิตสินค้าต่างๆ ของ ป.อุบล โดยจะใช้เทคโนโลยีการผลิตในระดับอุตสาหกรรมออโตเมชั่น เพื่อลดความเสี่ยงในบางขั้นตอนของการผลิตที่มีความอันตราย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อแรงงานคนมากที่สุด
สนใจติดต่อ www.pohubon.com
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *